วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ระบบนิรายนะ และสายนะ ตอนที่ 1

นิรายนะ และสายานะคืออะไร?

            นิรายนะและสายนะ คือระบบจักรราศีที่แตกต่างกัน เพราะมีแนวคิดที่แตกต่างกันและมุมมองในเรื่องดาราศาสตร์ที่แตกต่างกัน อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า นักประวัติศาสตร์ได้ค้นพบว่า ชาวอารยันในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน 3,000 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว ซึ่งในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้นเอง ชาวอียิปต์เพิ่งจะเริ่มมีอารยธรรม มีภาษาของตนเองมาเพียง 500 ปี และสำหรับเมโสโปรเตเมียก็เพิ่งจะเริ่มต้นมีอารยธรรมมาได้เพียง 1,000 ปี ดังนั้นผู้เขียนจึงเชื่อว่า พื้นฐานทางด้านดาราศาสตร์ของโลกใบนี้มิได้เริ่มต้นจากใครที่ไหน หากแต่เริ่มต้นมาจากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั่นเอง

            นิรายนะ คือระบบจักรราศีที่เก่าแก่ที่สุดของโลก เพราะมันเป็นระบบเดียวกันทั้งเมโสโปรเตเมียและสินธุ นั่นคือวางตำแหน่งคงที่บนท้องฟ้าโดยยึดกลุ่มดาวเป็นหลัก ดาวที่เป็นหลักในการเริ่มต้น 0 องศาในราศีเมษนั้น คือดาวจิตรา (Chitra) หรือสากลเรียกว่าดาวสไปกา (Spica) เป็นดาวที่อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาวของราศีกันย์ โดยอยู่ตรงรวงข้าวของหญิงสาวพอดี

กลุ่มดาวราศีกันย์ (Virgo)

            หากเรานับดาวจิตรา หรือดาวสไปกาเป็น 180 องศา ตรงข้ามของดาวจิตรานี้ก็คือ 0 องศาราศีเมษ และจะไม่มีทางเคลื่อนที่ไปไหน เพราะคนโบราณก็มองอย่างผู้ที่เฝ้ามองท้องฟ้า ว่ากลุ่มดาวมันไม่เคลื่อนที่ มันเวียนมาอย่างไรก็คงเวียนไปอย่างนั้น ดังนั้นจึงสรุปว่า นิรายนะคือระบบจักรราศีไม่เคลื่อนที่ หรือ Fixed Zodiac ต่อมาก็กลายมาเป็นหลักดาราศาสตร์ของอินเดีย พม่า ไทย เมโสโปรเตเมีย ฯลฯ ผู้เขียนจึงถือกันว่า ระบบนิรายนะนั้น คือระบบจักรราศีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

            เมื่อเราจับราศีให้ไม่เคลื่อนที่ สิ่งที่เคลื่อนที่คือ ดวงดาว ระบบนิรายนะค้นพบว่า พระอาทิตย์ของเรานั้น มิได้เวียนมาที่ 0 องศาราศีเมษ (ตรงข้ามดาวสไปกา) ตลอดทุกปี บางปีมาเร็ว บางปีมาช้าไม่คงที่ ดังนั้นวันสงกรานต์นั้น ในสมัยก่อนนานมาแล้วมันเคยอยู่ในปลายเดือนมีนาคม แล้วเลื่อนมาจนตอนนี้กลายเป็นวันที่ 15 เมษายน และคิดว่าคงจะเลื่อนไปเรื่อยๆ หากเรามีชีวิตที่ยืนยาวอีกประมาณ 500 ปี เราอาจจะต้องฉลองสงกรานต์ในวันที่ 20 เมษายน

            ด้วยระบบนิรายนะนี้จึงเกิดเป็นปฎิทินทางดาราศาสตร์พื้นฐานของชาวอารยันที่ชื่อว่า สุริยสิทธานตะ (Surya Siddhanta) ซึ่งสำหรับประเทศไทยเราก็เรียกคัมภีร์นี้ว่า สุริยาตร์ ตามประวัติศาสตร์ของชาติไทยนั้น เราได้รับความรู้ทางด้านดาราศาสตร์มาอย่างยาวนานแล้วผ่านทางผู้ที่มาติดต่อค้าขายที่เป็นมอญพม่า ซึ่งมอญพม่าเองก็รับวัฒนธรรมเหล่านี้มาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง ซึ่งในสมัยโบราณก็เชื่อกันว่ามาจากเมือง อุชเฌนี (Ujjain) ประเทศอินเดีย 

หากเป็นของอินเดีย ทำไมไทยเราใช้จุลศักราชของพม่า?

            แรกเริ่มเดิมทีนั้นชาวอารยันมีความเชื่อว่า ดาวทั้ง 7 ดวงคือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ และพระเสาร์นั้น มีจุดปล่อยตัวอยู่ที่ 0 องศาราศีเมษพร้อมๆกันในตอนสร้างโลกสร้างจักรวาล ซึ่งความรู้ตรงจุดนี้ทางผู้เขียนได้รับมาจากท่านอาจารย์พลังวัชร์ และมาศึกษาเพิ่มเติมจากคัมภีร์สุริยสิทธานตะของอินเดีย โดยชาวอารยันเชื่อว่าระยะเวลาที่ดาวทั้ง 7 ดวงนั้นจะโคจรมาเรียงตัวกันเหมือนเดิมอีกครั้งจะต้องใช้เวลาทั้งหมด 4,320,000 ปี โดยแบ่งเป็น 4 ยุคดังนี้
            1.สัตยะยุค 4,000 ปีแห่งเทพ หรือเท่ากับ 1,440,000 ปีมนุษย์
                  โดยในแต่ละยุคนั้น จะต้องมีห้วงเวลาสนธยา คือ ยามที่ห้วงเวลาว่างเปล่า กำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคนั้นๆ และห้วงเวลาสนธยาสะ คือยาวที่ห้วงเวลาว่างเปล่าเมื่อพ้นจากยุคนั้น ซึ่งในสัตตะยุค มีสนธยา 400 ปีแห่งเทพ หรือประมาณ  144,000 ปีมนุษย์ และ มีสนธยาสะอีก 144,000 ปีมนุษย์ เช่นกัน รวมทั้งหมดทั้งเวลาระหว่างยุค สนธยา และสนธยาสะทั้งหมดจะเท่ากับ 1,728,000 ปีมนุษย์
                   สัตยะยุคนี้ ในคัมภีร์อื่นอาจเรียกว่า กฤตะยุค
            2.เตรตะยุค 3,000 ปีแห่งเทพ หรือเท่ากับ 1,080,000 ปีมนุษย์
                  เช่นเดียวกันคือมีสนธยา 300 ปีแห่งเทพ หรือประมาณ 108,000 ปีมนุษย์ และมีสนธยาสะอีก 108,000 ปีมนุษย์ รวมเวลาทั้งสิ้น 1,296,000 ปีมนุษย์
            3.ทวาปะระยุค 2,000 ปีแห่งเทพ หรือเท่ากับ 720,000 ปีมนุษย์
                  สนธยา 200 ปี หรือเท่ากับ 72,000 ปีมนุษย์ และสนธยาสะอีก 72,000 ปีมนุษย์ รวมเวลาทั้งสิ้น 846,000 ปีมนุษย์
            4.กลียุค 1,000 ปีแห่งเทพ หรือเท่ากับ 360,000 ปีมนุษย์
                  สนธยา 100 ปีหรืเท่ากับ 36,000 ปีมนุษย์ และสนธยาสะอีก 36,000 ปีมนุษย์ รวมเวลาทั้งสิ้น 144,000 ปีมนุษย์

            รวมเวลาทั้งหมดทั้งสิ้น จากสัตตะสนธยายุค -> สัตตะยุค -> สัตตะสนธยาสะยุค -> เตรตะสนธยายุค -> เตรตะยุค -> เตรตะสนธยาสะยุค -> ทวาปะระสนธยายุค -> ทวาปะระยุค -> ทวาปะระสนธยาสะยุค -> กาลีสนธยายุค -> กาลียุค -> กาลีสนธยาสะยุค รวมทั้งหมด 4,320,000 ปีพอดี โดยมนุษย์เรานั้นเริ่มเข้าสู่ยุคกาลีในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 3102 ปีก่อนคริสตกาล เวลา 0.00 น. (วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 3,102 BC เวลา 24.00 น.) หรือพูดกันง่ายๆคือ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 5117 ปีมาแล้วนับจากคริสตศักราชปัจจุบัน แปลว่าในช่วงนี้เรายังอยู่ในช่วงกาลีสนธยาเท่านั้น ยังไม่เข้ากาลียุคจริงๆ

            ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ชาวอารยันเชื่อว่า มหายุคทั้ง 4 นี้จะรวมเข้ากันเรียกว่า "จตุรยุค" ทีนี้ 71 จตุรยุค จะรวมเข้ากันเป็น 1 มนู ซึ่งหมายถึง โลกจะบังเกิดอารยธรรมมนุษย์ขึ้นและดับลง ในช่วงแต่ละมนูที่อารยธรรมมนุษย์ดับลงนั้น พระศิวะจะลืมพระเนตรที่สามเผาผลาญโลกทั้งหมดและปล่อยให้น้ำท่วมโลก เพื่อที่จะลบล้างอารยธรรมของมนุษย์ในอดีตให้หายไปทั้งหมด เรียกช่วงเวลาที่พระศิวะจะเผาผลาญโลกและปล่อยให้น้ำท่วมว่า "สนธิ" ซึ่งสนธิครั้งหนึ่งจะมีเวลาเท่ากับสัตตะยุค คือ 1,728,000 ปีมนุษย์
            4,320,000 ปีมนุษย์ (จตุรยุค) X 71 = 306,720,000 ปีมนุษย์ หรือเท่ากับ 1 มนู
            306,720,000 ปีมนุษย์ (1 มนู) X 14 = 4,294,080,000 ปีมนุษย์
            1,728,000 ปีมนุษย์ (1 สนธิ) X 15 = 25,920,000 ปีมนุษย์
            14 มนู + 15 สนธิ = 4,320,000,000 ปีมนุษย์
            เมื่อพระพรหมทรงตื่นบรรทมเพื่อดูแลโลก 1 วัน หรือ 12 ชั่วโมง พระองค์ก็ต้องทรงบรรทมอีก 1 ราตรีหรือ 12 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน เมื่อพระพรหมทรงตื่นอยู่ 4,320,000,000 ปีแล้ว พระองค์จะปล่อยให้พระศิวะผลาญโลกใบนี้ด้วยพระเนตรที่สาม และปล่อยให้น้ำท่วมโลกอีกเป็นระยะเวลา 4,320,000,000 ปีเช่นเดียวกัน

            ในคัมภีร์สุริยะสิทธานตะยังกล่าวต่อไปอีกว่า ใน 4,320,000 ปีมนุษย์ที่ผ่านไปนี้ พระอาทิตย์โคจรรอบโลก (มีจำนวนวันเมื่อนับจากพระอาทิตย์) ทั้งสิ้น 1,577,917,828 วัน ดังนั้น 1 ปีจึงมีเท่ากับ
             1,577,917,828 / 4,320,000 = 365.258756481481...
             หรือก็คือ 365 วัน 6 ชั่วโมง 12 นาที 36 วินาที 33 เศษวินาที 36 เศษของเศษวินาที แลดูเยอะเกินไปเราจึงขอตัดเพียง 365.25875 มาเท่านั้น
             การคำนวณปฏิทินดาราศาสตร์แบบอินเดียนั้น จะต้องเริ่มจากสิ่งที่เรียกว่า อหรคณะ หรือที่คนไทยเรียกว่า "หรคุณ" คำว่า อหระ มาจากภาษาสันสกฤต คือ อโหรตระ แปลว่าเวลาเต็ม 1 วัน 1 คืน หรือ 24 ชั่วโมง ส่วนคำว่า คะณะ ในภาษาสันสกฤต แปลว่า การนับจำนวน เมื่อรวมกันเป็น อหรคณะ แปลว่า การนับจำนวนวันเต็ม โดยเริ่มต้นนับจากปีที่เข้ากลียุคเป็นต้นมา เมื่อได้จำนวนวันดังกล่าวแล้ว เขาก็จะนำอัตราการโคจรของดาวต่าง ๆ มาทำการหารกับจำนวนวันที่ผ่านไป ตัดทอนลงจนกลายเป็นตำแหน่งดาวในแต่ละปีหรือแต่ละวันของปีที่ผ่านไป เพราะคนโบราณมองว่า ดาวเคราะห์ทั้ง 7 ไล่เรียงตั้งแต่พระอาทิตย์ไปจนถึงพระเสาร์นั้น จะโคจรมาตรงกันที่ 0 องศาในราศีเมษทุก ๆ 4,320,000 ปี ในสัตยะยุคจะวนครบรอบทั้งหมดประมาณ 4 รอบจึงจะเปลี่ยนยุค ในเตรตะยุคจะวนครบรอบประมาณ 3 รอบ ในทวาปะระยุคจะวนครบรอบ 2 รอบและในกลียุดจะวนเพียงแค่รอบเดียว หรือจำง่าย ๆ ว่า 4 3 2 1 รวมเป็น 10 รอบ
              ส่วนต่อมาเราต้องทำความเข้าใจว่าแต่ละศักราชนั้น มีจุดเริ่มต้นสตาร์ทไม่เหมือนกัน เช่น คริสตศักราช เกิดขึ้นหลังจากที่เข้ากลียุคมาแล้ว 3,101 ปี พุทธศักราชเกิดขึ้นเมื่อเข้ากลียุคมาแล้ว 2,558 ปี (เกิดจากการเอา 3,101 - 543) สกศักราชหรือศักราชประจำชาติอินเดียเกิดขึ้นเมื่อเข้ากลียุคมาแล้ว 3,179 ปี และสุดท้ายจุลศักราชเกิดขึ้นเม่ื่อเข้ากลียุคมาแล้ว 3,739 ปี (กลียุคของพุทธ 2,558+1181) เมื่อเราทราบกลียุคไปแล้ว จะเห็นว่าวิธีการง่าย ๆ เลยก็เอาวัน (365.25875) คูณเข้าไปกลายเป็นอหรคณะ จากนั้นหารด้วยอัตราการโคจรของดาวเคราะห์แต่ละดวง เราก็จะทราบว่าในจุด "เริ่มต้น" ปีนั้น ดาวดวงใดอยู่ตำแหน่งใดบ้าง
              ทีนี้มาที่วิธีการคิดหรคุณแบบสุริยยาตร์ อันเริ่มจากการนำจุลศักราช มาคูณด้วย 292,207 หารด้วย 800 บวกด้วย 373 ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ประการแรก เมื่อนำจำนวน 292,207 มาหารด้วย 800 จะได้เท่ากับ 365.25875 พอดี นั่นก็หมายความว่า 292,207/800 เป็นตัวแทนของเลข 365.25875 นั่นเอง ส่วน 373 ที่มาบวกนั้นเพราะว่า เมื่อนำกลียุคที่ 3,739 มาคูณด้วย 292,207 หารด้วย 800 มันเหลือเศษ 373 หรือพูดได้ว่า 373 นี้คือตัวตั้งต้นนับกลียุคที่ 3,739 ของจุลศักราชนั่นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อโหราศาสตร์ไทย รับผ่านมาทางพม่า เราเลยใช้จุลศักราชของพม่าในการคำนวณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น