วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าฮินดูของคนไทย






ความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าฮินดูของคนไทย

            คนไทยได้รับการเผยแพร่หลักการของศาสนาฮินดูมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา ซึ่งก่อนหน้านั้นในยุคสมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์มีลักษณะเป็นพ่อบ้านผู้นำชุมชน มีความใกล้ชิดกับราษฎรค่อนข้างมาก เห็นได้จากการที่ราษฎรในสมัยสุโขทัยมีสิทธิถวายฎีกา หรือร้องทุกข์โดยตรงต่อพ่อขุนโดยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้มีกระดิ่งแขวนไว้ที่ประตูวัง ถ้าใครต้องการถวายฎีกาก็ไปสั่นกระดิ่งพระองค์ก็จะทรงชำระความให้ ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ของไทยในสมัยสุโขทัยจึงใช้คำว่า พ่อขุน นำหน้าพระนามอยู่เสมอ พอมาในสมัยอยุธยาฐานะของพระมหากษัตริย์เริ่มเปลี่ยนไป โดยมีความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ จะเห็นได้จากชื่อของเมืองหลวงสมัยอยุธยาที่ชื่อ อยุธยา อันเป็นเมืองที่พระรามปกครองในวรรณกรรมของศาสนาฮินดูเรื่องรามมายณะ หรือในหนังเรื่องพระนเรศวร เราจะได้ยินผู้คนเรียกเมืองหลวงของไทยว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร แสดงให้เห็นว่าในยุคสมัยอยุธยา ความเชื่อและหลักการของศาสนาฮินดูได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อแนวความคิดของคนไทยในสมัยนั้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

            แต่เนื่องจากสมัยสุโขมัย คนไทยได้รับเอาศาสนาพุทธมานับถือกันอยู่ก่อนแล้ว และค่อนข้างมีความเหนียวแน่น ดังนั้นหากศาสนาฮินดูจะสามารถมีอิทธิพลกับคนไทยได้ วิธีการหนึ่งก็คือผสมไปกับศาสนาที่มีอยู่เดิม จึงเกิดเป็น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อันมีลักษณะเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างศาสนาฮินดู และนำเอาคำสั่งสอนหรือปรัชญาทางพระพุทธศาสนาบางประการเข้าไปผนวกอยู่รวมกัน เช่น พระมหากษัตริย์ไทยเป็นสมมติเทพ เป็นพระอวตารของพระนารายณ์ แต่ก็ทรงต้องตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม 10 ประการด้วยเช่นกัน การเป็นสมมติเทพขององค์พระมหากษัตริย์มาพร้อมกับหน้าที่ที่จะต้องปกปักรักษาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข เช่นเดียวกับหน้าที่ของพระนารายณ์ที่ต้องรักษาโลกให้อยู่เย็นเป็นสุข เป็นต้น

            หรือหากจะศึกษาให้ลึกลงไปอีกในรายละเอียด คงไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงในเรื่องของไสยเวทย์ได้ เพราะเวทย์มนต์คาถานั้นก็ถือเป็นหนึ่งในคัมภีร์พระเวทเช่นกัน โดยเวทย์มนต์คาถาของฮินดูนั้นถูกบรรจุอยู่ในคัมภีร์อาถรรพ์เวท แต่เวทย์มนต์คาถาของศาสนาพราหมณ์ฮินดู นอกจากจะมีการสรรเสริญองค์เทพเจ้าแล้ว ยังมีการสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ด้วย ก่อนที่จะกล่าวสรรเสริญเทพเจ้า แสดงให้เห็นว่า คนไทยนั้นนับถือพระพุทธเจ้าอยู่สูงสุดมาแต่ไหนแต่ไร และเห็นว่า นิพพาน มีอยู่จริง เทพเจ้าแม้จะอยู่สูงสักเท่าไร หรือมีอำนาจมากแค่ไหน ก็หาอาจจะเทียบกับพระพุทธองค์ซึ่งประทับอยู่ในแดนนิพพานนั้นได้ไม่ ซึ่งอันที่จริงแล้วถือเป็นข้อเด่นของประเทศไทย หาใช่ข้อด้อย เพราะการพรรณนาให้ผู้คนเชื่อโดยอาศัยอิทธิปาฏิหารย์เพื่อให้คนกลัวและยำเกรงนั้น ง่ายกว่าการนำคำสอนมอบให้กับคนโดยตรง เนื่องจากสิ่งแรกที่คนจะกระทำเมื่อได้รับการสอนสั่งก็คือการตอบโต้และการไม่เห็นด้วยไม่เชื่อฟัง และยิ่งกับพระมหากษัตริย์ที่หาอาจจะมีผู้ใดกล้าสั่งสอนได้แล้วนั้น กระบวนการปลูกฝังระเบียบแบบแผนทางการปกครองยิ่งจะต้องกระทำอย่างละมุนละม่อมที่สุด โดยเริ่มแรกคือการนำเสนอเรื่องสมมติเทพ จากนั้นจึงโยงเข้ากับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ทำให้พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยโบราณ มีการปกครองที่คำนึงถึงประชาราษฎรเป็นหลัก ไม่เหมือนการพระมหากษัตริย์ของต่างประเทศ และเนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัตริย์ไทยที่สืบเนื่องกันมาแต่โบราณนี้เอง สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจึงสามารถยืนยงคงอยู่ได้ตราบเท่าทุกวันนี้ และทางผู้เขียนก็ยังจินตนาการไม่ออกว่า หากประเทศไทยไร้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เสียแล้ว คนไทยจะเป็นอย่างไร

             ความเชื่อของคนไทยตั้งแต่อดีตจึงผูกพันธ์กับสองศาสนาคือ ศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มาโดยตลอดเวลา คณะลิเก คณะลำตัด คณะหนังตลุง คณะดนตรีไทย รวมถึงคณะศิลปกรรมของไทยแท้ ๆ นั้น หรือช่างสิบหมู่เองก็จะต้องบูชาเทพเจ้าซึ่งถือกันว่าเป็นครู เวลาสร้างสถานที่สำคัญก็ต้องมีการตั้งศาลพระภูมิ และบางครั้งหากสถานที่นั้นมีลักษณะใหญ่โต ก็ต้องมีการตั้งศาลพระพรหม นัยหนึ่งก็เพื่อที่จะเตือนสติว่า ผู้นำของแต่ละบ้านนั้น ควรจะมีลักษณะความเป็นพรหม คือ มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา หาไม่แล้ว คนที่อยู่ในสถานที่แห่งนั้นก็จะไม่เป็นสุข จะเห็นได้ว่าผูกพันเหนียวแน่นกันจนแยกกันไม่ออก

             แล้วด้วยทางผู้เขียนเห็นว่า สังคมในยุคปัจจุบันนั้น ผู้ที่เข้าใจหลักการของศาสนาฮินดูอย่างผิด ๆ นั้นมีอยู่มากมาย คนที่มองมาที่ศาสนาฮินดูและเข้าใจว่า เทพเจ้านั้นทรงบันดาลได้ทุกอย่างหากคน ๆ นั้นบูชามีอยู่มาก บางคนหมดค่าบูชาเป็นเงินหลายบาท ยังไม่นับการเข้าใจผิดอีกหลายประการเกี่ยวกับศาสนาฮินดูของคนไทย ทางผู้เขียนจึงอยากจะเขียนเรื่องราวของเทพเจ้าโดยจำกัดวงอยู่แค่การกำเนิดโลกและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์เท่านั้น

             นับว่าความเชื่อของคนไทยในเรื่องเทพเจ้านั้น แตกต่างจากคนอินเดียที่เขานับถือเทพเจ้าอย่างจริงใจ เขามิได้นับถือเพราะว่าเทพเจ้าบันดาลอะไรได้ทุกอย่าง แต่เขานับถือเพราะเทพเจ้าสอนบางอย่างแก่เขา หลักคำสอนของศาสนาฮินดูนั้นโดยหลักใหญ่ใจความคือ ความกตัญญู หากผู้ใดไม่มีความกตัญญูต่อบิดามารดาแล้ว ต่อให้สวดมนต์ถึงเทพเจ้าอย่างไร เทพเจ้าก็ไม่ช่วย นั่นคือหลักการสำคัญของศาสนาฮินดูที่คนไทยไม่เคยรู้ เช่นเดียวกับที่ศาสนาพุทธสอนคนไทยว่า บิดามารดาคือพระอรหันต์ในบ้าน ควรจะทำบุญหรือกระทำความดีต่อพระอรหันต์ในบ้านเสียก่อนที่จะไปทำบุญหรือทำความดีกับผู้อื่น เนื่องจากศาสนาพุทธเชื่อว่า การเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก เปรียบประดุจว่ามีห่วงหนึ่งลอยอยู่ในมหาสมุทร โอกาสที่ปลาตัวหนึ่งจะกระโจนลอดห่วงนั้นทั้งแสนยาก แสนนาน แสนลำบากที่จะเกิดขึ้น นั่นคือความยากของการเกิดเป็นมนุษย์ ดังนั้นแล้วบุคคลที่ทำให้เราเกิด ย่อมมีบุญคุณใหญ่หลวง เพราะมนุษย์นั้น เป็นจุดเปลี่ยนเดียวที่จะทำให้วิญญาณหนึ่งดวง แปลงร่างจากวิญญาณผู้มีกรรมหนักต้องอยู่ในนรก ให้กลายเป็นพระอรหันต์ได้ ซึ่งสามารถศึกษาได้จากประวัติของพระสิวลี พระอรหันตสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะครับ

ภาพยนต์เทพเจ้าฮินดูในประเทศไทย

             เป็นสิ่งที่แน่นอนว่า คนไทยโดยส่วนมากจะบูชาเทพเจ้าได้นั้น ต้นกำเนิดย่อมจะไม่ใช่เข้าไปหาพราหมณ์ฮินดู แต่คนไทยส่วนใหญ่ศึกษาศาสนาฮินดูผ่านจากภาพยนต์เทพเจ้าฮินดูที่มีฉายกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับคำพรรณนาหรือต่อยอดจากคนไทยหัวใจฮินดูแบบไม่รู้จริงด้วยกันเอง กลายเป็นความเชื่อความศรัทธาที่ไม่มีคำถาม ไม่มีคำตอบ และไม่ต้องการเหตุผลใด ๆ จนบางครั้งเลยเถิดต้องหมดเงินไปเยอะเพราะความเชื่ออย่างนั้น ๆ

             หากเราชมภาพยนต์ที่เกี่ยวกับเทพเจ้าฮินดูอย่างละเอียด มิได้มุ่งหวังเพียงจะรับรู้การต่อสู้หรือปาฎิหารย์ในการอำนวยพรของเทพเจ้าแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว เราจะสามารถรับรู้หลักคำสอนมากมายที่อยู่ในภาพยนต์นั้นได้อย่างครบถ้วน ยกตัวอย่างเช่น การกระทำที่ไม่ดีที่เทพไม่ชอบมีอะไรบ้าง การกระทำดีที่เทพชอบนอกจากการสวดมนต์ภาวนาถึงเทพเจ้านั้นมีอะไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่เข้าใจ ย่อมไม่เข้าถึง และมองศาสนาฮินดูอย่างผิวเผิน และแน่นอนว่ารวมไปถึงความขัดแย้งในเรื่องเทพเจ้าต่าง ๆ ของศาสนาฮินดูที่คนจำพวกหนึ่งมองว่างมงาย และคนจำพวกหนึ่งมองว่ามีอยู่จริง

             ทางผู้เขียนก็เป็นบุคคลหนึ่งที่เชื่อว่า เทพเจ้าทุกพระองค์มีอยู่จริง เพียงแต่ศาสนาฮินดูนั้นมีหลายนิกายและเล่ากันไปเหมือนภาพยนต์คนละม้วนเท่านั้น แต่เทพทุกพระองค์ก็ยังทรงมีอยู่จริง เช่นที่ศาสนาพุทธได้วางหลักการไว้ ศาสนาพุทธสอนให้มนุษย์เพียรพยายามพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเบื้องหลังโลกมนุษย์อันเป็นรูปธรรม ยังมีนามธรรมอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นตัวแปรสามารถเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ได้เช่นกัน เช่น เจ้ากรรมนายเวร เทพยดา เทพเจ้า มารทั้งหลาย เป็นต้น ดังนั้นแล้วสองสิ่งนี้ต้องกระทำคู่กัน คือการเคารพความสามารถของมนุษย์ และการเคารพความสามารถของเทพเจ้า เหมือนคำกล่าวของจีนที่ผู้เขียนเคยได้ยินว่า คนจะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องเก่งบวกเฮง ถ้าเฮงแต่ไม่เก่งก็สำเร็จได้แต่ไม่ตลอด ถ้าเก่งแต่ไม่เฮงประสบความสำเร็จได้แต่ไม่สูงสุดเพราะไม่ได้รับโอกาสที่ดี บทความนี้เป็นการแสดงที่มาของความเชื่อคนไทย บทความหน้าจะเป็นเรื่องของศาสนาฮินดูจริงที่เกิดขึ้น ผู้อ่านอาจจะค้นพบว่า ความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าของคนอินเดียนั้น เมื่อเดินทางมาถึงเมืองไทยแล้ว กลับกลายเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น