วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ระบบนิรายนะ และสายนะ ตอนจบ


โหราศาสตร์ตะวันตกยุคสมัยใหม่

                จากคราวที่แล้ว ทางผู้เขียนได้อธิบายถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของวิชาดาราศาสตร์ตะวันตกอย่างพอสังเขป ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า ชาวตะวันตกส่วนหนึ่งนั้นมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่สูงมาก นักคิดชาวตะวันตกมิได้มองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเช่นที่ชาวเอเซียมอง ยกตัวอย่างเช่น ชาวเอซียมักจะมองว่าพระอาทิตย์คือผู้ให้แสงสว่างและความอบอุ่น ดังนั้นชาวเอเซียทั้งอินเดียก็ดี หรือญี่ปุ่นก็ดี จะบูชาพระอาทิตย์ โดยเฉพาะชนชาติญี่ปุ่น มองว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์ เป็นบุตรของพระอาทิตย์ดังนั้นธงชาติของประเทศญี่ปุ่นจึงมีวงกลมสีแดงตรงกลาง อันหมายถึงพระอาทิตย์

                หรือในวัฒนธรรมกรีกโบราณ ที่มีลักษณะบูชาเทพเจ้า ก็ยกตำแหน่งให้พระอาทิตย์มีฐานะเป็นเทพองค์หนึ่งที่มีพระนามว่า อพอลโล อีกทั้งชาวกรีกยังมีการตั้งชื่อกลุ่มดาวต่าง ๆ ในท้องฟ้าซีกด้านเหนือตามตำนานของเทวปกรณัมของตนเอง ตรงจุดนี้เองที่ผู้เขียนก็มีความสงสัยว่า กลุ่มดาวทั้ง 12 ราศีนั้น มาจากการตั้งชื่อของอารยธรรมกรีกจริงหรือ เพราะหากเปรียบเทียบระหว่างอารยธรรมกรีก ที่เพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อประมาณ 750 ปีก่อนคริสต์กาล กับอารยธรรมยุคพระเวทของชาวอารยัน ที่เริ่มต้นเมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสต์กาลแล้ว นับว่าห่างไกลกันมาก และที่สำคัญ โหราศาสตร์ภารตะเอง ก็ได้กำหนดรูปร่างลักษณะของราศีทั้ง 12 มาตั้งแต่แรก ดังนั้นที่นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกสรุปว่า ชาวกรีกเป็นผู้กำหนดกลุ่มดาว 12 ราศีบนท้องฟ้าเป็นอารยธรรมแรก ทางผู้เขียนไม่ใคร่จะเชื่อเท่าใดนัก

                ส่วนกลุ่มดาวอื่น ๆ นอกจากกลุ่มดาวทั้ง 12 ราศีนั้น ชาวกรีกก็มิได้ตั้งขึ้นมาทั้งหมด เช่น กลุ่มดาวนายพราน เป็นกลุ่มดาวที่ชาวอียิปต์นับถือมาก่อน เพราะถือว่าเป็นกลุ่มดาวแห่งกษัตริย์ ทั้งยังมีการสร้างมหาปิรามิดทั้งสามที่เมืองกีซ่า ตามตำแหน่งของกลุ่มดาวดังกล่าวด้วย ดังนั้นกลุ่มดาวที่มีในปัจจุบัน ชาวกรีกมิได้ตั้งชื่อเองกับมือเสียทั้งหมด หากแต่หยิบยืมจากวัฒนธรรมอื่น ๆ มาบ้าง ในปัจจุบันนักดาราศาสตร์ได้ทำการรวบรวมกลุ่มดาวทั้งหมด จัดให้เป็นระบบระเบียบได้จำนวน 88 กลุ่มดาว และวางขอบเขตพื้นที่ให้กับกลุ่มดาวนั้นมีบริเวณแน่นอน คล้ายกับแผนที่โลก เพื่อประโยชน์ในการระบุตำแหน่งของกาแลคซี่ เทหะวัตถุในจักรวาลอื่น

                จะเห็นว่าวิชาดาราศาสตร์ของชาวตะวันตกในปัจจุบันนั้น สวนทางกับวิชาดาราศาสตร์สมัยโบราณไปอย่างสิ้นเชิง ความขัดแย้งแรกที่สามารถรับรู้ได้คือเรื่องจักรราศี หากถือตามคติของดาราศาสตร์อารยธรรมสินธุ และเมโสโปรเตเมีย ก็ต้องกล่าวว่า ปีหนึ่งมี 12 เดือน เดือนละประมาณ 30 - 31 วัน ตามขอบเขตของจักรราศีที่มีทั้งหมด 12 ราศี โดยแต่ละราศีมีพื้นที่เท่ากันทั้งหมดคือ 30 องศา

                แต่หากยึดตามทฤษฎีของดาราศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์ ต้องกล่าวว่าราศีทั้งหมดมี 13 ราศี ขอบเขตของราศีไม่เท่ากัน ราศีพิจิกมีพื้นที่เพียง 7 องศาเท่านั้น และในปีหนึ่ง ๆ นั้นมีทั้งหมด 13 เดือน แต่ละเดือนก็ไม่เท่ากันอีกด้วย

                และเนื่องจากหลักเกณฑ์การมองท้องฟ้าของดาราศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์แบบโบราณ มีลักษณะแตกต่างกันเช่นนี้ ทำให้ 0 องศาของราศีเมษ ของทั้ง 2 ระบบมีลักษณะแตกต่างกัน โดย 0 องศาราศีเมษของดาราศาสตร์แบบโบราณนั้น จะยึดที่ตำแหน่งกลุ่มดาวจริงบนท้องฟ้า ในหลักการดาราศาสตร์ของอินเดียก็ยึดว่า 0 องศาราศีเมษนั้น อยู่ตรงข้ามกับดาวจิตรา หรือดาวสไปกาของกลุ่มดาวราศีกันย์แบบพอดิบพอดี

                แต่ 0 องศาราศีเมษของดาราศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์นั้นไม่เหมือนกัน เขาไม่สนใจกลุ่มดาวอะไรทั้งสิ้น เขาสนใจเพียงจุดวิษุวัต (equinox) หรือจุดราตรีเสมอภาคเท่านั้น จุดราตรีเสมอภาคคือจุดที่ทำให้เวลากลางวันและกลางคืนมีระยะเวลา 12 ชั่วโมงเท่ากัน ในปีหนึ่งนั้นจะมีเพียง 2 ระยะเท่านั้น ระยะแรกเรียกว่า วสันตวิษุวัต (Vernal equinox) เกิดขึ้นประมาณวันที่ 20 - 21 มีนาคมของทุกปี และระยะที่สองคือ ศารทวิษุวัต (Autumnal equinox) เกิดขึ้นประมาณวันที่ 22 - 23 กันยายนของทุกปี ซึ่งจุดวิษุวัตนี้ มันเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดนิ่ง หากเทียบกับแผนที่ดาราศาสตร์แบบโบราณ หรือแบบโหราศาสตร์ที่เราใช้กันทุกวัน จุดวิษุวัตจะอยู่ที่ประมาณ 6 องศาราศีมีน เนื่องจากมันเคลื่อนจาก 0 องศาราศีเมษเดิมตามระยะจริงของกลุ่มดาว เข้าไปในกลุ่มดาวราศีมีนทีละน้อยประมาณ 50 ฟิลิปดาต่อปี ในปัจจุบันนี้เคล่ื่อนไปประมาณ 24 องศาแล้ว พูดง่าย ๆ ตามภาษาชาวบ้านคือ มันล้ำเข้าไปในราศีมีน 24 องศา หรือประมาณองศาที่ 6 ของราศีมีนในระบบดาราศาสตร์โบราณ

                ค่าองศาที่มันเปลี่ยนจุดวิษุวัตนี้ทางตะวันตกเรียกว่า ปรากฏการณ์ precession หรือที่นักโหราศาสตร์ไทยและอินเดียในปัจจุบันเรียกว่า ค่าอายนางศะ (Ayanamsa) นั่นเอง ปรากฏการณ์ precession คือปรากฏการณ์หมุนควงของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาล เป็นหลักการณ์ทางฟิสิกข์ดาราศาสตร์ เกิดกับดาวเคราะห์ที่หมุนเพราะมีแรงกระทำจากภายนอก ในที่นี้ก็คือแรงโน้มถ้วงของดวงอาทิตย์เอง ที่ทำให้ดาวเคราะห์ต่าง ๆ หมุนรอบตัวเอง ซึ่งโลกก็หมุนรอบตนเองเพราะเหตุนี้ และการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์นั้นทำให้เกิดการหมุนควงเหมือนกับลูกข่างใกล้ล้มไปด้วยในตัวเอง


                และด้วยปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้โลกเราเปลี่ยนดาวเหนืออยู่ตลอดเวลา ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสต์กาล ดาวเหนือของเราคือดาวทูบาน (Thuban) ทูบานเป็นภาษาอารบิกแปลว่า มังกร และในปัจจุบันนี้ ดาวเหนือของเราคือ ดาวโพลาริส (Polaris) เป็นดาวในกลุ่มดาวหมีน้อย และในประมาณปี ค.ศ. 14,000 ดาวเหนือของเราก็จะเปลี่ยนเป็นดาววีกา (Vega) ดาวที่สวยงามมากที่สุดดวงหนึ่งในท้องฟ้า ซึ่งเป็นดาวในกลุ่มดาวพิณ วงรอบของการหมุนควงนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 26,000 ปี ด้วยเหตุที่โลกเรามันไม่ได้เอียงองศาเดียวตลอดเช่นนี้ ทำให้วันราตรีเสมอภาคของเราก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และเป็นผลให้จุดวิษุวัตเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เช่นกัน ดังนั้นหากนักโหราศาสตร์ นำปฏิทินดาราศาสตร์ของสวิตส์เซอร์แลนด์มาอ่าน แล้วเขาเขียนว่า 21 March Sun 0 Degree Aries อย่าได้เข้าใจว่า พระอาทิตย์มันอยู่ในกลุ่มดาวราศีเมษจริง ๆ แต่ต้องเข้าใจว่า มันอยู่ยังอยู่กลุ่มดาวราศีมีนอยู่นะครับ เพียงแต่คำว่า 0 Degree Aries ในที่นี้คือ จุดวิษุวัต นั่นเอง

                นี่เองครับคือระบบสายนะ ที่แท้จริง คำว่าราศีเคลื่อนที่นั้น ไม่ใช่ว่าราศีมันเคลื่อนที่ไปจริง ๆ หรือ กลุ่มดาวมันเคลื่อนที่ไปจริง ๆ แต่มันหมายถึงการเคลื่อนที่ของจุดวิษุวัต ทำให้วันราตรีเสมอภาคเคลื่อนที่ไป แต่หากนักดาราศาสตร์จะตั้งจุดนั้นขึ้นมาลอย ๆ ในจักรวาล เป็นจุดใดจุดหนึ่งที่ไม่มีอะไรระบุตำแหน่ง เวลาจะจดบันทึกมันก็อาจจะทำให้เกิดความยุ่งยาก นักดาราศาสตร์เลยใช้ราศีเมษในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้น 0 องศาของจักรราศี มาเป็นตัวแทนของจุดวิษุวัตเสียเลย นี่เองครับคือระบบสายนะที่แท้จริงครับ ดังนั้นในเมื่อจุดวิษุวัตมันเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แล้วมันจะมีวันจะถอยหลังหรือไม่ ตอบเลยครับว่า มีครับ เพียงแต่มันอาจจะไม่เกิดขึ้นเร็วนัก แต่อาจจะอีกหมื่นหรือสองหมื่นปีครับ

                ในช่วงที่อธิบายว่า ค่าอายนางศะ คือ ค่า precession นั้น อันที่จริงแล้วควรจะต้องกล่าวว่า ค่าอายนางศะ คือค่าประมาณการค่า precession ที่แท้จริง เพราะค่าหมุนควงที่แท้จริงนั้น เขาใช้วิธีการสังเกตการณ์ในแต่ละปีครับ ไม่มีสูตรทางคณิตศาสตร์ตายตัว ว่าเอาปี ค.ศ. มาคูณอย่างนั้นหารอย่างนี้แล้วออกมาเป็นค่าอายนางศะ ทางวิชาดาราศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์เขาไม่มีแบบนี้ ค่าอายนางศะเกิดขึ้นจากประเทศอินเดีย เนื่องจากในตอนที่ท่านเนหรูเป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดียนั้น รัฐบาลอินเดียมีความประสงค์จะให้ใช้ปฏิทินดาราศาสตร์แบบสวิตส์เซอร์แลนด์ ในการกำหนดวันทางศาสนา สันนิษฐานว่าต้องการให้มีความเป็นสากล ทีนี้ทำเช่นไรเล่าในเมื่อ 0 องศาของราศีเมษของดาราศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์ มันไม่ใช่จุดเดียวกับ 0 องศาราศีเมษของดาราศาสตร์แบบอินเดียเลย อีกทั้ง 0 องศาของราศีเมษแบบวิทยาศาสตร์ มันก็ต้องอาศัยการสังเกตการณ์ปีต่อปี ลำบากกับคนอินเดียที่ต้องกำหนดวันทางศาสนาตามหลักดาราศาสตร์ ซึ่งบางกรณีก็ต้องมีการกำหนดล่วงหน้า ก็เลยมีการวิจัยหรือค้นหาสูตรคำนวณใดที่จะสามารถนำปีมาหาค่าประมาณการของการหมุนควงนี้ได้บ้าง หลายสำนักมีการวิจัยกันออกมา แต่ที่โด่งดังที่สุดคือ ค่าอายนางศะของลาหิรี

                เนื่องจากลาหิรีมีความสนิทสนมกับเนหรู นายกรัฐมนตรีอินเดียในขณะนั้น อีกทั้งนั่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของสมาคมโหราศาสตร์อินเดีย ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นประกาศใช้ค่าอายนางศะของลาหิรีเป็นพื้นฐานเดียวกันทั่วประเทศในปี ค.ศ. 1954 และต่อมาประเทศไทยก็รับมาใช้ผ่านทางอาจารย์เทพ สาริกบุตร ซึ่งหากจะกล่าวว่าค่าอายนางศะเป็นของลาหิรีก็ไม่ถูกเสียทีเดียว ความจริงแล้วลาหิรียืมผลการวิจัย จิตรา-ปักษิยะอายนางศะ ของพี่น้องเกตการะมาใช้ต่างหาก เพราะฉะนั้นแล้วหากจะเรียกให้ถูกต้องแล้ว ไม่ควรจะเรียกค่าอายนางศะของลาหิรี แต่ควรเรียกว่าค่าอายนางศะของเกตการน่าจะถูกต้องที่สุด เมื่อค่าอายนางศะของลาหิรีถูกประกาศใช้ ไม่เพียงแต่อาจารย์โหราศาสตร์ของอินเดียจะไม่พอใจเท่านั้น แม้แต่ชาวตะวันตกที่เข้ามาศึกษาดาราศาสตร์โบราณของอินเดียก็ยังมีความเห็นไม่ยอมรับค่าอายนางศะดังกล่าว แยกไปคิดค่าอายนางศะของตนเองอีกด้วยซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์สองท่านคือ ฟากันและเบรดเลย์ (Fagan and Bradley) ค่าอายนางศะของท่านทั้งสองได้รับการยอมรับจากโลกสากลตะวันตกมากกว่า ด้วยว่ากันตามจริง ค่าอายนางศะเป็นเพียงค่าประมาณการ ซึ่งไม่เป็นวิยาศาสตร์ และ NASA ก็ไม่มีค่าอายนางศะ เพราะค่าอายนางศะ จำเป็นสำหรับคนอินเดียเท่านั้น ไม่จำเป็นกับการยิงจรวจสำรวจจักรวาล

                จากเนื้อหาทั้งหมด จึงสรุปเป็นประโยคสั้น ๆ ได้ว่า ระบบสายนะ นับ 0 องศาจักราศีที่จุดวิษุวัตโดยไม่สนใจว่ามันจะอยู่ในกลุ่มดาวราศีใด และจุดวิษุวัตดังกล่าวเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ ทุกปี ส่วนระบบนิรายนะ นับ 0 องศาจักรราศีที่จุดเริ่มต้นกลุ่มดาวราศีเมษจริง ในความเห็นส่วนตัวผมนั้น ใช้การทำนายจากปฏิทินสุริยาตร์เป็นหลัก เพราะเหตุว่า สถิติที่มหาฤาษีรวบรวมและประกาศเป็นหลักการทำนายนั้นสร้างขึ้นจากปฏทินสุริยะสิทธานตะ หรือสุริยาตร์ ดังนั้นหากเราจะเอาตำแหน่งดาวของบุคคลใดมาทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าโดยอิงสถิติดังกล่าวนั้น ก็ควรจะคำนวณโดยวิธีการตามแนวทางสุริยะสิทธานตะหรือสุริยาตร์จะเหมาะมากกว่า

                และภาพสุดท้ายนี้ เป็นภาพจากโปรแกรมสเตลาเรียม โปรแกรมทางดาราศาสตร์สมัยใหม่ บอกพิกัดของพระอาทิตย์ ในวันที่ 15 เมษายน 2558 ว่า 24 องศาราศีเมษ แต่หากดูเปรียบเทียบกับกลุ่มดาวและดาวสไปกาหรือดาวจิตราจะเห็นว่า พระอาทิตย์อยู่ตรงกับดาวจิตรา แม้ว่าอาจจะไม่ตรง 180 องศาเป๊ะ แต่ก็ถือว่าตรงนะครับ ซึ่งนักโหราศาสตร์ผู้ใช้ปฏิทินสุริยาตร์ น่าจะภูมิใจว่า สูตรการคำนวณของสุริยาตร์ ตรงกับท้องฟ้าจริงอยู่บ้างเหมือนกันนะครับ


                สุดท้ายนี้ จุดประสงค์ที่ผมนั่งเขียนอธิบายตั้งแต่ประวัติศาสตร์อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ จนถึงประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ตะวันตก ก็เพื่อจะตอกย้ำให้นักโหราศาสตร์ทั่วไปได้เข้าใจว่า หลักการทางดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ที่ตะวันตกใช้อยู่ทุกวันนี้ มาจากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุทั้งสิ้น ไม่ใช่มาจากเมโสโปรเตเมีย ผมพยายามที่จะอ้างถึงช่วงเวลาการกำเนิดอารยธรรมที่แตกต่างกัน และห่างจากกัน เพื่อชี้ให้เห็นว่า อายรธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นเกิดก่อนอารยธรรมเมโสโปรเตเมีย และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุก็มีวิชาดาราศาสตร์มาแต่แต่โบราณ จะบอกว่าราศีทั้ง 12 ราศี วันทั้ง 7 วัน ดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวง เกิดจากอารยธรรมเมโสโปรเตเมียกำหนดได้อย่างไรกัน ผมถือเป็นหน้าที่ของผู้ศึกษาวิชาโหราศาสตร์ และนักโหราศาสตร์ ที่จะต้องสร้างความเข้าใจในจุดนี้ให้กับบุคคลทั่วไป อย่าให้วิชาโหราศาสตร์ เป็นเพียงวิชาที่เลื่อนลอย งมงาย เช่นที่สังคมเข้าใจนะครับ

อ้างอิง
http://en.wikipedia.org/wiki/Zodiac
http://th.wikipedia.org/wiki/วิษุวัต
http://en.wikipedia.org/wiki/Ayanamsa

1 ความคิดเห็น: