วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ประวัติและความเป็นมา


โหราศาสตร์ภารตะ หรือ ชโยติษ (Jyotish)

             หากกล่าวถึงโหราศาสตร์ภารตะ หรือ วิชาชโยติษ (Jyotish) นั้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องของคัมภีร์พระเวท หรือ เวทางคศาสตร์ เป็นคัมภีร์ของศาสนาฮินดู (Hindhu) โดยประกอบไปด้วยคัมภีร์ทั้ง 4 เล่ม คือ 
             ฤคเวท (Rigveda) เป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุด มีอายุประมาณ 1,500 - 1,200 ปีก่อนคริสตกาล เนื่องจากใช้ภาษาของอินโด-ยูโรเปียน หรือชาวอารยันโดยแท้ มีเรื่องราวเกี่ยวกับการกำเนิดโลก การกำเนิดเทพเจ้า การสวดบูชาเทพเจ้าของชาวอารยัน รวมถึงเรื่องความเจริญรุ่งเรืองต่างๆของชาวอารยัน
             ยชุรเวท (Yajurveda) เป็นคัมภีร์ที่มีอายุประมาณ 1,200 - 1,000 ปีก่อนคริสตกาล เนื้อหาหลักเป็นบทสวด หรือมันตรา (Mantra) ของเทพเจ้าต่าง ๆ รวมถึงพิธีสังเวยหรือบูชายัญต่อเทพเจ้า
             สามเวท (Samaveda) เป็นคัมภีร์อายุประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสศักราช เนื้อหาประกอบด้วยรวมบทสวด (สังหิตา) และร้อยกรองอื่นๆ โดยนำมาจากฤคเวท (ยกเว้น 75 บท) เพื่อใช้เป็นบทร้องสวดเป็นทำนองตามพิธีกรรม เรียกว่า "สามคาน" สวดโดยนักบวชที่เรียกว่า "อุทคาตา" ขณะทำพิธีคั้น กรอง และผสมน้ำโสม เพื่อถวายเทพเจ้า
             อาถรรพเวท (Atharvaveda) เป็นคัมภีร์ประกอบด้วยเวทยมนต์คาถาเรียกผีสาง เทวดาให้ช่วยป้องกันอันตรายให้ และให้มีการแก้อาถรรพ์ ทำพิธีสาปแช่งให้เป็นอันตรายได้ด้วย

             โดยแต่ละคัมภีร์นั้น จะประกอบไปด้วยเนื้อหา 4 ตอนด้วยกันคือ
                   สัมหิตา (Samhita) เป็นเรื่องราวของการสวดและการขอพรต่อเทพเจ้า 
                   อารัณยกะ (Aranyaka) เป็นเรื่องของการทำพิธีกรรม รายละเอียดของการทำพิธีกรรม รวมถึงพิธีการบูชายัญ 
                   พราหมณะ (Brahmana) เป็นข้อคิดเห็นหรือรายละเอียดเพิ่มเติมจากอรัณยัก ที่มาของบทสวด ที่มาของพิธีกรรม ตำนานที่เกี่ยวข้องกับสัมหิตาและอรัณยัก
                   อุปนิษัท (Upanishad) เป็นบทความท้ายคัมภีร์ ซึ่งอาจจะมีหลากหลายเรื่องราว ทั้งปรัชญาการดำเนินชีวิต รวมถึงบทสนทนาระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ด้วย

             นอกจากนั้นยังมีคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องอีกหนึ่งคัมภีร์คือ เวทางคะ หรือ เวทางค์ (Vedanga) เป็นคัมภีร์ที่ช่วยให้เข้าใจภาษาและการออกเสียงที่ถูกต้องของภาษาที่อยู่ในคัมภีร์พระเวททั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยคัมภีร์อีก 6 เล่มดังนี้ ศึกษา (Shiksha) เป็นเรื่องราวของสัททศาสตร์ หรือการออกเสียงตัวอักษร, กัลปะ (Kalpa) เป็นเรื่องราวของพิธีกรรม, วยากรณะ (Vyakarana) เป็นเรื่องราวของรูปแบบประโยค (Grammar) นิรุกตะ (Nirukta) เป็นเรื่องราวของรากศัพท์, ฉันทะ (Chandas) เป็นเรื่องราวของหลักคำประพันธ์ต่างๆ และ ชโยติษะ (Jyotisha) อันเป็นเรื่องราวของดาราศาสตร์

             ชโยติษะ ยังแบ่งเนื้อหาออกเป็นสามประการ คือ สิทธานตะ (Siddhanta) เป็นการคำนวณตำแหน่งดวงดาว หรือหลักการทางดาราศาสตร์, สัมหิตา (Samhita) เป็นการนำหลักการทางดาราศาสตร์มาเทียบเคียงกับวิชาแขนงอื่น ๆ เช่น มาปรับใช้กับวิศวกรรมศาสตร์และการก่อสร้าง กลายเป็นวิชา วัสดุศาสตร์ (Vastusashtra) รวมถึงการเชื่อมโยงตำแหน่งดาวกับการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่น ๆ เช่น แผ่นดินไหว สุริยุปราคา หรือจันทรุปราคา เป็นต้น, โหราศาสตร์ (Horasashtra) คือ การนำตำแหน่งดาวต่าง ๆ มาปรับใช้กับการทำนายชีวิตมนุษย์ รวมถึงบริบทด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ เช่น วันที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เวลาการเริ่มเพาะปลูก เวลาการเริ่มสร้างบ้าน เวลาการตั้งชื่อบุคคล เวลาสมรส ฯลฯ

             คัมภีร์พระเวทนั้น เป็นคัมภีร์ของชาวอารยัน ซึ่งเคยมีอิทธิพลเหนือดินแดนลุ่มแม่น้ำสินธุเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ดังนั้นหากจะทำความเข้าใจถึงวิชาดาราศาสตร์ของคัมภีร์พระเวท เราก็ควรที่จะเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของชาวอารยัน และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุกันเสียก่อน

อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ

             อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นเป็นอารยธรรมอันเก่าแก่ที่สุดอารยธรรมหนึ่งของโลกที่ไม่ค่อยมีใครศึกษาเท่าใดนัก ทั้งที่หากเปรียบเทียบถึงความยิ่งใหญ่ระหว่างอารยธรรมอียิปต์และเมโสโปรเตเมีย กับอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุแล้วจะพบว่า อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นมีอาณาเขตที่กว้างใหญ่ไพศาลมากกว่า และมีอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมากกว่า เหตุผลที่ไม่ค่อยมีผู้ใดสนใจอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุอาจจะมาจากสาเหตุสองประการ คือ ประการแรก ซากปรักหักพังที่ขุดค้นพบเพื่อยืนยันถึงอารยธรรมดังกล่าวนั้นมีน้อยมาก ประการที่สอง ผู้คนแห่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้น ไม่นิยมจดบันทึกประวัติศาสตร์ของตนเองในรูปของบันทึก แต่จะบันทึกด้วยการสร้างเป็นวรรณกรรมอิงศาสนาฮินดู ทำให้ตัวละครนั้นมีอภินิหารเกินความเป็นจริง (ในปัจจุบัน หรือตามที่ฝรั่งเข้าใจโดยยึดเอาวิทยาศาสตร์เป็นหลัก) ทำให้ชาวตะวันตก ผู้ยกตนให้เป็นคนประกาศประวัติศาสตร์ของชาติต่างๆ ไม่ยืนยันถึงประวัติศาสตร์ของชนชาติลุ่มแม่น้ำสินธุ แต่ชาวตะวันตกก็เคยยืนยันได้ว่าชาวสินธุนั้นเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อนจริง เพราะซากปรักหักพังที่ขุดค้นได้นั่นเอง

             ลุ่มแม่น้ำสินธุนั้น (Sindhu) ในปัจจุบันคือ แม่น้ำอินดัส (indus) ที่อยู่ในประเทศปากีสถาน ต่อมาเมื่อชาวกรีก-โรมันเข้ามาทำการติดต่อหรืออิทธิพลในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ จึงเรียกผู้คนในแถบลุ่มแม่น้ำดังกล่าวโดยเปลี่ยนจาก S เป็น H กลายเป็น ฮินดุ หรือ ฮินดู (Hindhu) อย่างเช่นที่เราเรียกกันในปัจจุบัน

ซากปรักหักพัง ที่เมืองโมเฮนโจดาโร (Mohenjo-Daro) ประเทศปากีสถาน

             ในตอนเริ่มแรกผู้คนที่อยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นคือ ชาวดราวิเดียน (Dravidian) มีความเจริญมาตั้งแต่ก่อน 3,000 ปีก่อนคริสตศักราช สันนิษฐานได้จากอายุคาร์บอนของซากปรักหักพังที่ขุดค้นได้ที่เมือง ฮารัปป้า (Harappa) และเมือง โมเฮนโจดาโร (Mohenjo-Daro) พบว่ามีอายุย้อนไปได้ประมาณ 2,500 - 3,000 ปีก่อนคริสตกาล สภาพของบ้านเมืองนั้นมีลักษณะที่เป็นระเบียบ แบ่งเป็นหลายสัดส่วน มีทั้งส่วนที่เป็นพระราชวัง ส่วนของศาสนา และส่วนพื้นที่ที่อยู่อาศัย เหตุที่ชาวตะวันตกสรุปว่าชาวดราวิเดียนมีความเจริญอย่างมากเพราะว่า สิ่งก่อสร้างที่ขุดพบนั้นแสดงให้เห็นได้ว่า ชาวดราวิเดียนมีความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์เป็นอย่างดี เพราะต้องมีความรู้ทางด้านเรขาคณิตด้วย 

             ทางด้านสุขาภิบาลพบว่า บ้านแต่ละหลังนั้นมีขนาดไม่เท่ากัน และอาจจะมีจำนวนชั้นไม่เท่ากัน สิ่งที่น่าสนใจของอารยธรรมนี้คือ บ้านทุกหลังจะมีบ่อน้ำและห้องน้ำของตนเอง อีกทั้งยังมีห้องอาบน้ำสาธารณะขนาดใหญ่วางอยู่ใจกลางเมืองอีกด้วย ในบ้านที่มีลักษณะหลายชั้น ก็พบว่ามีห้องน้ำประจำชั้นด้วย การอาบน้ำเป็นแบบตักอาบ โดยจะมีท่อน้ำทิ้งระบายน้ำจากชั้นบนลงชั้นล่าง ท่อน้ำจากในบ้านจะไหลไปสู่ท่อน้ำที่ถนน และเชื่อมต่อการระบายน้ำไปสู่แม่น้ำ ทั้งยังค้นพบว่า ท่อน้ำของถนนนั้นมีฝาปิดด้วย แสดงให้เห็นถึงความเจริญอย่างสูงสุดทางด้านสุขาภิบาลของชาวดราวิเดียน เพราะในอารยธรรมอียิปต์ก็ดี เมโสโปรเตเมียก็ดี หรืออารยธรรมอื่น ๆ ในเอเซียตะวันตกในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น ไม่พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนได้บรรลุความเจริญในด้านการสร้างห้องน้ำดี ๆ ได้เลย ยกเว้นพวกโรมันสมัยหลังเท่านั้น

             หากเปรียบเทียบกับอารยธรรมอื่นๆของโลก อย่างเช่นอารยธรรมอียิปต์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ 3,500 ปีก่อนคริสตกาล หรือเมโสโปเตเมียที่มีจุดเริ่มต้นอารยธรรมอยู่ที่ประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล ก็ต้องถือว่าในช่วงเวลาเดียวกันที่อารยธรรมโบราณในส่วนอื่นของโลกเพิ่งจะถือกำเนิด แต่อารยธรรมของลุ่มแม่น้ำสินธุก็ถูกพบว่ามีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นแล้วจากอายุคาร์บอนของสิ่งก่อสร้าง นี่คือสิ่งที่น่าสนใจที่สุด

             แต่คำถามที่น่าค้นหามากที่สุดของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้น คือคำถามที่ว่า หากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากมายแล้ว ทำไมอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุจึงเหมือนประหนึ่งว่าหายไปกับสายลม คำตอบของคำถามนี้นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ถูกเขียนไว้ในวรรณกรรมสองเรื่อง คือ มหาภารตะ และรามายณะ แม้ว่านักประวัติศาสตร์จะยังมีความกังขาในเนื้อหาของวรรณกรรมสองฉบับนี้ เนื่องจากบางส่วนบางตอนมีลักษณะเกินจริง แต่ก็ต้องยอมรับว่าวรรณกรรมทั้งสองเรื่องนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นเดียวที่อาจจะให้คำตอบได้

             จากวรรณกรรมเรื่องดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า ชาวดราวิเดียนเองต้องคอยทำสงครามกับผู้รุกรานก็คือชาวอารยัน ซึ่งที่มาของชาวอารยันนี้ไม่แน่ชัด แต่พบว่ามีการรุกรานชาวดราวิเดียนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งชาวอารยันมีความชำนาญในการสงครามมากกว่าชาวดราวิเดียนมาก เพราะหลักฐานการขุดพบที่เมืองฮารัปปาและโมเฮนโจดาโร ทำให้นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานได้ว่า ชาวดราวิเดียนคงจะมีผู้นำเป็นพระหรือผู้ทรงความรู้มากกว่าจะเป็นนักรบ เนื่องจากรูปร่างอาวุธที่ขุดค้นพบได้ ไม่ปรากฏว่ามีลักษณะของการพัฒนาแต่อย่างใด ทำในลักษณะรูปแบบเดิม ๆ อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการใช้ม้า ตรงข้ามกับชาวอารยัน ที่มีความรู้ทางด้านอาวุธเหล็ก และการใช้ม้าในการทำสงคราม ชาวดราวิเดียนจึงได้รับความพ่ายแพ้ไปในที่สุด แต่สิ่งที่น่าทึ่งสำหรับชนชาวดราวิเดียนคือ แม้ตนจะแพ้สงคราม แต่ก็สามารถทำให้ผู้รุกรานยอมรับกับวัฒนธรรมของตนได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ในตอนแรกชาวอารยันเองก็สมรสกับชาวดราวิเดียน ทำให้ชนชั้นผู้ปกครองของชาวอารยันกลัวว่า หากปล่อยให้สถานการณ์นี้ดำเนินต่อไป สุดท้ายแล้วชาวอารยันก็จะถูกชาวดราวิเดียนกลืนหายไปในที่สุด จึงเกิดนโยบายในเรื่อง วรรณะ ขึ้น และห้ามมีการแต่งง่านข้ามวรรณะกันอย่างเด็ดขาด วรรณะ แปลว่า สี จึงเห็นได้ชัดว่าระบบวรรณะเป็นนโยบายกีดกันทางเชื้อชาติของชาวอารยันอย่างชัดเจน

             ส่วนคำว่า "ภารตะ" นั้นมาจากชาวอารยันเอง ที่ต่อมาเรียกตนเองว่า ชาวภารตะ เพราะถือว่าตนได้สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์พระองค์หนึ่งในวรรณกรรมเรื่องภควัตคีตาที่ทรงพระนามว่า พระภรต (ภะรต) อีกทั้งยังเรียกดินแดนที่ตนอยู่อาศัยในเขตครอบคลุมทั้งปากีสถานและอินเดียตอนเหนือว่า ดินแดนภารตะ อีกด้วย จากเรื่องราวทั้งหมดที่ได้นำเสนอจะพบว่า ความรู้ต่าง ๆ ที่บรรจุอยู่ในคัมภีร์พระเวทนั้น ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าส่วนไหนเป็นของชาวอารยัน ส่วนไหนเป็นของชาวดราวิเดียน เนื่องจากระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ที่นานมาก แต่สันนิษฐานได้ว่า หากเนื้อหานั้นเกี่ยวข้องกับการคำนวณ วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือดาราศาสตร์แล้ว น่าจะเป็นของชาวดราวิเดียนผู้มีความเจริญทางความรู้ มากกว่าชาวอารยันที่ตอนเริ่มแรกนั้น เป็นแค่ชนเผ่าผู้อพยพที่ยังไม่รู้แม้กระทั่งวิธีการทำเกษตรกรรม

โหราศาสตร์ คืออะไร?

             โหราศาสตร์ (Horasashtra) มาจาก 2 คำ คือ โหรา แปลว่า "เวลา" และ ศาสตร์ ที่แปลว่า วิชาความรู้ รวมความแล้วแปลว่า "ศาสตร์แห่งเวลา" นักประวัติศาสตร์พบว่า ชาวดราวิเดียนนั้น มีการบูชานับถือพระอาทิตย์มาตั้งแต่แรกแล้ว โดยมีการขุดพบดวงตราหินที่เมืองโมเฮนโจดาโร มีฝีมือในการแกะสลักได้ละเอียดและถูกต้องงดงาม มีตัวอักษรที่นักประวัติศาสตร์ไม่สามารถอ่านออกได้ และไม่สามารถเทียบเคียงตัวอักษรกับอารยธรรมอื่นได้เลย มีการพบสัญลักษณ์รูปสวัสดิกะ และวงล้ออยู่บนดวงตราหลายชิ้น จึงสันนิษฐานว่าเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ ฉะนั้นคงมีการนับถือพระอาทิตย์ด้วย หากเทียบเคียงกับความเชื่อทางศาสนา จะเห็นว่าในคัมภีร์ปุราณะหลายเล่ม เมื่อบรรยายถึงการเกิดโลก ย่อมจะบรรยายว่า พระอาทิตย์และพระจันทร์นั้น เกิดขึ้นมาพร้อมกับโลกและสวรรค์ ดังนั้นเทวลักษณะของพระอาทิตย์ในบางกรณี จะเหมือนกับพระนารายณ์คือมีสี่พระกร และถืออาวุธอย่างเดียวกันกับพระนารายณ์ทุกประการ อีกทั้งบางนิกายยังถือว่า พระอาทิตย์คือปางหนึ่งของพระนารายณ์อีกด้วย

โหราศาสตร์ของชาวภารตะ

             จากเพียงการดูพระอาทิตย์ขึ้นและตก ก็พัฒนาต่อมาเป็นการดูพระจันทร์ การดูฤดูกาลและกำหนดวันสำคัญทางศาสนา เรื่อยมาจนสังเกตเห็นดาวอีก 5 ดวง คือพระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ และพระเสาร์ ท่ามกลางท้องฟ้ามีดวงดาวเป็นพันดวง ชาวภารตะกลับค้นพบว่ามีดาวอยู่ 5 ดวงที่เคลื่อนที่บนท้องฟ้า ดังนั้นหากผนวกกับช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ทางผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่าราศีทั้ง 12 ราศี หรือวันทั้ง 7 วันนั้นชาวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุคงเป็นผู้กำหนด เพราะหากคิดว่าชาวกรีก-โรมันเป็นผู้กำหนดแล้วล่ะก็คงจะผิดถนัด เพราะว่าอายรธรรมกรีกโบราณนั้นเพิ่มเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 750 ปีก่อนคริสตศักราชนี้เอง หรือหากจะสันนิษฐานว่าเป็นเมโสโปรเตเมีย หากนับจากช่วงเวลา เมโสโปรเตเมียเพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 4,000 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งในตอนนั้นเชื่อว่าอารยธรรมของลุ่มแม่น้ำสินธุได้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมากแล้ว แต่ทำไมเล่าชาวตะวันตกจึงยกประโยชน์ทุกอย่างในความรุ่งเรืองของมนุษย์ชาติให้กับเมโสโปรเตเมีย และอียิปต์ มากกว่าอารยธรรมของชาวลุ่มแม่น้ำสินธุ อาจจะเพราะว่า นอกจากวรรณกรรมของชาวเมโสโปรเตเมียแล้ว ชาวเมโสโปรเตเมียเองยังมีการบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีลักษณะการอิงกับเทพเจ้าและอภินิหาร ชาวตะวันตกจึงให้ความเชื่อถือมากกว่านั่นเอง

             เมื่อชาวภารตะค้นพบดวงดาวทั้ง 7 ดวง ชาวภารตะยังค้นพบจุดตัดระหว่างเส้นศูนษ์สูตรโลกกับวงโคจรดวงจันทร์ ซึ่งทำมุมห่างกันประมาณ 5 องศา และจุดนี้จะหมุนไปเรื่อยย้อนจักรราศี กลายเป็นพระราหู และพระเกตุ สามารถใช้ทำนายสุริยุปราคาและจันทรุปราคาได้ นี่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าชาวภารตะมีความเจริญก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ไปมาก ในเรื่องพระราหูและพระเกตุนั้น ทางอินเดียจึงเชื่อว่าอยู่ตรงข้ามกันเสมอ เพระมันเป็นจุดตัดที่ต้องอยู่ตรงข้ามกัน แตกต่างจากของไทย ที่พระราหูก็อยู่ราศีหนึ่ง พระเกตุก็อยู่ราศีหนึ่ง

             หลักฐานชิ้นต่อมาอยู่ในคัมภีร์สุริยาตร์ หรือ สุริยะสิทธานตะ (Surya siddhanta) ฉบับแปลภาษาอังกฤษของบัณฑิตพาปุเดวะสาสตริ (Pundit Bapu Deva Sastri) และลานซล๊อต วิลคินสัน (Lancelot Wilkinson) หน้าที่ 129 ในส่วนของสิทธานตะสิโรมณี (Siddhanta Siromani) บทที่ 4 โศลกที่ 8 ระบุว่า 1 ปีจะมี 365 วัน 15 ฆติกะ 30 ปาละ หรือก็คือ 365 วัน 6 ชั่วโมง 12 นาที ซึ่งตรงกับในสมัยปัจจุบันที่นักดาราศาสตร์กำหนดออกมาแล้วว่า ปีหนึ่งนั้นมี 365.2564 วัน หรือประมาณ 365 วัน กับอีก 6 ชั่วโมง เวลาที่เกินมา 6 ชั่วโมงนี้เองทำให้ในรอบ 4 ปี จะมีปีหนึ่งที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน

             จากวิชาที่ว่าด้วยเวลาการโคจรของดวงดาว อย่างวิชาโหราศาสตร์ ชาวภารตะคงมีการจดบันทึก ทำเป็นสถิติโดยยึดจากการโคจรของดาวต่างๆ ในรูปแบบที่ต่างกัน ทำให้ชีวิตของคนที่เกิดตามเวลาที่แตกต่างกันนั้น ย่อมมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน วิชาโหราศาสตร์ จึงกลายเป็นสถิติศาสตร์ และกลายเป็นศาสตร์แห่งการทำนายทายทักไปในที่สุด ดังนั้นแล้วหากใครจะมองว่าวิชาโหราศาสตร์เป็นวิชาที่งมงาย ทางผู้เขียนอยากให้ลองคิดดูใหม่อีกสักครั้งนะครับ

             แล้วโหราศาสตร์ กลายเป็นวิชาแห่งการทำนายได้อย่างไร โหราศาสตร์เกิดขึ้นเพราะวิชาดาราศาสตร์ เมื่อชาวภารตะรับรู้ถึงการโคจรของดวงดาวแล้ว ชาวภารตะก็มีการจดบันทึกตำแหน่งของดวงดาว ณ เวลาเกิดของบุคคล เฝ้าสังเกตวิถีชีวิตที่แตกต่างของบุคคลเหล่านั้น ซึ่งถือเป็นหลักการเก็บรวมรวมข้อมูล หรือสถิติศาสตร์ เมื่อได้สถิติที่เหมือนกัน มีผลอย่างเดียวกันก็สรุปแล้วหลักการ เช่น บุคคลที่เกิดวันอาทิตย์ย่อมมีนิสัยเหมือนกันอย่างไร บุคคลที่เกิดวันจันทร์ย่อมมีนิสัยเหมือนกันอย่างไร เป็นต้น

             เมื่อมีบุคคลเกิดใหม่ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก็นำเอาหลักการที่เคยสรุปไว้มาทำการทำนายผล คล้ายกับการทำนายหุ้นของนักวิเคราะห์ที่ใช้กราฟทางคณิตศาสตร์ แล้วทำนายว่าเด็กคนนั้นจะมีนิสัยอย่างนั้นเพราะเหตุเกิดวันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น มีรูปแบบประจำดวงดาวเป็นเช่นนั้น กลายเป็น วิชาแห่งการทำนาย

             แต่เพียงแค่ทำนายได้ มันก็ยังเป็นเพียงสถิติศาสตร์อยู่นั่นเอง เป็นการทำนายหรือการวิเคราะห์ผลที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตจากสถิติที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ยังไม่ใช่โหราศาสตร์ หากจะเป็นนักโหราศาสตร์ คุณจะต้องบอกช่วงเวลาแห่งการเกิดนั้นได้ด้วย จึงจะถือว่าเป็นผู้ที่นำเวลาการเกิด มาทำนายห้วงเวลาที่จะเกิดเหตุการณ์ต่างๆได้อย่างแม่นยำ นั่นต่างหากจึงจะเป็น "นักโหราศาสตร์"

อ้างอิง
Surya Siddhanta
http://en.wikipedia.org/wiki/Vedas
http://en.wikipedia.org/wiki/Hindu_astrology
http://en.wikipedia.org/wiki/Vedanga
รศ.ประภัสสร บุญประเสริฐ. (2529). ประวัติศาสตร์เอเชียใต้. กรุงเทพมหานคร: ฝ่ายตำราและอุปกรณ์การศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น