วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ระบบนิรายนะ และสายนะ ตอนที่ 2


โหราศาสตร์ สายนะ?

                 บทความคราวก่อนนั้นเป็นเรื่องราวของระบบนิรายนะ ระบบของผู้สังเกตการณ์ท้องฟ้า แนวความคิดคือท้องฟ้าหรือกลุ่มดาวเป็นเหมือนแผนที่ โดยมีดวงดาวนั้นโคจรไปรอบโลก โคจรกลับมาที่เดิมตรงเวลาบ้างไม่ตรงเวลาบ้าง ระหว่างโคจรนั้นมองแล้วเหมือนถอยหลังบ้าง เหมือนเดินเร็วบ้าง เหมือนหยุดอยู่กับที่บ้าง แล้วสร้างเป็นสูตรคำนวณปฏิทินดวงดาวขึ้นมา ที่กล่าวมานั้นเหมือนจะง่ายนะครับ แต่ทางผู้เขียนมีความคิดว่า มันจะต้องใช้เวลานานมากทีเดียว

                 ส่วนระบบสายนะนั้น เป็นระบบดาราศาสตร์ตะวันตกในสมัยใหม่ เหตุที่ต้องกล่าวเช่นนี้เพราะว่า ความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ของตะวันตกนั้นหากจะแบ่งแยกย่อยตามหลักวิชาการต้องแบ่งออกเป็นสองยุคคือ ยุคโบราณ และยุคใหม่ ในยุคโบราณนั้นเริ่มต้นตั้งแต่สมัยกรีก-โรมัน จนถึงยุคเรเรซองค์ หรือช่วงเวลาประวัติศาสตร์ตั้งแต่ 750 ปีก่อนคริสตกาล ถึงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17 และหลังจากยุคเรเนซองส์เมื่อวิทยาศาสตร์ของทวีปยุโรปมีความเจริญก้าวหน้าไปมาก ก็ได้มีการค้นพบข้อมูลทางดาราศาสตร์มากมาย และตั้งเป็นหลักการทางดาราศาสตร์ขึ้นใหม่แทบทุกประการ กลายเป็นวิชาดาราศาสตร์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นหากเราจะเข้าใจระบบดาราศาสตร์สายนะของตะวันตก เราก็ควรที่จะศึกษาวิชาดาราศาสตร์ของตะวันตกให้ครบถ้วนทั้งหมดเสียก่อน


ปีทากอรัส (Pythagoras) 582 - 507 ปีก่อนคริสตกาล


                 ในสมัยกรีกโบราณ มีนักปราชญ์มากมายพยายามหาคำตอบว่า โลกมีลักษณะอย่างไร มีนักปราชญ์ผู้โด่งดังในสมัยโบราณคนหนึ่งชื่อว่า ปีทากอรัส (Pythagoras) แห่งซามอส (Samos) ประเทศกรีก มีชีวิตอยู่ในสมัย 582 - 507 ปีก่อนคริสตกาล นักคณิตศาสตร์ผู้นี้เป็นคนแรกในโลกที่บอกว่าโลกมีสันฐานกลม โลกหมุนรอบตัวเอง และโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่ในสมัยดังกล่าวนั้นความคิดของปิทอกอรัสไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไรนัก ไม่ทราบเพราะเหตุผลใด แต่สิ่งที่โด่งดังที่สุดของปีทากอรัสคือ กฎแห่งสามเหลี่ยมมุมฉากของปีทากอรัส 


 อริสโตเติล (Aristotle) 384 - 322 ก่อนคริสตกาล

                 นักปราชญ์ของกรีกที่มีชื่อเสียงไม่แพ้กันอีกท่านคือ อริสโตเติล บุคคลผู้นี้เป็นลูกศิษย์ของเพลโต และเป็นอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นนักปราชญ์ทั้งในเรื่องของรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ จริยศาสตร์ ชีววิทยา และดาราศาสตร์ เป็นคนแรกอีกเช่นกันที่ระบุว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล แต่ในสมัยใกล้เคียงกันนั้นคือประมาณ 310 - 230 ปีก่อนคริสตกาล ได้มีนักปราชญ์อีกท่านคือ อารีสตาคัส (Aristarchus) ได้ออกมาแย้งแนวความคิดของอริสโตเติล โดยอารีสตาคัสแสดงทัศนะว่า โลกมีทรงกลม หมุนรอบตัวเอง และโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่เนื่องจากอริสโตเติลเป็นนักปราชญ์ที่ศึกษาวิชาหลายแขนง อีกทั้งมีลูกศิษย์มากมายส่วนมากก็เป็นนักการเมืองนักการปกครอง ทำให้ความเห็นของนักปราชญ์ท่านอื่น ๆ ในยุคสมัยเดียวกันจะไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก นอกเรื่องสักหน่อยเกี่ยวกับอริสโตเติลคือ ท่านเป็นนักปราชญ์ที่สร้างแนวความคิดเรื่อง หลักนิติรัฐ ที่เชื่อว่าบ้านเมืองนั้นต้องปกครองด้วยกฎหมาย

                 อีกมุมหนึ่งของโลก อารยธรรมเมโสโปรเตเมียล่มสลาย แต่มีอาณาจักรหนึ่งที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา ก็คืออาณาจักรของประเทศอิสราเอล หนังสือชุดเลเมเกทัน (Lemegeton) เป็นชุดหนังสือที่เชื่อกันว่า บรรยายถึงเรื่องเวทย์มนต์ที่กษัตริย์โซโลมอนใช้เป็นประจำ กษัตริย์โซโลมอน หรือในภาษาของอิสลามทรงมีพระนามว่า สุลัยมาน เป็นกษัตริย์ผู้ปราดเปรื่องและมั่งคั่งองค์ที่สามของอิสราเอล พระองค์ทรงสร้างวิหารโซโลมอนขึ้นในเมืองเยรุซาเล็ม ถือกันว่าเป็นวิหารแห่งเยรุซาเล็มหลังแรก ในหนังสือชุดดังกล่าวนั้นจะประกอบไปด้วยหนังสือ 5 เล่มด้วยกัน เล่มที่น่าสนใจที่สุดชื่อว่า อาร์ส พัวลิน่า (Ars Paulina) ในหนังสือเล่มดังกล่าวนั้น จะมีส่วนหนึ่งพูดถึงเทวทูต (Angle) ของศาสนาคริสต์ในพันธสัญญาเก่า (ศาสนายูดาห์) ผู้คอยดูแลราศีต่าง ๆ ทั้ง 12 ราศี และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ มีการกำหนดดาวเคราะห์ประจำราศี หรือที่เราเรียกว่า ดาวเจ้าเรือนเกษตร ตรงกันกับเจ้าเรือนเกษตรของอินเดียทุกประการ แสดงว่าระบบดาราศาสตร์ในบริเวณแถบอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส (บริเวณเขตติดต่อระหว่างประเทศอิรักและอิหร่านในปัจจุบัน) และแถบอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้น ใช้ระบบเดียวกันทั้งหมด



เคลาดิออส ปโตเลมอส (Ptolemy)

                 ต่อมาหลังจากยุคของอริสโตเติล ประมาณคริสต์ศักราชที่ 140 มีนักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อว่าเคลาดิออส ปโตเลมอส อีกชื่อหนึ่งคือ ทอเลมี หรือที่คนไทยนิยมเรียกกันว่า ปโตเลมี เป็นนักดาราศาสตร์ที่นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าอาศัยอยู่ในเมืองอเล็กซานเดอร์ ประเทศอียิปต์ ปโตเลมีได้ยืนยันต่อแนวความคิดของอริสโตเติลที่กล่าวว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และยังได้เพิ่มเติมต่อไปอีกว่า โลกเป็นวัตถุทรงกลม

                 ในเรื่องโลกเป็นวัตถุทรงกลมนั้น ทางอินเดียก็มีแนวความคิดว่าโลกกลมเช่นกัน หลักฐานทางงานเขียนนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ชิ้นเท่าที่ผู้เขียนสามารถค้นคว้าได้ งานเขียนชิ้นแรกคือ คัมภีร์สุริยะสิทธานตะ ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย ลานสล๊อต วิลคินสัน (Lancelot Wilkinson) และพาปูเดวะสาสตรี (Pundit Bapu Deva Sastri) บทที่ 1 หน้าที่ 11 ข้อที่ 59 ความว่า 
                 "The diameter of the Earth is 1600 yojanas. Multiply the square of the diameter by 10, the square-root of the product will be the circumference of the Earth" - เส้นผ่าศูนย์กลางของโลกคือ 1,600 โยชน์ หากคูณผลยกกำลังสองของเส้นผ่าศูนย์กลางนั้นด้วย 10 แล้วรากที่สองของผลลัพท์นั้นคือเส้นรอบวงของโลก

                 ลองคิดกันเล่นๆนะครับ 1,600 โยชน์ ยกกำลังสอง เท่ากับ 2,560,000 จากนั้นนำไปคูณด้วย 10 จึงเท่ากับ 25,600,000 ถอดรากที่สองได้ประมาณ 5,059 โยชน์ 1 โยชน์ จะมีค่าเท่ากับ 8 กิโลเมตร ดังนั้น 5,059 โยชน์ จึงเท่ากับ 40,472 กิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับค่าความจริงในปัจจุบันที่ 40,000 กิโลเมตร และสันนิษฐานว่า อินเดียมองว่าโลกเป็นวัตถุทรงกลมเหมือนกัน เรื่องจากคัมภีร์สุริยะสิทธานตะฉบับเดียวกัน หน้าที่ 11 ข้อที่ 62 ระบุว่า เมืองอุชเชณี เป็นแนวพาดผ่านระหว่างขั้วโลกเหนือกับประเทศลังกา แสดงว่าขั้วโลกเหนือของชาวอินเดียโบราณนั้น คงจะคลาดเคลื่อนจากปัจจุบันไปสักหน่อย หรือไม่เช่นนั้น สถานที่ที่ทางอินเดียระบุว่าเป็นกรุงอุชเชณี ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง

                 อนึ่ง 1 โยชน์เท่ากับกี่กิโลเมตรนั้นยังไม่มีข้อสรุป โดยในศตวรรษ์ที่ 5 ตามคัมภีร์สุริยะสิทธานตะนั้น 1 โยชน์เท่ากับ 8 กิโลเมตร แต่หากเป็นอินเดียสมัยใหม่ จะเทียบว่า 1 โยชน์เท่ากับ 13 กิโลเมตร ส่วนของไทย 1 โยชน์มีค่าเท่ากับ 16 กิโลเมตร
  
                 และหลักฐานชิ้นที่สองคือพระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค หน้าที่ ๒๐/๓๘๓ พระพุทธองค์ทรงตรัสยกตัวอย่างถึงพราหมณ์จำพวกหนึ่งที่มีความเชื่อว่าโลกนี้กลม ซึ่งหากนับเวลาพระไตรปิฎกของเราก็มีอายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ถือว่านักปราชญ์ชาวอินเดีย หรือมหาฤาษีผู้เรียนวิชาดาราศาสตร์ มีความเชื่อมาก่อนแล้วว่าโลกของเราเป็นทรงกลม

                  กลับมาสู่ประวัติศาสตร์ทางดาราศาสตร์ของตะวันตกอีกครั้ง ในขณะที่กรีก-โรมัน และอินเดีย มีความเห็นตรงกันว่าโลกกลม แต่ศาสนาคริสต์ในสมัยเดียวกันกลับไม่เชื่อเช่นนั้น ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์จะเชื่อว่าโลกแบน และด้วยความเชื่อนี้ ได้มีอิทธิพลต่อผู้คนในทวีปยุโรปเป็นอย่างมากเป็นร้อยปีทีเดียว 

                  ในคริสต์ศตวรรษที่ 3 ประวัติศาสตร์ยุโรปเข้าสู่ยุคมืด อาณาจักรโรมันแตกออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนตะวันตกและตะวันออก ในดินแดนที่เป็นโรมันตะวันออกนั้นได้กลายเป็นจักรวรรดิไบเซนไทน์ (Byzantine) จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 ได้สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิโรมันในปี ค.ศ. 306 ในช่วงแรกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 นั้นมีกระแสต่อต้านศาสนาคริสต์และชาวคริสต์อย่างรุนแรงจากชาวโรมัน เนื่องจากศาสนาคริตศ์นั้นมีปณิธานในการเผยแพร่ศาสนาพร้อมกับการโอบอุ้มพวกทาส คนจน ผู้หญิง และบุคคลผู้ที่ถูกรังเกียจในสภาพสังคมที่หรูหราของชาวโรมันอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีจำนวนมากในสังคม เมื่อชาวคริสเตียนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ชาวโรมันที่นับถือศาสนาเพเกิน (Paganism) จึงมีความรู้สึกว่าถูกคุกคาม ในคริสต์ศตวรรษที่ 2 นั้นก็เริ่มมีการประหัตประหารชาวคริสต์อย่างกว้างขวาง แต่ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์กลับมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีการตั้งโรงพยาบาลและโรงเรียนเพื่อชาวคริสเตียน การดูแลและการโอบอุ้มของศาสนาคริสต์เช่นนี้ทำให้จำนวนผู้นับถือเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวในระยะเวลาไม่นานนัก 

                  ในช่วงแรกของรัชสมัยจักรพรรดิคอนสแตนตินก็ยังคงมีการประหัตประหารชาวคริสต์ แต่ในช่วงคริสต์ศักราชที่ 312 ระหว่างที่จักรพรรดิคอนสแตนตินกำลังมีสงครามกับคู่แข่งอีก 2 คนเพื่อเป็นผู้นำกรุงโรม พระองค์ทรงอ้างว่าได้ทอดพระเนตรเห็นสัญลักษณ์ไม้กางเขนบนท้องฟ้า และทรงสดับเสียงว่า ด้วยสัญลักษณ์นี้ ท่านจะพิชิต พระองค์จึงทรงรับสั่งให้นำสัญลักษณ์ไม้กางเขนไว้บนโล่และธงรบ และสุดท้ายพระองค์ก็ได้รับชัยชนะ ด้วยเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พระองค์ทรงเลิกการประหัตประหารชาวคริสต์ในทันที ทรงออกพระราชกฤษฎีกาแห่งมิลาน (Edict of Milan) เพื่อให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาคริตส์ต่อผู้ที่อยู่ในอาณาจักรโรมัน และแม้กระทั่งพระองค์เองก็เปลี่ยนการนับถือจากศาสนาเพเกินมานับถือศาสนาคริสต์แทน ซึ่งประวัติศาสตร์ในช่วงนี้มีความหลากหลายทางด้านมุมมองอยู่มากทีเดียว 

                  ประเด็นแรกคือ การสังคยนาคัมภีร์ไบเบิลของจักรพรรดิคอนสแตนติน ที่นักประวัติศาสตร์ในสมัยปัจจุบันมองว่า เป็นการนำหลักการทางศาสนาเพเกินเข้าไปกลมกลืนกับศาสนาคริสต์โดยที่ชาวคริสเตียนในสมัยนั้นไม่ทันได้ล่วงรู้เลยแม้แต่น้อย ยกตัวอย่างเช่น วันคริสต์มาสหรือวันประสูติของพระเยซูนั้น ถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงของยุคสมัยนั้น วันที่ 25 ธันวาคม คือวันเฉลิมฉลองและบูชาต่อพระสุริยเทพของศาสนาเพเกิน และในวันเดียวกันก็เป็นวันเฉลิมฉลององค์จักรพรรดิด้วยเนื่องจากชาวโรมันถือว่า จักรพรรดิคือพระสุริยเทพของประชาชน และข้อความในคัมภีร์ไบเบิลนั้นกล่าวไว้ชัดเจนในลูกา 2:4-8 กล่าวว่าในเวลาที่พระเยซูทรงประสูตินั้น คนเลี้ยงแกะอยู่ในทุ่งหญ้ากำลังเฝ้าฝูงแกะของตนในตอนกลางคืน ในช่วงวันที่ 25 ธันวาคมของเส้นศูนย์สูตรตอนเหนือ จะเป็นช่วงเวลาที่หนาวจัด โดยธรรมเนียมปฏิบัติซึ่งแม้กระทั่งในปัจจุบันก็ยังคงกระทำอยู่คือ ในฤดูหนาว ฝูงแกะจะอาศัยคอกเป็นที่หลบหนาว มิใช่ออกไปเล็มกินหญ้าในตอนกลางคืน ดังนั้นวันประสูติของพระเยซู จึงไม่ใช่วันที่ 25 ธันวาคมอย่างแน่นอน 

                  นอกจากนี้จักรพรรดิคอนสแตนตินยังทรงบรรจุธรรมเนียมปฏิบัติของศาสนาเพเกินไว้ในคัมภีร์ไบเบิลหลายประการ อาทิ กำหนดให้ชาวคริสต์ต้องไปโบสถ์ในทุกวันอาทิตย์ กำหนดวันสะบาโตให้เป็นวันอาทิตย์ กำหนดวันอีสเตอร์ (Easter) หรือวันที่พระเยซูทรงฟื้นจากความตายให้เป็นวันอาทิตย์ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของสภาไนซีน (Nicene Creed) หรือสภาสังคยนาคอนสแตนติโนเปิลครั้งที่หนึ่งเมื่อปีคริสต์ศักราชที่ 381 ดังนั้นนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันลงความเห็นว่า การที่จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์มิใช่เพราะทรงศรัทธา แต่เพราะทรงต้องการหยุดความขัดแย้งระหว่างชาวโรมันและชาวคริสต์ อีกทั้งต้องการยืมกำลังของชาวคริสต์ซึ่งมีจำนวนมากในสมัยนั้นมาทำสงครามต่างหาก ต่อมาในปีคริสต์ศักราชที่ 330 จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงสถาปนาจักรวรรดิไบเซนไทน์ (Byzantine) ขึ้นโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ปัจจุบันคือเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี จักรพรรดิคอนสแตนตินได้ทำให้จักรวรรดิไบเซนไทน์มีอำนาจกว้างใหญ่ ร่ำรวย และทรงอำนาจที่สุดในดินแดนยุโรปในยุคสมัยของพระองค์ ซึ่งนั่นก็หมายความรวมถึงอำนาจของคริสตจักรที่จะแผ่ขยายออกไปด้วยเช่นกัน


นิโคเลาส์  โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus Torinensis) ค.ศ. 1473 - 1543


                  ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ประเทศต่าง ๆ ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของโรมันเริ่มที่จะตั้งตนเอง และปกครองตนเองได้ เช่น ประเทศฝรั่งเศส และทางตะวันออกเองก็มีการรุกรานจากเปอร์เซียบ่อยครั้ง ทางใต้ก็มีพวกซาราเซ็นคอยรุกรานเสมอ อาณาจักรไบเซนไทน์จึงล่มสลายในที่สุด และยุโรปก็เข้าสู่ยุคกลาง ความเชื่อในฝ่ายคริสตจักรที่ว่าโลกแบน และโลกเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาลจึงครอบงำผู้คนทั่วทวีปยุโรป จนถึงยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือยุคเรเนซองส์ (Renaissance) ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus Torinensis) นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ ได้ทำการศึกษาดาราศาสตร์และค้นพบว่า ทฤษฎีของปีทากอรัสนั้นถูกต้อง โลกมิใช่ศูนย์กลางของจักรวาล พระอาทิตย์ต่างหากคือศูนย์กลางของจักรวาล และโลกเรานั้นโคจรรอบดวงอาทิตย์พร้อม ๆ ไปกับการหมุนรอบตนเอง โคเปอร์นิคัสยังเป็นคนแรกที่อธิบายเรื่องที่ว่าทำไมดาวจึงเดินถอยหลัง งานเขียนที่สำคัญคือ De Revolutionibus ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น De Revolutionibus Orbium Coelestium และตีพิมพ์ก่อนที่โคเปอร์นิคัสจะเสียชีวิตเพียงแค่ 2 เดือน ด้วยเหตุที่ โคเปอร์นิคัสมิได้เผยแพร่ผลงานของเขาในตอนที่มีชีวิต เขาจึงไม่ถูกฝ่ายศาสนจักรต่อต้าน


 กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) ค.ศ. 1564 - 1642


                  จนประมาณปี ค.ศ. 1609 นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีชื่อ กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) ได้ประดิษฐ์กล้องโทรทัศน์ขึ้น ซึ่งมีกำลังขยาย 30 เท่า ทำให้เขาสามารถส่องเห็นสิ่งต่าง ๆ มากมายในจักรวาล เขาเป็นผู้ค้นพบดวงจันทร์ที่โคจรรอบดาวพฤหัสบดี ค้นพบจุดดับบนดวงอาทิตย์ ทำให้กาลิเลโอมั่นใจว่าทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์นั้นถูกต้อง และเนื่องจากเขาพยายามจะเผยแพร่ความรู้นี้ให้ผู้คนทั่วไปในทวีปยุโรปในขณะนั้นได้ทราบ ทำให้ฝ่ายศาสนจักรบีบบังคับกาลิเลโออย่างหนัก สุดท้ายแล้วฝ่ายศาสนาจักรจึงตัดสินให้กาลิเลโอเป็นพวกนอกรีต และห้ามมิให้เผยแพร่ผลงานของเขา สุดท้ายแล้วเมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้น ผลงานของเขาก็ได้รับการอนุญาตให้ตีพิมพ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายการห้ามปรามจึงหมดไปในปี ค.ศ. 1835 กาลิเลโอได้รับการขนานนามว่าเป็น บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ บิดาแห่งวิยาศาสตร์ยุคใหม่ บิดาแห่งดาราศาสตร์สมัยใหม่ และบิดาแห่งฟิสิขก์สมัยใหม่


โยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) ค.ศ. 1571 - 1630

                  นอกจากกาลิเลโอแล้ว นักดาราศาสตร์คนสำคัญในยุคเดียวกันที่ลืมไม่ได้คือ โยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี 1571 - 1630 ผู้ค้นพบว่า ดาวเคราะห์ทุกดวงในจักรวาลรวมทั้งโลก โคจรเป็นวงรี นั่นเป็นสาเหตุที่นักดาราศาสตร์บางท่านเห็นดาวบางดาวโคจรถอยหลัง (Retrograde) เคปเลอร์ถูกขนานนามว่าเป็น นักฟิสิกข์ดาราศาสตร์คนแรกของโลก

                  จากเรื่องราวทางดาราศาสตร์ตะวันตกที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ดาราศาสตร์ของทางตะวันตกนั้น แบ่งเป็น 2 ยุค ยุคแรกคือวิชาดาราศาสตร์ที่รับมาจากอียิปต์และเมโสโปรเตเมีย แต่ชาวตะวันตกกลับคิดไม่เหมือนชาวภารตะ ชาวภารตะเชื่ออย่างสนิทใจ และนำหลักการทางดาราศาสตร์ไปใช้เพื่อพัฒนาการทำนายให้แม่นยำ โดยไม่สนใจว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์หรือไม่ โคจรเป็นวงกลมหรือวงรี แต่ชาวตะวันตกกลับตั้งข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าวและไม่สนใจการทำนาย ดังนั้นดาราศาสตร์ของสองอารยธรรมจึงแตกต่างกันอย่างมาก ทางอารยธรรมอินเดียเน้นการทำนาย ทางอารยธรรมยุโรปเน้นการแสวงหาข้อเท็จจริงเป็นหลัก ระบบสายนะ หรือดาราศาสตร์ตะวันตกนั้น จึงมิได้สร้างมาเพื่อทำนาย แต่สร้างมาเพื่อหาข้อเท็จจริงทางดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น และไม่สนใจว่าเวลา พระ ๕ ทับลัคน์ จะเป็นเช่นไร ดังนั้นหลักการทำนายโดยอิงดาราศาสตร์ทั้งหมด มาถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านคงจะสามารถวิเคราะห์ได้นะครับ ว่ามาจากที่ใดบ้าง

                  ระบบสายนะยังไม่จบนะครับ นี่เป็นเพียงแค่ประวัติศาสตร์เบื้องต้นเท่านั้นครับ

อ้างอิง
http://guru.sanook.com/4982/
http://en.wikipedia.org/wiki/Aristarchus_of_Samos
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A5
http://www.baanjomyut.com/library_2/discoveries_in_astronomy/02.html
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%94
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87
http://kanomjaen.blogspot.com/p/blog-page_4401.html
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B9%8C_%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%AA
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%9F%E0%B8%B9%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%AD_%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%B5
http://www.creation-church.com/article08.php
http://wol.jw.org/th/wol/d/r113/lp-si/102008441#h=7
http://www.jaisamarn.org/webboard/question.asp?QID=4984
http://worldrecordhistory.blogspot.com/p/blog-page_26.html
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A5

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น