วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ฮินดู พุทธ พัฒนาการจากเทวนิยมสู่อเทวนิยม


ศาสนาฮินดูในยุคเริ่มแรก

             ศาสนาฮินดู เป็นศาสนาของชาวภารตะ โดยเริ่มแรกนั้นชาวอารยันนั้นมีลักษณะของการนับถือผีสางและอำนาจต่าง ๆ ทางธรรมชาติที่ตนไม่สามารถอธิบายได้ ทั้งนี้เพราะชาวอารยันในสมัยพระเวทดำรงชีวิตอยู่ใกล้กับธรรมชาติมาก คือดำรงชีวิตอยู่ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมากกว่าที่จะตีตัวออกจากธรรมชาติเสียหมด ฉะนั้นศาสนาของชาวอารยันจึงเป็นเรื่องของศาสนาของจักรวาล เราสามารถสังเกตเทียบเคียงได้กับวิชาโหราศาสตร์ภารตะ เริ่มแรกนั้นวิชาโหราศาสตร์ยังเป็นเพียงวิชา ดาราศาสตร์ ที่เฝ้าสังเกตพระอาทิตย์ กลายเป็นคัมภีร์สุริยะสิทธานตะ จากการเฝ้าสังเกตพระอาทิตย์ ได้พัฒนาไปถึงการสังเกตพระจันทร์ รวมถึงดาวเคราะห์อื่น ๆ บนท้องฟ้า วิชาดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์ของชาวอารยัน รวมถึงชาวดราวิเดียนนั้น เป็นเครื่องหมายของการอยู่กับธรรมชาติโดยแท้จริง

             ในคัมภีร์ฤคเวทซึ่งเป็นคัมภีร์เริ่มแรกของศาสนาฮินดูนั้น มีการสรรเสริญเทพอยู่เพียงแค่ 3 องค์เท่านั้น คือ พระอินทร์ (Indra) พระอัคนี (Agni) และพระวรุณ (Varuna) เท่านั้น มิได้มีคณะเทพหลากหลายเช่นทุกวันนี้ พระอินทร์เป็นเทพสูงสุด มีประวัติความเป็นมาสันนิษฐานว่าตอนที่ชาวอารยันได้บุกรุกเข้ามาในอินเดีย ชาวอารยันได้ต่อสู้เรื่อยมาโดยต้องทำสงครามกับชนเผ่าต่าง ๆ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามเป็นระยะ ๆ ไป ในที่สุดชาวอารยันก็ได้รับชัยชนะ และได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบปัญจาบ ในการทำสงครามครั้งนั้น ชาวอารยันมีบุคคลที่ชื่อว่า อินทรา เป็นผู้นำ ชาวอารยันจึงตั้งให้พระอินทร์เป็นเทพไป ในคัมภีร์ฤคเวทนั้นถือว่าพระอินทร์เป็นเทพแห่งบรรยากาศ มีอาวุธคือ วัชระ หรือสายฟ้า พระอินทร์จึงเป็นเทพเจ้าที่ทำลายปีศาจแห่งฝนแล้งและความมืด เป็นผู้ป่าวประกาศให้ฝนตก เพื่อชุบชีวิตให้มนุษย์และสัตว์ในอินเดีย

             พระอัคนี นั้นสันนิษฐานว่าเกิดจากการใช้ไฟในการบูชา ในคัมภีร์ฤคเวทนั้นพระอัคนีมีความโดดเด่นรองจากพระอินทร์องค์เดียวเท่านั้น พระอัคนีมีสามรูปคือ ในโลกมีรูปเป็นไฟ ในบรรยากาศคือแสงสว่าง และในสวรรค์มีรูปเป็นดวงอาทิตย์ ดังนั้นหน้าที่ของพระอัคนีในฐานะที่เป็นไฟสำหรับการบูชายัญของพวกพราหมณ์ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพในสรวงสวรรค์

             พระวรุณ เป็นเพทผู้บริหารกฎจักรวาล ซึ่งทำพฤติกรรมทั้งปวง ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ บรรดามีในโลกนี้ให้ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ เช่น พระวรุณเทพ ทรงขยายโลกนี้ออกไปและทรงทำให้ดวงอาทิตย์เคลื่อนย้ายไปได้ และทรงเป็นผู้ที่หลั่งฝนลงมา

             ในยุคเริ่มแรกนั้น การบูชาเทพเจ้าเน้นในเรื่องการบูชายัญ ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ทำพิธีในยุคแรกคือพ่อบ้านหรือแม่บ้านของแต่ละครอบครัว พิธีก็จัดทำกันง่าย ๆ ไม่ต้องศาลหรือเทวาลัย เมื่อจะสังเวยเทพก็เอาเครื่องสังเวยวางไว้กับพื้นดิน แล้วกล่าวคำสดุดีหรือสรรเสริญเทพ อ้อนวอนของความช่วยเหลือตามที่ตนต้องการ จากนั้นจึงเกิดเป็นพิธีขึ้น มีข้อกำหนดวางไว้มากมาย ถ้าผู้ใดไม่ได้เรียนรู้มาก่อนก็ทำเองไม่ได้ หรือแม้จะฝืนทำเองพิธีนั้นก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์ จึงเกิดเป็นพวกพราหมณ์ขึ้น แล้วพวกพราหมณ์นี้เองก็ได้เพิ่มเติมเสริมสิ่งต่าง ๆ ขึ้นในพิธี ให้ซับซ้อนมากขึ้น มีองค์ประกอบและข้อกำหนดให้มากขึ้น เกิดเป็นคัมภีร์พระเวทขึ้น เวทแปลว่าความรู้ หมายถึง ความรู้ที่ช่วยคนให้ได้รับความสงเคราะห์จากเทพเจ้า

             ต่อมาพวกพราหมณ์ก็เริ่มมีอิทธิพลต่อสังคมชาวอารยันมากขึ้น พิธีบูชายัญนั้นหากไม่มีพราหมณ์ ก็ไม่สามารถกระทำพิธีได้ พราหมณ์จึงมีความสำคัญขึ้นมาเพราะเป็นพวกเดียวที่เรียนรู้เวทย์มนต์คาถา และยังอ้างว่ามีอำนาจลึกลับอีกด้วย ถือว่าตนเป็นสื่อกลางระหว่างพระเป็นเจ้ากับมนุษย์ ในกาลต่อมาพราหมณ์ก็มีอำนาจมากขึ้น และมีอิทธิพลมากในวงการต่าง ๆ ในทุกวรรณะ พิธีกรรมเริ่มมีหลากหลายมากขึ้น และการทำพิธีแต่ละครั้งเริ่มมีข้อกำหนดในเรื่องของสิ่งของเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การทำพิธีของพราหมณ์กลายเป็นสิ่งที่สิ้นเปลือง และสุดท้ายวรรณอื่นก็เริ่มที่จะไม่พอใจการกระทำของวรรณะพราหมณ์

             คัมภีร์อุปนิษ เป็นคัมภีร์สุดท้ายของยุคพระเวท เป็นเครื่องหมายถึงการพัฒนาทางความเชื่อของชาวภารตะ ความก้าวหน้าทางความคิดและจิตใจ เริ่มมีความสงสัย และแสวงหาเหตุผล หรือปรัชญา แสดงถึงความไม่พอใจต่อการบูชาแบบมีพิธีกรรมบูชายัญต่อเทพต่าง ๆ ตามคัมภีร์พระเวท และแสดงความไม่พอใจต่อการครอบงำของวรรณะพราหมณ์ พราหมณ์ที่ตระเวนบำเพ็ยเพียรต่างแสวงหาเหตุผลของตนเอง ซึ่งในท้ายที่สุดก็มีศาสนาที่เกิดขึ้นใหม่และได้รับการยอมรับจากผู้คนส่วนมากอยู่ 2 ศาสนาด้วยกันคือ ศาสนาเชนและศาสนาพุทธ

             ซึ่งทั้งสองศาสนานี้ ต่างปฏิเสธการบูชาเทพเจ้า โดยศาสนาเชนเองนั้นมีพฤติกรรมที่ปฏิเสธการบูชาเทพเจ้าอย่างเด็ดขาด เพราะมีความเห็นว่า การบูชาเทพเจ้านั้น ไม่ช่วยให้คนกลายเป็นคนดีได้ และไม่อาจจะช่วยเหลือให้เรื่องร้ายกลายเป็นเรื่องดีได้จริง ๆ และความเชื่อที่เหมือนกันอีกประการคือ การปฏิเสธในเรื่องของวรรณะ เพราะเห็นว่าบุคคลทุกคนย่อมเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกันทั้งหมด และคุณค่าของมนุษย์นั้นอยู่ที่การกระทำ มิใช่เกิดจากวรรณะที่บุคคลนั้นเกิดมา

             หลาย ๆ คนที่เป็นพุทธศาสนิกชนเอง ก็ยังเข้าใจว่า ศาสนาพุทธเราเป็น อเทวนิยม หมายถึง การปฏิเสธเรื่องเทพเจ้า แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ของศาสนาพุทธคือ ศาสนาพุทธยอมรับการมีอยู่ของเทวดา มาร และพรหม ยอมรับการมีอยู่ของสวรรค์และนรก ผู้ที่ทำความดีย่อมขึ้นสวรรค์ และผู้ที่ทำความชั่วย่อมจะถูกลงโทษในนรก ดังนั้นแม้ว่าศาสนาพุทธจะเป็นอเทวนิยม แต่เราก็ไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของเทวดาเหล่านั้นเช่นกัน โดยดูจากบทสวดมนต์รัตนสูตรดังนี้ว่า

             ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข
             สัพเพ วะ ภูตา สุมะนา ภะวันตุ อะโถปิ สักกัจจะ สุณันตุ ภาสิตัง
             ตัสมา หิ ภูตา นิสาเมถะ สัพเพ เมตตัง กะโรถะ มานุสิยา ปะชายะ
             ทิวา จะ รัตโต จะ หะรันติ เย พะลิง ตัสมา หิ เน รักขะถะ อัปปะมัตตา ฯ

             แปลว่า หมู่ภูตประจำถิ่นเหล่าใด ประชุมกันแล้วในนครนี้ก็ดี เหล่าใดประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี ขอหมู่ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้ดีใจและจงฟังภาษิตโดยเคารพ เพราะเหตุนั้นแล ท่านภูตทั้งปวงจงตั้งใจฟัง กระทำไมตรีจิต ในหมู่มนุษยชาติ ประชุมชนมนุษย์เหล่าใด ย่อมสังเวยทั้งกลางวันกลางคืน เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่ประมาท รักษาหมู่มนุษย์เหล่านั้น

             แสดงให้เห็นว่า ศาสนาพุทธนั้นยอมรับถึงเรื่องที่มีเทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหลายในโลก โดยเรียกท่านทั้งหลายเหล่านั้นว่า หมู่ภูต และยอมรับว่ามนุษย์ที่กระทำการบูชาสรรเสริญต่อหมู่ภูตนั้น สมควรที่จะได้รับการสงเคราะห์จากหมู่ภูตนั้นด้วยเช่นกัน

             ดังนั้นในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า แม้ว่าในทัศนะของนักประวัติศาสตร์ จะมองว่าการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธินั้นเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย และเกิดขึ้นจากความกลัวปรากฏการณ์ธรรมชาติของมนุษย์ก็ตาม แต่ในหลักการทางศาสนาพุทธนั้น ยอมรับว่าสิ่งศักดิ์สิทธิเหล่านั้นมีอยู่จริง แต่แม้ว่าศาสนาพุทธจะยอมรับว่าสิ่งศักดิ์สิทธิมีอยู่จริงก็ตาม ศาสนาพุทธเองก็สอนให้มนุษย์นั้น พึ่งตนเอง เสียก่อนที่จะเพิ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ และการพึ่งตนเองนั้นถือเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า รวดเร็วกว่าเพราะไม่ต้องรอพึ่งใครทั้งสิ้น ดังคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสว่า

             อัตตา หิ อัตตโน นาโถ - ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน - โก หิ นาโถ ปโร สิยา - คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ - อัตตนา หิ สุทันเตนะ - หากว่าบุคคลมีตนที่ฝึกดีแล้ว - นาถัง ลภติ ทุลลภัง - ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้โดยยาก แปลง่าย ๆ ว่า หากเราสามารถพัฒนาตนเองให้เก่งกาจขนาดว่าพึ่งตนเองได้ไม่ต้องไปพึ่งใครแล้ว เราก็จะได้ที่พึ่งที่หาได้ยากยิ่ง และไม่จำเป็นจะต้องง้อใครอีกต่อไป

             ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่า เป็นหน้าที่ของนักโหราศาสตร์ภารตะ ที่จะต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องเทพเจ้าของฮินดู ให้คนทั่วไปได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง นับถือศรัทธาในแนวทางที่ถือว่าเป็น ภูต ที่คอยรักษามนุษย์ แต่มิใช่ว่านับถือจนงมงาย เช่นที่หลาย ๆ คนในทุกวันนี้เป็นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น