วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - การกำเนิดจักรวาล โลก เทพ และอสูร ตอนที่ 1


ศาสนาฮินดูและนิกายต่าง ๆ ของศาสนาฮินดู

         จากคราวที่แล้วทางผู้เขียนได้อธิบายภาพรวมของศาสนาฮินดูทั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงอิทธิพลของศาสนาฮินดูที่มีต่อประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในคราวนี้ทางผู้เขียนจะขออธิบายถึงเรื่องราวของศาสนาฮินดูในลักษณะที่เริ่มเข้าเนื้อหา โดยทางผู้เขียนจะอธิบายเปรียบเทียบกับหลักการทางศาสนาพุทธสลับกันเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านศาสนาพุทธที่เกี่ยวกับเรื่องเทพยดาหรือหมู่ภูตให้มากขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นนั้นต้องขอทำความเข้าใจว่า แม้การเล่าเรื่องเทพเจ้าของศาสนาฮินดูจะแตกต่างกันตามนิกายก็ตาม แต่ความเชื่อที่ว่าเทพเจ้าทุกพระองค์นั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงก็มิได้เลือนหายไป ทางผู้เขียนยังเชื่ออยู่เสมอว่า พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะนั้น มีอยู่จริงเสมอ ตามคติความเชื่อที่ผู้นับถือควรมี และตามคติที่ชาวพุทธควรมีเช่นกัน

         ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาของการกำเนิดโลก คณะเทพ และคณะอสูรต่าง ๆ นั้น ในเบื้องต้นมีสิ่งที่ควรรับรู้อยู่สองประการ ประการแรกคือนิกาย และประการที่สองคือที่มาของเทวปกรณัมของศาสนาฮินดู นิกายในศาสนาฮินดูนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายแขนง หากยึดถือตามคติความเชื่อแบบไทยสามารถประมวลออกมาได้เป็น 5 นิกายหลัก ดังนี้
         1. นิกายไวศณวะ (Vishnav) เป็นนิกายที่เก่าแก่ที่สุด นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่กว่าเทพองค์อื่น
         2. นิกายไศวะ (Shiva) เป็นนิกายที่นับถือพระศิวิเป็นใหญ่กว่าเทพองค์อื่น
         3. นิกายศักติ (Shakti) เป็นนิกายที่นับถือและให้ความสำคัญกับพระเทวี เช่น พระอุมาเทวี พระลักษมีเทวี และพระสรัสวตีเทวี มากกว่าเทพองค์อื่น
         4. นิกายคณพัทยะ (Ganabadya) เป็นนิกายที่นับถือพระพิฒเนศมากกว่าเทพองค์อื่น
         5. นิกายสมารธะ (Samardha) เป็นนิกายที่นับถือเทพเจ้าทุกพระองค์ เป็นนิกายที่ค่อนข้างใหญ่พอสมควร เพราะสามารถบูชาเทพเจ้าได้ทุกพระองค์ตามความต้องการ

         จะสังเกตว่าตามคติแบบไทยนั้น น่าจะมีลักษณะแบบนิกายสมารธะ เพราะตามพิธีกรรมต่าง ๆ ของพราหมณ์-ฮินดู มีการอันเชิญและบูชาเทพเจ้าทุกพระองค์ ความแตกต่างทางด้านนิกายดังกล่าว นำมาสู่การเล่าเรื่องเทวปกรณัมที่แตกต่างกัน หากเป็นนิกายไวศณวะก็ย่อมจะเล่าเรื่องว่าพระวิษณุนั้นเกิดก่อนเทพทั้งมวล หากเป็นนิกายไศวะก็ย่อมที่จะเล่าว่าพระศิวะคือเทพที่อุบัติขึ้นก่อนเทพทั้งมวลเช่นกัน ควมแตกต่างของนิกายดังกล่าวนั้นจะเชื่อมโยงกับประการที่สอง คือ ที่มาของเทวปกรณัม โดยที่มาของเรื่องเทวปกรณัมของอินเดียนั้นส่วนใหญ่จะมาจากคัมภีร์ที่เรียกว่า ปุราณะ (Purana) อันเป็นคัมภีร์ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้าโดยเฉพาะ ปุราณะเป็นคัมภีร์ที่เกิดขึ้นมาในยุคทองของอินเดียที่เรียกว่ายุคจักรวรรดิคุปตะ ที่มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ. 280 - 550

         เช่นที่อธิบายไปในคราวที่แล้วว่า แต่ก่อนนั้นศาสนาฮินดูมิได้มีเทพเจ้าหลายพระองค์เหมือนเช่นในปัจจุบัน เนื้อหาของคัมภีร์ฤคเวทก็บรรยายถึงเทพแค่เพียงสามพระองค์ คือ พระอินทรา พระอัคนี และพระวรุณเท่านั้น ก่อนที่จะมีึคัมภีร์ฤคเวทนั้น นักประวัติศาสตร์ตะวันตกได้สันนิษฐานว่า การนับถือเทพเจ้าของชาวอินเดียเริ่มต้นขึ้นเมื่ออารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเริ่มมีความเจริญ คือเมื่อประมาณ 30,000 - 4,000 ปีก่อนคริสตกาล มีการค้นพบแท่นหินที่สลักรูปซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นรูปของเทพเจ้าและพระเทวี และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรูปของพระศิวะและพระแม่ศักติ

         ต่อมาประมาณ 1,750 - 500 ปีก่อนคริสตกาลนั้น จะเป็นช่วงเวลาของยุคพระเวทของชาวอารยัน โดยคัมภีร์พระเวททั้งห้าเล่มนั้น นักประวัติศาสตร์ก็สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในช่วง 1,500 - 1,000 ปีก่อนคริสตกาล และนักประวัติศาสตร์ยังสันนิษฐานว่าในยุคสมัยนี้ เป็นยุคสมัยที่วรรณะพราหมณ์มีอิทธิพลต่อผู้คนในทุกชั้นวรรณะของสังคม แต่สุดท้ายแล้วผู้คนในวรรณะต่าง ๆ ก็เริ่มเสื่อมศรัทธาต่อวรรณะพราหมณ์ด้วยเหตุที่วรรณะพราหมณ์นั้น มีการตั้งข้อกำหนดทางศาสนาและการบูชายัญที่มากเกินความเหมาะสม ศาสนาฮินดูจึงเข้าสู่ยุคอุปนิษัทในช่วงประมาณ 500 - 200 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคนี้เองที่มีการอุบัติของขึ้นศาสนาพุทธ มีการเกิดขึ้นของคัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งผู้บำเพ็ญพรตถือศีลแบบมหาฤๅษีนั้น พยายามหาหลักธรรมด้วยตนเองโดยพยายามจะแยกตนเองออกจากความเชื่อแบบเดิม และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ก็ทรงตรัสรู้พระธรรมด้วยพระองค์เอง และเกิดเป็นศาสนาพุทธขึ้น หลังจากนั้นศาสนาพุทธและศาสนาเชนก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในสังคมของอินเดีย จนประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล - คริสต์ศตวรรษ์ที่ 3 ช่วงนี้เป็นช่วงของการเกิดขึ้นของมหากาพย์สองเรื่องคือ รามายณะ และ มหาภารตะ ต่อมาประมาณคริตส์ศักราชที่ 320 - 650 ก็จึงเข้าสูุ่ยุคทองของอินเดีย เป็นยุคของจักรวรรดิคุปตะ มีการกำเนิดคัมภีร์ที่เล่าเรื่องราวของการกำเนิดโลกและเทพเจ้าที่เรียกว่า ปุราณะ และในช่วงสุดท้ายประมาณคริสต์ศักราชที่ 650 - 1,100 ศาสนาฮินดูจึงแตกออกเป็นหลายนิกายดังที่กล่าวมาในตอนต้น

         ดังนั้นเรื่องราวของเทพเจ้าที่คนไทยรับรู้และรับทราบผ่านทางละครเทวปกรณัมอินเดียก็ดี หรือผ่านทางพิธีกรรมต่าง ๆ ตามคติความเชื่อของคนไทยก็ดี มีที่มาจากเนื้อหาและเรื่องเล่าในคัมภีร์ปุราณะทั้งสิ้น ตามความเชื่อของอินเดียนั้น คัมภีร์ปุราณะเกิดจากการรจนาขึ้นของมหาฤๅษีวยาสะ (Vyasa) ผู้เดียวกันกับที่รจนามหากาพย์เรื่องมหาภารตะ โดยชีวประวัติของมหาฤๅษีวยาสะตามตำนานนั้นเริ่มจาก พระพรหมได้ทรงสร้างมหาฤๅษีขึ้นมาเจ็ดตน หนึ่งในนั้นคือมหาฤๅษีวศิษฐะ (Vashistha) มหาฤๅษีวศิษฐะได้สมรสกับพระนางอรุณธติ (Arundhati) มีบุตรด้วยกันหลายคน หนึ่งในนั้นคือศักติมหาฤๅษี (Sakti Maharishi) ต่อมามหาฤๅษีศักติมีบุตรคือมหาฤๅษีปาระศาระ (Parashara) ผู้รจนาคัมภีร์วิษณุปุราณะและคัมภีร์พฤหัตปาระศาระโหราศาสตร์ และสุดท้ายบุตรของมหาฤๅษีปาระศาระก็คือมหาฤๅษีวยาสะ หรือกล่าวกันตามภาษากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยก็ต้องกล่าวว่า มหาฤๅษีวยาสะคือ ลื่อ ของพระพรหมเทพบิดรนั่นเอง

ว่าด้วยตำนานการกำเนิดจักรวาลและโลก

         ตำนานการกำเนิดจักรวาลและโลกของศาสนาฮินดูนั้น แตกต่างกันตามนิกายและลัทธิ จุดเริ่มต้นนั้นจะเหมือนกันตรงที่การพรรณนาถึงระยะเวลาของ 1 วันและ 1 สนธยาแห่งพระพรหม 1 วันแห่งพระพรหมคือเวลาที่พระพรหมทรงตื่นขึ้น และสนธยาแห่งพระพรหมคือช่วงเวลาที่พระพรหมทรงบรรทมหลับไป ซึ่งช่วงที่พระพรหมทรงหลับนั้นจะเรียกว่า ยุคประลัย (Pralay) โดยคนไทยจะคุ้นเคยกับคำว่า ไฟบรรลัยกัลป์ เป็นยุคที่ไฟเผาผลาญล้างโลกจนสิ้น แต่อันที่จริงแล้ว ไฟมิได้เป็นตัวทำลายหนึ่งเดียวของการทำลายทั้งหมด คำว่า ไฟบรรลัยกัลป์ แยกได้เป็นสามคำ คือ ไฟ หมายถึงโลกถูกทำลายด้วยไฟจากพระเนตรที่สามของพระศิวะเทพจนจักรวาลว่างเปล่า บรรลัย หมายถึงเมื่อโลกถูกทำลายด้วยไฟแล้ว ก็จะเกิดน้ำท่วมจักรวาล ทุกที่ของจักรวาลท่วมท้นไปด้วยน้ำทั้งสิ้น และคำสุดท้ายคือคำว่า กัลป์ หมายถึง ระยะเวลาโดยประมาณ 4,294,080,000 ปีมนุษย์ รวมความทั้งหมดแล้ว คำว่า ไฟบรรลัยกัลป์ จึงหมายถึง กัลป์ที่เป็นช่วงของโลกถูกทำลายด้วยไฟและน้ำ และสุดท้ายก็จะเหลือเพียงแค่น้ำเท่านั้นในจักรวาล

         ซึ่งปุราณะโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นของนิกายไวศณวะที่นับถือพระวิษณุเทพเป็นใหญ่กว่าเทพอื่น ๆ จึงกล่าวว่าจักรวาลเหลือไว้เพียงน้ำเท่านั้น เพื่อจะเชื่อมโยงถึงเทพองค์แรกอันเป็นมหาเทพสูงสุด ที่สถิตอยู่เหนือน้ำ นั่นคือพระวิษณุ และด้วยเหตุที่พระองค์สถิตลอยอยู่เหนือพื้นน้ำ พระวิษณุจึงมีพระนามอีกอย่างว่า พระนารายณ์ (Narayan) โดยเกิดจากการสนธิคำจากสองคำคือคำว่า นารา (Nara) ที่แปลว่า น้ำ และคำว่า อารยนะ (Aryan) ที่แปลว่า บ้าน หรือที่อยู่อาศัย รวมเป็น นารายณ์ หรือ นารายณะ แปลว่า ผู้อาศัยอยู่ในน้ำ แต่ก็มีบางปุราณะที่พรรณนาว่า จักรวาลนี้ว่างเปล่ามาตั้งแต่แรก ไม่มีกลางวันหรือกลางคืน ไม่มีแสงสว่างและความมืด หากปุราณะใดพรรณนาไว้เช่นนี้ ก็จะสามารถสันนิษฐานได้ว่า ปุราณะนั้นเป็นของนิกายอื่นซึ่งมิใช่นิกายไวศณวะอย่างแน่นอน

         ในทางศาสนาพุทธนั้น มีคัมภีร์ทางศาสนาพุทธที่เกี่ยวกับโลกและจักรวาล หรือที่เรียกว่า วรรณกรรมโลกศาสตร์อยู่ฉบับหนึ่งชื่อว่า โลกทีปกสาร รจนาโดยพระสังฆราชเมธังกร เป็นพระภิกษุชาวพม่าสันนิษฐานว่ามีอายุพรรษาอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ได้กล่าวอธิบายอิงกับ สุริยสูตรของพระไตรปิฎกว่า โลกนั้นเมื่อถึงกาลจะแตกสลาย จะบังเกิดเป็นพระอาทิตย์ขึ้นมาทีละดวงจนครบเจ็ดดวง พระอาทิตย์ดวงที่เจ็ดนั้นจะเผาผลาญทุกสิ่งให้มอดไหม้หายไป แม้แต่ภูเขาและผืนดิน ทุกอย่างจะกลายเป็นว่างเปล่าไม่เหลือแม้ขี้เถ้า ดังที่พระไตรปิฎกได้เขียนไว้ว่า

         "เมื่อแผ่นดินใหญ่และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่ ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่า เปรียบเหมือนเมื่อเนยใสหรือน้ำมันถูกไฟเผาผลาญอยู่ ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่า ฉะนั้น" - สุริยสูตร

          โลกจะถูกทำลายด้วยไฟ 7 ครั้งจากพระอาทิตย์ 7 ดวงดังกล่ว โดยมนุษย์และสัตว์ในโลกจะพากันตายทั้งหมดตั้งแต่พระอาทิตย์ดวงที่ 2 จากพระอาทิตย์ดวงที่ 3 ไฟจะเริ่มลามขึ้นไปเผาผลาญชั้นสวรรค์ที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนพระอาทิตย์ดวงที่ 7 ปรากฎขึ้น ไฟได้ขึ้นไปเผาผลาญจนถึงชั้นพรหมที่ชื่อว่า  อัปปมาณาภา จากนั้นการทำลายในรอบที่ 8 จะเป็นการทำลายด้วยน้ำท่วมทั้งโลก ทำลายไปจนถึงพรหมชั้นที่ 8 อัปปมาณสุภา จากนั้นก็เริ่มจากไฟอีก 7 รอบ และน้ำ 1 รอบ วนเช่นนี้ไปเรื่อยจนครบ 64 รอบ และในรอบที่ 65 จะเป็นการทำลายด้วยลม ลมจะพัดทุกสิ่งทุกอย่างให้ลอย และกระทบกันแตกละเอียดเป็นจุณในอากาศนั้นเอง โดยการทำลายด้วยลมนี้ จะทำลายพรหมชั้นที่ 9 คือ สุภกิณหาพรหม ให้หายไปด้วย จากนั้นจักรวาลจึงว่างเปล่า ดังนั้นชั้นพรหมที่สามารถรอดพ้นจากการถูกทำลายของทั้งไฟ น้ำ และลมได้ก็คือ พรหมชั้นที่ 10 เวหัปผลา อันเป็นที่อยู่ของพรหมที่เคยบำเพ็ญสมาธิสมถกรรมฐานได้ถึงจตุถฌานชั้นสามัญ ดังนั้นแล้วในฐานะพุทธศาสนิกชนนั้น ควรจะหมั่นทำสมาธิสมถกรรมฐานให้เป็นประจำ

          เมื่อการเล่าเรื่องกำเนิดโลกและจักรวาลของฮินดูนั้น แตกต่างกันเป็นหลางทางหลายแนวตามปุราณะที่มีอยู่ถึง 18 เล่ม และแต่ละเล่มนั้นก็เล่าไปคนละทาง ดังนั้นเพื่อความสะดวกทางผู้เขียนจะขอสรุปตามแนวทางให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ทั้งนี้ความแตกต่างดังกล่าวมักจะอยู่แค่ตอนที่บอกที่มาของมหาเทพทั้งสามคือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงสร้างโลกและจักรวาลทุกปุราณะจะกล่าวในแนวทางเดียวกันทั้งหมด

          แนวทางแรกสันนิษฐานว่าเป็นของนิกายไวศณวะ โดยหลักการส่วนใหญ่จะกล่าว่า พระวิษณุนั้น เป็นเทพที่กำเนิดขึ้นก่อนเป็นพระองค์แรก ถึงแม้ว่าจะมีหลักการกำหนดไว้เช่นนั้น แต่วิธีการกำเนิดก็ยังแตกต่างกันดังนี้ ในแบบแรก เมื่อยุคบรรลัยหรือยุคที่น้ำท่วมจักรวาลผ่านพ้นไปครบตามกำหนดเวลา พระวิษณุทรงตื่นจากพระบรรทม จากนั้นทรงอวตารร่างเป็นพระพรหม แล้วจึงสร้างความเป็นเพศชายหรือปุรุษ (Purusha) และ ความเป็นเพศหญิงหรือประกฤติ (Prakriti) พระองค์ทรงรวมพระองค์เองเข้ากับปุรุษและกำเนิดคุณากรเป็นสามประการคือ สัตวะคุณะ หมายถึงความดีงาม ตมัสสะคุณะ หมายถึงความเลวทราม และรชัสสะคุณะ หมายถึงความดีงามและความเลวทรามผสมกัน เมื่อเกิดเป็นคุณากรทั้งสามแล้ว พระองค์จึงสร้างธาตุหลักทั้งห้าประการหรือมหาตัตวะขึ้นมาประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศหรือความว่างเปล่า พระองค์ทรงนำส่วนหนึ่งของพระองค์เองในฐานะความเป็นปุรุษ คุณากรทั้งสาม และมหาตัตวะทั้งห้าประการ นำเอาประกฤติมาหุ้มไว้กลายเป็นไข่สีทองคำใบหนึ่ง สุดท้ายแล้วไข่ใบนั้นก็ฟักออกมากลายเป็นพระวิษณุ เปลือกไข่ทางด้านบนกลายเป็นสวรรค์โลก (Svarga-loka) และเปลือกไข่ทางด้านล่างร่วงลงผืนน้ำกลายเป็นแผ่นดิน จะเห็นว่าในแบบแรกนั้น พระวิษณุอวตารเป็นพระพรหมก่อนในเบื้องต้น และสร้างพระวิษณุขึ้นมาพระองค์หนึ่งโดยการสร้างไข่สีทองคำ และด้วยพระวิษณุกำเนิดมาจากไข่ พระองค์จึงทรงพระนามว่า หิรัญครรภ์ (Hiranyagarbha)

          แบบแรกจะเห็นว่าพระพรหมนั้นกำเนิดขึ้นมาก่อน แตกต่างจากในแบบที่สอง ในแบบนี้องค์พระวิษณุมิได้ทรงอวตารเป็นพระพรหม แต่ทรงสร้างปุรุษและประกฤติ คุณากร และมหาตัตวะด้วยพระองค์เอง และทรงเข้าไปอยู่ในไข่ด้วยพระองค์เอง เมื่อพระองค์ถือกำเนิดออกมาจากไข่แล้ว พระองค์ทรงบรรทมลงบนผืนน้ำ จากนั้นจึงมีดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภี เมื่อดอกบัวบานออก ปรากฎเป็นพระพรหมมีสี่พระพักตร์ประทับตรงกลางดอกบัวนั้น พระวิษณุทรงตื่นบรรทมขึ้นอีกครั้ง และทรงมอบหมายหน้าที่ในการสร้างโลกให้แก่พระพรหมต่อไป

          แบบที่สามนั้นจะเริ่มต้นที่มหาเทพพระองค์หนึ่งชื่อพรัหมัณ (Brahman) พรัหมัณเป็นพลังงานที่ไม่มีรูปร่าง และอยู่ในทุกที่ของจักรวาล พรัหมัณทรงแบ่งร่างเป็นพระพรหมเพื่อสร้างโลก พระวิษณุเพื่อรักษาดูแลโลก ทรงสร้างน้ำขึ้นในจักรวาล และสร้างไข่สีทองคำ แล้วพระองค์ทรงเข้าไปอยู่ในไข่ใบนั้น ฟักออกมาเป็นพระพรหม พระพรหมทรงสวดมนต์ถึงพระวิษณุเพื่อขอร้องให้ทรงนำแผ่นดินขึ้นมาจากใต้น้ำ พระวิษณุทรงตื่นบรรทมขึ้น จากนั้นทรงอวตารเป็นหมูป่าหรือวราหะ (Varaha) แล้วดำลงใต้น้ำ ทรงใช้เขี้ยวทั้งสองข้างของพระองค์งัดนำแผ่นดินให้ลอยขึ้นมา และพระพรหมจึงเริ่มสร้างโลก

          ส่วนในแบบที่สี่นั้น เริ่มต้นที่มหาเทพชื่อว่า พระจักคัณณาฐ (Jagannath) มหาเทพแห่งจักรวาลทรงแบ่งภาคมาเป็นพระพรหม และพระวิษณุ ทรงสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ จนเกิดเป็นไข่ทองคำขึ้น พระองค์ทรงนำภาคแห่งพระพรหมเข้าไปไว้ในไข่ และฟักออกมาเป็นพระพรหม และเช่นเดียวกับเรื่องเล่าในแบบที่สาม พระพรหมทรงสวดมนต์ถึงพระวิษณุเพื่อให้พระวิษณุทรงนำผืนแผ่นดินขึ้นมาจากใต้น้ำ สัญลักษณ์ของพระจักคัณณาฐนั้น ทางผู้เขียนใช้เป็นภาพเริ่มต้นของบทความที่ผ่านมาทั้งหมดรวมถึงบทความนี้ด้วย

          ในแบบแรกนั้นพระวิษณุจะเป็นบุตรแห่งพระพรหม ส่วนในแบบที่สองนั้นพระพรหมจะเป็นบุตรของพระวิษณุ และในแบบที่สามและที่สี่นั้น พระพรหมและพระวิษณุมีศักดิ์เท่ากัน แต่ทัศนะผู้เขียนนั้น ผู้เขียนเห็นด้วยกับแบบแรกมากกว่า เนื่องจากจะเกิดความเหมาะสมในเรื่องราวมากกว่าในตอนหลัง ซึ่งสำหรับคนไทยนั้น อาจจะเคยชินกับการที่พระพรหมทรงกำเนิดจากดอกบัว ทั้งนี้เพราะเทวปกรณัมที่คนไทยรับชมทางโทรทัศน์นั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในแบบนิกายไศวะแทบทั้งสิ้น

          และประการสุดท้ายคือ นอกจากมหาศิวะปุราณะที่กล่าวว่าพระสรัสวดี (Saraswati) คือร่างแบ่งภาคของพระแม่อุมาเทวี (Uma) เป็นพระชายาของพระพรหม ปุราณะนอกเหนือจากนั้นทั้งหมด มิได้บอกที่มาหรือกำเนิดของพระสรัสวดีเลย คงบอกเพียงว่า พระแม่สรัสวดีนั้น เป็นพระแม่แห่งสายน้ำ เหมือนเช่นพระแม่คงคาเท่านั้น รวมทั้งเทพอีก 4 พระองค์คือ พระอัคนี (Agni) พระวายุ (Vayu) พระนางปฤฐวิ (Prithvi) และพระอาทิตย์หรือดวงสุริยะ (Surya) ก็มิได้มีปุราณะใดบอกที่มาอย่างชัดเจน แต่กลับพบว่ามีตัวตนขึ้นในภายหลัง ทางผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า พระอัคนี พระวายุ และพระนางปฤฐวินั้น กำเนิดตอนที่มหาเทพทรงสร้างมหาตัตวะธาตุทั้งห้านั่นเอง โดยพระอัคนีแทนธาตุไฟ พระวายุแทนธาตุลม และพระนางปฤฐวิแทนผืนแผ่นดิน และสุดท้ายพระอาทิตย์ หรือดวงสุริยะผู้ให้แสงสว่าง ในหลายปุราณะกล่าวว่า พระอาทิตย์หรือดวงสุริยานั้น เกิดขึ้นมาเมื่อไข่สีทองคำแตกออก และผู้เขียนก็เห็นด้วยในข้อนั้น เพราะความเชื่อในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง เคยเชื่อกันว่า พระสุริยาคือภาคหนึ่งของพระวิษณุ ผู้เป็นหิรัญครรภ์

          ในทางศาสนาพุทธนั้นเชื่อกันว่า หลังจากที่จักรวาลถูกทำลายไปแล้วนั้น ได้บังเกิดฝนห่าใหญ่ตกลงมา เม็ดฝนนั้นทยอยตกจากเม็ดเล็กมาก จนเม็ดฝนมีขนาดใหญ่เท่าต้นตาล ฝนตกจนน้ำนั้นเจิ่งนองทั่วทั้งจักรวาล ต่อมาน้ำนั้นก็ได้งวดเข้ากลายเป็นสวรรค์และพรหมชั้นต่าง ๆ จากนั้นตะกอนได้งวดเข้ากลายเป็นธาตุหยาบลอยอยู่เหนือน้ำโดยไม่จม มีสีเหลือง รสหวาน ทางศาสนาพุทธเรียกว่า ง้วนดิน

          "โดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำทั่วไป ได้ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้นเหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยวให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ฉะนั้นง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ ฉะนั้น" - อัคคัญสูตร

          เมื่อเกิดง้วนดินขึ้นแล้ว จึงมีต้นไม้เกิดขึ้น ต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นอันดับแรกคือ ดอกบัว ซึ่งจำนวนของดอกบัวนั้นมีตั้งแต่ 1 - 5 ดอก แต่จะไม่มากกว่า 5 ดอก หมายถึงจำนวนของพระพุทธองค์ซึ่งจะบังเกิดขึ้นในกัลป์นั้น โดยในกัลป์นี้ มีดอกบัวผุดขึ้น 5 ดอกเช่นกัน พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ พระนามว่าพระสมณโคดม เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่สี่ที่อุบัติขึ้นในโลก ส่วนพระองค์ที่ห้าคือพระศรีอาริยเมตไตร หลังจากที่ง้วนดินเกิดขึ้น พรหมที่ไม่ถูกทำลายและหมดบุญพวกหนึ่ง จุติลงจากชั้นพรหมลงมาเกิดบนง้วนดินโดยกำเนิดขึ้นทันใดเรียกว่า โอปปาติกะ พรหมเหล่านี้มีปิติเป็นอาหาร รัศมีแผ่ซ่านออกจากร่างกาย สัญจรไปในอากาศ และมีวิมานอันงาม ต่อมาจึงมีพรหมหนึ่งเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นใส่ปาก แลพรหมองค์อื่น ๆ ก็ทำตาม บังเกิดเป็นความอยากขึ้น เมื่อเกิดความยากขึ้นมากเข้า จึงนำมือปั้นง้วนดินเป็นคำเพื่อใส่ปาก และในตอนนี้เองที่รัศมีแห่งพรหมเริ่มเลือนหาย จึงเกิดเป็นดวงจันทร์และพระอาทิตย์ขึ้น และท้ายที่สุด ก็เกิดเป็นมนุษย์ มีเพศ เกิดการสมสู่กัน มนุษย์ในยุคหลังจึงกลายเป็นชลาพุชะ คือเกิดในครรภ์มารดา เกิดเป็นธัญญาพืช และเกิดเป็นสังคม และสุดท้ายเป็นนครของมนุษย์ขึ้น เรื่องราวการกำเนิดมนุษย์ในแบบพุทธนั้น ทางผู้เขียนเล่าแบบย่อ ผู้สนใจสามารถศึกษาเรื่องราวฉบับเต็มได้ในอัคคัญสูตร

          ในบทความนี้เห็นว่ายาวนานมากแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้ก่อน ในบทความต่อไป จะนำเสนอการกำเนิดโลกในแบบของนิกายไศวะ ซึ่งเมื่ออ่านแล้วจะน่าตื่นตาตื่นใจกว่านิกายไวศณวะมากนัก ให้ผู้อ่านได้ศึกษากันต่อไป

บรรณานุกรม
http://dou_beta.tripod.com/GL101_04_th.html
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B9
http://en.wikipedia.org/wiki/Hinduism

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น