วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

รับสอนโหราศาสตร์ภารตะ


รับสอนโหราศาสตร์ภารตะ

ประชาสัมพันธ์การเรียนวิชาโหราศาสตร์ภารตะของสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติโครงการป้อมปราบศัตรูพ่าย หากท่านใดสนใจเชิญติดต่อทางสมาคมฯได้ที่เบอร์ 02-629-8181
การสอนที่สมาคมฯ นั้น จะทำการสอนทุกวันเสาร์ เวลา 17.00 - 19.00 น.
ค่าลงทะเบียนเรียนเดือนละ 700 บาท

การเดินทาง : หากมาทางประตูน้ำพันธ์ทิพ ให้มาตามถนนเพชรบุรี จนถึงยมราชให้ชิดขวาเพื่อเข้าสู่ถนนพิษณุโลก เมื่อถึงแยกนางเลิ้งให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนนครสวรรค์ เมื่อข้ามคลองมาอีกฝั่งแล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนกรุงเกษม เลี้ยวขวามาประมาณ 20 เมตรก็จะถึงครับ หากจะเดินทางโดยรถเมล์ ให้นั่งสาย 23 แล้วเดินมาก็สะดวกเช่นกันครับผม


ประชาสัมพันธ์เรื่องการสอนโหราศาสตร์ทางไกล หรือในต่างจังหวัด

เนื่องจากมีบุคคลผู้สนใจการเรียนโหราศาสตร์ภารตะบางท่าน สนใจต้องการเรียนโหราศาสตร์ภารตะขนานแท้สายท่านอาจารย์สัมฤทธิ์ เกลาเกลี้ยง แต่อยู่ในต่างจังหวัด ไม่สามารถเดินทางเข้ามาเรียนในกรุงเทพได้

ทางชมรมฯ จึงจัดทำดีวีดีบรรยายการสอนพร้อมเอกสารประกอบการเรียนสำหรับทางไกลขึ้น โดยเนื้อหาจะแบ่งเป็นรายเดือน ค่าสมัครเรียน 700 บาทต่อเดือน หลักสูตรมีทั้งหมดประมาณ 6 เดือนครับผม เสมือนเรียนที่สมาคมโหราศาสตร์นานาชาติทุกประการ

ดีวีดีจะบรรจุเป็นแผ่นข้อมูล อันประกอบด้วยคลิปวิดีโอบรรยายการสอนเป็น MP4 เพื่อสะดวกแก่การนำเข้าโทรศัพ์มือถือ และเอกสารประกอบการเรียนเป็น PDF เพื่อสะดวกในการจัดทำเอกสารประกอบการเรียนใหม่ ในกรณีเอกสารที่ส่งให้ชำรุดเสียหาย ดังนั้นแผ่นดีวีดีดังกล่าว จะไม่สามารถเล่นในรูปแบบของดีวีดีภาพยนต์หรือดีวีดีเพลเยอร์ได้นะครับผม ต้องเปิดกับคอมพิวเตอร์ โดยเปิดเข้าไปในไดรว์เล่นแผ่นดีวีดีเท่านั้นครับ

ซึ่งปัจจุบันมีเนื้อหาที่เสร็จเรียบร้อยดังนี้

2.1 เดือนที่ 1 : ประกอบด้วยเรื่องของประวัติของโหราศาสตร์อินเดีย และประวัติของท่านอาจารย์สัมฤทธิ์ เกลาเกลี้ยง และสำนักวนยาสนะ ความหมายของราศีและดาวเคราะห์ในทุกด้านทั้ง เช่น นิสัยกับราศี อวัยวะกับราศี สถานที่กับราศี ทิศทางกับราศี นิสัยของดาว อวัยวะกับดาว สถานที่กับดาว คุณสมบัติวัตถุและสีของดาวเคราะห์ ตัวอักษรของดาวเคราะห์ เป็นต้น

2.2 เดือนที่ 2 : ประกอบด้วยเรื่องอาวัสถะ ๑๐ ประการ หรือ กำลังพื้นฐานของดาวเคราะห์ทั้ง 10 ประการ อุจจ์ มูลตรีโกณ เกษตร เรือนอธิมิตร มิตร กลาง ศัตรู และอธิศัตรู การเพ็ญ พักร์ เสริด มณฑ์ การดับและมรณะองศา การส่งแสงของดาวเคราะห์ การสัมผุสฑีฆันดรดาวเคราะห์ในดวงชะตา ต้นกำเนิดอันโตนาทีสามัญในเชิงฟิสิกข์ดาราศาสตร์ การสัมผุสฑีฆันดรลัคน์

ดีวีดีแต่ละแผ่นจะมีค่าลงทะเบียนแผ่นละ 700 บาทครับผม

หากผู้ใดสนใจ สามารถโทรสอบถามได้ที่เบอร์ 082-454-6554 Line : jetariusjinx
หรือติดตามได้ที่ Facebook ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ นะครับ
https://www.facebook.com/jyotishthailand/
หมายเหตุ - ผู้ที่ทำการสอน มิใช่ท่านอาจารย์สัมฤทธิ์ แต่เป็นผู้สอนซึ่งเป็นลูกศิษย์อาจารย์สัมฤทธิ์นะครับ

วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ สายอาจารย์สัมฤทธิ์ เกลาเกลี้ยง






โหราศาสตร์ภารตะ สายอาจารย์สัมฤทธิ์ เกลาเกลี้ยง

               บทความที่ผ่านมาทั้งหมดนั้น ทางผู้เขียนมีจุดประสงค์เพื่อจะอธิบายบ่อเกิดของปฏิทินสองสายในประเทศไทย คือ สุริยาตร์ และลาหิรี ว่ามีที่มาอย่างไร จุดกำเนิดเริ่มต้นเป็นเช่นไร มีแนวความคิดอย่างไร เพื่อที่ผู้อ่านและผู้กำลังศึกษาโหราศาสตร์จะได้สามารถตัดสินใจว่าจะเลือกใช้ปฏิทินใด ด้วยเหตุผลใด

               แต่สำหรับลูกศิษย์สายอาจารย์สัมฤทธิ์ เกลาเกลี้ยงนั้น จะต้องใช้หลักการโหราศาสตร์ภารตะกับปฏิทินสุริยาตร์เท่านั้น ด้วยเหตุผลเพราะว่า มหาฤๅษีภัทรคุปต์ผู้เป็นท่านอาจารย์ของท่านอาจารย์สัมฤทธิ์นั้น กำชับให้ใช้ปฏิทินสุริยะสิทธานตะในการทำนาย ท่านอาจารย์สัมฤทธิ์จึงใช้สุริยะสิทธานตะในการทำนายทุกครั้ง เมื่อท่านอาจารย์สัมฤทธิ์กลับมาถึงเมืองไทย ท่านต้องทำการคำนวณปฏิทินใช้เองในช่วงแรก ๆ ทำให้เกิดความไม่สะดวกขึ้น ท่านอาจารย์สัมฤทธิ์จึงทำการศึกษาปฏิทินสุริยาตร์ และเห็นว่ามีหลักการเช่นเดียวกับคัมภีร์สุริยะสิทธานตะทุกประการ ท่านอาจารย์สัมฤทธิ์จึงใช้ปฏิทินสุริยาตร์แทนปฏิทินสุริยะสิทธานตะที่ท่านเรียนการคำนวณมาจากอินเดีย

               เมื่อท่านอาจารย์สัมฤทธิ์มีโอกาสเผยแพร่โหราศาสตร์ภารตะให้กับลูกศิษย์ในประเทศไทย ท่านอาจารย์สัมฤทธิ์จึงกำชับให้ลูกศิษย์ของท่านทุกคน ใช้ปฏิทินสุริยาตร์ในการทำนายตามที่มหาฤๅษีภัทรคุปต์กำชับท่านอาจารย์มาเช่นเดียวกัน

               ดังนั้นความเชื่อที่ว่า โหราศาสตร์ภารตะแท้ ๆ นั้น ต้องใช้ปฏิทินลาหิรี จึงไม่เป็นความจริง ด้วยเพราะว่า ประการแรก ลาหิรีมิได้เป็นปฏิทินทางดาราศาสตร์ที่ใช้ค่าอายนางศะเดียวในประเทศอินเดีย ประการสอง ลาหิรีมิได้เป็นต้นกำเนิดโหราศาสตร์ภารตะแต่อย่างใด ปฏิทินที่เป็นต้นกำเนิดโหราศาสตร์ภารตะคือสุริยะสิทธานตะ ดังนั้นผู้ศึกษาโหราศาสตร์ภารตะ พึงใช้ได้ทั้งปฏิทินสุริยาตร์ และลาหิรี อยู่ที่ว่าผู้เลือกใช้ปฏิทินนั้น ๆ มีเหตุผลเช่นไรเท่านั้น

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ระบบนิรายนะ และสายนะ ตอนจบ


โหราศาสตร์ตะวันตกยุคสมัยใหม่

                จากคราวที่แล้ว ทางผู้เขียนได้อธิบายถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของวิชาดาราศาสตร์ตะวันตกอย่างพอสังเขป ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า ชาวตะวันตกส่วนหนึ่งนั้นมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่สูงมาก นักคิดชาวตะวันตกมิได้มองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเช่นที่ชาวเอเซียมอง ยกตัวอย่างเช่น ชาวเอซียมักจะมองว่าพระอาทิตย์คือผู้ให้แสงสว่างและความอบอุ่น ดังนั้นชาวเอเซียทั้งอินเดียก็ดี หรือญี่ปุ่นก็ดี จะบูชาพระอาทิตย์ โดยเฉพาะชนชาติญี่ปุ่น มองว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์ เป็นบุตรของพระอาทิตย์ดังนั้นธงชาติของประเทศญี่ปุ่นจึงมีวงกลมสีแดงตรงกลาง อันหมายถึงพระอาทิตย์

                หรือในวัฒนธรรมกรีกโบราณ ที่มีลักษณะบูชาเทพเจ้า ก็ยกตำแหน่งให้พระอาทิตย์มีฐานะเป็นเทพองค์หนึ่งที่มีพระนามว่า อพอลโล อีกทั้งชาวกรีกยังมีการตั้งชื่อกลุ่มดาวต่าง ๆ ในท้องฟ้าซีกด้านเหนือตามตำนานของเทวปกรณัมของตนเอง ตรงจุดนี้เองที่ผู้เขียนก็มีความสงสัยว่า กลุ่มดาวทั้ง 12 ราศีนั้น มาจากการตั้งชื่อของอารยธรรมกรีกจริงหรือ เพราะหากเปรียบเทียบระหว่างอารยธรรมกรีก ที่เพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อประมาณ 750 ปีก่อนคริสต์กาล กับอารยธรรมยุคพระเวทของชาวอารยัน ที่เริ่มต้นเมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสต์กาลแล้ว นับว่าห่างไกลกันมาก และที่สำคัญ โหราศาสตร์ภารตะเอง ก็ได้กำหนดรูปร่างลักษณะของราศีทั้ง 12 มาตั้งแต่แรก ดังนั้นที่นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกสรุปว่า ชาวกรีกเป็นผู้กำหนดกลุ่มดาว 12 ราศีบนท้องฟ้าเป็นอารยธรรมแรก ทางผู้เขียนไม่ใคร่จะเชื่อเท่าใดนัก

                ส่วนกลุ่มดาวอื่น ๆ นอกจากกลุ่มดาวทั้ง 12 ราศีนั้น ชาวกรีกก็มิได้ตั้งขึ้นมาทั้งหมด เช่น กลุ่มดาวนายพราน เป็นกลุ่มดาวที่ชาวอียิปต์นับถือมาก่อน เพราะถือว่าเป็นกลุ่มดาวแห่งกษัตริย์ ทั้งยังมีการสร้างมหาปิรามิดทั้งสามที่เมืองกีซ่า ตามตำแหน่งของกลุ่มดาวดังกล่าวด้วย ดังนั้นกลุ่มดาวที่มีในปัจจุบัน ชาวกรีกมิได้ตั้งชื่อเองกับมือเสียทั้งหมด หากแต่หยิบยืมจากวัฒนธรรมอื่น ๆ มาบ้าง ในปัจจุบันนักดาราศาสตร์ได้ทำการรวบรวมกลุ่มดาวทั้งหมด จัดให้เป็นระบบระเบียบได้จำนวน 88 กลุ่มดาว และวางขอบเขตพื้นที่ให้กับกลุ่มดาวนั้นมีบริเวณแน่นอน คล้ายกับแผนที่โลก เพื่อประโยชน์ในการระบุตำแหน่งของกาแลคซี่ เทหะวัตถุในจักรวาลอื่น

                จะเห็นว่าวิชาดาราศาสตร์ของชาวตะวันตกในปัจจุบันนั้น สวนทางกับวิชาดาราศาสตร์สมัยโบราณไปอย่างสิ้นเชิง ความขัดแย้งแรกที่สามารถรับรู้ได้คือเรื่องจักรราศี หากถือตามคติของดาราศาสตร์อารยธรรมสินธุ และเมโสโปรเตเมีย ก็ต้องกล่าวว่า ปีหนึ่งมี 12 เดือน เดือนละประมาณ 30 - 31 วัน ตามขอบเขตของจักรราศีที่มีทั้งหมด 12 ราศี โดยแต่ละราศีมีพื้นที่เท่ากันทั้งหมดคือ 30 องศา

                แต่หากยึดตามทฤษฎีของดาราศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์ ต้องกล่าวว่าราศีทั้งหมดมี 13 ราศี ขอบเขตของราศีไม่เท่ากัน ราศีพิจิกมีพื้นที่เพียง 7 องศาเท่านั้น และในปีหนึ่ง ๆ นั้นมีทั้งหมด 13 เดือน แต่ละเดือนก็ไม่เท่ากันอีกด้วย

                และเนื่องจากหลักเกณฑ์การมองท้องฟ้าของดาราศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์แบบโบราณ มีลักษณะแตกต่างกันเช่นนี้ ทำให้ 0 องศาของราศีเมษ ของทั้ง 2 ระบบมีลักษณะแตกต่างกัน โดย 0 องศาราศีเมษของดาราศาสตร์แบบโบราณนั้น จะยึดที่ตำแหน่งกลุ่มดาวจริงบนท้องฟ้า ในหลักการดาราศาสตร์ของอินเดียก็ยึดว่า 0 องศาราศีเมษนั้น อยู่ตรงข้ามกับดาวจิตรา หรือดาวสไปกาของกลุ่มดาวราศีกันย์แบบพอดิบพอดี

                แต่ 0 องศาราศีเมษของดาราศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์นั้นไม่เหมือนกัน เขาไม่สนใจกลุ่มดาวอะไรทั้งสิ้น เขาสนใจเพียงจุดวิษุวัต (equinox) หรือจุดราตรีเสมอภาคเท่านั้น จุดราตรีเสมอภาคคือจุดที่ทำให้เวลากลางวันและกลางคืนมีระยะเวลา 12 ชั่วโมงเท่ากัน ในปีหนึ่งนั้นจะมีเพียง 2 ระยะเท่านั้น ระยะแรกเรียกว่า วสันตวิษุวัต (Vernal equinox) เกิดขึ้นประมาณวันที่ 20 - 21 มีนาคมของทุกปี และระยะที่สองคือ ศารทวิษุวัต (Autumnal equinox) เกิดขึ้นประมาณวันที่ 22 - 23 กันยายนของทุกปี ซึ่งจุดวิษุวัตนี้ มันเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดนิ่ง หากเทียบกับแผนที่ดาราศาสตร์แบบโบราณ หรือแบบโหราศาสตร์ที่เราใช้กันทุกวัน จุดวิษุวัตจะอยู่ที่ประมาณ 6 องศาราศีมีน เนื่องจากมันเคลื่อนจาก 0 องศาราศีเมษเดิมตามระยะจริงของกลุ่มดาว เข้าไปในกลุ่มดาวราศีมีนทีละน้อยประมาณ 50 ฟิลิปดาต่อปี ในปัจจุบันนี้เคล่ื่อนไปประมาณ 24 องศาแล้ว พูดง่าย ๆ ตามภาษาชาวบ้านคือ มันล้ำเข้าไปในราศีมีน 24 องศา หรือประมาณองศาที่ 6 ของราศีมีนในระบบดาราศาสตร์โบราณ

                ค่าองศาที่มันเปลี่ยนจุดวิษุวัตนี้ทางตะวันตกเรียกว่า ปรากฏการณ์ precession หรือที่นักโหราศาสตร์ไทยและอินเดียในปัจจุบันเรียกว่า ค่าอายนางศะ (Ayanamsa) นั่นเอง ปรากฏการณ์ precession คือปรากฏการณ์หมุนควงของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาล เป็นหลักการณ์ทางฟิสิกข์ดาราศาสตร์ เกิดกับดาวเคราะห์ที่หมุนเพราะมีแรงกระทำจากภายนอก ในที่นี้ก็คือแรงโน้มถ้วงของดวงอาทิตย์เอง ที่ทำให้ดาวเคราะห์ต่าง ๆ หมุนรอบตัวเอง ซึ่งโลกก็หมุนรอบตนเองเพราะเหตุนี้ และการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์นั้นทำให้เกิดการหมุนควงเหมือนกับลูกข่างใกล้ล้มไปด้วยในตัวเอง


                และด้วยปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้โลกเราเปลี่ยนดาวเหนืออยู่ตลอดเวลา ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสต์กาล ดาวเหนือของเราคือดาวทูบาน (Thuban) ทูบานเป็นภาษาอารบิกแปลว่า มังกร และในปัจจุบันนี้ ดาวเหนือของเราคือ ดาวโพลาริส (Polaris) เป็นดาวในกลุ่มดาวหมีน้อย และในประมาณปี ค.ศ. 14,000 ดาวเหนือของเราก็จะเปลี่ยนเป็นดาววีกา (Vega) ดาวที่สวยงามมากที่สุดดวงหนึ่งในท้องฟ้า ซึ่งเป็นดาวในกลุ่มดาวพิณ วงรอบของการหมุนควงนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 26,000 ปี ด้วยเหตุที่โลกเรามันไม่ได้เอียงองศาเดียวตลอดเช่นนี้ ทำให้วันราตรีเสมอภาคของเราก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และเป็นผลให้จุดวิษุวัตเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เช่นกัน ดังนั้นหากนักโหราศาสตร์ นำปฏิทินดาราศาสตร์ของสวิตส์เซอร์แลนด์มาอ่าน แล้วเขาเขียนว่า 21 March Sun 0 Degree Aries อย่าได้เข้าใจว่า พระอาทิตย์มันอยู่ในกลุ่มดาวราศีเมษจริง ๆ แต่ต้องเข้าใจว่า มันอยู่ยังอยู่กลุ่มดาวราศีมีนอยู่นะครับ เพียงแต่คำว่า 0 Degree Aries ในที่นี้คือ จุดวิษุวัต นั่นเอง

                นี่เองครับคือระบบสายนะ ที่แท้จริง คำว่าราศีเคลื่อนที่นั้น ไม่ใช่ว่าราศีมันเคลื่อนที่ไปจริง ๆ หรือ กลุ่มดาวมันเคลื่อนที่ไปจริง ๆ แต่มันหมายถึงการเคลื่อนที่ของจุดวิษุวัต ทำให้วันราตรีเสมอภาคเคลื่อนที่ไป แต่หากนักดาราศาสตร์จะตั้งจุดนั้นขึ้นมาลอย ๆ ในจักรวาล เป็นจุดใดจุดหนึ่งที่ไม่มีอะไรระบุตำแหน่ง เวลาจะจดบันทึกมันก็อาจจะทำให้เกิดความยุ่งยาก นักดาราศาสตร์เลยใช้ราศีเมษในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้น 0 องศาของจักรราศี มาเป็นตัวแทนของจุดวิษุวัตเสียเลย นี่เองครับคือระบบสายนะที่แท้จริงครับ ดังนั้นในเมื่อจุดวิษุวัตมันเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แล้วมันจะมีวันจะถอยหลังหรือไม่ ตอบเลยครับว่า มีครับ เพียงแต่มันอาจจะไม่เกิดขึ้นเร็วนัก แต่อาจจะอีกหมื่นหรือสองหมื่นปีครับ

                ในช่วงที่อธิบายว่า ค่าอายนางศะ คือ ค่า precession นั้น อันที่จริงแล้วควรจะต้องกล่าวว่า ค่าอายนางศะ คือค่าประมาณการค่า precession ที่แท้จริง เพราะค่าหมุนควงที่แท้จริงนั้น เขาใช้วิธีการสังเกตการณ์ในแต่ละปีครับ ไม่มีสูตรทางคณิตศาสตร์ตายตัว ว่าเอาปี ค.ศ. มาคูณอย่างนั้นหารอย่างนี้แล้วออกมาเป็นค่าอายนางศะ ทางวิชาดาราศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์เขาไม่มีแบบนี้ ค่าอายนางศะเกิดขึ้นจากประเทศอินเดีย เนื่องจากในตอนที่ท่านเนหรูเป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดียนั้น รัฐบาลอินเดียมีความประสงค์จะให้ใช้ปฏิทินดาราศาสตร์แบบสวิตส์เซอร์แลนด์ ในการกำหนดวันทางศาสนา สันนิษฐานว่าต้องการให้มีความเป็นสากล ทีนี้ทำเช่นไรเล่าในเมื่อ 0 องศาของราศีเมษของดาราศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์ มันไม่ใช่จุดเดียวกับ 0 องศาราศีเมษของดาราศาสตร์แบบอินเดียเลย อีกทั้ง 0 องศาของราศีเมษแบบวิทยาศาสตร์ มันก็ต้องอาศัยการสังเกตการณ์ปีต่อปี ลำบากกับคนอินเดียที่ต้องกำหนดวันทางศาสนาตามหลักดาราศาสตร์ ซึ่งบางกรณีก็ต้องมีการกำหนดล่วงหน้า ก็เลยมีการวิจัยหรือค้นหาสูตรคำนวณใดที่จะสามารถนำปีมาหาค่าประมาณการของการหมุนควงนี้ได้บ้าง หลายสำนักมีการวิจัยกันออกมา แต่ที่โด่งดังที่สุดคือ ค่าอายนางศะของลาหิรี

                เนื่องจากลาหิรีมีความสนิทสนมกับเนหรู นายกรัฐมนตรีอินเดียในขณะนั้น อีกทั้งนั่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของสมาคมโหราศาสตร์อินเดีย ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นประกาศใช้ค่าอายนางศะของลาหิรีเป็นพื้นฐานเดียวกันทั่วประเทศในปี ค.ศ. 1954 และต่อมาประเทศไทยก็รับมาใช้ผ่านทางอาจารย์เทพ สาริกบุตร ซึ่งหากจะกล่าวว่าค่าอายนางศะเป็นของลาหิรีก็ไม่ถูกเสียทีเดียว ความจริงแล้วลาหิรียืมผลการวิจัย จิตรา-ปักษิยะอายนางศะ ของพี่น้องเกตการะมาใช้ต่างหาก เพราะฉะนั้นแล้วหากจะเรียกให้ถูกต้องแล้ว ไม่ควรจะเรียกค่าอายนางศะของลาหิรี แต่ควรเรียกว่าค่าอายนางศะของเกตการน่าจะถูกต้องที่สุด เมื่อค่าอายนางศะของลาหิรีถูกประกาศใช้ ไม่เพียงแต่อาจารย์โหราศาสตร์ของอินเดียจะไม่พอใจเท่านั้น แม้แต่ชาวตะวันตกที่เข้ามาศึกษาดาราศาสตร์โบราณของอินเดียก็ยังมีความเห็นไม่ยอมรับค่าอายนางศะดังกล่าว แยกไปคิดค่าอายนางศะของตนเองอีกด้วยซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์สองท่านคือ ฟากันและเบรดเลย์ (Fagan and Bradley) ค่าอายนางศะของท่านทั้งสองได้รับการยอมรับจากโลกสากลตะวันตกมากกว่า ด้วยว่ากันตามจริง ค่าอายนางศะเป็นเพียงค่าประมาณการ ซึ่งไม่เป็นวิยาศาสตร์ และ NASA ก็ไม่มีค่าอายนางศะ เพราะค่าอายนางศะ จำเป็นสำหรับคนอินเดียเท่านั้น ไม่จำเป็นกับการยิงจรวจสำรวจจักรวาล

                จากเนื้อหาทั้งหมด จึงสรุปเป็นประโยคสั้น ๆ ได้ว่า ระบบสายนะ นับ 0 องศาจักราศีที่จุดวิษุวัตโดยไม่สนใจว่ามันจะอยู่ในกลุ่มดาวราศีใด และจุดวิษุวัตดังกล่าวเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ ทุกปี ส่วนระบบนิรายนะ นับ 0 องศาจักรราศีที่จุดเริ่มต้นกลุ่มดาวราศีเมษจริง ในความเห็นส่วนตัวผมนั้น ใช้การทำนายจากปฏิทินสุริยาตร์เป็นหลัก เพราะเหตุว่า สถิติที่มหาฤาษีรวบรวมและประกาศเป็นหลักการทำนายนั้นสร้างขึ้นจากปฏทินสุริยะสิทธานตะ หรือสุริยาตร์ ดังนั้นหากเราจะเอาตำแหน่งดาวของบุคคลใดมาทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าโดยอิงสถิติดังกล่าวนั้น ก็ควรจะคำนวณโดยวิธีการตามแนวทางสุริยะสิทธานตะหรือสุริยาตร์จะเหมาะมากกว่า

                และภาพสุดท้ายนี้ เป็นภาพจากโปรแกรมสเตลาเรียม โปรแกรมทางดาราศาสตร์สมัยใหม่ บอกพิกัดของพระอาทิตย์ ในวันที่ 15 เมษายน 2558 ว่า 24 องศาราศีเมษ แต่หากดูเปรียบเทียบกับกลุ่มดาวและดาวสไปกาหรือดาวจิตราจะเห็นว่า พระอาทิตย์อยู่ตรงกับดาวจิตรา แม้ว่าอาจจะไม่ตรง 180 องศาเป๊ะ แต่ก็ถือว่าตรงนะครับ ซึ่งนักโหราศาสตร์ผู้ใช้ปฏิทินสุริยาตร์ น่าจะภูมิใจว่า สูตรการคำนวณของสุริยาตร์ ตรงกับท้องฟ้าจริงอยู่บ้างเหมือนกันนะครับ


                สุดท้ายนี้ จุดประสงค์ที่ผมนั่งเขียนอธิบายตั้งแต่ประวัติศาสตร์อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ จนถึงประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ตะวันตก ก็เพื่อจะตอกย้ำให้นักโหราศาสตร์ทั่วไปได้เข้าใจว่า หลักการทางดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ที่ตะวันตกใช้อยู่ทุกวันนี้ มาจากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุทั้งสิ้น ไม่ใช่มาจากเมโสโปรเตเมีย ผมพยายามที่จะอ้างถึงช่วงเวลาการกำเนิดอารยธรรมที่แตกต่างกัน และห่างจากกัน เพื่อชี้ให้เห็นว่า อายรธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นเกิดก่อนอารยธรรมเมโสโปรเตเมีย และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุก็มีวิชาดาราศาสตร์มาแต่แต่โบราณ จะบอกว่าราศีทั้ง 12 ราศี วันทั้ง 7 วัน ดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวง เกิดจากอารยธรรมเมโสโปรเตเมียกำหนดได้อย่างไรกัน ผมถือเป็นหน้าที่ของผู้ศึกษาวิชาโหราศาสตร์ และนักโหราศาสตร์ ที่จะต้องสร้างความเข้าใจในจุดนี้ให้กับบุคคลทั่วไป อย่าให้วิชาโหราศาสตร์ เป็นเพียงวิชาที่เลื่อนลอย งมงาย เช่นที่สังคมเข้าใจนะครับ

อ้างอิง
http://en.wikipedia.org/wiki/Zodiac
http://th.wikipedia.org/wiki/วิษุวัต
http://en.wikipedia.org/wiki/Ayanamsa

วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ระบบนิรายนะ และสายนะ ตอนที่ 2


โหราศาสตร์ สายนะ?

                 บทความคราวก่อนนั้นเป็นเรื่องราวของระบบนิรายนะ ระบบของผู้สังเกตการณ์ท้องฟ้า แนวความคิดคือท้องฟ้าหรือกลุ่มดาวเป็นเหมือนแผนที่ โดยมีดวงดาวนั้นโคจรไปรอบโลก โคจรกลับมาที่เดิมตรงเวลาบ้างไม่ตรงเวลาบ้าง ระหว่างโคจรนั้นมองแล้วเหมือนถอยหลังบ้าง เหมือนเดินเร็วบ้าง เหมือนหยุดอยู่กับที่บ้าง แล้วสร้างเป็นสูตรคำนวณปฏิทินดวงดาวขึ้นมา ที่กล่าวมานั้นเหมือนจะง่ายนะครับ แต่ทางผู้เขียนมีความคิดว่า มันจะต้องใช้เวลานานมากทีเดียว

                 ส่วนระบบสายนะนั้น เป็นระบบดาราศาสตร์ตะวันตกในสมัยใหม่ เหตุที่ต้องกล่าวเช่นนี้เพราะว่า ความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ของตะวันตกนั้นหากจะแบ่งแยกย่อยตามหลักวิชาการต้องแบ่งออกเป็นสองยุคคือ ยุคโบราณ และยุคใหม่ ในยุคโบราณนั้นเริ่มต้นตั้งแต่สมัยกรีก-โรมัน จนถึงยุคเรเรซองค์ หรือช่วงเวลาประวัติศาสตร์ตั้งแต่ 750 ปีก่อนคริสตกาล ถึงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17 และหลังจากยุคเรเนซองส์เมื่อวิทยาศาสตร์ของทวีปยุโรปมีความเจริญก้าวหน้าไปมาก ก็ได้มีการค้นพบข้อมูลทางดาราศาสตร์มากมาย และตั้งเป็นหลักการทางดาราศาสตร์ขึ้นใหม่แทบทุกประการ กลายเป็นวิชาดาราศาสตร์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นหากเราจะเข้าใจระบบดาราศาสตร์สายนะของตะวันตก เราก็ควรที่จะศึกษาวิชาดาราศาสตร์ของตะวันตกให้ครบถ้วนทั้งหมดเสียก่อน


ปีทากอรัส (Pythagoras) 582 - 507 ปีก่อนคริสตกาล


                 ในสมัยกรีกโบราณ มีนักปราชญ์มากมายพยายามหาคำตอบว่า โลกมีลักษณะอย่างไร มีนักปราชญ์ผู้โด่งดังในสมัยโบราณคนหนึ่งชื่อว่า ปีทากอรัส (Pythagoras) แห่งซามอส (Samos) ประเทศกรีก มีชีวิตอยู่ในสมัย 582 - 507 ปีก่อนคริสตกาล นักคณิตศาสตร์ผู้นี้เป็นคนแรกในโลกที่บอกว่าโลกมีสันฐานกลม โลกหมุนรอบตัวเอง และโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่ในสมัยดังกล่าวนั้นความคิดของปิทอกอรัสไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไรนัก ไม่ทราบเพราะเหตุผลใด แต่สิ่งที่โด่งดังที่สุดของปีทากอรัสคือ กฎแห่งสามเหลี่ยมมุมฉากของปีทากอรัส 


 อริสโตเติล (Aristotle) 384 - 322 ก่อนคริสตกาล

                 นักปราชญ์ของกรีกที่มีชื่อเสียงไม่แพ้กันอีกท่านคือ อริสโตเติล บุคคลผู้นี้เป็นลูกศิษย์ของเพลโต และเป็นอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นนักปราชญ์ทั้งในเรื่องของรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ จริยศาสตร์ ชีววิทยา และดาราศาสตร์ เป็นคนแรกอีกเช่นกันที่ระบุว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล แต่ในสมัยใกล้เคียงกันนั้นคือประมาณ 310 - 230 ปีก่อนคริสตกาล ได้มีนักปราชญ์อีกท่านคือ อารีสตาคัส (Aristarchus) ได้ออกมาแย้งแนวความคิดของอริสโตเติล โดยอารีสตาคัสแสดงทัศนะว่า โลกมีทรงกลม หมุนรอบตัวเอง และโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่เนื่องจากอริสโตเติลเป็นนักปราชญ์ที่ศึกษาวิชาหลายแขนง อีกทั้งมีลูกศิษย์มากมายส่วนมากก็เป็นนักการเมืองนักการปกครอง ทำให้ความเห็นของนักปราชญ์ท่านอื่น ๆ ในยุคสมัยเดียวกันจะไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก นอกเรื่องสักหน่อยเกี่ยวกับอริสโตเติลคือ ท่านเป็นนักปราชญ์ที่สร้างแนวความคิดเรื่อง หลักนิติรัฐ ที่เชื่อว่าบ้านเมืองนั้นต้องปกครองด้วยกฎหมาย

                 อีกมุมหนึ่งของโลก อารยธรรมเมโสโปรเตเมียล่มสลาย แต่มีอาณาจักรหนึ่งที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา ก็คืออาณาจักรของประเทศอิสราเอล หนังสือชุดเลเมเกทัน (Lemegeton) เป็นชุดหนังสือที่เชื่อกันว่า บรรยายถึงเรื่องเวทย์มนต์ที่กษัตริย์โซโลมอนใช้เป็นประจำ กษัตริย์โซโลมอน หรือในภาษาของอิสลามทรงมีพระนามว่า สุลัยมาน เป็นกษัตริย์ผู้ปราดเปรื่องและมั่งคั่งองค์ที่สามของอิสราเอล พระองค์ทรงสร้างวิหารโซโลมอนขึ้นในเมืองเยรุซาเล็ม ถือกันว่าเป็นวิหารแห่งเยรุซาเล็มหลังแรก ในหนังสือชุดดังกล่าวนั้นจะประกอบไปด้วยหนังสือ 5 เล่มด้วยกัน เล่มที่น่าสนใจที่สุดชื่อว่า อาร์ส พัวลิน่า (Ars Paulina) ในหนังสือเล่มดังกล่าวนั้น จะมีส่วนหนึ่งพูดถึงเทวทูต (Angle) ของศาสนาคริสต์ในพันธสัญญาเก่า (ศาสนายูดาห์) ผู้คอยดูแลราศีต่าง ๆ ทั้ง 12 ราศี และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ มีการกำหนดดาวเคราะห์ประจำราศี หรือที่เราเรียกว่า ดาวเจ้าเรือนเกษตร ตรงกันกับเจ้าเรือนเกษตรของอินเดียทุกประการ แสดงว่าระบบดาราศาสตร์ในบริเวณแถบอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส (บริเวณเขตติดต่อระหว่างประเทศอิรักและอิหร่านในปัจจุบัน) และแถบอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้น ใช้ระบบเดียวกันทั้งหมด



เคลาดิออส ปโตเลมอส (Ptolemy)

                 ต่อมาหลังจากยุคของอริสโตเติล ประมาณคริสต์ศักราชที่ 140 มีนักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อว่าเคลาดิออส ปโตเลมอส อีกชื่อหนึ่งคือ ทอเลมี หรือที่คนไทยนิยมเรียกกันว่า ปโตเลมี เป็นนักดาราศาสตร์ที่นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าอาศัยอยู่ในเมืองอเล็กซานเดอร์ ประเทศอียิปต์ ปโตเลมีได้ยืนยันต่อแนวความคิดของอริสโตเติลที่กล่าวว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และยังได้เพิ่มเติมต่อไปอีกว่า โลกเป็นวัตถุทรงกลม

                 ในเรื่องโลกเป็นวัตถุทรงกลมนั้น ทางอินเดียก็มีแนวความคิดว่าโลกกลมเช่นกัน หลักฐานทางงานเขียนนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ชิ้นเท่าที่ผู้เขียนสามารถค้นคว้าได้ งานเขียนชิ้นแรกคือ คัมภีร์สุริยะสิทธานตะ ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย ลานสล๊อต วิลคินสัน (Lancelot Wilkinson) และพาปูเดวะสาสตรี (Pundit Bapu Deva Sastri) บทที่ 1 หน้าที่ 11 ข้อที่ 59 ความว่า 
                 "The diameter of the Earth is 1600 yojanas. Multiply the square of the diameter by 10, the square-root of the product will be the circumference of the Earth" - เส้นผ่าศูนย์กลางของโลกคือ 1,600 โยชน์ หากคูณผลยกกำลังสองของเส้นผ่าศูนย์กลางนั้นด้วย 10 แล้วรากที่สองของผลลัพท์นั้นคือเส้นรอบวงของโลก

                 ลองคิดกันเล่นๆนะครับ 1,600 โยชน์ ยกกำลังสอง เท่ากับ 2,560,000 จากนั้นนำไปคูณด้วย 10 จึงเท่ากับ 25,600,000 ถอดรากที่สองได้ประมาณ 5,059 โยชน์ 1 โยชน์ จะมีค่าเท่ากับ 8 กิโลเมตร ดังนั้น 5,059 โยชน์ จึงเท่ากับ 40,472 กิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับค่าความจริงในปัจจุบันที่ 40,000 กิโลเมตร และสันนิษฐานว่า อินเดียมองว่าโลกเป็นวัตถุทรงกลมเหมือนกัน เรื่องจากคัมภีร์สุริยะสิทธานตะฉบับเดียวกัน หน้าที่ 11 ข้อที่ 62 ระบุว่า เมืองอุชเชณี เป็นแนวพาดผ่านระหว่างขั้วโลกเหนือกับประเทศลังกา แสดงว่าขั้วโลกเหนือของชาวอินเดียโบราณนั้น คงจะคลาดเคลื่อนจากปัจจุบันไปสักหน่อย หรือไม่เช่นนั้น สถานที่ที่ทางอินเดียระบุว่าเป็นกรุงอุชเชณี ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง

                 อนึ่ง 1 โยชน์เท่ากับกี่กิโลเมตรนั้นยังไม่มีข้อสรุป โดยในศตวรรษ์ที่ 5 ตามคัมภีร์สุริยะสิทธานตะนั้น 1 โยชน์เท่ากับ 8 กิโลเมตร แต่หากเป็นอินเดียสมัยใหม่ จะเทียบว่า 1 โยชน์เท่ากับ 13 กิโลเมตร ส่วนของไทย 1 โยชน์มีค่าเท่ากับ 16 กิโลเมตร
  
                 และหลักฐานชิ้นที่สองคือพระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค หน้าที่ ๒๐/๓๘๓ พระพุทธองค์ทรงตรัสยกตัวอย่างถึงพราหมณ์จำพวกหนึ่งที่มีความเชื่อว่าโลกนี้กลม ซึ่งหากนับเวลาพระไตรปิฎกของเราก็มีอายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ถือว่านักปราชญ์ชาวอินเดีย หรือมหาฤาษีผู้เรียนวิชาดาราศาสตร์ มีความเชื่อมาก่อนแล้วว่าโลกของเราเป็นทรงกลม

                  กลับมาสู่ประวัติศาสตร์ทางดาราศาสตร์ของตะวันตกอีกครั้ง ในขณะที่กรีก-โรมัน และอินเดีย มีความเห็นตรงกันว่าโลกกลม แต่ศาสนาคริสต์ในสมัยเดียวกันกลับไม่เชื่อเช่นนั้น ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์จะเชื่อว่าโลกแบน และด้วยความเชื่อนี้ ได้มีอิทธิพลต่อผู้คนในทวีปยุโรปเป็นอย่างมากเป็นร้อยปีทีเดียว 

                  ในคริสต์ศตวรรษที่ 3 ประวัติศาสตร์ยุโรปเข้าสู่ยุคมืด อาณาจักรโรมันแตกออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนตะวันตกและตะวันออก ในดินแดนที่เป็นโรมันตะวันออกนั้นได้กลายเป็นจักรวรรดิไบเซนไทน์ (Byzantine) จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 ได้สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิโรมันในปี ค.ศ. 306 ในช่วงแรกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 นั้นมีกระแสต่อต้านศาสนาคริสต์และชาวคริสต์อย่างรุนแรงจากชาวโรมัน เนื่องจากศาสนาคริตศ์นั้นมีปณิธานในการเผยแพร่ศาสนาพร้อมกับการโอบอุ้มพวกทาส คนจน ผู้หญิง และบุคคลผู้ที่ถูกรังเกียจในสภาพสังคมที่หรูหราของชาวโรมันอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีจำนวนมากในสังคม เมื่อชาวคริสเตียนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ชาวโรมันที่นับถือศาสนาเพเกิน (Paganism) จึงมีความรู้สึกว่าถูกคุกคาม ในคริสต์ศตวรรษที่ 2 นั้นก็เริ่มมีการประหัตประหารชาวคริสต์อย่างกว้างขวาง แต่ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์กลับมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีการตั้งโรงพยาบาลและโรงเรียนเพื่อชาวคริสเตียน การดูแลและการโอบอุ้มของศาสนาคริสต์เช่นนี้ทำให้จำนวนผู้นับถือเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวในระยะเวลาไม่นานนัก 

                  ในช่วงแรกของรัชสมัยจักรพรรดิคอนสแตนตินก็ยังคงมีการประหัตประหารชาวคริสต์ แต่ในช่วงคริสต์ศักราชที่ 312 ระหว่างที่จักรพรรดิคอนสแตนตินกำลังมีสงครามกับคู่แข่งอีก 2 คนเพื่อเป็นผู้นำกรุงโรม พระองค์ทรงอ้างว่าได้ทอดพระเนตรเห็นสัญลักษณ์ไม้กางเขนบนท้องฟ้า และทรงสดับเสียงว่า ด้วยสัญลักษณ์นี้ ท่านจะพิชิต พระองค์จึงทรงรับสั่งให้นำสัญลักษณ์ไม้กางเขนไว้บนโล่และธงรบ และสุดท้ายพระองค์ก็ได้รับชัยชนะ ด้วยเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พระองค์ทรงเลิกการประหัตประหารชาวคริสต์ในทันที ทรงออกพระราชกฤษฎีกาแห่งมิลาน (Edict of Milan) เพื่อให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาคริตส์ต่อผู้ที่อยู่ในอาณาจักรโรมัน และแม้กระทั่งพระองค์เองก็เปลี่ยนการนับถือจากศาสนาเพเกินมานับถือศาสนาคริสต์แทน ซึ่งประวัติศาสตร์ในช่วงนี้มีความหลากหลายทางด้านมุมมองอยู่มากทีเดียว 

                  ประเด็นแรกคือ การสังคยนาคัมภีร์ไบเบิลของจักรพรรดิคอนสแตนติน ที่นักประวัติศาสตร์ในสมัยปัจจุบันมองว่า เป็นการนำหลักการทางศาสนาเพเกินเข้าไปกลมกลืนกับศาสนาคริสต์โดยที่ชาวคริสเตียนในสมัยนั้นไม่ทันได้ล่วงรู้เลยแม้แต่น้อย ยกตัวอย่างเช่น วันคริสต์มาสหรือวันประสูติของพระเยซูนั้น ถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงของยุคสมัยนั้น วันที่ 25 ธันวาคม คือวันเฉลิมฉลองและบูชาต่อพระสุริยเทพของศาสนาเพเกิน และในวันเดียวกันก็เป็นวันเฉลิมฉลององค์จักรพรรดิด้วยเนื่องจากชาวโรมันถือว่า จักรพรรดิคือพระสุริยเทพของประชาชน และข้อความในคัมภีร์ไบเบิลนั้นกล่าวไว้ชัดเจนในลูกา 2:4-8 กล่าวว่าในเวลาที่พระเยซูทรงประสูตินั้น คนเลี้ยงแกะอยู่ในทุ่งหญ้ากำลังเฝ้าฝูงแกะของตนในตอนกลางคืน ในช่วงวันที่ 25 ธันวาคมของเส้นศูนย์สูตรตอนเหนือ จะเป็นช่วงเวลาที่หนาวจัด โดยธรรมเนียมปฏิบัติซึ่งแม้กระทั่งในปัจจุบันก็ยังคงกระทำอยู่คือ ในฤดูหนาว ฝูงแกะจะอาศัยคอกเป็นที่หลบหนาว มิใช่ออกไปเล็มกินหญ้าในตอนกลางคืน ดังนั้นวันประสูติของพระเยซู จึงไม่ใช่วันที่ 25 ธันวาคมอย่างแน่นอน 

                  นอกจากนี้จักรพรรดิคอนสแตนตินยังทรงบรรจุธรรมเนียมปฏิบัติของศาสนาเพเกินไว้ในคัมภีร์ไบเบิลหลายประการ อาทิ กำหนดให้ชาวคริสต์ต้องไปโบสถ์ในทุกวันอาทิตย์ กำหนดวันสะบาโตให้เป็นวันอาทิตย์ กำหนดวันอีสเตอร์ (Easter) หรือวันที่พระเยซูทรงฟื้นจากความตายให้เป็นวันอาทิตย์ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของสภาไนซีน (Nicene Creed) หรือสภาสังคยนาคอนสแตนติโนเปิลครั้งที่หนึ่งเมื่อปีคริสต์ศักราชที่ 381 ดังนั้นนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันลงความเห็นว่า การที่จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์มิใช่เพราะทรงศรัทธา แต่เพราะทรงต้องการหยุดความขัดแย้งระหว่างชาวโรมันและชาวคริสต์ อีกทั้งต้องการยืมกำลังของชาวคริสต์ซึ่งมีจำนวนมากในสมัยนั้นมาทำสงครามต่างหาก ต่อมาในปีคริสต์ศักราชที่ 330 จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงสถาปนาจักรวรรดิไบเซนไทน์ (Byzantine) ขึ้นโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ปัจจุบันคือเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี จักรพรรดิคอนสแตนตินได้ทำให้จักรวรรดิไบเซนไทน์มีอำนาจกว้างใหญ่ ร่ำรวย และทรงอำนาจที่สุดในดินแดนยุโรปในยุคสมัยของพระองค์ ซึ่งนั่นก็หมายความรวมถึงอำนาจของคริสตจักรที่จะแผ่ขยายออกไปด้วยเช่นกัน


นิโคเลาส์  โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus Torinensis) ค.ศ. 1473 - 1543


                  ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ประเทศต่าง ๆ ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของโรมันเริ่มที่จะตั้งตนเอง และปกครองตนเองได้ เช่น ประเทศฝรั่งเศส และทางตะวันออกเองก็มีการรุกรานจากเปอร์เซียบ่อยครั้ง ทางใต้ก็มีพวกซาราเซ็นคอยรุกรานเสมอ อาณาจักรไบเซนไทน์จึงล่มสลายในที่สุด และยุโรปก็เข้าสู่ยุคกลาง ความเชื่อในฝ่ายคริสตจักรที่ว่าโลกแบน และโลกเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาลจึงครอบงำผู้คนทั่วทวีปยุโรป จนถึงยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือยุคเรเนซองส์ (Renaissance) ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus Torinensis) นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ ได้ทำการศึกษาดาราศาสตร์และค้นพบว่า ทฤษฎีของปีทากอรัสนั้นถูกต้อง โลกมิใช่ศูนย์กลางของจักรวาล พระอาทิตย์ต่างหากคือศูนย์กลางของจักรวาล และโลกเรานั้นโคจรรอบดวงอาทิตย์พร้อม ๆ ไปกับการหมุนรอบตนเอง โคเปอร์นิคัสยังเป็นคนแรกที่อธิบายเรื่องที่ว่าทำไมดาวจึงเดินถอยหลัง งานเขียนที่สำคัญคือ De Revolutionibus ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น De Revolutionibus Orbium Coelestium และตีพิมพ์ก่อนที่โคเปอร์นิคัสจะเสียชีวิตเพียงแค่ 2 เดือน ด้วยเหตุที่ โคเปอร์นิคัสมิได้เผยแพร่ผลงานของเขาในตอนที่มีชีวิต เขาจึงไม่ถูกฝ่ายศาสนจักรต่อต้าน


 กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) ค.ศ. 1564 - 1642


                  จนประมาณปี ค.ศ. 1609 นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีชื่อ กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) ได้ประดิษฐ์กล้องโทรทัศน์ขึ้น ซึ่งมีกำลังขยาย 30 เท่า ทำให้เขาสามารถส่องเห็นสิ่งต่าง ๆ มากมายในจักรวาล เขาเป็นผู้ค้นพบดวงจันทร์ที่โคจรรอบดาวพฤหัสบดี ค้นพบจุดดับบนดวงอาทิตย์ ทำให้กาลิเลโอมั่นใจว่าทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์นั้นถูกต้อง และเนื่องจากเขาพยายามจะเผยแพร่ความรู้นี้ให้ผู้คนทั่วไปในทวีปยุโรปในขณะนั้นได้ทราบ ทำให้ฝ่ายศาสนจักรบีบบังคับกาลิเลโออย่างหนัก สุดท้ายแล้วฝ่ายศาสนาจักรจึงตัดสินให้กาลิเลโอเป็นพวกนอกรีต และห้ามมิให้เผยแพร่ผลงานของเขา สุดท้ายแล้วเมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้น ผลงานของเขาก็ได้รับการอนุญาตให้ตีพิมพ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายการห้ามปรามจึงหมดไปในปี ค.ศ. 1835 กาลิเลโอได้รับการขนานนามว่าเป็น บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ บิดาแห่งวิยาศาสตร์ยุคใหม่ บิดาแห่งดาราศาสตร์สมัยใหม่ และบิดาแห่งฟิสิขก์สมัยใหม่


โยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) ค.ศ. 1571 - 1630

                  นอกจากกาลิเลโอแล้ว นักดาราศาสตร์คนสำคัญในยุคเดียวกันที่ลืมไม่ได้คือ โยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี 1571 - 1630 ผู้ค้นพบว่า ดาวเคราะห์ทุกดวงในจักรวาลรวมทั้งโลก โคจรเป็นวงรี นั่นเป็นสาเหตุที่นักดาราศาสตร์บางท่านเห็นดาวบางดาวโคจรถอยหลัง (Retrograde) เคปเลอร์ถูกขนานนามว่าเป็น นักฟิสิกข์ดาราศาสตร์คนแรกของโลก

                  จากเรื่องราวทางดาราศาสตร์ตะวันตกที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ดาราศาสตร์ของทางตะวันตกนั้น แบ่งเป็น 2 ยุค ยุคแรกคือวิชาดาราศาสตร์ที่รับมาจากอียิปต์และเมโสโปรเตเมีย แต่ชาวตะวันตกกลับคิดไม่เหมือนชาวภารตะ ชาวภารตะเชื่ออย่างสนิทใจ และนำหลักการทางดาราศาสตร์ไปใช้เพื่อพัฒนาการทำนายให้แม่นยำ โดยไม่สนใจว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์หรือไม่ โคจรเป็นวงกลมหรือวงรี แต่ชาวตะวันตกกลับตั้งข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าวและไม่สนใจการทำนาย ดังนั้นดาราศาสตร์ของสองอารยธรรมจึงแตกต่างกันอย่างมาก ทางอารยธรรมอินเดียเน้นการทำนาย ทางอารยธรรมยุโรปเน้นการแสวงหาข้อเท็จจริงเป็นหลัก ระบบสายนะ หรือดาราศาสตร์ตะวันตกนั้น จึงมิได้สร้างมาเพื่อทำนาย แต่สร้างมาเพื่อหาข้อเท็จจริงทางดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น และไม่สนใจว่าเวลา พระ ๕ ทับลัคน์ จะเป็นเช่นไร ดังนั้นหลักการทำนายโดยอิงดาราศาสตร์ทั้งหมด มาถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านคงจะสามารถวิเคราะห์ได้นะครับ ว่ามาจากที่ใดบ้าง

                  ระบบสายนะยังไม่จบนะครับ นี่เป็นเพียงแค่ประวัติศาสตร์เบื้องต้นเท่านั้นครับ

อ้างอิง
http://guru.sanook.com/4982/
http://en.wikipedia.org/wiki/Aristarchus_of_Samos
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A5
http://www.baanjomyut.com/library_2/discoveries_in_astronomy/02.html
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%94
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87
http://kanomjaen.blogspot.com/p/blog-page_4401.html
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B9%8C_%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%AA
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%9F%E0%B8%B9%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%AD_%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%B5
http://www.creation-church.com/article08.php
http://wol.jw.org/th/wol/d/r113/lp-si/102008441#h=7
http://www.jaisamarn.org/webboard/question.asp?QID=4984
http://worldrecordhistory.blogspot.com/p/blog-page_26.html
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A5

วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ระบบนิรายนะ และสายนะ ตอนที่ 1

นิรายนะ และสายานะคืออะไร?

            นิรายนะและสายนะ คือระบบจักรราศีที่แตกต่างกัน เพราะมีแนวคิดที่แตกต่างกันและมุมมองในเรื่องดาราศาสตร์ที่แตกต่างกัน อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า นักประวัติศาสตร์ได้ค้นพบว่า ชาวอารยันในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน 3,000 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว ซึ่งในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้นเอง ชาวอียิปต์เพิ่งจะเริ่มมีอารยธรรม มีภาษาของตนเองมาเพียง 500 ปี และสำหรับเมโสโปรเตเมียก็เพิ่งจะเริ่มต้นมีอารยธรรมมาได้เพียง 1,000 ปี ดังนั้นผู้เขียนจึงเชื่อว่า พื้นฐานทางด้านดาราศาสตร์ของโลกใบนี้มิได้เริ่มต้นจากใครที่ไหน หากแต่เริ่มต้นมาจากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั่นเอง

            นิรายนะ คือระบบจักรราศีที่เก่าแก่ที่สุดของโลก เพราะมันเป็นระบบเดียวกันทั้งเมโสโปรเตเมียและสินธุ นั่นคือวางตำแหน่งคงที่บนท้องฟ้าโดยยึดกลุ่มดาวเป็นหลัก ดาวที่เป็นหลักในการเริ่มต้น 0 องศาในราศีเมษนั้น คือดาวจิตรา (Chitra) หรือสากลเรียกว่าดาวสไปกา (Spica) เป็นดาวที่อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาวของราศีกันย์ โดยอยู่ตรงรวงข้าวของหญิงสาวพอดี

กลุ่มดาวราศีกันย์ (Virgo)

            หากเรานับดาวจิตรา หรือดาวสไปกาเป็น 180 องศา ตรงข้ามของดาวจิตรานี้ก็คือ 0 องศาราศีเมษ และจะไม่มีทางเคลื่อนที่ไปไหน เพราะคนโบราณก็มองอย่างผู้ที่เฝ้ามองท้องฟ้า ว่ากลุ่มดาวมันไม่เคลื่อนที่ มันเวียนมาอย่างไรก็คงเวียนไปอย่างนั้น ดังนั้นจึงสรุปว่า นิรายนะคือระบบจักรราศีไม่เคลื่อนที่ หรือ Fixed Zodiac ต่อมาก็กลายมาเป็นหลักดาราศาสตร์ของอินเดีย พม่า ไทย เมโสโปรเตเมีย ฯลฯ ผู้เขียนจึงถือกันว่า ระบบนิรายนะนั้น คือระบบจักรราศีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

            เมื่อเราจับราศีให้ไม่เคลื่อนที่ สิ่งที่เคลื่อนที่คือ ดวงดาว ระบบนิรายนะค้นพบว่า พระอาทิตย์ของเรานั้น มิได้เวียนมาที่ 0 องศาราศีเมษ (ตรงข้ามดาวสไปกา) ตลอดทุกปี บางปีมาเร็ว บางปีมาช้าไม่คงที่ ดังนั้นวันสงกรานต์นั้น ในสมัยก่อนนานมาแล้วมันเคยอยู่ในปลายเดือนมีนาคม แล้วเลื่อนมาจนตอนนี้กลายเป็นวันที่ 15 เมษายน และคิดว่าคงจะเลื่อนไปเรื่อยๆ หากเรามีชีวิตที่ยืนยาวอีกประมาณ 500 ปี เราอาจจะต้องฉลองสงกรานต์ในวันที่ 20 เมษายน

            ด้วยระบบนิรายนะนี้จึงเกิดเป็นปฎิทินทางดาราศาสตร์พื้นฐานของชาวอารยันที่ชื่อว่า สุริยสิทธานตะ (Surya Siddhanta) ซึ่งสำหรับประเทศไทยเราก็เรียกคัมภีร์นี้ว่า สุริยาตร์ ตามประวัติศาสตร์ของชาติไทยนั้น เราได้รับความรู้ทางด้านดาราศาสตร์มาอย่างยาวนานแล้วผ่านทางผู้ที่มาติดต่อค้าขายที่เป็นมอญพม่า ซึ่งมอญพม่าเองก็รับวัฒนธรรมเหล่านี้มาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง ซึ่งในสมัยโบราณก็เชื่อกันว่ามาจากเมือง อุชเฌนี (Ujjain) ประเทศอินเดีย 

หากเป็นของอินเดีย ทำไมไทยเราใช้จุลศักราชของพม่า?

            แรกเริ่มเดิมทีนั้นชาวอารยันมีความเชื่อว่า ดาวทั้ง 7 ดวงคือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ และพระเสาร์นั้น มีจุดปล่อยตัวอยู่ที่ 0 องศาราศีเมษพร้อมๆกันในตอนสร้างโลกสร้างจักรวาล ซึ่งความรู้ตรงจุดนี้ทางผู้เขียนได้รับมาจากท่านอาจารย์พลังวัชร์ และมาศึกษาเพิ่มเติมจากคัมภีร์สุริยสิทธานตะของอินเดีย โดยชาวอารยันเชื่อว่าระยะเวลาที่ดาวทั้ง 7 ดวงนั้นจะโคจรมาเรียงตัวกันเหมือนเดิมอีกครั้งจะต้องใช้เวลาทั้งหมด 4,320,000 ปี โดยแบ่งเป็น 4 ยุคดังนี้
            1.สัตยะยุค 4,000 ปีแห่งเทพ หรือเท่ากับ 1,440,000 ปีมนุษย์
                  โดยในแต่ละยุคนั้น จะต้องมีห้วงเวลาสนธยา คือ ยามที่ห้วงเวลาว่างเปล่า กำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคนั้นๆ และห้วงเวลาสนธยาสะ คือยาวที่ห้วงเวลาว่างเปล่าเมื่อพ้นจากยุคนั้น ซึ่งในสัตตะยุค มีสนธยา 400 ปีแห่งเทพ หรือประมาณ  144,000 ปีมนุษย์ และ มีสนธยาสะอีก 144,000 ปีมนุษย์ เช่นกัน รวมทั้งหมดทั้งเวลาระหว่างยุค สนธยา และสนธยาสะทั้งหมดจะเท่ากับ 1,728,000 ปีมนุษย์
                   สัตยะยุคนี้ ในคัมภีร์อื่นอาจเรียกว่า กฤตะยุค
            2.เตรตะยุค 3,000 ปีแห่งเทพ หรือเท่ากับ 1,080,000 ปีมนุษย์
                  เช่นเดียวกันคือมีสนธยา 300 ปีแห่งเทพ หรือประมาณ 108,000 ปีมนุษย์ และมีสนธยาสะอีก 108,000 ปีมนุษย์ รวมเวลาทั้งสิ้น 1,296,000 ปีมนุษย์
            3.ทวาปะระยุค 2,000 ปีแห่งเทพ หรือเท่ากับ 720,000 ปีมนุษย์
                  สนธยา 200 ปี หรือเท่ากับ 72,000 ปีมนุษย์ และสนธยาสะอีก 72,000 ปีมนุษย์ รวมเวลาทั้งสิ้น 846,000 ปีมนุษย์
            4.กลียุค 1,000 ปีแห่งเทพ หรือเท่ากับ 360,000 ปีมนุษย์
                  สนธยา 100 ปีหรืเท่ากับ 36,000 ปีมนุษย์ และสนธยาสะอีก 36,000 ปีมนุษย์ รวมเวลาทั้งสิ้น 144,000 ปีมนุษย์

            รวมเวลาทั้งหมดทั้งสิ้น จากสัตตะสนธยายุค -> สัตตะยุค -> สัตตะสนธยาสะยุค -> เตรตะสนธยายุค -> เตรตะยุค -> เตรตะสนธยาสะยุค -> ทวาปะระสนธยายุค -> ทวาปะระยุค -> ทวาปะระสนธยาสะยุค -> กาลีสนธยายุค -> กาลียุค -> กาลีสนธยาสะยุค รวมทั้งหมด 4,320,000 ปีพอดี โดยมนุษย์เรานั้นเริ่มเข้าสู่ยุคกาลีในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 3102 ปีก่อนคริสตกาล เวลา 0.00 น. (วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 3,102 BC เวลา 24.00 น.) หรือพูดกันง่ายๆคือ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 5117 ปีมาแล้วนับจากคริสตศักราชปัจจุบัน แปลว่าในช่วงนี้เรายังอยู่ในช่วงกาลีสนธยาเท่านั้น ยังไม่เข้ากาลียุคจริงๆ

            ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ชาวอารยันเชื่อว่า มหายุคทั้ง 4 นี้จะรวมเข้ากันเรียกว่า "จตุรยุค" ทีนี้ 71 จตุรยุค จะรวมเข้ากันเป็น 1 มนู ซึ่งหมายถึง โลกจะบังเกิดอารยธรรมมนุษย์ขึ้นและดับลง ในช่วงแต่ละมนูที่อารยธรรมมนุษย์ดับลงนั้น พระศิวะจะลืมพระเนตรที่สามเผาผลาญโลกทั้งหมดและปล่อยให้น้ำท่วมโลก เพื่อที่จะลบล้างอารยธรรมของมนุษย์ในอดีตให้หายไปทั้งหมด เรียกช่วงเวลาที่พระศิวะจะเผาผลาญโลกและปล่อยให้น้ำท่วมว่า "สนธิ" ซึ่งสนธิครั้งหนึ่งจะมีเวลาเท่ากับสัตตะยุค คือ 1,728,000 ปีมนุษย์
            4,320,000 ปีมนุษย์ (จตุรยุค) X 71 = 306,720,000 ปีมนุษย์ หรือเท่ากับ 1 มนู
            306,720,000 ปีมนุษย์ (1 มนู) X 14 = 4,294,080,000 ปีมนุษย์
            1,728,000 ปีมนุษย์ (1 สนธิ) X 15 = 25,920,000 ปีมนุษย์
            14 มนู + 15 สนธิ = 4,320,000,000 ปีมนุษย์
            เมื่อพระพรหมทรงตื่นบรรทมเพื่อดูแลโลก 1 วัน หรือ 12 ชั่วโมง พระองค์ก็ต้องทรงบรรทมอีก 1 ราตรีหรือ 12 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน เมื่อพระพรหมทรงตื่นอยู่ 4,320,000,000 ปีแล้ว พระองค์จะปล่อยให้พระศิวะผลาญโลกใบนี้ด้วยพระเนตรที่สาม และปล่อยให้น้ำท่วมโลกอีกเป็นระยะเวลา 4,320,000,000 ปีเช่นเดียวกัน

            ในคัมภีร์สุริยะสิทธานตะยังกล่าวต่อไปอีกว่า ใน 4,320,000 ปีมนุษย์ที่ผ่านไปนี้ พระอาทิตย์โคจรรอบโลก (มีจำนวนวันเมื่อนับจากพระอาทิตย์) ทั้งสิ้น 1,577,917,828 วัน ดังนั้น 1 ปีจึงมีเท่ากับ
             1,577,917,828 / 4,320,000 = 365.258756481481...
             หรือก็คือ 365 วัน 6 ชั่วโมง 12 นาที 36 วินาที 33 เศษวินาที 36 เศษของเศษวินาที แลดูเยอะเกินไปเราจึงขอตัดเพียง 365.25875 มาเท่านั้น
             การคำนวณปฏิทินดาราศาสตร์แบบอินเดียนั้น จะต้องเริ่มจากสิ่งที่เรียกว่า อหรคณะ หรือที่คนไทยเรียกว่า "หรคุณ" คำว่า อหระ มาจากภาษาสันสกฤต คือ อโหรตระ แปลว่าเวลาเต็ม 1 วัน 1 คืน หรือ 24 ชั่วโมง ส่วนคำว่า คะณะ ในภาษาสันสกฤต แปลว่า การนับจำนวน เมื่อรวมกันเป็น อหรคณะ แปลว่า การนับจำนวนวันเต็ม โดยเริ่มต้นนับจากปีที่เข้ากลียุคเป็นต้นมา เมื่อได้จำนวนวันดังกล่าวแล้ว เขาก็จะนำอัตราการโคจรของดาวต่าง ๆ มาทำการหารกับจำนวนวันที่ผ่านไป ตัดทอนลงจนกลายเป็นตำแหน่งดาวในแต่ละปีหรือแต่ละวันของปีที่ผ่านไป เพราะคนโบราณมองว่า ดาวเคราะห์ทั้ง 7 ไล่เรียงตั้งแต่พระอาทิตย์ไปจนถึงพระเสาร์นั้น จะโคจรมาตรงกันที่ 0 องศาในราศีเมษทุก ๆ 4,320,000 ปี ในสัตยะยุคจะวนครบรอบทั้งหมดประมาณ 4 รอบจึงจะเปลี่ยนยุค ในเตรตะยุคจะวนครบรอบประมาณ 3 รอบ ในทวาปะระยุคจะวนครบรอบ 2 รอบและในกลียุดจะวนเพียงแค่รอบเดียว หรือจำง่าย ๆ ว่า 4 3 2 1 รวมเป็น 10 รอบ
              ส่วนต่อมาเราต้องทำความเข้าใจว่าแต่ละศักราชนั้น มีจุดเริ่มต้นสตาร์ทไม่เหมือนกัน เช่น คริสตศักราช เกิดขึ้นหลังจากที่เข้ากลียุคมาแล้ว 3,101 ปี พุทธศักราชเกิดขึ้นเมื่อเข้ากลียุคมาแล้ว 2,558 ปี (เกิดจากการเอา 3,101 - 543) สกศักราชหรือศักราชประจำชาติอินเดียเกิดขึ้นเมื่อเข้ากลียุคมาแล้ว 3,179 ปี และสุดท้ายจุลศักราชเกิดขึ้นเม่ื่อเข้ากลียุคมาแล้ว 3,739 ปี (กลียุคของพุทธ 2,558+1181) เมื่อเราทราบกลียุคไปแล้ว จะเห็นว่าวิธีการง่าย ๆ เลยก็เอาวัน (365.25875) คูณเข้าไปกลายเป็นอหรคณะ จากนั้นหารด้วยอัตราการโคจรของดาวเคราะห์แต่ละดวง เราก็จะทราบว่าในจุด "เริ่มต้น" ปีนั้น ดาวดวงใดอยู่ตำแหน่งใดบ้าง
              ทีนี้มาที่วิธีการคิดหรคุณแบบสุริยยาตร์ อันเริ่มจากการนำจุลศักราช มาคูณด้วย 292,207 หารด้วย 800 บวกด้วย 373 ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ประการแรก เมื่อนำจำนวน 292,207 มาหารด้วย 800 จะได้เท่ากับ 365.25875 พอดี นั่นก็หมายความว่า 292,207/800 เป็นตัวแทนของเลข 365.25875 นั่นเอง ส่วน 373 ที่มาบวกนั้นเพราะว่า เมื่อนำกลียุคที่ 3,739 มาคูณด้วย 292,207 หารด้วย 800 มันเหลือเศษ 373 หรือพูดได้ว่า 373 นี้คือตัวตั้งต้นนับกลียุคที่ 3,739 ของจุลศักราชนั่นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อโหราศาสตร์ไทย รับผ่านมาทางพม่า เราเลยใช้จุลศักราชของพม่าในการคำนวณ

วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ประวัติและความเป็นมา


โหราศาสตร์ภารตะ หรือ ชโยติษ (Jyotish)

             หากกล่าวถึงโหราศาสตร์ภารตะ หรือ วิชาชโยติษ (Jyotish) นั้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องของคัมภีร์พระเวท หรือ เวทางคศาสตร์ เป็นคัมภีร์ของศาสนาฮินดู (Hindhu) โดยประกอบไปด้วยคัมภีร์ทั้ง 4 เล่ม คือ 
             ฤคเวท (Rigveda) เป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุด มีอายุประมาณ 1,500 - 1,200 ปีก่อนคริสตกาล เนื่องจากใช้ภาษาของอินโด-ยูโรเปียน หรือชาวอารยันโดยแท้ มีเรื่องราวเกี่ยวกับการกำเนิดโลก การกำเนิดเทพเจ้า การสวดบูชาเทพเจ้าของชาวอารยัน รวมถึงเรื่องความเจริญรุ่งเรืองต่างๆของชาวอารยัน
             ยชุรเวท (Yajurveda) เป็นคัมภีร์ที่มีอายุประมาณ 1,200 - 1,000 ปีก่อนคริสตกาล เนื้อหาหลักเป็นบทสวด หรือมันตรา (Mantra) ของเทพเจ้าต่าง ๆ รวมถึงพิธีสังเวยหรือบูชายัญต่อเทพเจ้า
             สามเวท (Samaveda) เป็นคัมภีร์อายุประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสศักราช เนื้อหาประกอบด้วยรวมบทสวด (สังหิตา) และร้อยกรองอื่นๆ โดยนำมาจากฤคเวท (ยกเว้น 75 บท) เพื่อใช้เป็นบทร้องสวดเป็นทำนองตามพิธีกรรม เรียกว่า "สามคาน" สวดโดยนักบวชที่เรียกว่า "อุทคาตา" ขณะทำพิธีคั้น กรอง และผสมน้ำโสม เพื่อถวายเทพเจ้า
             อาถรรพเวท (Atharvaveda) เป็นคัมภีร์ประกอบด้วยเวทยมนต์คาถาเรียกผีสาง เทวดาให้ช่วยป้องกันอันตรายให้ และให้มีการแก้อาถรรพ์ ทำพิธีสาปแช่งให้เป็นอันตรายได้ด้วย

             โดยแต่ละคัมภีร์นั้น จะประกอบไปด้วยเนื้อหา 4 ตอนด้วยกันคือ
                   สัมหิตา (Samhita) เป็นเรื่องราวของการสวดและการขอพรต่อเทพเจ้า 
                   อารัณยกะ (Aranyaka) เป็นเรื่องของการทำพิธีกรรม รายละเอียดของการทำพิธีกรรม รวมถึงพิธีการบูชายัญ 
                   พราหมณะ (Brahmana) เป็นข้อคิดเห็นหรือรายละเอียดเพิ่มเติมจากอรัณยัก ที่มาของบทสวด ที่มาของพิธีกรรม ตำนานที่เกี่ยวข้องกับสัมหิตาและอรัณยัก
                   อุปนิษัท (Upanishad) เป็นบทความท้ายคัมภีร์ ซึ่งอาจจะมีหลากหลายเรื่องราว ทั้งปรัชญาการดำเนินชีวิต รวมถึงบทสนทนาระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ด้วย

             นอกจากนั้นยังมีคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องอีกหนึ่งคัมภีร์คือ เวทางคะ หรือ เวทางค์ (Vedanga) เป็นคัมภีร์ที่ช่วยให้เข้าใจภาษาและการออกเสียงที่ถูกต้องของภาษาที่อยู่ในคัมภีร์พระเวททั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยคัมภีร์อีก 6 เล่มดังนี้ ศึกษา (Shiksha) เป็นเรื่องราวของสัททศาสตร์ หรือการออกเสียงตัวอักษร, กัลปะ (Kalpa) เป็นเรื่องราวของพิธีกรรม, วยากรณะ (Vyakarana) เป็นเรื่องราวของรูปแบบประโยค (Grammar) นิรุกตะ (Nirukta) เป็นเรื่องราวของรากศัพท์, ฉันทะ (Chandas) เป็นเรื่องราวของหลักคำประพันธ์ต่างๆ และ ชโยติษะ (Jyotisha) อันเป็นเรื่องราวของดาราศาสตร์

             ชโยติษะ ยังแบ่งเนื้อหาออกเป็นสามประการ คือ สิทธานตะ (Siddhanta) เป็นการคำนวณตำแหน่งดวงดาว หรือหลักการทางดาราศาสตร์, สัมหิตา (Samhita) เป็นการนำหลักการทางดาราศาสตร์มาเทียบเคียงกับวิชาแขนงอื่น ๆ เช่น มาปรับใช้กับวิศวกรรมศาสตร์และการก่อสร้าง กลายเป็นวิชา วัสดุศาสตร์ (Vastusashtra) รวมถึงการเชื่อมโยงตำแหน่งดาวกับการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่น ๆ เช่น แผ่นดินไหว สุริยุปราคา หรือจันทรุปราคา เป็นต้น, โหราศาสตร์ (Horasashtra) คือ การนำตำแหน่งดาวต่าง ๆ มาปรับใช้กับการทำนายชีวิตมนุษย์ รวมถึงบริบทด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ เช่น วันที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เวลาการเริ่มเพาะปลูก เวลาการเริ่มสร้างบ้าน เวลาการตั้งชื่อบุคคล เวลาสมรส ฯลฯ

             คัมภีร์พระเวทนั้น เป็นคัมภีร์ของชาวอารยัน ซึ่งเคยมีอิทธิพลเหนือดินแดนลุ่มแม่น้ำสินธุเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ดังนั้นหากจะทำความเข้าใจถึงวิชาดาราศาสตร์ของคัมภีร์พระเวท เราก็ควรที่จะเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของชาวอารยัน และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุกันเสียก่อน

อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ

             อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นเป็นอารยธรรมอันเก่าแก่ที่สุดอารยธรรมหนึ่งของโลกที่ไม่ค่อยมีใครศึกษาเท่าใดนัก ทั้งที่หากเปรียบเทียบถึงความยิ่งใหญ่ระหว่างอารยธรรมอียิปต์และเมโสโปรเตเมีย กับอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุแล้วจะพบว่า อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นมีอาณาเขตที่กว้างใหญ่ไพศาลมากกว่า และมีอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมากกว่า เหตุผลที่ไม่ค่อยมีผู้ใดสนใจอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุอาจจะมาจากสาเหตุสองประการ คือ ประการแรก ซากปรักหักพังที่ขุดค้นพบเพื่อยืนยันถึงอารยธรรมดังกล่าวนั้นมีน้อยมาก ประการที่สอง ผู้คนแห่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้น ไม่นิยมจดบันทึกประวัติศาสตร์ของตนเองในรูปของบันทึก แต่จะบันทึกด้วยการสร้างเป็นวรรณกรรมอิงศาสนาฮินดู ทำให้ตัวละครนั้นมีอภินิหารเกินความเป็นจริง (ในปัจจุบัน หรือตามที่ฝรั่งเข้าใจโดยยึดเอาวิทยาศาสตร์เป็นหลัก) ทำให้ชาวตะวันตก ผู้ยกตนให้เป็นคนประกาศประวัติศาสตร์ของชาติต่างๆ ไม่ยืนยันถึงประวัติศาสตร์ของชนชาติลุ่มแม่น้ำสินธุ แต่ชาวตะวันตกก็เคยยืนยันได้ว่าชาวสินธุนั้นเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อนจริง เพราะซากปรักหักพังที่ขุดค้นได้นั่นเอง

             ลุ่มแม่น้ำสินธุนั้น (Sindhu) ในปัจจุบันคือ แม่น้ำอินดัส (indus) ที่อยู่ในประเทศปากีสถาน ต่อมาเมื่อชาวกรีก-โรมันเข้ามาทำการติดต่อหรืออิทธิพลในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ จึงเรียกผู้คนในแถบลุ่มแม่น้ำดังกล่าวโดยเปลี่ยนจาก S เป็น H กลายเป็น ฮินดุ หรือ ฮินดู (Hindhu) อย่างเช่นที่เราเรียกกันในปัจจุบัน

ซากปรักหักพัง ที่เมืองโมเฮนโจดาโร (Mohenjo-Daro) ประเทศปากีสถาน

             ในตอนเริ่มแรกผู้คนที่อยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นคือ ชาวดราวิเดียน (Dravidian) มีความเจริญมาตั้งแต่ก่อน 3,000 ปีก่อนคริสตศักราช สันนิษฐานได้จากอายุคาร์บอนของซากปรักหักพังที่ขุดค้นได้ที่เมือง ฮารัปป้า (Harappa) และเมือง โมเฮนโจดาโร (Mohenjo-Daro) พบว่ามีอายุย้อนไปได้ประมาณ 2,500 - 3,000 ปีก่อนคริสตกาล สภาพของบ้านเมืองนั้นมีลักษณะที่เป็นระเบียบ แบ่งเป็นหลายสัดส่วน มีทั้งส่วนที่เป็นพระราชวัง ส่วนของศาสนา และส่วนพื้นที่ที่อยู่อาศัย เหตุที่ชาวตะวันตกสรุปว่าชาวดราวิเดียนมีความเจริญอย่างมากเพราะว่า สิ่งก่อสร้างที่ขุดพบนั้นแสดงให้เห็นได้ว่า ชาวดราวิเดียนมีความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์เป็นอย่างดี เพราะต้องมีความรู้ทางด้านเรขาคณิตด้วย 

             ทางด้านสุขาภิบาลพบว่า บ้านแต่ละหลังนั้นมีขนาดไม่เท่ากัน และอาจจะมีจำนวนชั้นไม่เท่ากัน สิ่งที่น่าสนใจของอารยธรรมนี้คือ บ้านทุกหลังจะมีบ่อน้ำและห้องน้ำของตนเอง อีกทั้งยังมีห้องอาบน้ำสาธารณะขนาดใหญ่วางอยู่ใจกลางเมืองอีกด้วย ในบ้านที่มีลักษณะหลายชั้น ก็พบว่ามีห้องน้ำประจำชั้นด้วย การอาบน้ำเป็นแบบตักอาบ โดยจะมีท่อน้ำทิ้งระบายน้ำจากชั้นบนลงชั้นล่าง ท่อน้ำจากในบ้านจะไหลไปสู่ท่อน้ำที่ถนน และเชื่อมต่อการระบายน้ำไปสู่แม่น้ำ ทั้งยังค้นพบว่า ท่อน้ำของถนนนั้นมีฝาปิดด้วย แสดงให้เห็นถึงความเจริญอย่างสูงสุดทางด้านสุขาภิบาลของชาวดราวิเดียน เพราะในอารยธรรมอียิปต์ก็ดี เมโสโปรเตเมียก็ดี หรืออารยธรรมอื่น ๆ ในเอเซียตะวันตกในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น ไม่พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนได้บรรลุความเจริญในด้านการสร้างห้องน้ำดี ๆ ได้เลย ยกเว้นพวกโรมันสมัยหลังเท่านั้น

             หากเปรียบเทียบกับอารยธรรมอื่นๆของโลก อย่างเช่นอารยธรรมอียิปต์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ 3,500 ปีก่อนคริสตกาล หรือเมโสโปเตเมียที่มีจุดเริ่มต้นอารยธรรมอยู่ที่ประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล ก็ต้องถือว่าในช่วงเวลาเดียวกันที่อารยธรรมโบราณในส่วนอื่นของโลกเพิ่งจะถือกำเนิด แต่อารยธรรมของลุ่มแม่น้ำสินธุก็ถูกพบว่ามีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นแล้วจากอายุคาร์บอนของสิ่งก่อสร้าง นี่คือสิ่งที่น่าสนใจที่สุด

             แต่คำถามที่น่าค้นหามากที่สุดของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้น คือคำถามที่ว่า หากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากมายแล้ว ทำไมอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุจึงเหมือนประหนึ่งว่าหายไปกับสายลม คำตอบของคำถามนี้นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ถูกเขียนไว้ในวรรณกรรมสองเรื่อง คือ มหาภารตะ และรามายณะ แม้ว่านักประวัติศาสตร์จะยังมีความกังขาในเนื้อหาของวรรณกรรมสองฉบับนี้ เนื่องจากบางส่วนบางตอนมีลักษณะเกินจริง แต่ก็ต้องยอมรับว่าวรรณกรรมทั้งสองเรื่องนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นเดียวที่อาจจะให้คำตอบได้

             จากวรรณกรรมเรื่องดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า ชาวดราวิเดียนเองต้องคอยทำสงครามกับผู้รุกรานก็คือชาวอารยัน ซึ่งที่มาของชาวอารยันนี้ไม่แน่ชัด แต่พบว่ามีการรุกรานชาวดราวิเดียนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งชาวอารยันมีความชำนาญในการสงครามมากกว่าชาวดราวิเดียนมาก เพราะหลักฐานการขุดพบที่เมืองฮารัปปาและโมเฮนโจดาโร ทำให้นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานได้ว่า ชาวดราวิเดียนคงจะมีผู้นำเป็นพระหรือผู้ทรงความรู้มากกว่าจะเป็นนักรบ เนื่องจากรูปร่างอาวุธที่ขุดค้นพบได้ ไม่ปรากฏว่ามีลักษณะของการพัฒนาแต่อย่างใด ทำในลักษณะรูปแบบเดิม ๆ อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการใช้ม้า ตรงข้ามกับชาวอารยัน ที่มีความรู้ทางด้านอาวุธเหล็ก และการใช้ม้าในการทำสงคราม ชาวดราวิเดียนจึงได้รับความพ่ายแพ้ไปในที่สุด แต่สิ่งที่น่าทึ่งสำหรับชนชาวดราวิเดียนคือ แม้ตนจะแพ้สงคราม แต่ก็สามารถทำให้ผู้รุกรานยอมรับกับวัฒนธรรมของตนได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ในตอนแรกชาวอารยันเองก็สมรสกับชาวดราวิเดียน ทำให้ชนชั้นผู้ปกครองของชาวอารยันกลัวว่า หากปล่อยให้สถานการณ์นี้ดำเนินต่อไป สุดท้ายแล้วชาวอารยันก็จะถูกชาวดราวิเดียนกลืนหายไปในที่สุด จึงเกิดนโยบายในเรื่อง วรรณะ ขึ้น และห้ามมีการแต่งง่านข้ามวรรณะกันอย่างเด็ดขาด วรรณะ แปลว่า สี จึงเห็นได้ชัดว่าระบบวรรณะเป็นนโยบายกีดกันทางเชื้อชาติของชาวอารยันอย่างชัดเจน

             ส่วนคำว่า "ภารตะ" นั้นมาจากชาวอารยันเอง ที่ต่อมาเรียกตนเองว่า ชาวภารตะ เพราะถือว่าตนได้สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์พระองค์หนึ่งในวรรณกรรมเรื่องภควัตคีตาที่ทรงพระนามว่า พระภรต (ภะรต) อีกทั้งยังเรียกดินแดนที่ตนอยู่อาศัยในเขตครอบคลุมทั้งปากีสถานและอินเดียตอนเหนือว่า ดินแดนภารตะ อีกด้วย จากเรื่องราวทั้งหมดที่ได้นำเสนอจะพบว่า ความรู้ต่าง ๆ ที่บรรจุอยู่ในคัมภีร์พระเวทนั้น ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าส่วนไหนเป็นของชาวอารยัน ส่วนไหนเป็นของชาวดราวิเดียน เนื่องจากระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ที่นานมาก แต่สันนิษฐานได้ว่า หากเนื้อหานั้นเกี่ยวข้องกับการคำนวณ วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือดาราศาสตร์แล้ว น่าจะเป็นของชาวดราวิเดียนผู้มีความเจริญทางความรู้ มากกว่าชาวอารยันที่ตอนเริ่มแรกนั้น เป็นแค่ชนเผ่าผู้อพยพที่ยังไม่รู้แม้กระทั่งวิธีการทำเกษตรกรรม

โหราศาสตร์ คืออะไร?

             โหราศาสตร์ (Horasashtra) มาจาก 2 คำ คือ โหรา แปลว่า "เวลา" และ ศาสตร์ ที่แปลว่า วิชาความรู้ รวมความแล้วแปลว่า "ศาสตร์แห่งเวลา" นักประวัติศาสตร์พบว่า ชาวดราวิเดียนนั้น มีการบูชานับถือพระอาทิตย์มาตั้งแต่แรกแล้ว โดยมีการขุดพบดวงตราหินที่เมืองโมเฮนโจดาโร มีฝีมือในการแกะสลักได้ละเอียดและถูกต้องงดงาม มีตัวอักษรที่นักประวัติศาสตร์ไม่สามารถอ่านออกได้ และไม่สามารถเทียบเคียงตัวอักษรกับอารยธรรมอื่นได้เลย มีการพบสัญลักษณ์รูปสวัสดิกะ และวงล้ออยู่บนดวงตราหลายชิ้น จึงสันนิษฐานว่าเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ ฉะนั้นคงมีการนับถือพระอาทิตย์ด้วย หากเทียบเคียงกับความเชื่อทางศาสนา จะเห็นว่าในคัมภีร์ปุราณะหลายเล่ม เมื่อบรรยายถึงการเกิดโลก ย่อมจะบรรยายว่า พระอาทิตย์และพระจันทร์นั้น เกิดขึ้นมาพร้อมกับโลกและสวรรค์ ดังนั้นเทวลักษณะของพระอาทิตย์ในบางกรณี จะเหมือนกับพระนารายณ์คือมีสี่พระกร และถืออาวุธอย่างเดียวกันกับพระนารายณ์ทุกประการ อีกทั้งบางนิกายยังถือว่า พระอาทิตย์คือปางหนึ่งของพระนารายณ์อีกด้วย

โหราศาสตร์ของชาวภารตะ

             จากเพียงการดูพระอาทิตย์ขึ้นและตก ก็พัฒนาต่อมาเป็นการดูพระจันทร์ การดูฤดูกาลและกำหนดวันสำคัญทางศาสนา เรื่อยมาจนสังเกตเห็นดาวอีก 5 ดวง คือพระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ และพระเสาร์ ท่ามกลางท้องฟ้ามีดวงดาวเป็นพันดวง ชาวภารตะกลับค้นพบว่ามีดาวอยู่ 5 ดวงที่เคลื่อนที่บนท้องฟ้า ดังนั้นหากผนวกกับช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ทางผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่าราศีทั้ง 12 ราศี หรือวันทั้ง 7 วันนั้นชาวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุคงเป็นผู้กำหนด เพราะหากคิดว่าชาวกรีก-โรมันเป็นผู้กำหนดแล้วล่ะก็คงจะผิดถนัด เพราะว่าอายรธรรมกรีกโบราณนั้นเพิ่มเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 750 ปีก่อนคริสตศักราชนี้เอง หรือหากจะสันนิษฐานว่าเป็นเมโสโปรเตเมีย หากนับจากช่วงเวลา เมโสโปรเตเมียเพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 4,000 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งในตอนนั้นเชื่อว่าอารยธรรมของลุ่มแม่น้ำสินธุได้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมากแล้ว แต่ทำไมเล่าชาวตะวันตกจึงยกประโยชน์ทุกอย่างในความรุ่งเรืองของมนุษย์ชาติให้กับเมโสโปรเตเมีย และอียิปต์ มากกว่าอารยธรรมของชาวลุ่มแม่น้ำสินธุ อาจจะเพราะว่า นอกจากวรรณกรรมของชาวเมโสโปรเตเมียแล้ว ชาวเมโสโปรเตเมียเองยังมีการบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีลักษณะการอิงกับเทพเจ้าและอภินิหาร ชาวตะวันตกจึงให้ความเชื่อถือมากกว่านั่นเอง

             เมื่อชาวภารตะค้นพบดวงดาวทั้ง 7 ดวง ชาวภารตะยังค้นพบจุดตัดระหว่างเส้นศูนษ์สูตรโลกกับวงโคจรดวงจันทร์ ซึ่งทำมุมห่างกันประมาณ 5 องศา และจุดนี้จะหมุนไปเรื่อยย้อนจักรราศี กลายเป็นพระราหู และพระเกตุ สามารถใช้ทำนายสุริยุปราคาและจันทรุปราคาได้ นี่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าชาวภารตะมีความเจริญก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ไปมาก ในเรื่องพระราหูและพระเกตุนั้น ทางอินเดียจึงเชื่อว่าอยู่ตรงข้ามกันเสมอ เพระมันเป็นจุดตัดที่ต้องอยู่ตรงข้ามกัน แตกต่างจากของไทย ที่พระราหูก็อยู่ราศีหนึ่ง พระเกตุก็อยู่ราศีหนึ่ง

             หลักฐานชิ้นต่อมาอยู่ในคัมภีร์สุริยาตร์ หรือ สุริยะสิทธานตะ (Surya siddhanta) ฉบับแปลภาษาอังกฤษของบัณฑิตพาปุเดวะสาสตริ (Pundit Bapu Deva Sastri) และลานซล๊อต วิลคินสัน (Lancelot Wilkinson) หน้าที่ 129 ในส่วนของสิทธานตะสิโรมณี (Siddhanta Siromani) บทที่ 4 โศลกที่ 8 ระบุว่า 1 ปีจะมี 365 วัน 15 ฆติกะ 30 ปาละ หรือก็คือ 365 วัน 6 ชั่วโมง 12 นาที ซึ่งตรงกับในสมัยปัจจุบันที่นักดาราศาสตร์กำหนดออกมาแล้วว่า ปีหนึ่งนั้นมี 365.2564 วัน หรือประมาณ 365 วัน กับอีก 6 ชั่วโมง เวลาที่เกินมา 6 ชั่วโมงนี้เองทำให้ในรอบ 4 ปี จะมีปีหนึ่งที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน

             จากวิชาที่ว่าด้วยเวลาการโคจรของดวงดาว อย่างวิชาโหราศาสตร์ ชาวภารตะคงมีการจดบันทึก ทำเป็นสถิติโดยยึดจากการโคจรของดาวต่างๆ ในรูปแบบที่ต่างกัน ทำให้ชีวิตของคนที่เกิดตามเวลาที่แตกต่างกันนั้น ย่อมมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน วิชาโหราศาสตร์ จึงกลายเป็นสถิติศาสตร์ และกลายเป็นศาสตร์แห่งการทำนายทายทักไปในที่สุด ดังนั้นแล้วหากใครจะมองว่าวิชาโหราศาสตร์เป็นวิชาที่งมงาย ทางผู้เขียนอยากให้ลองคิดดูใหม่อีกสักครั้งนะครับ

             แล้วโหราศาสตร์ กลายเป็นวิชาแห่งการทำนายได้อย่างไร โหราศาสตร์เกิดขึ้นเพราะวิชาดาราศาสตร์ เมื่อชาวภารตะรับรู้ถึงการโคจรของดวงดาวแล้ว ชาวภารตะก็มีการจดบันทึกตำแหน่งของดวงดาว ณ เวลาเกิดของบุคคล เฝ้าสังเกตวิถีชีวิตที่แตกต่างของบุคคลเหล่านั้น ซึ่งถือเป็นหลักการเก็บรวมรวมข้อมูล หรือสถิติศาสตร์ เมื่อได้สถิติที่เหมือนกัน มีผลอย่างเดียวกันก็สรุปแล้วหลักการ เช่น บุคคลที่เกิดวันอาทิตย์ย่อมมีนิสัยเหมือนกันอย่างไร บุคคลที่เกิดวันจันทร์ย่อมมีนิสัยเหมือนกันอย่างไร เป็นต้น

             เมื่อมีบุคคลเกิดใหม่ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก็นำเอาหลักการที่เคยสรุปไว้มาทำการทำนายผล คล้ายกับการทำนายหุ้นของนักวิเคราะห์ที่ใช้กราฟทางคณิตศาสตร์ แล้วทำนายว่าเด็กคนนั้นจะมีนิสัยอย่างนั้นเพราะเหตุเกิดวันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น มีรูปแบบประจำดวงดาวเป็นเช่นนั้น กลายเป็น วิชาแห่งการทำนาย

             แต่เพียงแค่ทำนายได้ มันก็ยังเป็นเพียงสถิติศาสตร์อยู่นั่นเอง เป็นการทำนายหรือการวิเคราะห์ผลที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตจากสถิติที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ยังไม่ใช่โหราศาสตร์ หากจะเป็นนักโหราศาสตร์ คุณจะต้องบอกช่วงเวลาแห่งการเกิดนั้นได้ด้วย จึงจะถือว่าเป็นผู้ที่นำเวลาการเกิด มาทำนายห้วงเวลาที่จะเกิดเหตุการณ์ต่างๆได้อย่างแม่นยำ นั่นต่างหากจึงจะเป็น "นักโหราศาสตร์"

อ้างอิง
Surya Siddhanta
http://en.wikipedia.org/wiki/Vedas
http://en.wikipedia.org/wiki/Hindu_astrology
http://en.wikipedia.org/wiki/Vedanga
รศ.ประภัสสร บุญประเสริฐ. (2529). ประวัติศาสตร์เอเชียใต้. กรุงเทพมหานคร: ฝ่ายตำราและอุปกรณ์การศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง