วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
โหราศาสตร์ภารตะ - การกำเนิด จักรวาล โลก เทพ และมาร ตอนจบ
การกำเนิดโลกและจักรวาลแบบไศวะนิกาย
ในเบื้องต้นต้องขอเรียนทางผู้อ่านทุกท่านดังนี้ว่า ในบทความนี้จะมีภาษาสันสกฤตที่แปลงเป็นตัวอักษรอังกฤษเยอะมาก และทางผู้เขียนเองก็มิได้มีความรู้มากนักในเรื่องการแปลงภาษาอังกฤษ-สันสกฤตเหล่านั้นให้เป็นคำภาษาไทย เนื่องจากว่า คำบางคำไม่เคยปรากฎเป็นคำภาษาไทยที่ตรงจุดไหนเลย ดังนั้นแล้วหากแปลแล้วผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย
จากคราวที่แล้วที่ทางผู้เขียนได้เล่าเรื่องราวการกำเนิดโลกและจักรวาลแบบนิกายไวศณวะจบไปแล้ว ในคราวนี้จะเป็นเรื่องของทางนิกายไศวะบ้าง นิกายไศวะนั้นจะนับถือพระศิวะเป็นประธาน และเชื่อว่ามีความยิ่งใหญ่ที่สุด ดังนั้นแน่นอนว่าเรื่องราวจะต้องเริ่มต้นที่พระศิวะ โดยเนื้อหาทั้งหมดนั้นถูกบรรจุอยู่ในปุราณะที่ชื่อว่า ศิวะมหาปุราณะ (Shiva Maha-Purana) ในปุราณะนี้จะบรรจุเรื่องราวแทบจะทุกอนูของพระศิวะ และเป็นปุราณะที่ทางผู้เขียนสันนิษฐานว่านิยมนำมาสร้างเป็นบทละครทางโทรทัศน์ เพราะในปุราณะนี้ จะมีการกล่าวถึงเทพหลายพระองค์ที่ปุราณะอื่นไม่พูดถึง เช่น การกำเนิดพระพิฆเณศ (Ganesha) การกำเนิดพระสกัณฑะ (Skanda) หรือที่คนไทยเรียกว่า พระขันธกุมาร การกำเนิดพระไภรวะ (ฺBhairava) ปางหนึ่งของพระศิวะ ซึ่งคนไทยเรียกว่า พระพิราพ การกำเนิดของพระแม่ทุรคา (Durga) พระแม่กาลี (Kali) ฯลฯ เป็นปุราณะที่มีเนื้อเรื่องยาวมากจริง ๆ แต่ในบทความนี้จะขอยกมาเพียงตอนสร้างโลกและจักรวาลเท่านั้น เพราะเนื้อเรื่องที่เหลือผู้อ่านสามารถหาชมได้จากละครพระศิวะของบริษัทเจบิ๊กส์ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นละครโทรทัศน์ที่สร้างตามศิวะมหาปุราณะแบบไม่มีบิดพริ้วเลย และเริ่มเรื่องราวตั้งแต่สร้างโลกและจักรวาล
เรื่องราวการสร้างโลกและจักรวาลเริ่มต้นขึ้นเมื่อทุกอย่างในจักรวาลนั้นถูกทำลายไปทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว แต่ยังเหลือมหาเทพพระองค์หนึ่งคือ พระมเหศวร (Maheshwar) พระองค์ทรงแบ่งภาคของพระองค์ออกเป็นสองภาคเป็นชายและหญิง คือพระศิวะ (Shiva) และพระนางปารวตี (Parvati) จากนั้นพระองค์จึงทรงสร้างศิวะโลก (Shiva Loka) เป็นที่ประทับของพระองค์และพระนางปารวตี ต่อจากนั้นพระองค์ก็ทรงดำริที่จะสร้างสรรพสิ่งขึ้นมาในความว่างเปล่านั้น และพระองค์ต้องการใครสักคนหนึ่ง ให้คอยดูแลการสร้างสรรพสิ่งให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเรียบร้อย พระองค์ทรงสร้างเด็กผู้ชายขึ้นมาคนหนึ่ง เมื่อเด็กคนนั้นกำเนิดขึ้นมาแล้วจึงได้ถามพระศิวะเทพว่าตัวเขานั้นมีชื่อว่าอะไร และถือกำเนิดขึ้นมาเพราะเหตุใด พระศิวะเทพทรงมอบพระนามแก่เด็กคนนั้นว่า พระวิษณุ พร้อมกับทรงมอบหน้าที่ให้การดูแลการสร้างสรรพสิ่งให้กับพระวิษณุ แต่การทำหน้าที่นี้ พระวิษณุต้องบำเพ็ญเพียรเผากิเลสให้หมดสิ้นไปเสียก่อนจึงจะสามารถทำหน้าที่นี้ได้ พระวิษณุรับพระบัญชาแห่งพระศิวะเทพ และหลีกเร้นพระวรกายไปบำเพ็ญเพียรเผากิเลสอยู่ถึง 12 ปี แต่พระองค์ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ในปุราณะนี้มิได้บอกไว้ว่า 12 ปีที่กล่าวนั้น หมายถึง 12 ปีเทพหรือ 12 ปีมนุษย์ เพราะหากเป็น 12 ปีมนุษย์ ก็คือ 12 ปีอย่างที่ผู้อ่านและผู้เขียนเข้าใจ แต่หากเป็น 12 ปีเทพแล้ว ก็จะทำให้มีระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 4,320 ปีมนุษย์ทีเดียว
พระองค์รู้สึกท้อแท้ใจในการบำเพ็ญเพียรต่อไป แต่ในทันใดนั้นเองก็มีเสียงหนึ่งดังมาจากเบื้องบน เสียงนั้นบอกให้พระองค์บำเพ็ญเพียรต่อไป เมื่อพระวิษณุได้ยินเสียงนั้น พระองค์ก็ทรงทำตาม และไม่กี่วันต่อมา ก็บังเกิดความอัศจรรย์ มีน้ำมากมายผุดไหลออกจากพระวรกายของพระองค์จนกลายเป็นทะเล เมื่อน้ำหยุดไหลพระองค์จึงทรงบรรทมเหนือผืนน้ำนั้น พระองค์จึงมีอีกพระนามว่า พระนารายณ์ แปลว่าผู้สถิตอยู่ในน้ำ จากนั้นจึงเกิดเป็นธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ และคุณากรทั้ง 3 คือ สัตวะคุณะ รชัสสะคุณะ และตมัสสะคุณะ จากนั้นจึงเกิดเป็นธาตุทั้ง 24
ศิวะปุราณะนั้น เป็นปุราณะเดียวที่พูดถึงธาตุทั้ง 24 ในปุราณะอื่นนั้น จะพูดเพียง 10 ธาตุแรกเท่านั้น โดยรายละเอียดลำดับการสร้างธาตุและระบบต่าง ๆ ของธรรมชาตินั้น จะเริ่มจากคุณากรทั้งสามคือ สัตวะคุณะ (Satva) รชัสสะคุณะ (Rajasa) และตมัสสะคุณะ (Tamasa) จากนั้นตมัสสะคุณะสร้างเสียงหรือศัพท์ (Shabda) ศัพท์สร้างอากาศ (Akash) อากาศสร้างสัมผัส (Sparsh) สัมผัสสร้างลมหรือวายุ (Vayu) ดังนั้นแล้วแม้ว่าเราจะไม่เห็นลม แต่เราสามารถสัมผัสได้ด้วยผิวของเรา ลมสร้างรูป (Roop) รูปสร้างไฟหรือเตชะ (Tej) ไฟสร้างรส (Ras) รสสร้างน้ำหรือชละ (Jal) น้ำสร้างกลิ่นหรือคัณฑะ (Gandh) กลิ่นสร้างดินหรือปฤฐวี (Prithvi)
รชัสสะคุณะได้สร้างระบบปราณอีก 10 ระบบดังนี้ ระบบ 5 ประการของการเคลื่อนไหว คือ ระบบการพูดหรือวัค (Vak) ระบบมือหรือหัสถะ (Hasta) ระบบเท้าหรือบาท (Pad) ระบบการขับถ่ายหรือปายุ (Payu) และระบบสืบพันธุ์หรืออุปัสถะ (Upastha) และ ระบบ 5 ประการของประสาท คือ ระบบหูหรือกรรณ (Karna) ระบบผิวหรือตวัค (Tvak) ระบบตาหรือจักษุ (Chakshu) ระบบลิ้นหรือชิวหา (Jihva) และระบบจมูกหรือนาสิก (Nasika)
และสี่ธาตุสุดท้ายคือระบบที่คอยควบคุมความเป็นไปทุกอย่าง มานะ (Mana) พุทธิ (Buddhi) อหังการ (Ahamkar) และจิตตะ (Chitt) รวมทั้งสิ้น 24 ธาตุ เรียกว่า มหาตัตวะ (Mahatattva)
ขณะที่พระวิษณุทรงบรรทมอยู่นั้นเอง ได้บังเกิดมีดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภีของพระองค์ เมื่อดอกบัวได้บานออกปรากฎมีเทพพระองค์หนึ่งมีสี่พักตร์ประทับตรงกลางดอกบัวนั้น เทพพระองค์นั้นคือพระพรหม พระพรหมทรงมองไม่เห็นสิ่งใดเลยนอกจากกลีบบัวที่ล้อมรอบอยู่ทุกด้าน พระองค์ทรงสงสัยว่าพระองค์ชื่ออะไรและกำเนิดขึ้นมาเพราะเหตุใด พระองค์ทรงมุดลงไปในเกสร ลงไปในก้านบัวแต่ก็ไม่ทรงพบสิ่งใด พระองค์ก็ทรงกลับมาประทับที่เดิม ทันใดนั้นก็มีเสียงหนึ่งพูดกับพระพรหม ว่าพระองค์คือผู้สร้างสรรพสิ่งให้อุบัติขึ้น ดังนั้นเพื่อที่จะทำหน้าที่นี้ พระองค์ต้องบำเพ็ญเพียรเผากิเลสให้หมดสิ้นเสียก่อน พระพรหมทรงทำตามคำบัญชาของเสียงนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ถึง 12 ปี ทันใดนั้นพระวิษณุก็มาปรากฏพระวรกายเบื้องหน้าพระพรหม พระพรหมทรงถามพระวิษณุว่าท่านคือใคร พระวิษณุทรงตอบว่าพระองค์คือผู้ที่จะมาเติมเต็มความปรารถนาในการสร้างสรรพสิ่งของพระองค์ พระพรหมทรงกล่าวว่าพระองค์คือพระผู้สร้างสรรพสิ่ง พระองค์ไม่ต้องการให้ใครมาช่วยพระองค์ พระวิษณุทรงพิโรธและกล่าวแก่พระพรหมว่า ไม่เป็นที่สงสัยว่าพระองค์คือผู้สร้างสรรพสิ่ง แต่พระวิษณุเองนั้นก็มีหน้าที่รักษาและปกป้องสิ่งที่พระพรหมสร้างเหมือนกัน และแม้กระทั่งพระพรหมเองก็เกิดมาจากพระวิษณุ พระพรหมไม่ทรงเชื่อ เทพทั้งสองจึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น
ระหว่างที่มหาเทพทั้งสองกำลังต่อสู้กันอยู่นั้น ก็ปรากฏเป็นศิวะลึงค์ขนาดใหญ่มากั้นกลางมหาเทพทั้งสองไว้ พร้อมกับเสียง โอม ก้องดังไปทั่วทั้งจักรวาล มหาเทพทั้งสองก็ทรงสงสัยว่าเสียงนี้คือเสียงใคร พระวิษณุทรงสังเกตเห็นอักษระ อะ อยู่ทางด้านล่างของศิวะลึงค์ อุ อยู่ตรงกลาง และ มะ อยู่ทางด้านบนของศิวะลึงค์ แล้วมีอักษร โอม ปรากฏเรืองรองดุจดังพระอาทิตย์ ขณะที่มหาเทพทั้งสองกำลังพินิจพิเคราะห์ศิวะลึงค์อยู่นั้น พระศิวะก็ปรากฎพระองค์ขึ้น พระองค์ทรงห้ามศึกของทั้งสองมหาเทพ ทรงกล่าวแก่มหาเทพทั้งสองว่าพระองค์คือผู้สร้างพระวิษณุและพระพรหมขึ้น ร่างแท้จริงของพระศิวะคือพระมเหศวร พระองค์ทรงสร้างพระวิษณุจากพระวรกายเบื้องซ้ายของพระองค์ และทรงสร้างพระพรหมจากพระวรกายเบื้องขวาของพระองค์ ส่วนแกนกลางของพระมเหศวรคือพระศิวะ พระพรหมแทนด้วย อะ พระวิษณุแทนด้วย อุ และพระศิวะแทนด้วย มะ เมื่อรวมกันแล้วจะเป็นเสียงโอม หมายถึง พระมเหศวร
และด้วยเสียงโอมนั้น จึงปรากฏเป็นไข่ทองคำใบใหญ่ฟองหนึ่ง พระพรหมทรงนำธาตุทั้ง 24 บรรจุไว้ในไข่สีทองคำใบนั้น และปล่อยให้ไข่ใบนั้นจมลงสู่มหาสมุทร เมื่อครบกำหนดหนึ่งพันปี พระศิวะทรงตัดไข่ใบนั้นออกเป็นสองซีก ซีกด้านล่างกลายเป็นผืนแผ่นดิน ซีกด้านบนคือสวรรค์โลก โดยพระพรหมทรงสร้างท้องฟ้ากั้นกลางระหว่างผืนแผ่นดินและสวรรค์เอาไว้ เมื่อไข่ถูกตัดออก ทุกสิ่งทั้งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ผืนแผ่นดินทั้ง 7 และมหาสมุทรทั้ง 7 รวมถึงเขาไกรลาสก็ปรากฎขึ้นเช่นกัน จากนั้นพระศิวะจึงทรงแสดงพระเวทให้มหาเทพทั้งสองสดับ เพื่อให้มหาเทพทั้งสองทรงมอบแก่มนุษย์ในกาลต่อไป
แผ่นดินทั้ง 7 ทวีป คือ ชมภู (Jambu) ปลักษะ (Plaksha) ศันมลิ (Shalmali) ครวนชะ (Kraunch) ศากะ (Shaaka) ปุศการะ (Pushkar) และมหาสมุทรทั้ง 7 คือ มหาสมุทรน้ำเกลือ น้ำหวาน น้ำนม น้ำนมเปรี้ยว เนย และน้ำผึ้ง มหาสมุทรน้ำนมหรือเกษียรสมุทร (Kshira Samudra) คือที่ประทับของพระวิษณุ
ต่อมาคือขั้นตอนการสร้างมนุษย์ ลำดับแรกพระพรหมทรงสร้างเด็กชายขึ้นมาสี่คน ดังนี้ ศนกะ (Sanaka) ศนตนะ (Sanatana) ศนันทนะ (Sanandana) และ ศนตะกุมาร (Sanatakumara) แต่เด็กทั้งสี่คนนี้เมื่อถือกำเนิดขึ้นมาแล้วก็เอาแต่บำเพ็ญเพียรไม่สนใจในการสร้างมนุษย์ พระพรหมจึงทรงพิโรธ ทันใดนั้นก็มีเด็กผู้ชายถือกำเนิดขึ้นมาจากพระนลาฏของพระพรหม พระพรหมทรงให้พระนามว่า พระรุทระ อันที่จริงนั้นพระรุทระคือพระศิวะอวตารลงมากำเนิด
ในเรื่องของพระรุทระนั้น จะแตกต่างกันตามนิกายเช่นกัน ในนิกายของไวศณวะนั้น พระศิวะมิได้กำเนิดมาก่อน ที่กำเนิดมาก่อนคือพระวิษณุ หรือพระพรหม ซึ่งทางผู้เขียนได้อธิบายไว้ในบทความคราวที่แล้ว ต่อมาพระพรหมจึงให้กำเนิดพระรุทระ ดังนั้นในนิกายอื่น พระศิวะถือเป็นบุตรของพระพรหมเช่นเดียวกัน และพระพรหมจึงทรงมอบหมายหน้าที่ในการทำลายโลกให้แก่พระรุทระ หรือพระศิวะ ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ความเชื่อนี้คงจะมีมานาน และผู้รจนาศิวะมหาปุราณะนี้ไม่ต้องการที่จะแต่งเรื่องราวให้ออกจากแนวเดิมมากนัก จึงกล่าวว่าพระศิวะถือกำเนิดอีกครั้งจากพระนลาฏของพระพรหม เพื่อให้ตรงกับความเชื่อของคนส่วนมากในยุคนั้น
ผู้เขียนก็เคยสงสัยมานานว่า ถ้าพระศิวะท่านเป็นมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ เหตุใดเล่าพระทักษะ ซึ่งเป็นเพียงบุตรพระพรหมจึงไม่เชิญพระศิวะมาในพิธีบูชาไฟของพระทักษะด้วย เพียงแค่เหตุว่าเป็นลูกเขยที่มีวรรณะสกปรกเท่านั้นหรือ เพราะหากพิจารณาถึงปกติชนธรรมดานั้น การมีลูกเขยเป็นถึงมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ น่าจะต้องมีความภูมิใจมากกว่าที่จะเหยียดหยาม ทางผู้เขียนก็เพิ่งจะค้นพบว่า อันที่จริงแล้วในปุราณะอื่นนั้นบรรยายไว้ชัดว่า พระทักษะซึ่งถือตนว่าเป็นบุตรพระพรหมนั้น ก็ถือว่าพระรุทระหรือพระศิวะเป็นบุตรพระพรหมเช่นกัน พระทักษะจึงเห็นตนเองว่าเสมอด้วยพระศิวะ ดังนั้นการเชิญใครหรือไม่เชิญใครนั้นก็เป็นสิทธิของพระทักษะเจ้าของงานเอง แต่ลืมไปว่า พระศิวะนั้นนอกจากจะเป็นบุตรพระพรหมแล้วยังมีหน้าที่ทำลายล้างโลก ซึ่งเป็นหน้าที่เฉพาะของมหาเทพ มิใช่เป็นเพียงบุตรพระพรหมแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนบุตรพระพรหมองค์อื่น ๆ
เมื่อการสร้างเด็กชาย 4 คนไม่สำเร็จ พระพรหมก็ทรงเริ่มใหม่โดยการสร้างมหาฤๅษีทั้ง 7 ตนขึ้นมารวม รวมทั้งมนุษย์อีก 2 คน ดังนี้ มหาฤๅษีภริคุ (Bhrigu) มหาฤๅษีปุลาหะ (Pulaha) มหาฤๅษีกรตุ (Kratu) มหาฤๅษีอังคิระ (Angira) มหาฤๅษีมาริจิ (Marichi) มหาฤๅษีอตริ (Atri) มหาฤๅษีวิศิษฐะ (Vashistha) ทักษะประชาบดี (Taksa Prajapati) และพระปิตรรส์ (Pitars) หรือบางปุราณะเรียกว่า รุจิประชาบดี (Ruchi Prajapati) แต่มหาฤๅษีทั้ง 7 ตน และมนุษย์ทั้ง 2 คนนี้ก็ไม่สนใจเรื่องการมีบุตร หันมาบำเพ็ญเพียรเช่นเดิม
พระพรหมจึงทรงสร้างมนุษย์ออกมาอีกคู่หนึ่งคือ พระสวยมภูมนู (Swayambhu Manu) และพระนางสัตรูปะ (Shatarupa) ทั้งสองนี้พร้อมใจกันทำตามความประสงค์ของพระพรหม โดยมีบุตรชาย 2 คน คือ ปริยะวราตะ (Priyavrata) และ อุทานปาท (Utaanpaad) และบุตรสาว 2 คน คือ ประสูติ (Prasooti) และ อากูติ (Aagooti) จุดสำคัญนั้นจะอยู่ที่พระนางประสูติเสียมากกว่า ดังนั้นทางผู้เขียนจึงขอบรรยายแต่เพียงสกุลที่ทอดมาจากพระนางประสูติเพียงเท่านั้น
รุจิประชาบดีและนางอากูติ ให้กำเนิดฝาแฝดชายหญิง คือ ยัคยะ (Yagya) และทักษิณะ (Dakshina) ต่อมาทั้งสองสมรสกันและให้กำเนิดบุตรอีก 12 คน คนสุดท้ายมีชื่อว่า ยาม (Yaam)
พระทักษะประชาบดีสมรสกับพระนางประสูติ และให้กำเนิดบุตรี 24 คน ได้แก่ ศรัทธา (Shraddha) ลักษมี (Laxmi) ธริติ (Dhriti) ปุศติ (Pushti) ธุศติ (Tushti) เมธา (Medha) กริยา (Kriya) พุทธิ (Buddhi) ลัชชะ (Lajja) วาปุ (Vapu) ศันติ (Shanti) สิทธิ (Siddhi) กีรติ (Keerti) กายตี (Khyati) ศตี (Sati) สัมภูติ (Sambhuti) สัมฤทธิ (Smriti) ปรีติ (Preeti) กศามะ (Kshama) ศันธาติ (Santati) อังศุยะ (Ansuya) อุรชะ (Urja) สวาหะ (Swaha) และสวาท (Swadha)
โดยบุตรี 13 คนแรกสมรสกับธรรมะ (Dharma) โดยภรรยาแต่ละคนมีบุตรดังนี้ ศรัทธามีบุตรคือกาม (Kaam) ลักษมีมีบุตรคือธรรปะ (Daarpa) ธริติมีบุตรชื่อนิยาม (Niyam) ปุศติมีบุตรชื่อโลภะ (Lobha) ธุศติมีบุตรชื่อสันโดษ (Santosh) เมธามีบุตรชื่อศรุท (Shrut) กริยามีบุตรชื่อทัณฑะ (Dand) นัย (Nay) และวินัย (Vinay) พุทธิมีบุตรชื่อโพธะ (Bodh) ลัชชะมีบุตรชื่อวินัย (Vinay) วาปุมีบุตรชื่อวยาวสาย (Vyavasay) ศันติมีบุตรชื่อเกษม (Kshama) สิทธิมีบุตรชื่อสุข (Sukh) และกีรติมีบุตรชื่อยศ (Yash)
กามสมรสกับพระนางรตี (Rati) มีบุตรชื่อ หรรษา (Harsh) น้องของกาม ธรรมปะ หรือบางปุราณะเรียกว่า อธรรม (Adharm) ธรรปะหรืออธรรมสมรสกับหิงสา (Hinsa) ให้กำเนิดบุตรคือ อังฤท (Anrit) และบุตรีคือ นิกฤติ (Nikriti) อังฤทและนิกฤติสมรสกันให้กำเนิด ภัย (Bhaya) และ นรกะ (naraka) รวมทั้งบุตรีอีกสองคนคือ มายา (Maya) และเวทนา (Vedana) ต่อมาทั้ง 4 พี่น้องนี้สมรสกัน มายาให้กำเนิดมฤตยู (Mrityu) เทพแห่งความตาย เวทนาให้กำเนิด ทุกข์ (Dukh) มฤตยูให้กำเนิด พยาธิ (Vyadhi) ชรา (jara) โศก (Shok) และโกรธ (Krodh) ในบางปุราณะนั้น พระนางนิกฤติจะมีอีกพระนามว่า นิรฤติ (Nirriti) หรือคนไทยเราเรียกกันว่า หรดี ทรงมีสมญานามว่า พระนางอลักษมี (ALakshmi) และคำว่าหิงสานั้น หมายถึง ความรุนแรง
ส่วนบุตรีอีก 11 คนที่เหลือของพระทักษะ ก็ได้สมรสกับมหาฤๅษีทั้ง 7 ตนและเทพที่เหลือดังนี้ กายตีสมรสกับมหาฤๅษีภริคุมีบุตรชาย 2 คนชื่อ ฐาตะ (Dhaata) และ วิฐาตะ (Vidhaata) มีบุตรีคือพระแม่ลักษณมี (Lakshmi) ซึ่งต่อมาพระแม่ลักษมีก็ไ้ด้เป็นพระชายาของพระวิษณุ ศิวะมหาปุราณะกล่าวว่า พระแม่ลักษณมีคือร่างอวตารหนึ่งของพระแม่ปารวตี อวตารเพื่อมาเป็นพระชายาให้กับพระวิษณุ สิ่งที่เป็นข้อสงสัยน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระแม่ลักษมี เพราะความคุ้นเคยของเรานั้น พระแม่ลักษมีเกิดมาจากการกวนเกษียรสมุทร อันที่จริงแล้วในวิษณุปุราณะได้ให้คำตอบว่า พระแม่ลักษมีนั้นคือบุตรีของมหาฤๅษีภริคุถูกต้องแล้ว แต่เหตุเกิดเมื่อมหาฤๅษีทุรวาสะสาปพระอินทรา เหล่ามารและอสูรก็บุกสวรรค์ ตอนนั้นเองที่พระแม่ลักษมีทรงเร้นพระวรกายไปหลบอยู่ใต้เกษียรสมุทร ด้วยเกรงอำนาจของเหล่ามารและอสูรเหล่านั้น ดังนั้นพระแม่ลักษมีจึงปรากฎพระวรกายขึ้นมาอีกครั้งตอนกวนเกษียรสมุทร
และที่สำคัญคือพระแม่ศตีสมรสกับพระศิวะ พระแม่ศตีต่อมาจะรักษาพระเกียรติของพระสวามีคือพระศิวะโดยการกระโดดเข้ากองไฟ และกำเนิดใหม่เป็นพระแม่ปารวตีบุตรสาวของท้าวหิมาลัย
สัมภูติสมรสกับมหาฤๅษีมริจิ มีบุตรชื่อมหาฤๅษีกัสยปะ (Kashyap) และปุระนิมะ (Purnima)
สัมฤทธิสมรสกับมหาฤๅษีอังคิระ แต่ศรีมาทภควตาปุราณะ กล่าวว่ามหาฤๅษีอันคิระสมรสกับศรัทธา (Shardha) มีบุตรี 4 คนคือ สิมิวลี (Simivali) กุหุ (Kuhu) รัก (Raka) อนุมัติ (Anumati) และบุตรอีก 2 คนคือ อุตะธยะ (Utathya) และพฤหัสปติ (Brihaspati)
ปรีติสมรสกับมหาฤๅษีปุลัสตยะ ศรีมาทภควตาปุราณะ กล่าวว่ามหาฤๅษีปุลัสตยะสมรสกับหวิรภู (Havirbhu) และมีบุตร 2 คนคือ อคัสตยะ (Agastya) และวิศรวะ (Vishrava) วิศรวะสมรสกับอิทวิทะ (Idvida) มีบุตรคือพระกุเวร (Kuber) กษัตริย์แห่งยักษ์ทั้งหลาย และสมรสกับเกศินี (Keshini) มีบุตร 3 คนคือ ราวณะ (Ravan) กุมภกรัณ (Kumbhkaran) และวิภิศัณ (Vibhishan)
กศามะสมรสกับมหาฤๅษีปุราหะ ศรีมาทภควตาปุราณะ บอกว่า มหาฤๅษีปุราหะสมรสกับฆติ (Gati) มีบุตร 3 คนคือ กรรมเศรษฐะ (Karmshreshtha) วริยัณ (Variyan) และ สหิศณุ (Sahishnu)
ศันธาติสมรสกับมหาฤๅษีกรตุ ลึงคะปุราณะ บอกว่ามีบุตรด้วยกัน 6,000 คน
อันศุยะสมรสกับมหาฤๅษีอตริมีบุตร 3 คนคือ พระจันทร์หรือจันทรามะ (Chandrama) เป็นการแบ่งภาคของพระพรหม ทัตตะเตรยะ (Dattatreya) หรือพระตรีมูลติ เป็นการแบ่งภาคของพระนารายณ์ และมหาฤๅษีทุรวาสะ (Durvasa) เป็นการแบ่งภาคของพระศิวะ
อุรชะสมรสกับมหาฤๅษีวศิษฐะมีบุตรเป็นพราหมณ์ 7 คน หนึ่งในนั้นคือพระศุกร์ (Shukra) และที่สำคัญคือ ศักติมหาฤๅษี (Sakti Maharishi) ต่อมามหาฤๅษีศักติมีบุตรคือมหาฤๅษีปาระศาระ (Parashara) ผู้รจนาคัมภีร์วิษณุปุราณะและคัมภีร์พฤหัตปาระศาระโหราศาสตร์ และสุดท้ายบุตรของมหาฤๅษีปาระศาระก็คือมหาฤๅษีวยาสะ ดังที่กล่าวไว้ในบทความคราวที่แล้ว
สวาหะสมรสกับพระอัคนี มีบุตรสามคนคือ ปวมาณ (Pavamaan) ปาวกะ (Paavak) และศุจิ (Shuchi) เช่นที่กล่าวไว้ว่า ไม่มีปุราณะใดเลยที่ระบุที่มาของพระอัคนี แต่กลับปรากฎว่ามีตัวตนอยู่ในช่วงที่สมรสกับพระนางสวาหะนี่เอง
และสวาทสมรสกับพระปิตรรส์ (Pitars) มีบุตรีคือ ไมณะ (Maina) ฑัณยะ (Dhanya) และ กาละวดี (Kalawati)
จากนั้นพระทักษะประชาบดีมีลูกอีก 60 คน จากภรรยาทื่ชื่อว่า วิริณิ (Virini) แต่งงานกับธรรมะ 10 คน ดังนี้ อรุณธติ (Arundhati) วาสุ (Vasu) ชามิ (Jami) ลัมภะ (Lamba) ภาณุ (Bhanu) มรุตวาติ (Marutvati) สัณกัลปะ (Sankalpa) มุหุรตะ (Muhurta) สาทยา (Saadhyaa) และวิศวะ (Vishwa) ซึ่งแต่ละคนมีบุตรดังนี้
อรุณธติคือมารดาของสัตว์ทั้งมวลบนโลกใบนี้, วาสุมีบุตรแปดคนเรียกว่าคณะวาสุ คือ ภีสมะ (Bheeshma) ธรุวะ (Dhruv) โสมะ (Soma) ธาระ (Dhar) อนิละ (Anil) อนาละ (Anal) ปรัทยุศ (Pratyush) และ ประภัส (Prabhas) ต่อมา ชามิมีบุตรีชื่อนาควิธิ (Nagvithi), ลัมภะมีบุตรชื่อโฆษะ (Ghosh), ภาณุมีบุตรชายชื่อภาณุ ต่อมามรุตวาติมีบุตรชายชื่อมารุตวัณ (Marutvan), สาทยามีบุตรชื่อสาทยะ (Saddhya), มุหุรตะกลายเป็นเทพีแห่งเวลามงคล, วิศวะมีบุตรชื่อวิศวะเทวะ (Vishwadeva)
รุ่นลูกของพวกวาสุ ภีสมะมีบุตรสี่คนคือ ศัณธะ (Shant) ไวตัณฑะ (Vaitand) สัมภะ (Samb) และมุนิพาภรุ (Munibabhru) ต่อมาธรุวะมีบุตรชื่อ กาล (Kaal), โสมะมีบุตรชื่อ วรรจะ (Varcha), ธาระมีบุตรสองคนชื่อ ธราวิน (Dravin) และ หวยาวาหะ (Havyavaah), อนิละมีบุตรสามคนชื่อ ศัฆ (Shakh) อุปศัฆ (Upshakh) และ ไนกาเมยะ (Naigameya), ปรัทยุศมีบุตรชื่อ เดวาละ (Deval), ประภัสมีบุตรชื่อ วิศวกรรมประชาบดี (Vishwakarma Prajapati) เทพแห่งการช่างและวิศวะก่อสร้าง
สุดท้ายคือจุดเริ่มต้นของคณะเทพและคณะมารจากการให้กำเนิดของมหาฤๅษีกัสยปะ มหาฤๅษีกัสยปะมีภรรยา 13 คน ดังนี้ อทิติ (Aditi) ทิติ (Diti) ทานุ (Danu) อริษตะ (Arishta) สุรสะ (Sursa) สุรภี (Surabhi) วินทะ (Vinta) ทัมระ (Tamra) โกรธวศะ (Krodhvasha) อิระ (Ira) กตรุ (Kadru) ฆาษะ (Khasa) และ มุนี (Muni)
พระนางอทิติมีบุตร 12 องค์ ดังนี้ วิษณุ (Vishnu) อวตารเป็นพราหมณ์เตี้ยชื่อวามาณะ (Vaman) อินทรา (Indra) หรือสักระ (Shakra) อารยมะ (Aryama) ธตา (Dhataa) ทวัศตะ (Twashta) ภูษา (Pushaa) วิวัสวัณ (Vivasvaan) หรือ สุริยะ (Surya) สาวิตะ (Savita) หรือปรรชัญญะ (Parjanya) ไมตรา (Maitra) หรือ มิตรา (Mitra) วรุณ (Varun) อังศุ (Anshu) หรือองศา (Amsha) และภาคะ (Bhaga) โดยพระสุริยะสมรสกับบุตรสาวของพระวิศวกรรมทั้ง 2 คน คือ ชหะยะ (Chhaya) หรือ ชายะ (Chaya) มีบุตรคือ พระเสาร์ (Shani) และ ทปติ (Tapati) และสมรสกับสันคยะ (Sangya) มีบุตรชาย 2 คนคือ มนู (Manu) พระยม (Yama) และบุตรีคือ ยมนิ (Yamani) หรือยมุนา (Yamuna)
พระนางทิติ ได้ให้กำเนิดอสูรของตนคือ หิรัญยักษิปุ (Hiranyakashipu) และหิรัญยักษ์ (Hiranyaksha) หิรัญยักษิปุมีบุตร 4 คนคือ ประหลาด (Prahlad) อนุหลาด (Anuhlad) ศันหลาด (Sanhlad) และ หลาด (Hlad) ประหลาดมีบุตร 4 คน หนึ่งในนั้นคือ วิโรจน์ (Virochan) บุตรของวิโรจน์คือ พาลิ (Bali) และภาลิก็มีบุตรคนโตชื่อ วนสุระ (Vanasur) ผู้มีพันกร ส่วนหิรัญยักษ์มีบุตร 4 คนเช่นกัน
พระนางทานุมีบุตร 100 คน หนึ่งในนั้นผู้ที่มีฤทธิ์มากที่สุดคือ วิประจิตติ (Viprachitti) วิประจิตติมีบุตร 14 คนจากภรรยาที่ชื่อว่า สินหิกะ (Sinhika) บุตรทั้ง 14 คนมีดังนี้ เสนหิกายะ (Sainhikeya) หรือราหู (Rahu) กันศะ (Kansa) สังข์ (Shankh) นาละ (Nala) วาตาปิ (Vatapi) อิลวละ (Ilwal) นามุจิ (Namuchi) ฆศริมะ (Khasrima) อัณชัณ (Anjan) นรก (Narak) กาละนาภะ (Kaalnaabh) ปรมณู (Parmanu) กาลปวิรยะ (Kalpavirya) ธนูวัณศวิวรรฑะ (Dhanuvanshavivardhan)
พระนางอริษตะให้กำเนิด กินนรรสะ (Kinnars) และ คนธรรพ์ (Gandharvas), พระนางสุรสะให้กำเนิดงูทั้งหลาย, พระนางสุรภีให้กำเนิดวัวและควาย, พระนางวินทะให้กำเนิด ครุฑ (Garuda) และ อรุณ (Arun) โดยอรุณเป็นบิดาของ สัมปติ (Sampati) และสดายุ (Jatayu)
พระนางทัมระ ให้กำเนิดบุตรสาว 6 คน ดังนี้ ศุกิ (Shuki) ศเยนิ (Shyeni) ภาสิ (Bhasi) กฤฑิ (Gridhi) สุกฤฑิ (Sugridhi) และ ศุจิ (Shuchi) ศุกิเป็นมารดาของนกแก้วและนกเค้าแมว ศเยนิเป็นมารดาของนกเหยี่ยวป่า ภาสิเป็นมารดาของเหยี่ยวปลา กฤติเป็นมารดาของแรง สุกฤฑิเป็นมารดาของนกพิราบ ศุจิเป็นมารดาของนกกระเรียน หงส์ และนกน้ำอื่น ๆ
พระนางอิระให้กำเนิดพืชพันธุ์และธัญญาหารต่าง ๆ, พระนางกรตุเป็นผู้ให้กำเนิดงูเห่า, พระนางฆาษะเป็นผู้ให้กำเนิด รากษส (Rakshasha) และยักษ์ (Yaksha) และสุดท้าย พระนางมุนี เป็นผู้ให้กำเนิด นางสวรรค์ หรือ อัปสร (apsara)
ท้ายที่สุดก็กำเนิดเป็นมนุษย์มากมายจนถึงปัจจุบันนี้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
คนแต่งเรื่องช่างมีสติปัญญาลึกล้ำ ขนาดแค่อ่าน คนอ่านยังปวดหัว
ตอบลบ