วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีเมถุน และกรกฎ

ราศีเมถุน (Mithuna)
เมถุน – ชายถือกระบอง ผู้หญิงถือพิณ, ทวาทวะ – มะยะ – คู่แฝด, นฟยุคคะมะ – นำหน้าผู้อื่น, ชุตุมะมะ – เมถุนะ – การร่วมเพศ การร่วมสังวาส
1. ควบคุมอวัยวะ – บ่า, ไหล่, แขน, ปอด, หลอดเลือดด้านบนหัวใจ
โรคผอมแห้ง, ปอดบวม, หอบหืด, หลอดลม, เส้นเลือดหัวใจตีบ
2. เจ้าการแห่งประจิมทิศ มีกำลังเมื่อเป็นภพปัตนิ
3. ประเภทอุภะยะราศี ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลง
4. ปฤษโตทายะราศี หันสันหลังขึ้นท้องฟ้า มีกำลังในเวลากลางคืน
5. ราศีกรูระ เพศชาย
6. ราศีวรรณะ ศูรท กสิกรรม กรรมกร
7. ราศีวาโยธาตุ ธาตุลม
8. ราศีประเภทนระ สัตว์ ๒ เท้า มีกำลังในภพ ๑
9. ราศีสมะ ปานกลาง รูปร่างสมส่วน แบบมนุษย์รูปงาม
10. ราศีสีศุภะ สีเขียวใบไม้แก่ สีเขียวปีกแมลงทับ สีเขียวนกแก้ว
11. ราศีแห่งสวนพฤกษา ทุ่งดอกไม้ บ่อนการพนัน หอคณิกา ที่สำหรับร่วมรักหลับนอน
12. ราศีแห่งพระวิษณุเทพ หรือพระนารายณ์
13.. ราศี รชัสสะคุณะ กิเลสและตัณหา เจ้าชู้ ชอบการร่วมเพศ
พูดเก่ง วาทะศิลป์ดีมาก ปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศ เฉลียวฉลาด ความคิดรวดเร็ว ความจำดี เรียนรู้สิ่งใดได้รวดเร็ว ช่างสังเกต ชอบเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ ใฝ่หาความเจริญก้าวหน้า ไม่ชอบจมอยู่กับที่ คล่องแคล่ว ไม่ชอบการรอคอย เก่งเรื่องวางนโยบายหรือวางแผน แต่ไม่ชอบปฎิบัติเอง ไม่ค่อยน่าเชื่อถือเพราะมักจะลังเลในการตัดสินใจ และมักจะโลเลเปลี่ยนแปลงความคิดได้ตลอด เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ทำอะไรมักเผื่อทางรอดทางหนีให้ตนเองเสมอ อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีมาก แต่ไม่ชอบทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นระยะเวลานาน กระล่อน เจ้าเล่ห์ รู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง ชอบพูด ความความสุขกับการพูดคุย ชอบเข้าสังคม ชอบนินทา ไม่ชอบมีกฎเกณฑ์มากนัก ช่วยเหลือคนอื่นต่อเมื่อเห็นว่าเป็นผลดีกับตน

ราศีกรกฎ (Kataka)
กลีระ – กรกฎะ – ปู, กรกฎะกะ – น้ำเต้าหรือบวบ
1. ควบคุมอวัยวะ – หน้าอก, ถัน, หัวใจ, ตับ
โรคที่มากับน้ำ, จมน้ำ, ท้องมาน, โรคหัวใจ
2. เจ้าการแห่งอุดรทิศ มีกำลังเมื่อเป็นภพพันธุ
3. ประเภทจรราศี
4. ปฤษโตทายะราศี
5. ราศีเสามะยะ
6. ราศีวรรณะ พราหมณ์
7. ราศีอาโปธาตุ ธาตุน้ำ
8. ราศีประเภทอัมพุหรือชลจร สัตว์น้ำ มีกำลังในภพ ๔
9. ราศีสมะ ปานกลาง ดูอ้วนอวบ หรือท้วม แข็งแรง
10. ราศีสีปาฏะละ สีชมพู, สีกลีบกุหลาบอ่อน
11. ราศีแห่งแม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร บึง ทะเลสาบ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นน้ำที่มีทราย
12. ราศีแห่งพระปาระวะตี หรือพระอุมาเทวี
13.. ราศี สัตวะคุณะ สูงส่งทางอารมณ์ สูงส่งทางศีลธรรม
เรียบร้อย ขี้อาย เรียบง่าย ไม่รีบร้อน ไม่กระตือรือร้น รักสงบ ทำตัวนิ่งไว้ก่อนและจะไม่เป็นฝ่ายเริ่มก่อน สงวนท่าที ไม่ชอบจองเวรใดๆ ชอบมีชีวิตที่ไม่มีปัญหาและสุขสบาย ไม่ชอบปฏิบัติตามกฎ ไม่ชอบเครียด มีความเป็นแม่สูง ขี้สงสาร ชอบดูแลและปกป้องคนรอบข้าง มีศีลธรรม มีเมตตาสูง มีความเห็นอกเห็นใจชอบช่วยเหลือผู้อื่น ขี้กังวล เป็นห่วงคนรอบข้างเกินเหตุ ทำให้เจ้าระเบียบ ขาดเหตุผล และเข้มงวดกับคนรอบข้างเกินไป แต่สำหรับตนเองจะขอสบายไว้ก่อน และไม่ชอบถูกวิจารณ์ รับฟังคำเตือนจากผู้อื่น ชอบการกินและรักความบันเทิง รักความสวยงาม รักครอบครัว ชอบอยู่บ้านมากกว่า แต่จะชอบท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมกับครอบครัว เป็นพ่อบ้านแม่เรือนที่ดี รักประเพณี รักท้องถิ่นเกิด จิตใจอ่อนไหวและอ่อนแอง่าย ขี้งอน ต้องการความรักจากผู้อื่นตอบแทนบ้าง หงุดหงิดง่าย ชอบให้ยกยอ ชอบให้ชม แต่ถ้าพระ ๒ เป็นข้างแรมแก่ ใจจะเหลาะแหละ รับปากไปทั่วแต่ทำไม่ได้ และจิตใจจะอ่อนแอผิดปกติ

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ทวาทศมราศี เมษ และ พฤษภ






ทวาทศมราศี

          เกริ่นมาเสียนานสำหรับเรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวกับอารยธรรมอินเดียหรืออารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งในบทความฉบับนี้จะเป็นการเข้าสู่เนื้อหาของโหราศาสตร์ภารตะจริง ๆ เสียที ทวาทศมราศี แปลเป็นไทยได้่ว่า ราศีจักรทั้งสิบสอง เนื้อหาแรกของการศึกษาโหราศาสตร์นั้น มักจะเป็นเรื่องของราศี เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักสภาพของราศี รู้จักท้องฟ้าเสียก่อน ซึ่งผู้เขียนเองได้ทำการศึกษามาจากคัมภีร์ที่ได้รับการแปลเป็นไทยแล้วสองเล่มคือ คัมภีร์ปาริชาติชาฏกของมหาฤาษีไวทยนาถ และคัมภีร์พฤหัตชาฏกของมหาฤๅษีวราหะมิหิรา และที่ผู้เขียนได้รับคำชี้แนะจากท่านอาจารย์สัมฤทธิ์เกลาเกลี้ยงอีกสามเล่มคือ คัมภีร์พฤหัตปาระศาละโหราศาสตร์ของมหาฤๅษีปาละศาละ คัมภีร์สราวลีของมหาฤๅษีกัลยานะวารมะ และคัมภีร์ผลทีปีกาของมหาฤๅษีมนตรีศวร และในเล่มสุดท้ายที่ผู้เขียนยึดไว้เป็นเบื้องต้นคือ ตำราดวงดาวในโหราศาสตร์ของท่านอาจารย์สัมฤทธิ์ เกลาเกลี้ยง นำมาสรุปให้ผู้อ่านได้ศึกษากัน

          ดังนั้นทางผู้เขียนจึงขอกราบนมัสการแด่มหาฤๅษีทั้งหลาย ผู้เป็นครูทางโหราศาสตร์ สืบทอดวิชากันมาจนถึงกระผม มหาฤๅษีวศิษฐะ มหาฤๅษีครรคิกะ มหาฤาษีปาระศาระ มหาฤๅษีวยาศะ มหาฤๅษีภัทรยัน มหาฤาษีจาณิกะยะ มหาฤาษีมนทัพยะ มหาฤๅษีปุลิสะ มหาฤๅษีโรมะกะ มหาฤาษีสุริยะพรหม มหาฤาษีโสมะ มหาฤๅษีสัตยาจารย์ มหาฤาษีมายะ มหาฤาษีวะยะเณศวร มหาฤๅษีวราหมิหิรา มหาฤๅษีไชยมิณี มหาฤๅษีพฤหัสปะตียา มหาฤๅษีกฤษณันทะเทริ มหาฤๅษีศุกระจาริยะ มหาฤๅษีโควินนันทะริ มหาฤๅษีวฤทธิยาวะณะ มหาฤๅษีนิลกัณฐะ มหาฤๅษีเปรมนิธิ มหาฤๅษีสมรรถสิงห์ มหาฤๅษีอาทิตยทาส มหาฤๅษีอชยุตตะแห่งเกราร่า มหาฤๅษีกาลิทาส มหาฤๅษีกัลยานะวรามะ มหาฤๅษีพรหมคุปต์ มหาฤๅษีศักติปูรวะ มหาฤๅษีปุราณะยะวะณะ มหาฤๅษีเวณะคะเตศวร มหาฤๅษียาคะนะยะนารายณ์ มหาฤๅษีเทวะกิรติ มหาฤๅษีศรุตะกีรติมะ มหาฤๅษีปริตุยาส มหาฤๅษีอตริเณศวร มหาฤๅษีสุริยนารายณเมโร มหาฤๅษีเวงกะฎาทะริ มหาฤๅษีเกศะวไทวคณะ มหาฤๅษีทยะนาถะทิกะษิตะ มหาฤๅษีภัตโตปาล มหาฤๅษีมนตรีศวร มหาฤๅษีวิษณุคุปต์ มหาฤๅษีมนิถะ มหาฤๅษียะวะณะ มหาฤๅษีบูรณาจารย์ มหาฤๅษีวัตสะยะณะ มหาฤๅษีมะเลแห่งเปอร์เซีย มหาฤๅษีเทวสวามี มหาฤๅษีสิทธเสนาเลย มหาฤๅษีจันทรคุปต์ มหาฤๅษีสวัลปชา มหาฤๅษีประตะมะ มหาฤๅษีวยาลิยามะ มหาฤๅษีอันตะยะ มหาฤๅษีไปตะมะหะ มหาฤๅษีมริจิ มหาฤๅษีจันทร์มณียา มหาฤๅษีวาณะกะละกาจารย์ มหาฤๅษีกณาท มหาฤๅษีพุทธะ มหาฤๅษีปัญจศิขะ มหาฤๅษีพราหมณคุปต์ มหาฤๅษีศุสะรุตระ มหาฤๅษีเอาปเรณะวะ มหาฤๅษีวยตรรณะ มหาฤๅษีเอาระภระ มหาฤๅษีเปาษกะละวาถะ มหาฤๅษีกรวิรัย มหาฤๅษีโึคปุราระษิตะ และสุดท้าย มหาฤๅษีภัตตคุปต์ พระอาจารย์ของท่านอาจารย์สัมฤทธิ์ เกลาเกลี้ยง

ราศีเมษ (Mesha)
เมษ – แกะตัวผู้, อะชะ – แพะ, วิศวะ – เทวดา, ตุมพุระ – คนธรรพ์, กิริยะ – การเริ่มต้น, อาทยะ – จุดเริ่มต้น
1. ควบคุมอวัยวะ - ศรีษะและสมอง
    โรคปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เครียด ไข้ตัวร้อนหนาวสั่น ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย ลมชัก โรคนัยน์ตา ต่อมในสมอง
2. เจ้าการแห่งบูรพาทิศ มีกำลังเมื่อเป็นภพตนุ
3. ประเภทจรราศี รวดเร็วรุนแรง
4. ปฤษโตทายะราศี หันสันหลังขึ้นท้องฟ้า มีกำลังในเวลากลางคืน
5. ราศีกรูระ เพศชาย
6. ราศีวรรณะ กษัตริย์และนักรบ
7. ราศีเตโชธาตุ ธาตุไฟ
8. ราศีประเภทปศุ สัตว์ ๔ เท้า มีกำลังในภพ ๑๐
9. ราศีหรัสวะ คือ สั้น เตี้ย มะขามข้อเดียว
10. ราศีสีรักตะ สีแดงชาด สีแดงเลือด
11. ราศีแห่งภูเขาสูง ที่ราบสูง มีน้ำน้อย ที่โล่ง พื้นที่อันอุดมไปด้วยหินและอัญมณีอันมีค่า
12. ราศีแห่งพระอัคนีเทพ
13.. ราศี รชัสสะคุณะ กิเลสและตัณหา เจ้าชู้ ชอบการร่วมเพศ
          เปิดเผยตรงไปตรงมา พูดจริงทำจริง พูดตรงๆไม่เกรงกลัวใคร บางครั้งเหมือนจะปากเสีย กล้าสู้ความจริง กล้าสู้คน ตอบโต้ในทันทีที่รู้สึกว่าโดนทำร้าย และจะไม่หยุดจนกว่าจะได้รับชัยชนะ ไม่ค่อยอดทนอดกลั้นโดยเฉพาะกับความโกรธเกรี้ยว โกรธง่ายแต่ก็หายง่ายหากว่าได้รับการอธิบายที่สมเหตุสมผล มุทะลุและดูจะไม่เกรงกลัวแม้ว่าตนเองจะได้รับความเสียหายหรืออันตรายก็ตาม เข้มแข็ง ดุดัน มั่นคง รักใครรักจริง รักด้วยใจจริง เสียสละโดยไม่หวังผลตอบแทน รักอิศระภาพ เป็นคนง่ายๆ คบคนง่าย กล้าเข้าสังคม ชอบมีพรรคพวกและเพื่อนฝูงเยอะ  ทนงในอำนาจ บ้ายศบ้าศักดิ์ หลงตัวเอง เจ้าโครงการชอบริเริ่มโครงการ มีความกระตือรือร้นในตอนแรก แต่มักจะทำไปไม่ตลอด ใจร้อนใจเร็ว คิดแล้วทำเลย ไม่คิดเล็กคิดน้อยและไม่ละเอียดละออ เกลียดความหยุมหยิมและความอ่อนแอ

          ราศีเมษเป็นแม่ธาตุไฟ ในจรราศี ธาตุไฟ ลักษณะของไฟคือการเผาผลาญ ทำลาย รวดเร็ว ร้อนแรง ดังนั้นจึงอารมณ์ที่รวดเร็ว รุนแรง โกรธง่ายหายเร็ว เอาแต่ใจตน แทนเกษตรด้วยพระ ๓ ดาวที่รวดเร็ว รุนแรง กล้าหาญ เป็นผู้ถือศาตราวุธ เป็นตัวแทนของอาชีพทหาร

ราศีพฤษภ (Vrishabha)
วฤศะภะ, วฤศะ, พฤษภะ, อุกัษน์, ตาวุรุ, โคกุละ แปลว่า วัว
1. ควบคุมอวัยวะ – ใบหน้า, ลำคอ, หู, หลอดคอ
    โรคฝีลำคอ, คอบวม, กระดูกต้นคอ, โรคหู, ขากรรไกร, ลูกกระเดือก, ช่องเสียง, ต่อมที่คอ, หลอดอาหาร
2. เจ้าการแห่งทักษิณทิศ มีกำลังเมื่อเป็นภพกัมมะ
3. ประเภทสถิระราศี ตั้งมั่น มั่นคง ค่อยเป็นค่อยไป เชื่องช้า
4. ปฤษโตทายะราศี หันสันหลังขึ้นท้องฟ้า มีกำลังในเวลากลางคืน
5. ราศีเสามะยะ เพศหญิง
6. ราศีวรรณะ ไวศยะ พ่อค้า
7. ราศีปฐวีธาตุ ธาตุดิน
8. ราศีประเภทปศุ สัตว์ ๔ เท้า มีกำลังในภพ ๑๐
9. ราศีหรัสสวะ หัวไหล่ใหญ่ โครงช่วงบนใหญ่ สูง ช่วงตัวยาว
10. ราศีสีเคาระ สีขาว
11. ราศีแห่งทุ่งปศุสัตว์ คอกวัว พื้นที่การเกษตร หรือป่าที่เต็มไปด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด
12. ราศีแห่งพระนนทิ
13.. ราศี รชัสสะคุณะ กิเลสและตัณหา เจ้าชู้ ชอบการร่วมเพศ
          เรียบร้อย ขี้อาย มีจิตใจใสซื่อบริสุทธิ์ เป็นที่รักของเพือนฝูง มีเสน่ห์ น่ารัก เอาใจเก่ง อยู่ด้วยแล้วสบายใจและรู้สึกอบอุ่น รักธรรมชาติ รักสงบและสันติ ไม่ชอบการโต้แย้งและการทะเลาะ ไม่ชอบการใช้กำลังและความรุนแรง ประณีประณอม ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย หลีกเลี่ยงการมีปัญหาในการดำเนินชีวิต ไม่ชอบทำให้ตนเองเดือดร้อน ไม่ชอบเป็นหนี้ ยอมแพ้และคล้อยตามคนอื่นเสมอเพราะไม่อยากมีปัญหา หากรักใครแล้วจะมั่นคงในรัก และแสดงความรู้สึกออกมาอย่างตรง ๆ และทื่อ ๆ ซื่อสัตย์ โกงใครไม่เป็น ขี้หึง หวงแหนของรักอย่างมาก ขยันทำงาน บริหารเงินเป็น รักความสะอาด มักดูแลตัวเองให้ดูสะอาดและเรียบร้อยอยู่เสมอ เกลียดความสกปรกและของมีกลิ่นเหม็น เป็นคนมีรสนิยมดี เมื่อชอบสิ่งใดก็มักจะทำสิ่งนั้นซ้ำๆ และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนใจไปชอบสิ่งอื่นง่ายๆ ในจิตใจลึกๆมักเป็นคนทะลึ่งตึงตังและชอบเรื่องกามารมณ์ แต่จะไม่แสดงออกในเรื่องนี้ให้ใครได้รู้

          ราศีพฤษภเป็นราศีธาตุดินอันดับสอง ดังนั้นจะเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก แสดงถึงลักษณะของการทำเกษตรกรรม และสภาพชีวิตของชุมชนเกษตรกรรมได้ดีที่สุด ประเภทสถิระทำให้ราศีนี้มีลักษณะของความมั่นคง มากกว่าแข็งกระด้างแบบธาตุดินที่เป็นแม่ธาตุ

https://www.facebook.com/profile.php?id=100009582517663

วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - การกำเนิด จักรวาล โลก เทพ และมาร ตอนจบ






การกำเนิดโลกและจักรวาลแบบไศวะนิกาย

        ในเบื้องต้นต้องขอเรียนทางผู้อ่านทุกท่านดังนี้ว่า ในบทความนี้จะมีภาษาสันสกฤตที่แปลงเป็นตัวอักษรอังกฤษเยอะมาก และทางผู้เขียนเองก็มิได้มีความรู้มากนักในเรื่องการแปลงภาษาอังกฤษ-สันสกฤตเหล่านั้นให้เป็นคำภาษาไทย เนื่องจากว่า คำบางคำไม่เคยปรากฎเป็นคำภาษาไทยที่ตรงจุดไหนเลย ดังนั้นแล้วหากแปลแล้วผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

        จากคราวที่แล้วที่ทางผู้เขียนได้เล่าเรื่องราวการกำเนิดโลกและจักรวาลแบบนิกายไวศณวะจบไปแล้ว ในคราวนี้จะเป็นเรื่องของทางนิกายไศวะบ้าง นิกายไศวะนั้นจะนับถือพระศิวะเป็นประธาน และเชื่อว่ามีความยิ่งใหญ่ที่สุด ดังนั้นแน่นอนว่าเรื่องราวจะต้องเริ่มต้นที่พระศิวะ โดยเนื้อหาทั้งหมดนั้นถูกบรรจุอยู่ในปุราณะที่ชื่อว่า ศิวะมหาปุราณะ (Shiva Maha-Purana) ในปุราณะนี้จะบรรจุเรื่องราวแทบจะทุกอนูของพระศิวะ และเป็นปุราณะที่ทางผู้เขียนสันนิษฐานว่านิยมนำมาสร้างเป็นบทละครทางโทรทัศน์ เพราะในปุราณะนี้ จะมีการกล่าวถึงเทพหลายพระองค์ที่ปุราณะอื่นไม่พูดถึง เช่น การกำเนิดพระพิฆเณศ (Ganesha) การกำเนิดพระสกัณฑะ (Skanda) หรือที่คนไทยเรียกว่า พระขันธกุมาร การกำเนิดพระไภรวะ (ฺBhairava) ปางหนึ่งของพระศิวะ ซึ่งคนไทยเรียกว่า พระพิราพ การกำเนิดของพระแม่ทุรคา (Durga) พระแม่กาลี (Kali) ฯลฯ เป็นปุราณะที่มีเนื้อเรื่องยาวมากจริง ๆ แต่ในบทความนี้จะขอยกมาเพียงตอนสร้างโลกและจักรวาลเท่านั้น เพราะเนื้อเรื่องที่เหลือผู้อ่านสามารถหาชมได้จากละครพระศิวะของบริษัทเจบิ๊กส์ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นละครโทรทัศน์ที่สร้างตามศิวะมหาปุราณะแบบไม่มีบิดพริ้วเลย และเริ่มเรื่องราวตั้งแต่สร้างโลกและจักรวาล

        เรื่องราวการสร้างโลกและจักรวาลเริ่มต้นขึ้นเมื่อทุกอย่างในจักรวาลนั้นถูกทำลายไปทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว แต่ยังเหลือมหาเทพพระองค์หนึ่งคือ พระมเหศวร (Maheshwar) พระองค์ทรงแบ่งภาคของพระองค์ออกเป็นสองภาคเป็นชายและหญิง คือพระศิวะ (Shiva) และพระนางปารวตี (Parvati) จากนั้นพระองค์จึงทรงสร้างศิวะโลก (Shiva Loka) เป็นที่ประทับของพระองค์และพระนางปารวตี ต่อจากนั้นพระองค์ก็ทรงดำริที่จะสร้างสรรพสิ่งขึ้นมาในความว่างเปล่านั้น และพระองค์ต้องการใครสักคนหนึ่ง ให้คอยดูแลการสร้างสรรพสิ่งให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเรียบร้อย พระองค์ทรงสร้างเด็กผู้ชายขึ้นมาคนหนึ่ง เมื่อเด็กคนนั้นกำเนิดขึ้นมาแล้วจึงได้ถามพระศิวะเทพว่าตัวเขานั้นมีชื่อว่าอะไร และถือกำเนิดขึ้นมาเพราะเหตุใด พระศิวะเทพทรงมอบพระนามแก่เด็กคนนั้นว่า พระวิษณุ พร้อมกับทรงมอบหน้าที่ให้การดูแลการสร้างสรรพสิ่งให้กับพระวิษณุ แต่การทำหน้าที่นี้ พระวิษณุต้องบำเพ็ญเพียรเผากิเลสให้หมดสิ้นไปเสียก่อนจึงจะสามารถทำหน้าที่นี้ได้ พระวิษณุรับพระบัญชาแห่งพระศิวะเทพ และหลีกเร้นพระวรกายไปบำเพ็ญเพียรเผากิเลสอยู่ถึง 12 ปี แต่พระองค์ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

        ในปุราณะนี้มิได้บอกไว้ว่า 12 ปีที่กล่าวนั้น หมายถึง 12 ปีเทพหรือ 12 ปีมนุษย์ เพราะหากเป็น 12 ปีมนุษย์ ก็คือ 12 ปีอย่างที่ผู้อ่านและผู้เขียนเข้าใจ แต่หากเป็น 12 ปีเทพแล้ว ก็จะทำให้มีระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 4,320 ปีมนุษย์ทีเดียว

        พระองค์รู้สึกท้อแท้ใจในการบำเพ็ญเพียรต่อไป แต่ในทันใดนั้นเองก็มีเสียงหนึ่งดังมาจากเบื้องบน เสียงนั้นบอกให้พระองค์บำเพ็ญเพียรต่อไป เมื่อพระวิษณุได้ยินเสียงนั้น พระองค์ก็ทรงทำตาม และไม่กี่วันต่อมา ก็บังเกิดความอัศจรรย์ มีน้ำมากมายผุดไหลออกจากพระวรกายของพระองค์จนกลายเป็นทะเล เมื่อน้ำหยุดไหลพระองค์จึงทรงบรรทมเหนือผืนน้ำนั้น พระองค์จึงมีอีกพระนามว่า พระนารายณ์ แปลว่าผู้สถิตอยู่ในน้ำ จากนั้นจึงเกิดเป็นธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ และคุณากรทั้ง 3 คือ สัตวะคุณะ รชัสสะคุณะ และตมัสสะคุณะ จากนั้นจึงเกิดเป็นธาตุทั้ง 24

        ศิวะปุราณะนั้น เป็นปุราณะเดียวที่พูดถึงธาตุทั้ง 24 ในปุราณะอื่นนั้น จะพูดเพียง 10 ธาตุแรกเท่านั้น โดยรายละเอียดลำดับการสร้างธาตุและระบบต่าง ๆ ของธรรมชาตินั้น จะเริ่มจากคุณากรทั้งสามคือ สัตวะคุณะ (Satva) รชัสสะคุณะ (Rajasa) และตมัสสะคุณะ (Tamasa) จากนั้นตมัสสะคุณะสร้างเสียงหรือศัพท์ (Shabda) ศัพท์สร้างอากาศ (Akash) อากาศสร้างสัมผัส (Sparsh) สัมผัสสร้างลมหรือวายุ (Vayu) ดังนั้นแล้วแม้ว่าเราจะไม่เห็นลม แต่เราสามารถสัมผัสได้ด้วยผิวของเรา ลมสร้างรูป (Roop) รูปสร้างไฟหรือเตชะ (Tej) ไฟสร้างรส (Ras) รสสร้างน้ำหรือชละ (Jal) น้ำสร้างกลิ่นหรือคัณฑะ (Gandh) กลิ่นสร้างดินหรือปฤฐวี (Prithvi)

        รชัสสะคุณะได้สร้างระบบปราณอีก 10 ระบบดังนี้ ระบบ 5 ประการของการเคลื่อนไหว คือ ระบบการพูดหรือวัค (Vak) ระบบมือหรือหัสถะ (Hasta) ระบบเท้าหรือบาท (Pad) ระบบการขับถ่ายหรือปายุ (Payu) และระบบสืบพันธุ์หรืออุปัสถะ (Upastha) และ ระบบ 5 ประการของประสาท คือ ระบบหูหรือกรรณ (Karna) ระบบผิวหรือตวัค (Tvak) ระบบตาหรือจักษุ (Chakshu) ระบบลิ้นหรือชิวหา (Jihva) และระบบจมูกหรือนาสิก (Nasika)

        และสี่ธาตุสุดท้ายคือระบบที่คอยควบคุมความเป็นไปทุกอย่าง มานะ (Mana) พุทธิ (Buddhi) อหังการ (Ahamkar) และจิตตะ (Chitt) รวมทั้งสิ้น 24 ธาตุ เรียกว่า มหาตัตวะ (Mahatattva)

        ขณะที่พระวิษณุทรงบรรทมอยู่นั้นเอง ได้บังเกิดมีดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภีของพระองค์ เมื่อดอกบัวได้บานออกปรากฎมีเทพพระองค์หนึ่งมีสี่พักตร์ประทับตรงกลางดอกบัวนั้น เทพพระองค์นั้นคือพระพรหม พระพรหมทรงมองไม่เห็นสิ่งใดเลยนอกจากกลีบบัวที่ล้อมรอบอยู่ทุกด้าน พระองค์ทรงสงสัยว่าพระองค์ชื่ออะไรและกำเนิดขึ้นมาเพราะเหตุใด พระองค์ทรงมุดลงไปในเกสร ลงไปในก้านบัวแต่ก็ไม่ทรงพบสิ่งใด พระองค์ก็ทรงกลับมาประทับที่เดิม ทันใดนั้นก็มีเสียงหนึ่งพูดกับพระพรหม ว่าพระองค์คือผู้สร้างสรรพสิ่งให้อุบัติขึ้น ดังนั้นเพื่อที่จะทำหน้าที่นี้ พระองค์ต้องบำเพ็ญเพียรเผากิเลสให้หมดสิ้นเสียก่อน พระพรหมทรงทำตามคำบัญชาของเสียงนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ถึง 12 ปี ทันใดนั้นพระวิษณุก็มาปรากฏพระวรกายเบื้องหน้าพระพรหม พระพรหมทรงถามพระวิษณุว่าท่านคือใคร พระวิษณุทรงตอบว่าพระองค์คือผู้ที่จะมาเติมเต็มความปรารถนาในการสร้างสรรพสิ่งของพระองค์ พระพรหมทรงกล่าวว่าพระองค์คือพระผู้สร้างสรรพสิ่ง พระองค์ไม่ต้องการให้ใครมาช่วยพระองค์ พระวิษณุทรงพิโรธและกล่าวแก่พระพรหมว่า ไม่เป็นที่สงสัยว่าพระองค์คือผู้สร้างสรรพสิ่ง แต่พระวิษณุเองนั้นก็มีหน้าที่รักษาและปกป้องสิ่งที่พระพรหมสร้างเหมือนกัน และแม้กระทั่งพระพรหมเองก็เกิดมาจากพระวิษณุ พระพรหมไม่ทรงเชื่อ เทพทั้งสองจึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น

        ระหว่างที่มหาเทพทั้งสองกำลังต่อสู้กันอยู่นั้น ก็ปรากฏเป็นศิวะลึงค์ขนาดใหญ่มากั้นกลางมหาเทพทั้งสองไว้ พร้อมกับเสียง โอม ก้องดังไปทั่วทั้งจักรวาล มหาเทพทั้งสองก็ทรงสงสัยว่าเสียงนี้คือเสียงใคร พระวิษณุทรงสังเกตเห็นอักษระ อะ อยู่ทางด้านล่างของศิวะลึงค์ อุ อยู่ตรงกลาง และ มะ อยู่ทางด้านบนของศิวะลึงค์ แล้วมีอักษร โอม ปรากฏเรืองรองดุจดังพระอาทิตย์ ขณะที่มหาเทพทั้งสองกำลังพินิจพิเคราะห์ศิวะลึงค์อยู่นั้น พระศิวะก็ปรากฎพระองค์ขึ้น พระองค์ทรงห้ามศึกของทั้งสองมหาเทพ ทรงกล่าวแก่มหาเทพทั้งสองว่าพระองค์คือผู้สร้างพระวิษณุและพระพรหมขึ้น ร่างแท้จริงของพระศิวะคือพระมเหศวร พระองค์ทรงสร้างพระวิษณุจากพระวรกายเบื้องซ้ายของพระองค์ และทรงสร้างพระพรหมจากพระวรกายเบื้องขวาของพระองค์ ส่วนแกนกลางของพระมเหศวรคือพระศิวะ พระพรหมแทนด้วย อะ พระวิษณุแทนด้วย อุ และพระศิวะแทนด้วย มะ เมื่อรวมกันแล้วจะเป็นเสียงโอม หมายถึง พระมเหศวร

        และด้วยเสียงโอมนั้น จึงปรากฏเป็นไข่ทองคำใบใหญ่ฟองหนึ่ง พระพรหมทรงนำธาตุทั้ง 24 บรรจุไว้ในไข่สีทองคำใบนั้น และปล่อยให้ไข่ใบนั้นจมลงสู่มหาสมุทร เมื่อครบกำหนดหนึ่งพันปี พระศิวะทรงตัดไข่ใบนั้นออกเป็นสองซีก ซีกด้านล่างกลายเป็นผืนแผ่นดิน ซีกด้านบนคือสวรรค์โลก โดยพระพรหมทรงสร้างท้องฟ้ากั้นกลางระหว่างผืนแผ่นดินและสวรรค์เอาไว้ เมื่อไข่ถูกตัดออก ทุกสิ่งทั้งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ผืนแผ่นดินทั้ง 7 และมหาสมุทรทั้ง 7 รวมถึงเขาไกรลาสก็ปรากฎขึ้นเช่นกัน จากนั้นพระศิวะจึงทรงแสดงพระเวทให้มหาเทพทั้งสองสดับ เพื่อให้มหาเทพทั้งสองทรงมอบแก่มนุษย์ในกาลต่อไป

        แผ่นดินทั้ง 7 ทวีป คือ ชมภู (Jambu) ปลักษะ (Plaksha) ศันมลิ (Shalmali) ครวนชะ (Kraunch) ศากะ (Shaaka) ปุศการะ (Pushkar) และมหาสมุทรทั้ง 7 คือ มหาสมุทรน้ำเกลือ น้ำหวาน น้ำนม น้ำนมเปรี้ยว เนย และน้ำผึ้ง มหาสมุทรน้ำนมหรือเกษียรสมุทร (Kshira Samudra) คือที่ประทับของพระวิษณุ

        ต่อมาคือขั้นตอนการสร้างมนุษย์ ลำดับแรกพระพรหมทรงสร้างเด็กชายขึ้นมาสี่คน ดังนี้ ศนกะ (Sanaka) ศนตนะ (Sanatana) ศนันทนะ (Sanandana) และ ศนตะกุมาร (Sanatakumara) แต่เด็กทั้งสี่คนนี้เมื่อถือกำเนิดขึ้นมาแล้วก็เอาแต่บำเพ็ญเพียรไม่สนใจในการสร้างมนุษย์ พระพรหมจึงทรงพิโรธ ทันใดนั้นก็มีเด็กผู้ชายถือกำเนิดขึ้นมาจากพระนลาฏของพระพรหม พระพรหมทรงให้พระนามว่า พระรุทระ อันที่จริงนั้นพระรุทระคือพระศิวะอวตารลงมากำเนิด

        ในเรื่องของพระรุทระนั้น จะแตกต่างกันตามนิกายเช่นกัน ในนิกายของไวศณวะนั้น พระศิวะมิได้กำเนิดมาก่อน ที่กำเนิดมาก่อนคือพระวิษณุ หรือพระพรหม ซึ่งทางผู้เขียนได้อธิบายไว้ในบทความคราวที่แล้ว ต่อมาพระพรหมจึงให้กำเนิดพระรุทระ ดังนั้นในนิกายอื่น พระศิวะถือเป็นบุตรของพระพรหมเช่นเดียวกัน และพระพรหมจึงทรงมอบหมายหน้าที่ในการทำลายโลกให้แก่พระรุทระ หรือพระศิวะ ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ความเชื่อนี้คงจะมีมานาน และผู้รจนาศิวะมหาปุราณะนี้ไม่ต้องการที่จะแต่งเรื่องราวให้ออกจากแนวเดิมมากนัก จึงกล่าวว่าพระศิวะถือกำเนิดอีกครั้งจากพระนลาฏของพระพรหม เพื่อให้ตรงกับความเชื่อของคนส่วนมากในยุคนั้น

        ผู้เขียนก็เคยสงสัยมานานว่า ถ้าพระศิวะท่านเป็นมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ เหตุใดเล่าพระทักษะ ซึ่งเป็นเพียงบุตรพระพรหมจึงไม่เชิญพระศิวะมาในพิธีบูชาไฟของพระทักษะด้วย เพียงแค่เหตุว่าเป็นลูกเขยที่มีวรรณะสกปรกเท่านั้นหรือ เพราะหากพิจารณาถึงปกติชนธรรมดานั้น การมีลูกเขยเป็นถึงมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ น่าจะต้องมีความภูมิใจมากกว่าที่จะเหยียดหยาม ทางผู้เขียนก็เพิ่งจะค้นพบว่า อันที่จริงแล้วในปุราณะอื่นนั้นบรรยายไว้ชัดว่า พระทักษะซึ่งถือตนว่าเป็นบุตรพระพรหมนั้น ก็ถือว่าพระรุทระหรือพระศิวะเป็นบุตรพระพรหมเช่นกัน พระทักษะจึงเห็นตนเองว่าเสมอด้วยพระศิวะ ดังนั้นการเชิญใครหรือไม่เชิญใครนั้นก็เป็นสิทธิของพระทักษะเจ้าของงานเอง แต่ลืมไปว่า พระศิวะนั้นนอกจากจะเป็นบุตรพระพรหมแล้วยังมีหน้าที่ทำลายล้างโลก ซึ่งเป็นหน้าที่เฉพาะของมหาเทพ มิใช่เป็นเพียงบุตรพระพรหมแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนบุตรพระพรหมองค์อื่น ๆ

        เมื่อการสร้างเด็กชาย 4 คนไม่สำเร็จ พระพรหมก็ทรงเริ่มใหม่โดยการสร้างมหาฤๅษีทั้ง 7 ตนขึ้นมารวม รวมทั้งมนุษย์อีก 2 คน ดังนี้ มหาฤๅษีภริคุ (Bhrigu) มหาฤๅษีปุลาหะ (Pulaha) มหาฤๅษีกรตุ (Kratu) มหาฤๅษีอังคิระ (Angira) มหาฤๅษีมาริจิ (Marichi) มหาฤๅษีอตริ (Atri) มหาฤๅษีวิศิษฐะ (Vashistha) ทักษะประชาบดี (Taksa Prajapati) และพระปิตรรส์ (Pitars) หรือบางปุราณะเรียกว่า รุจิประชาบดี (Ruchi Prajapati) แต่มหาฤๅษีทั้ง 7 ตน และมนุษย์ทั้ง 2 คนนี้ก็ไม่สนใจเรื่องการมีบุตร หันมาบำเพ็ญเพียรเช่นเดิม

        พระพรหมจึงทรงสร้างมนุษย์ออกมาอีกคู่หนึ่งคือ พระสวยมภูมนู (Swayambhu Manu) และพระนางสัตรูปะ (Shatarupa) ทั้งสองนี้พร้อมใจกันทำตามความประสงค์ของพระพรหม โดยมีบุตรชาย 2 คน คือ ปริยะวราตะ (Priyavrata) และ อุทานปาท (Utaanpaad) และบุตรสาว 2 คน คือ ประสูติ (Prasooti) และ อากูติ (Aagooti) จุดสำคัญนั้นจะอยู่ที่พระนางประสูติเสียมากกว่า ดังนั้นทางผู้เขียนจึงขอบรรยายแต่เพียงสกุลที่ทอดมาจากพระนางประสูติเพียงเท่านั้น

        รุจิประชาบดีและนางอากูติ ให้กำเนิดฝาแฝดชายหญิง คือ ยัคยะ (Yagya) และทักษิณะ (Dakshina) ต่อมาทั้งสองสมรสกันและให้กำเนิดบุตรอีก 12 คน คนสุดท้ายมีชื่อว่า ยาม (Yaam)

         พระทักษะประชาบดีสมรสกับพระนางประสูติ และให้กำเนิดบุตรี 24 คน ได้แก่ ศรัทธา (Shraddha) ลักษมี (Laxmi) ธริติ (Dhriti) ปุศติ (Pushti) ธุศติ (Tushti) เมธา (Medha) กริยา (Kriya) พุทธิ (Buddhi) ลัชชะ (Lajja) วาปุ (Vapu) ศันติ (Shanti) สิทธิ (Siddhi) กีรติ (Keerti) กายตี (Khyati) ศตี (Sati) สัมภูติ (Sambhuti) สัมฤทธิ (Smriti) ปรีติ (Preeti) กศามะ (Kshama) ศันธาติ (Santati) อังศุยะ (Ansuya) อุรชะ (Urja) สวาหะ (Swaha) และสวาท (Swadha)

         โดยบุตรี 13 คนแรกสมรสกับธรรมะ (Dharma) โดยภรรยาแต่ละคนมีบุตรดังนี้ ศรัทธามีบุตรคือกาม (Kaam) ลักษมีมีบุตรคือธรรปะ (Daarpa) ธริติมีบุตรชื่อนิยาม (Niyam) ปุศติมีบุตรชื่อโลภะ (Lobha) ธุศติมีบุตรชื่อสันโดษ (Santosh) เมธามีบุตรชื่อศรุท (Shrut) กริยามีบุตรชื่อทัณฑะ (Dand) นัย (Nay) และวินัย (Vinay) พุทธิมีบุตรชื่อโพธะ (Bodh) ลัชชะมีบุตรชื่อวินัย (Vinay) วาปุมีบุตรชื่อวยาวสาย (Vyavasay) ศันติมีบุตรชื่อเกษม (Kshama) สิทธิมีบุตรชื่อสุข (Sukh) และกีรติมีบุตรชื่อยศ (Yash)

          กามสมรสกับพระนางรตี (Rati) มีบุตรชื่อ หรรษา (Harsh) น้องของกาม ธรรมปะ หรือบางปุราณะเรียกว่า อธรรม (Adharm) ธรรปะหรืออธรรมสมรสกับหิงสา (Hinsa) ให้กำเนิดบุตรคือ อังฤท (Anrit) และบุตรีคือ นิกฤติ (Nikriti) อังฤทและนิกฤติสมรสกันให้กำเนิด ภัย (Bhaya) และ นรกะ (naraka) รวมทั้งบุตรีอีกสองคนคือ มายา (Maya) และเวทนา (Vedana) ต่อมาทั้ง 4 พี่น้องนี้สมรสกัน มายาให้กำเนิดมฤตยู (Mrityu) เทพแห่งความตาย เวทนาให้กำเนิด ทุกข์ (Dukh) มฤตยูให้กำเนิด พยาธิ (Vyadhi) ชรา (jara) โศก (Shok) และโกรธ (Krodh) ในบางปุราณะนั้น พระนางนิกฤติจะมีอีกพระนามว่า นิรฤติ (Nirriti) หรือคนไทยเราเรียกกันว่า หรดี ทรงมีสมญานามว่า พระนางอลักษมี (ALakshmi) และคำว่าหิงสานั้น หมายถึง ความรุนแรง

          ส่วนบุตรีอีก 11 คนที่เหลือของพระทักษะ ก็ได้สมรสกับมหาฤๅษีทั้ง 7 ตนและเทพที่เหลือดังนี้ กายตีสมรสกับมหาฤๅษีภริคุมีบุตรชาย 2 คนชื่อ ฐาตะ (Dhaata) และ วิฐาตะ (Vidhaata) มีบุตรีคือพระแม่ลักษณมี (Lakshmi) ซึ่งต่อมาพระแม่ลักษมีก็ไ้ด้เป็นพระชายาของพระวิษณุ ศิวะมหาปุราณะกล่าวว่า พระแม่ลักษณมีคือร่างอวตารหนึ่งของพระแม่ปารวตี อวตารเพื่อมาเป็นพระชายาให้กับพระวิษณุ สิ่งที่เป็นข้อสงสัยน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระแม่ลักษมี เพราะความคุ้นเคยของเรานั้น พระแม่ลักษมีเกิดมาจากการกวนเกษียรสมุทร อันที่จริงแล้วในวิษณุปุราณะได้ให้คำตอบว่า พระแม่ลักษมีนั้นคือบุตรีของมหาฤๅษีภริคุถูกต้องแล้ว แต่เหตุเกิดเมื่อมหาฤๅษีทุรวาสะสาปพระอินทรา เหล่ามารและอสูรก็บุกสวรรค์ ตอนนั้นเองที่พระแม่ลักษมีทรงเร้นพระวรกายไปหลบอยู่ใต้เกษียรสมุทร ด้วยเกรงอำนาจของเหล่ามารและอสูรเหล่านั้น ดังนั้นพระแม่ลักษมีจึงปรากฎพระวรกายขึ้นมาอีกครั้งตอนกวนเกษียรสมุทร

          และที่สำคัญคือพระแม่ศตีสมรสกับพระศิวะ พระแม่ศตีต่อมาจะรักษาพระเกียรติของพระสวามีคือพระศิวะโดยการกระโดดเข้ากองไฟ และกำเนิดใหม่เป็นพระแม่ปารวตีบุตรสาวของท้าวหิมาลัย

          สัมภูติสมรสกับมหาฤๅษีมริจิ มีบุตรชื่อมหาฤๅษีกัสยปะ (Kashyap) และปุระนิมะ (Purnima)

          สัมฤทธิสมรสกับมหาฤๅษีอังคิระ แต่ศรีมาทภควตาปุราณะ กล่าวว่ามหาฤๅษีอันคิระสมรสกับศรัทธา (Shardha) มีบุตรี 4 คนคือ สิมิวลี (Simivali) กุหุ (Kuhu) รัก (Raka) อนุมัติ (Anumati) และบุตรอีก 2 คนคือ อุตะธยะ (Utathya) และพฤหัสปติ (Brihaspati)

          ปรีติสมรสกับมหาฤๅษีปุลัสตยะ ศรีมาทภควตาปุราณะ กล่าวว่ามหาฤๅษีปุลัสตยะสมรสกับหวิรภู (Havirbhu) และมีบุตร 2 คนคือ อคัสตยะ (Agastya) และวิศรวะ (Vishrava) วิศรวะสมรสกับอิทวิทะ (Idvida) มีบุตรคือพระกุเวร (Kuber) กษัตริย์แห่งยักษ์ทั้งหลาย และสมรสกับเกศินี (Keshini) มีบุตร 3 คนคือ ราวณะ (Ravan) กุมภกรัณ (Kumbhkaran) และวิภิศัณ (Vibhishan)

          กศามะสมรสกับมหาฤๅษีปุราหะ ศรีมาทภควตาปุราณะ บอกว่า มหาฤๅษีปุราหะสมรสกับฆติ (Gati) มีบุตร 3 คนคือ กรรมเศรษฐะ (Karmshreshtha) วริยัณ (Variyan) และ สหิศณุ (Sahishnu)

          ศันธาติสมรสกับมหาฤๅษีกรตุ ลึงคะปุราณะ บอกว่ามีบุตรด้วยกัน 6,000 คน

          อันศุยะสมรสกับมหาฤๅษีอตริมีบุตร 3 คนคือ พระจันทร์หรือจันทรามะ (Chandrama) เป็นการแบ่งภาคของพระพรหม ทัตตะเตรยะ (Dattatreya) หรือพระตรีมูลติ เป็นการแบ่งภาคของพระนารายณ์ และมหาฤๅษีทุรวาสะ (Durvasa) เป็นการแบ่งภาคของพระศิวะ

          อุรชะสมรสกับมหาฤๅษีวศิษฐะมีบุตรเป็นพราหมณ์ 7 คน หนึ่งในนั้นคือพระศุกร์ (Shukra) และที่สำคัญคือ ศักติมหาฤๅษี (Sakti Maharishi) ต่อมามหาฤๅษีศักติมีบุตรคือมหาฤๅษีปาระศาระ (Parashara) ผู้รจนาคัมภีร์วิษณุปุราณะและคัมภีร์พฤหัตปาระศาระโหราศาสตร์ และสุดท้ายบุตรของมหาฤๅษีปาระศาระก็คือมหาฤๅษีวยาสะ ดังที่กล่าวไว้ในบทความคราวที่แล้ว

          สวาหะสมรสกับพระอัคนี มีบุตรสามคนคือ ปวมาณ (Pavamaan) ปาวกะ (Paavak) และศุจิ (Shuchi) เช่นที่กล่าวไว้ว่า ไม่มีปุราณะใดเลยที่ระบุที่มาของพระอัคนี แต่กลับปรากฎว่ามีตัวตนอยู่ในช่วงที่สมรสกับพระนางสวาหะนี่เอง

          และสวาทสมรสกับพระปิตรรส์ (Pitars) มีบุตรีคือ ไมณะ (Maina) ฑัณยะ (Dhanya) และ กาละวดี (Kalawati)

          จากนั้นพระทักษะประชาบดีมีลูกอีก 60 คน จากภรรยาทื่ชื่อว่า วิริณิ (Virini) แต่งงานกับธรรมะ 10 คน ดังนี้ อรุณธติ (Arundhati) วาสุ (Vasu) ชามิ (Jami) ลัมภะ (Lamba) ภาณุ (Bhanu) มรุตวาติ (Marutvati) สัณกัลปะ (Sankalpa) มุหุรตะ (Muhurta) สาทยา (Saadhyaa) และวิศวะ (Vishwa) ซึ่งแต่ละคนมีบุตรดังนี้

          อรุณธติคือมารดาของสัตว์ทั้งมวลบนโลกใบนี้, วาสุมีบุตรแปดคนเรียกว่าคณะวาสุ คือ ภีสมะ (Bheeshma) ธรุวะ (Dhruv) โสมะ (Soma) ธาระ (Dhar) อนิละ (Anil) อนาละ (Anal) ปรัทยุศ (Pratyush) และ ประภัส (Prabhas) ต่อมา ชามิมีบุตรีชื่อนาควิธิ (Nagvithi), ลัมภะมีบุตรชื่อโฆษะ (Ghosh), ภาณุมีบุตรชายชื่อภาณุ ต่อมามรุตวาติมีบุตรชายชื่อมารุตวัณ (Marutvan), สาทยามีบุตรชื่อสาทยะ (Saddhya), มุหุรตะกลายเป็นเทพีแห่งเวลามงคล, วิศวะมีบุตรชื่อวิศวะเทวะ (Vishwadeva)

          รุ่นลูกของพวกวาสุ ภีสมะมีบุตรสี่คนคือ ศัณธะ (Shant) ไวตัณฑะ (Vaitand) สัมภะ (Samb) และมุนิพาภรุ (Munibabhru) ต่อมาธรุวะมีบุตรชื่อ กาล (Kaal), โสมะมีบุตรชื่อ วรรจะ (Varcha), ธาระมีบุตรสองคนชื่อ ธราวิน (Dravin) และ หวยาวาหะ (Havyavaah), อนิละมีบุตรสามคนชื่อ ศัฆ (Shakh) อุปศัฆ (Upshakh) และ ไนกาเมยะ (Naigameya), ปรัทยุศมีบุตรชื่อ เดวาละ (Deval), ประภัสมีบุตรชื่อ วิศวกรรมประชาบดี (Vishwakarma Prajapati) เทพแห่งการช่างและวิศวะก่อสร้าง

          สุดท้ายคือจุดเริ่มต้นของคณะเทพและคณะมารจากการให้กำเนิดของมหาฤๅษีกัสยปะ มหาฤๅษีกัสยปะมีภรรยา 13 คน ดังนี้ อทิติ (Aditi) ทิติ (Diti) ทานุ (Danu) อริษตะ (Arishta) สุรสะ (Sursa) สุรภี (Surabhi) วินทะ (Vinta) ทัมระ (Tamra) โกรธวศะ (Krodhvasha) อิระ (Ira) กตรุ (Kadru) ฆาษะ (Khasa) และ มุนี (Muni)

          พระนางอทิติมีบุตร 12 องค์ ดังนี้ วิษณุ (Vishnu) อวตารเป็นพราหมณ์เตี้ยชื่อวามาณะ (Vaman) อินทรา (Indra) หรือสักระ (Shakra) อารยมะ (Aryama) ธตา (Dhataa) ทวัศตะ (Twashta) ภูษา (Pushaa) วิวัสวัณ (Vivasvaan) หรือ สุริยะ (Surya) สาวิตะ (Savita) หรือปรรชัญญะ (Parjanya) ไมตรา (Maitra) หรือ มิตรา (Mitra)  วรุณ (Varun) อังศุ (Anshu) หรือองศา (Amsha) และภาคะ (Bhaga) โดยพระสุริยะสมรสกับบุตรสาวของพระวิศวกรรมทั้ง 2 คน คือ ชหะยะ (Chhaya) หรือ ชายะ (Chaya) มีบุตรคือ พระเสาร์ (Shani) และ ทปติ (Tapati) และสมรสกับสันคยะ (Sangya) มีบุตรชาย 2 คนคือ มนู (Manu) พระยม (Yama) และบุตรีคือ ยมนิ (Yamani) หรือยมุนา (Yamuna)

          พระนางทิติ ได้ให้กำเนิดอสูรของตนคือ หิรัญยักษิปุ (Hiranyakashipu) และหิรัญยักษ์ (Hiranyaksha)  หิรัญยักษิปุมีบุตร 4 คนคือ ประหลาด (Prahlad) อนุหลาด (Anuhlad) ศันหลาด (Sanhlad) และ หลาด (Hlad) ประหลาดมีบุตร 4 คน หนึ่งในนั้นคือ วิโรจน์ (Virochan) บุตรของวิโรจน์คือ พาลิ (Bali) และภาลิก็มีบุตรคนโตชื่อ วนสุระ (Vanasur) ผู้มีพันกร ส่วนหิรัญยักษ์มีบุตร 4 คนเช่นกัน

          พระนางทานุมีบุตร 100 คน หนึ่งในนั้นผู้ที่มีฤทธิ์มากที่สุดคือ วิประจิตติ (Viprachitti) วิประจิตติมีบุตร 14 คนจากภรรยาที่ชื่อว่า สินหิกะ (Sinhika) บุตรทั้ง 14 คนมีดังนี้ เสนหิกายะ (Sainhikeya) หรือราหู (Rahu) กันศะ (Kansa) สังข์ (Shankh) นาละ (Nala) วาตาปิ (Vatapi) อิลวละ (Ilwal) นามุจิ (Namuchi) ฆศริมะ (Khasrima) อัณชัณ (Anjan) นรก (Narak) กาละนาภะ (Kaalnaabh) ปรมณู (Parmanu) กาลปวิรยะ (Kalpavirya) ธนูวัณศวิวรรฑะ (Dhanuvanshavivardhan)

          พระนางอริษตะให้กำเนิด กินนรรสะ (Kinnars) และ คนธรรพ์ (Gandharvas), พระนางสุรสะให้กำเนิดงูทั้งหลาย, พระนางสุรภีให้กำเนิดวัวและควาย, พระนางวินทะให้กำเนิด ครุฑ (Garuda) และ อรุณ (Arun) โดยอรุณเป็นบิดาของ สัมปติ (Sampati) และสดายุ (Jatayu)

          พระนางทัมระ ให้กำเนิดบุตรสาว 6 คน ดังนี้ ศุกิ (Shuki) ศเยนิ (Shyeni) ภาสิ (Bhasi) กฤฑิ (Gridhi) สุกฤฑิ (Sugridhi) และ ศุจิ (Shuchi) ศุกิเป็นมารดาของนกแก้วและนกเค้าแมว ศเยนิเป็นมารดาของนกเหยี่ยวป่า ภาสิเป็นมารดาของเหยี่ยวปลา กฤติเป็นมารดาของแรง สุกฤฑิเป็นมารดาของนกพิราบ ศุจิเป็นมารดาของนกกระเรียน หงส์ และนกน้ำอื่น ๆ

          พระนางอิระให้กำเนิดพืชพันธุ์และธัญญาหารต่าง ๆ, พระนางกรตุเป็นผู้ให้กำเนิดงูเห่า, พระนางฆาษะเป็นผู้ให้กำเนิด รากษส (Rakshasha) และยักษ์ (Yaksha) และสุดท้าย พระนางมุนี เป็นผู้ให้กำเนิด นางสวรรค์ หรือ อัปสร (apsara)

          ท้ายที่สุดก็กำเนิดเป็นมนุษย์มากมายจนถึงปัจจุบันนี้

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - การกำเนิดจักรวาล โลก เทพ และอสูร ตอนที่ 1


ศาสนาฮินดูและนิกายต่าง ๆ ของศาสนาฮินดู

         จากคราวที่แล้วทางผู้เขียนได้อธิบายภาพรวมของศาสนาฮินดูทั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงอิทธิพลของศาสนาฮินดูที่มีต่อประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในคราวนี้ทางผู้เขียนจะขออธิบายถึงเรื่องราวของศาสนาฮินดูในลักษณะที่เริ่มเข้าเนื้อหา โดยทางผู้เขียนจะอธิบายเปรียบเทียบกับหลักการทางศาสนาพุทธสลับกันเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านศาสนาพุทธที่เกี่ยวกับเรื่องเทพยดาหรือหมู่ภูตให้มากขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นนั้นต้องขอทำความเข้าใจว่า แม้การเล่าเรื่องเทพเจ้าของศาสนาฮินดูจะแตกต่างกันตามนิกายก็ตาม แต่ความเชื่อที่ว่าเทพเจ้าทุกพระองค์นั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงก็มิได้เลือนหายไป ทางผู้เขียนยังเชื่ออยู่เสมอว่า พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะนั้น มีอยู่จริงเสมอ ตามคติความเชื่อที่ผู้นับถือควรมี และตามคติที่ชาวพุทธควรมีเช่นกัน

         ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาของการกำเนิดโลก คณะเทพ และคณะอสูรต่าง ๆ นั้น ในเบื้องต้นมีสิ่งที่ควรรับรู้อยู่สองประการ ประการแรกคือนิกาย และประการที่สองคือที่มาของเทวปกรณัมของศาสนาฮินดู นิกายในศาสนาฮินดูนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายแขนง หากยึดถือตามคติความเชื่อแบบไทยสามารถประมวลออกมาได้เป็น 5 นิกายหลัก ดังนี้
         1. นิกายไวศณวะ (Vishnav) เป็นนิกายที่เก่าแก่ที่สุด นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่กว่าเทพองค์อื่น
         2. นิกายไศวะ (Shiva) เป็นนิกายที่นับถือพระศิวิเป็นใหญ่กว่าเทพองค์อื่น
         3. นิกายศักติ (Shakti) เป็นนิกายที่นับถือและให้ความสำคัญกับพระเทวี เช่น พระอุมาเทวี พระลักษมีเทวี และพระสรัสวตีเทวี มากกว่าเทพองค์อื่น
         4. นิกายคณพัทยะ (Ganabadya) เป็นนิกายที่นับถือพระพิฒเนศมากกว่าเทพองค์อื่น
         5. นิกายสมารธะ (Samardha) เป็นนิกายที่นับถือเทพเจ้าทุกพระองค์ เป็นนิกายที่ค่อนข้างใหญ่พอสมควร เพราะสามารถบูชาเทพเจ้าได้ทุกพระองค์ตามความต้องการ

         จะสังเกตว่าตามคติแบบไทยนั้น น่าจะมีลักษณะแบบนิกายสมารธะ เพราะตามพิธีกรรมต่าง ๆ ของพราหมณ์-ฮินดู มีการอันเชิญและบูชาเทพเจ้าทุกพระองค์ ความแตกต่างทางด้านนิกายดังกล่าว นำมาสู่การเล่าเรื่องเทวปกรณัมที่แตกต่างกัน หากเป็นนิกายไวศณวะก็ย่อมจะเล่าเรื่องว่าพระวิษณุนั้นเกิดก่อนเทพทั้งมวล หากเป็นนิกายไศวะก็ย่อมที่จะเล่าว่าพระศิวะคือเทพที่อุบัติขึ้นก่อนเทพทั้งมวลเช่นกัน ควมแตกต่างของนิกายดังกล่าวนั้นจะเชื่อมโยงกับประการที่สอง คือ ที่มาของเทวปกรณัม โดยที่มาของเรื่องเทวปกรณัมของอินเดียนั้นส่วนใหญ่จะมาจากคัมภีร์ที่เรียกว่า ปุราณะ (Purana) อันเป็นคัมภีร์ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้าโดยเฉพาะ ปุราณะเป็นคัมภีร์ที่เกิดขึ้นมาในยุคทองของอินเดียที่เรียกว่ายุคจักรวรรดิคุปตะ ที่มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ. 280 - 550

         เช่นที่อธิบายไปในคราวที่แล้วว่า แต่ก่อนนั้นศาสนาฮินดูมิได้มีเทพเจ้าหลายพระองค์เหมือนเช่นในปัจจุบัน เนื้อหาของคัมภีร์ฤคเวทก็บรรยายถึงเทพแค่เพียงสามพระองค์ คือ พระอินทรา พระอัคนี และพระวรุณเท่านั้น ก่อนที่จะมีึคัมภีร์ฤคเวทนั้น นักประวัติศาสตร์ตะวันตกได้สันนิษฐานว่า การนับถือเทพเจ้าของชาวอินเดียเริ่มต้นขึ้นเมื่ออารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเริ่มมีความเจริญ คือเมื่อประมาณ 30,000 - 4,000 ปีก่อนคริสตกาล มีการค้นพบแท่นหินที่สลักรูปซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นรูปของเทพเจ้าและพระเทวี และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรูปของพระศิวะและพระแม่ศักติ

         ต่อมาประมาณ 1,750 - 500 ปีก่อนคริสตกาลนั้น จะเป็นช่วงเวลาของยุคพระเวทของชาวอารยัน โดยคัมภีร์พระเวททั้งห้าเล่มนั้น นักประวัติศาสตร์ก็สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในช่วง 1,500 - 1,000 ปีก่อนคริสตกาล และนักประวัติศาสตร์ยังสันนิษฐานว่าในยุคสมัยนี้ เป็นยุคสมัยที่วรรณะพราหมณ์มีอิทธิพลต่อผู้คนในทุกชั้นวรรณะของสังคม แต่สุดท้ายแล้วผู้คนในวรรณะต่าง ๆ ก็เริ่มเสื่อมศรัทธาต่อวรรณะพราหมณ์ด้วยเหตุที่วรรณะพราหมณ์นั้น มีการตั้งข้อกำหนดทางศาสนาและการบูชายัญที่มากเกินความเหมาะสม ศาสนาฮินดูจึงเข้าสู่ยุคอุปนิษัทในช่วงประมาณ 500 - 200 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคนี้เองที่มีการอุบัติของขึ้นศาสนาพุทธ มีการเกิดขึ้นของคัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งผู้บำเพ็ญพรตถือศีลแบบมหาฤๅษีนั้น พยายามหาหลักธรรมด้วยตนเองโดยพยายามจะแยกตนเองออกจากความเชื่อแบบเดิม และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ก็ทรงตรัสรู้พระธรรมด้วยพระองค์เอง และเกิดเป็นศาสนาพุทธขึ้น หลังจากนั้นศาสนาพุทธและศาสนาเชนก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในสังคมของอินเดีย จนประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล - คริสต์ศตวรรษ์ที่ 3 ช่วงนี้เป็นช่วงของการเกิดขึ้นของมหากาพย์สองเรื่องคือ รามายณะ และ มหาภารตะ ต่อมาประมาณคริตส์ศักราชที่ 320 - 650 ก็จึงเข้าสูุ่ยุคทองของอินเดีย เป็นยุคของจักรวรรดิคุปตะ มีการกำเนิดคัมภีร์ที่เล่าเรื่องราวของการกำเนิดโลกและเทพเจ้าที่เรียกว่า ปุราณะ และในช่วงสุดท้ายประมาณคริสต์ศักราชที่ 650 - 1,100 ศาสนาฮินดูจึงแตกออกเป็นหลายนิกายดังที่กล่าวมาในตอนต้น

         ดังนั้นเรื่องราวของเทพเจ้าที่คนไทยรับรู้และรับทราบผ่านทางละครเทวปกรณัมอินเดียก็ดี หรือผ่านทางพิธีกรรมต่าง ๆ ตามคติความเชื่อของคนไทยก็ดี มีที่มาจากเนื้อหาและเรื่องเล่าในคัมภีร์ปุราณะทั้งสิ้น ตามความเชื่อของอินเดียนั้น คัมภีร์ปุราณะเกิดจากการรจนาขึ้นของมหาฤๅษีวยาสะ (Vyasa) ผู้เดียวกันกับที่รจนามหากาพย์เรื่องมหาภารตะ โดยชีวประวัติของมหาฤๅษีวยาสะตามตำนานนั้นเริ่มจาก พระพรหมได้ทรงสร้างมหาฤๅษีขึ้นมาเจ็ดตน หนึ่งในนั้นคือมหาฤๅษีวศิษฐะ (Vashistha) มหาฤๅษีวศิษฐะได้สมรสกับพระนางอรุณธติ (Arundhati) มีบุตรด้วยกันหลายคน หนึ่งในนั้นคือศักติมหาฤๅษี (Sakti Maharishi) ต่อมามหาฤๅษีศักติมีบุตรคือมหาฤๅษีปาระศาระ (Parashara) ผู้รจนาคัมภีร์วิษณุปุราณะและคัมภีร์พฤหัตปาระศาระโหราศาสตร์ และสุดท้ายบุตรของมหาฤๅษีปาระศาระก็คือมหาฤๅษีวยาสะ หรือกล่าวกันตามภาษากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยก็ต้องกล่าวว่า มหาฤๅษีวยาสะคือ ลื่อ ของพระพรหมเทพบิดรนั่นเอง

ว่าด้วยตำนานการกำเนิดจักรวาลและโลก

         ตำนานการกำเนิดจักรวาลและโลกของศาสนาฮินดูนั้น แตกต่างกันตามนิกายและลัทธิ จุดเริ่มต้นนั้นจะเหมือนกันตรงที่การพรรณนาถึงระยะเวลาของ 1 วันและ 1 สนธยาแห่งพระพรหม 1 วันแห่งพระพรหมคือเวลาที่พระพรหมทรงตื่นขึ้น และสนธยาแห่งพระพรหมคือช่วงเวลาที่พระพรหมทรงบรรทมหลับไป ซึ่งช่วงที่พระพรหมทรงหลับนั้นจะเรียกว่า ยุคประลัย (Pralay) โดยคนไทยจะคุ้นเคยกับคำว่า ไฟบรรลัยกัลป์ เป็นยุคที่ไฟเผาผลาญล้างโลกจนสิ้น แต่อันที่จริงแล้ว ไฟมิได้เป็นตัวทำลายหนึ่งเดียวของการทำลายทั้งหมด คำว่า ไฟบรรลัยกัลป์ แยกได้เป็นสามคำ คือ ไฟ หมายถึงโลกถูกทำลายด้วยไฟจากพระเนตรที่สามของพระศิวะเทพจนจักรวาลว่างเปล่า บรรลัย หมายถึงเมื่อโลกถูกทำลายด้วยไฟแล้ว ก็จะเกิดน้ำท่วมจักรวาล ทุกที่ของจักรวาลท่วมท้นไปด้วยน้ำทั้งสิ้น และคำสุดท้ายคือคำว่า กัลป์ หมายถึง ระยะเวลาโดยประมาณ 4,294,080,000 ปีมนุษย์ รวมความทั้งหมดแล้ว คำว่า ไฟบรรลัยกัลป์ จึงหมายถึง กัลป์ที่เป็นช่วงของโลกถูกทำลายด้วยไฟและน้ำ และสุดท้ายก็จะเหลือเพียงแค่น้ำเท่านั้นในจักรวาล

         ซึ่งปุราณะโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นของนิกายไวศณวะที่นับถือพระวิษณุเทพเป็นใหญ่กว่าเทพอื่น ๆ จึงกล่าวว่าจักรวาลเหลือไว้เพียงน้ำเท่านั้น เพื่อจะเชื่อมโยงถึงเทพองค์แรกอันเป็นมหาเทพสูงสุด ที่สถิตอยู่เหนือน้ำ นั่นคือพระวิษณุ และด้วยเหตุที่พระองค์สถิตลอยอยู่เหนือพื้นน้ำ พระวิษณุจึงมีพระนามอีกอย่างว่า พระนารายณ์ (Narayan) โดยเกิดจากการสนธิคำจากสองคำคือคำว่า นารา (Nara) ที่แปลว่า น้ำ และคำว่า อารยนะ (Aryan) ที่แปลว่า บ้าน หรือที่อยู่อาศัย รวมเป็น นารายณ์ หรือ นารายณะ แปลว่า ผู้อาศัยอยู่ในน้ำ แต่ก็มีบางปุราณะที่พรรณนาว่า จักรวาลนี้ว่างเปล่ามาตั้งแต่แรก ไม่มีกลางวันหรือกลางคืน ไม่มีแสงสว่างและความมืด หากปุราณะใดพรรณนาไว้เช่นนี้ ก็จะสามารถสันนิษฐานได้ว่า ปุราณะนั้นเป็นของนิกายอื่นซึ่งมิใช่นิกายไวศณวะอย่างแน่นอน

         ในทางศาสนาพุทธนั้น มีคัมภีร์ทางศาสนาพุทธที่เกี่ยวกับโลกและจักรวาล หรือที่เรียกว่า วรรณกรรมโลกศาสตร์อยู่ฉบับหนึ่งชื่อว่า โลกทีปกสาร รจนาโดยพระสังฆราชเมธังกร เป็นพระภิกษุชาวพม่าสันนิษฐานว่ามีอายุพรรษาอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ได้กล่าวอธิบายอิงกับ สุริยสูตรของพระไตรปิฎกว่า โลกนั้นเมื่อถึงกาลจะแตกสลาย จะบังเกิดเป็นพระอาทิตย์ขึ้นมาทีละดวงจนครบเจ็ดดวง พระอาทิตย์ดวงที่เจ็ดนั้นจะเผาผลาญทุกสิ่งให้มอดไหม้หายไป แม้แต่ภูเขาและผืนดิน ทุกอย่างจะกลายเป็นว่างเปล่าไม่เหลือแม้ขี้เถ้า ดังที่พระไตรปิฎกได้เขียนไว้ว่า

         "เมื่อแผ่นดินใหญ่และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่ ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่า เปรียบเหมือนเมื่อเนยใสหรือน้ำมันถูกไฟเผาผลาญอยู่ ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่า ฉะนั้น" - สุริยสูตร

          โลกจะถูกทำลายด้วยไฟ 7 ครั้งจากพระอาทิตย์ 7 ดวงดังกล่ว โดยมนุษย์และสัตว์ในโลกจะพากันตายทั้งหมดตั้งแต่พระอาทิตย์ดวงที่ 2 จากพระอาทิตย์ดวงที่ 3 ไฟจะเริ่มลามขึ้นไปเผาผลาญชั้นสวรรค์ที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนพระอาทิตย์ดวงที่ 7 ปรากฎขึ้น ไฟได้ขึ้นไปเผาผลาญจนถึงชั้นพรหมที่ชื่อว่า  อัปปมาณาภา จากนั้นการทำลายในรอบที่ 8 จะเป็นการทำลายด้วยน้ำท่วมทั้งโลก ทำลายไปจนถึงพรหมชั้นที่ 8 อัปปมาณสุภา จากนั้นก็เริ่มจากไฟอีก 7 รอบ และน้ำ 1 รอบ วนเช่นนี้ไปเรื่อยจนครบ 64 รอบ และในรอบที่ 65 จะเป็นการทำลายด้วยลม ลมจะพัดทุกสิ่งทุกอย่างให้ลอย และกระทบกันแตกละเอียดเป็นจุณในอากาศนั้นเอง โดยการทำลายด้วยลมนี้ จะทำลายพรหมชั้นที่ 9 คือ สุภกิณหาพรหม ให้หายไปด้วย จากนั้นจักรวาลจึงว่างเปล่า ดังนั้นชั้นพรหมที่สามารถรอดพ้นจากการถูกทำลายของทั้งไฟ น้ำ และลมได้ก็คือ พรหมชั้นที่ 10 เวหัปผลา อันเป็นที่อยู่ของพรหมที่เคยบำเพ็ญสมาธิสมถกรรมฐานได้ถึงจตุถฌานชั้นสามัญ ดังนั้นแล้วในฐานะพุทธศาสนิกชนนั้น ควรจะหมั่นทำสมาธิสมถกรรมฐานให้เป็นประจำ

          เมื่อการเล่าเรื่องกำเนิดโลกและจักรวาลของฮินดูนั้น แตกต่างกันเป็นหลางทางหลายแนวตามปุราณะที่มีอยู่ถึง 18 เล่ม และแต่ละเล่มนั้นก็เล่าไปคนละทาง ดังนั้นเพื่อความสะดวกทางผู้เขียนจะขอสรุปตามแนวทางให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ทั้งนี้ความแตกต่างดังกล่าวมักจะอยู่แค่ตอนที่บอกที่มาของมหาเทพทั้งสามคือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงสร้างโลกและจักรวาลทุกปุราณะจะกล่าวในแนวทางเดียวกันทั้งหมด

          แนวทางแรกสันนิษฐานว่าเป็นของนิกายไวศณวะ โดยหลักการส่วนใหญ่จะกล่าว่า พระวิษณุนั้น เป็นเทพที่กำเนิดขึ้นก่อนเป็นพระองค์แรก ถึงแม้ว่าจะมีหลักการกำหนดไว้เช่นนั้น แต่วิธีการกำเนิดก็ยังแตกต่างกันดังนี้ ในแบบแรก เมื่อยุคบรรลัยหรือยุคที่น้ำท่วมจักรวาลผ่านพ้นไปครบตามกำหนดเวลา พระวิษณุทรงตื่นจากพระบรรทม จากนั้นทรงอวตารร่างเป็นพระพรหม แล้วจึงสร้างความเป็นเพศชายหรือปุรุษ (Purusha) และ ความเป็นเพศหญิงหรือประกฤติ (Prakriti) พระองค์ทรงรวมพระองค์เองเข้ากับปุรุษและกำเนิดคุณากรเป็นสามประการคือ สัตวะคุณะ หมายถึงความดีงาม ตมัสสะคุณะ หมายถึงความเลวทราม และรชัสสะคุณะ หมายถึงความดีงามและความเลวทรามผสมกัน เมื่อเกิดเป็นคุณากรทั้งสามแล้ว พระองค์จึงสร้างธาตุหลักทั้งห้าประการหรือมหาตัตวะขึ้นมาประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศหรือความว่างเปล่า พระองค์ทรงนำส่วนหนึ่งของพระองค์เองในฐานะความเป็นปุรุษ คุณากรทั้งสาม และมหาตัตวะทั้งห้าประการ นำเอาประกฤติมาหุ้มไว้กลายเป็นไข่สีทองคำใบหนึ่ง สุดท้ายแล้วไข่ใบนั้นก็ฟักออกมากลายเป็นพระวิษณุ เปลือกไข่ทางด้านบนกลายเป็นสวรรค์โลก (Svarga-loka) และเปลือกไข่ทางด้านล่างร่วงลงผืนน้ำกลายเป็นแผ่นดิน จะเห็นว่าในแบบแรกนั้น พระวิษณุอวตารเป็นพระพรหมก่อนในเบื้องต้น และสร้างพระวิษณุขึ้นมาพระองค์หนึ่งโดยการสร้างไข่สีทองคำ และด้วยพระวิษณุกำเนิดมาจากไข่ พระองค์จึงทรงพระนามว่า หิรัญครรภ์ (Hiranyagarbha)

          แบบแรกจะเห็นว่าพระพรหมนั้นกำเนิดขึ้นมาก่อน แตกต่างจากในแบบที่สอง ในแบบนี้องค์พระวิษณุมิได้ทรงอวตารเป็นพระพรหม แต่ทรงสร้างปุรุษและประกฤติ คุณากร และมหาตัตวะด้วยพระองค์เอง และทรงเข้าไปอยู่ในไข่ด้วยพระองค์เอง เมื่อพระองค์ถือกำเนิดออกมาจากไข่แล้ว พระองค์ทรงบรรทมลงบนผืนน้ำ จากนั้นจึงมีดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภี เมื่อดอกบัวบานออก ปรากฎเป็นพระพรหมมีสี่พระพักตร์ประทับตรงกลางดอกบัวนั้น พระวิษณุทรงตื่นบรรทมขึ้นอีกครั้ง และทรงมอบหมายหน้าที่ในการสร้างโลกให้แก่พระพรหมต่อไป

          แบบที่สามนั้นจะเริ่มต้นที่มหาเทพพระองค์หนึ่งชื่อพรัหมัณ (Brahman) พรัหมัณเป็นพลังงานที่ไม่มีรูปร่าง และอยู่ในทุกที่ของจักรวาล พรัหมัณทรงแบ่งร่างเป็นพระพรหมเพื่อสร้างโลก พระวิษณุเพื่อรักษาดูแลโลก ทรงสร้างน้ำขึ้นในจักรวาล และสร้างไข่สีทองคำ แล้วพระองค์ทรงเข้าไปอยู่ในไข่ใบนั้น ฟักออกมาเป็นพระพรหม พระพรหมทรงสวดมนต์ถึงพระวิษณุเพื่อขอร้องให้ทรงนำแผ่นดินขึ้นมาจากใต้น้ำ พระวิษณุทรงตื่นบรรทมขึ้น จากนั้นทรงอวตารเป็นหมูป่าหรือวราหะ (Varaha) แล้วดำลงใต้น้ำ ทรงใช้เขี้ยวทั้งสองข้างของพระองค์งัดนำแผ่นดินให้ลอยขึ้นมา และพระพรหมจึงเริ่มสร้างโลก

          ส่วนในแบบที่สี่นั้น เริ่มต้นที่มหาเทพชื่อว่า พระจักคัณณาฐ (Jagannath) มหาเทพแห่งจักรวาลทรงแบ่งภาคมาเป็นพระพรหม และพระวิษณุ ทรงสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ จนเกิดเป็นไข่ทองคำขึ้น พระองค์ทรงนำภาคแห่งพระพรหมเข้าไปไว้ในไข่ และฟักออกมาเป็นพระพรหม และเช่นเดียวกับเรื่องเล่าในแบบที่สาม พระพรหมทรงสวดมนต์ถึงพระวิษณุเพื่อให้พระวิษณุทรงนำผืนแผ่นดินขึ้นมาจากใต้น้ำ สัญลักษณ์ของพระจักคัณณาฐนั้น ทางผู้เขียนใช้เป็นภาพเริ่มต้นของบทความที่ผ่านมาทั้งหมดรวมถึงบทความนี้ด้วย

          ในแบบแรกนั้นพระวิษณุจะเป็นบุตรแห่งพระพรหม ส่วนในแบบที่สองนั้นพระพรหมจะเป็นบุตรของพระวิษณุ และในแบบที่สามและที่สี่นั้น พระพรหมและพระวิษณุมีศักดิ์เท่ากัน แต่ทัศนะผู้เขียนนั้น ผู้เขียนเห็นด้วยกับแบบแรกมากกว่า เนื่องจากจะเกิดความเหมาะสมในเรื่องราวมากกว่าในตอนหลัง ซึ่งสำหรับคนไทยนั้น อาจจะเคยชินกับการที่พระพรหมทรงกำเนิดจากดอกบัว ทั้งนี้เพราะเทวปกรณัมที่คนไทยรับชมทางโทรทัศน์นั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในแบบนิกายไศวะแทบทั้งสิ้น

          และประการสุดท้ายคือ นอกจากมหาศิวะปุราณะที่กล่าวว่าพระสรัสวดี (Saraswati) คือร่างแบ่งภาคของพระแม่อุมาเทวี (Uma) เป็นพระชายาของพระพรหม ปุราณะนอกเหนือจากนั้นทั้งหมด มิได้บอกที่มาหรือกำเนิดของพระสรัสวดีเลย คงบอกเพียงว่า พระแม่สรัสวดีนั้น เป็นพระแม่แห่งสายน้ำ เหมือนเช่นพระแม่คงคาเท่านั้น รวมทั้งเทพอีก 4 พระองค์คือ พระอัคนี (Agni) พระวายุ (Vayu) พระนางปฤฐวิ (Prithvi) และพระอาทิตย์หรือดวงสุริยะ (Surya) ก็มิได้มีปุราณะใดบอกที่มาอย่างชัดเจน แต่กลับพบว่ามีตัวตนขึ้นในภายหลัง ทางผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า พระอัคนี พระวายุ และพระนางปฤฐวินั้น กำเนิดตอนที่มหาเทพทรงสร้างมหาตัตวะธาตุทั้งห้านั่นเอง โดยพระอัคนีแทนธาตุไฟ พระวายุแทนธาตุลม และพระนางปฤฐวิแทนผืนแผ่นดิน และสุดท้ายพระอาทิตย์ หรือดวงสุริยะผู้ให้แสงสว่าง ในหลายปุราณะกล่าวว่า พระอาทิตย์หรือดวงสุริยานั้น เกิดขึ้นมาเมื่อไข่สีทองคำแตกออก และผู้เขียนก็เห็นด้วยในข้อนั้น เพราะความเชื่อในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง เคยเชื่อกันว่า พระสุริยาคือภาคหนึ่งของพระวิษณุ ผู้เป็นหิรัญครรภ์

          ในทางศาสนาพุทธนั้นเชื่อกันว่า หลังจากที่จักรวาลถูกทำลายไปแล้วนั้น ได้บังเกิดฝนห่าใหญ่ตกลงมา เม็ดฝนนั้นทยอยตกจากเม็ดเล็กมาก จนเม็ดฝนมีขนาดใหญ่เท่าต้นตาล ฝนตกจนน้ำนั้นเจิ่งนองทั่วทั้งจักรวาล ต่อมาน้ำนั้นก็ได้งวดเข้ากลายเป็นสวรรค์และพรหมชั้นต่าง ๆ จากนั้นตะกอนได้งวดเข้ากลายเป็นธาตุหยาบลอยอยู่เหนือน้ำโดยไม่จม มีสีเหลือง รสหวาน ทางศาสนาพุทธเรียกว่า ง้วนดิน

          "โดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำทั่วไป ได้ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้นเหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยวให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ฉะนั้นง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ ฉะนั้น" - อัคคัญสูตร

          เมื่อเกิดง้วนดินขึ้นแล้ว จึงมีต้นไม้เกิดขึ้น ต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นอันดับแรกคือ ดอกบัว ซึ่งจำนวนของดอกบัวนั้นมีตั้งแต่ 1 - 5 ดอก แต่จะไม่มากกว่า 5 ดอก หมายถึงจำนวนของพระพุทธองค์ซึ่งจะบังเกิดขึ้นในกัลป์นั้น โดยในกัลป์นี้ มีดอกบัวผุดขึ้น 5 ดอกเช่นกัน พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ พระนามว่าพระสมณโคดม เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่สี่ที่อุบัติขึ้นในโลก ส่วนพระองค์ที่ห้าคือพระศรีอาริยเมตไตร หลังจากที่ง้วนดินเกิดขึ้น พรหมที่ไม่ถูกทำลายและหมดบุญพวกหนึ่ง จุติลงจากชั้นพรหมลงมาเกิดบนง้วนดินโดยกำเนิดขึ้นทันใดเรียกว่า โอปปาติกะ พรหมเหล่านี้มีปิติเป็นอาหาร รัศมีแผ่ซ่านออกจากร่างกาย สัญจรไปในอากาศ และมีวิมานอันงาม ต่อมาจึงมีพรหมหนึ่งเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นใส่ปาก แลพรหมองค์อื่น ๆ ก็ทำตาม บังเกิดเป็นความอยากขึ้น เมื่อเกิดความยากขึ้นมากเข้า จึงนำมือปั้นง้วนดินเป็นคำเพื่อใส่ปาก และในตอนนี้เองที่รัศมีแห่งพรหมเริ่มเลือนหาย จึงเกิดเป็นดวงจันทร์และพระอาทิตย์ขึ้น และท้ายที่สุด ก็เกิดเป็นมนุษย์ มีเพศ เกิดการสมสู่กัน มนุษย์ในยุคหลังจึงกลายเป็นชลาพุชะ คือเกิดในครรภ์มารดา เกิดเป็นธัญญาพืช และเกิดเป็นสังคม และสุดท้ายเป็นนครของมนุษย์ขึ้น เรื่องราวการกำเนิดมนุษย์ในแบบพุทธนั้น ทางผู้เขียนเล่าแบบย่อ ผู้สนใจสามารถศึกษาเรื่องราวฉบับเต็มได้ในอัคคัญสูตร

          ในบทความนี้เห็นว่ายาวนานมากแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้ก่อน ในบทความต่อไป จะนำเสนอการกำเนิดโลกในแบบของนิกายไศวะ ซึ่งเมื่ออ่านแล้วจะน่าตื่นตาตื่นใจกว่านิกายไวศณวะมากนัก ให้ผู้อ่านได้ศึกษากันต่อไป

บรรณานุกรม
http://dou_beta.tripod.com/GL101_04_th.html
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B9
http://en.wikipedia.org/wiki/Hinduism

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าฮินดูของคนไทย






ความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าฮินดูของคนไทย

            คนไทยได้รับการเผยแพร่หลักการของศาสนาฮินดูมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา ซึ่งก่อนหน้านั้นในยุคสมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์มีลักษณะเป็นพ่อบ้านผู้นำชุมชน มีความใกล้ชิดกับราษฎรค่อนข้างมาก เห็นได้จากการที่ราษฎรในสมัยสุโขทัยมีสิทธิถวายฎีกา หรือร้องทุกข์โดยตรงต่อพ่อขุนโดยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้มีกระดิ่งแขวนไว้ที่ประตูวัง ถ้าใครต้องการถวายฎีกาก็ไปสั่นกระดิ่งพระองค์ก็จะทรงชำระความให้ ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ของไทยในสมัยสุโขทัยจึงใช้คำว่า พ่อขุน นำหน้าพระนามอยู่เสมอ พอมาในสมัยอยุธยาฐานะของพระมหากษัตริย์เริ่มเปลี่ยนไป โดยมีความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ จะเห็นได้จากชื่อของเมืองหลวงสมัยอยุธยาที่ชื่อ อยุธยา อันเป็นเมืองที่พระรามปกครองในวรรณกรรมของศาสนาฮินดูเรื่องรามมายณะ หรือในหนังเรื่องพระนเรศวร เราจะได้ยินผู้คนเรียกเมืองหลวงของไทยว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร แสดงให้เห็นว่าในยุคสมัยอยุธยา ความเชื่อและหลักการของศาสนาฮินดูได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อแนวความคิดของคนไทยในสมัยนั้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

            แต่เนื่องจากสมัยสุโขมัย คนไทยได้รับเอาศาสนาพุทธมานับถือกันอยู่ก่อนแล้ว และค่อนข้างมีความเหนียวแน่น ดังนั้นหากศาสนาฮินดูจะสามารถมีอิทธิพลกับคนไทยได้ วิธีการหนึ่งก็คือผสมไปกับศาสนาที่มีอยู่เดิม จึงเกิดเป็น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อันมีลักษณะเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างศาสนาฮินดู และนำเอาคำสั่งสอนหรือปรัชญาทางพระพุทธศาสนาบางประการเข้าไปผนวกอยู่รวมกัน เช่น พระมหากษัตริย์ไทยเป็นสมมติเทพ เป็นพระอวตารของพระนารายณ์ แต่ก็ทรงต้องตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม 10 ประการด้วยเช่นกัน การเป็นสมมติเทพขององค์พระมหากษัตริย์มาพร้อมกับหน้าที่ที่จะต้องปกปักรักษาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข เช่นเดียวกับหน้าที่ของพระนารายณ์ที่ต้องรักษาโลกให้อยู่เย็นเป็นสุข เป็นต้น

            หรือหากจะศึกษาให้ลึกลงไปอีกในรายละเอียด คงไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงในเรื่องของไสยเวทย์ได้ เพราะเวทย์มนต์คาถานั้นก็ถือเป็นหนึ่งในคัมภีร์พระเวทเช่นกัน โดยเวทย์มนต์คาถาของฮินดูนั้นถูกบรรจุอยู่ในคัมภีร์อาถรรพ์เวท แต่เวทย์มนต์คาถาของศาสนาพราหมณ์ฮินดู นอกจากจะมีการสรรเสริญองค์เทพเจ้าแล้ว ยังมีการสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ด้วย ก่อนที่จะกล่าวสรรเสริญเทพเจ้า แสดงให้เห็นว่า คนไทยนั้นนับถือพระพุทธเจ้าอยู่สูงสุดมาแต่ไหนแต่ไร และเห็นว่า นิพพาน มีอยู่จริง เทพเจ้าแม้จะอยู่สูงสักเท่าไร หรือมีอำนาจมากแค่ไหน ก็หาอาจจะเทียบกับพระพุทธองค์ซึ่งประทับอยู่ในแดนนิพพานนั้นได้ไม่ ซึ่งอันที่จริงแล้วถือเป็นข้อเด่นของประเทศไทย หาใช่ข้อด้อย เพราะการพรรณนาให้ผู้คนเชื่อโดยอาศัยอิทธิปาฏิหารย์เพื่อให้คนกลัวและยำเกรงนั้น ง่ายกว่าการนำคำสอนมอบให้กับคนโดยตรง เนื่องจากสิ่งแรกที่คนจะกระทำเมื่อได้รับการสอนสั่งก็คือการตอบโต้และการไม่เห็นด้วยไม่เชื่อฟัง และยิ่งกับพระมหากษัตริย์ที่หาอาจจะมีผู้ใดกล้าสั่งสอนได้แล้วนั้น กระบวนการปลูกฝังระเบียบแบบแผนทางการปกครองยิ่งจะต้องกระทำอย่างละมุนละม่อมที่สุด โดยเริ่มแรกคือการนำเสนอเรื่องสมมติเทพ จากนั้นจึงโยงเข้ากับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ทำให้พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยโบราณ มีการปกครองที่คำนึงถึงประชาราษฎรเป็นหลัก ไม่เหมือนการพระมหากษัตริย์ของต่างประเทศ และเนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัตริย์ไทยที่สืบเนื่องกันมาแต่โบราณนี้เอง สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจึงสามารถยืนยงคงอยู่ได้ตราบเท่าทุกวันนี้ และทางผู้เขียนก็ยังจินตนาการไม่ออกว่า หากประเทศไทยไร้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เสียแล้ว คนไทยจะเป็นอย่างไร

             ความเชื่อของคนไทยตั้งแต่อดีตจึงผูกพันธ์กับสองศาสนาคือ ศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มาโดยตลอดเวลา คณะลิเก คณะลำตัด คณะหนังตลุง คณะดนตรีไทย รวมถึงคณะศิลปกรรมของไทยแท้ ๆ นั้น หรือช่างสิบหมู่เองก็จะต้องบูชาเทพเจ้าซึ่งถือกันว่าเป็นครู เวลาสร้างสถานที่สำคัญก็ต้องมีการตั้งศาลพระภูมิ และบางครั้งหากสถานที่นั้นมีลักษณะใหญ่โต ก็ต้องมีการตั้งศาลพระพรหม นัยหนึ่งก็เพื่อที่จะเตือนสติว่า ผู้นำของแต่ละบ้านนั้น ควรจะมีลักษณะความเป็นพรหม คือ มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา หาไม่แล้ว คนที่อยู่ในสถานที่แห่งนั้นก็จะไม่เป็นสุข จะเห็นได้ว่าผูกพันเหนียวแน่นกันจนแยกกันไม่ออก

             แล้วด้วยทางผู้เขียนเห็นว่า สังคมในยุคปัจจุบันนั้น ผู้ที่เข้าใจหลักการของศาสนาฮินดูอย่างผิด ๆ นั้นมีอยู่มากมาย คนที่มองมาที่ศาสนาฮินดูและเข้าใจว่า เทพเจ้านั้นทรงบันดาลได้ทุกอย่างหากคน ๆ นั้นบูชามีอยู่มาก บางคนหมดค่าบูชาเป็นเงินหลายบาท ยังไม่นับการเข้าใจผิดอีกหลายประการเกี่ยวกับศาสนาฮินดูของคนไทย ทางผู้เขียนจึงอยากจะเขียนเรื่องราวของเทพเจ้าโดยจำกัดวงอยู่แค่การกำเนิดโลกและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์เท่านั้น

             นับว่าความเชื่อของคนไทยในเรื่องเทพเจ้านั้น แตกต่างจากคนอินเดียที่เขานับถือเทพเจ้าอย่างจริงใจ เขามิได้นับถือเพราะว่าเทพเจ้าบันดาลอะไรได้ทุกอย่าง แต่เขานับถือเพราะเทพเจ้าสอนบางอย่างแก่เขา หลักคำสอนของศาสนาฮินดูนั้นโดยหลักใหญ่ใจความคือ ความกตัญญู หากผู้ใดไม่มีความกตัญญูต่อบิดามารดาแล้ว ต่อให้สวดมนต์ถึงเทพเจ้าอย่างไร เทพเจ้าก็ไม่ช่วย นั่นคือหลักการสำคัญของศาสนาฮินดูที่คนไทยไม่เคยรู้ เช่นเดียวกับที่ศาสนาพุทธสอนคนไทยว่า บิดามารดาคือพระอรหันต์ในบ้าน ควรจะทำบุญหรือกระทำความดีต่อพระอรหันต์ในบ้านเสียก่อนที่จะไปทำบุญหรือทำความดีกับผู้อื่น เนื่องจากศาสนาพุทธเชื่อว่า การเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก เปรียบประดุจว่ามีห่วงหนึ่งลอยอยู่ในมหาสมุทร โอกาสที่ปลาตัวหนึ่งจะกระโจนลอดห่วงนั้นทั้งแสนยาก แสนนาน แสนลำบากที่จะเกิดขึ้น นั่นคือความยากของการเกิดเป็นมนุษย์ ดังนั้นแล้วบุคคลที่ทำให้เราเกิด ย่อมมีบุญคุณใหญ่หลวง เพราะมนุษย์นั้น เป็นจุดเปลี่ยนเดียวที่จะทำให้วิญญาณหนึ่งดวง แปลงร่างจากวิญญาณผู้มีกรรมหนักต้องอยู่ในนรก ให้กลายเป็นพระอรหันต์ได้ ซึ่งสามารถศึกษาได้จากประวัติของพระสิวลี พระอรหันตสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะครับ

ภาพยนต์เทพเจ้าฮินดูในประเทศไทย

             เป็นสิ่งที่แน่นอนว่า คนไทยโดยส่วนมากจะบูชาเทพเจ้าได้นั้น ต้นกำเนิดย่อมจะไม่ใช่เข้าไปหาพราหมณ์ฮินดู แต่คนไทยส่วนใหญ่ศึกษาศาสนาฮินดูผ่านจากภาพยนต์เทพเจ้าฮินดูที่มีฉายกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับคำพรรณนาหรือต่อยอดจากคนไทยหัวใจฮินดูแบบไม่รู้จริงด้วยกันเอง กลายเป็นความเชื่อความศรัทธาที่ไม่มีคำถาม ไม่มีคำตอบ และไม่ต้องการเหตุผลใด ๆ จนบางครั้งเลยเถิดต้องหมดเงินไปเยอะเพราะความเชื่ออย่างนั้น ๆ

             หากเราชมภาพยนต์ที่เกี่ยวกับเทพเจ้าฮินดูอย่างละเอียด มิได้มุ่งหวังเพียงจะรับรู้การต่อสู้หรือปาฎิหารย์ในการอำนวยพรของเทพเจ้าแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว เราจะสามารถรับรู้หลักคำสอนมากมายที่อยู่ในภาพยนต์นั้นได้อย่างครบถ้วน ยกตัวอย่างเช่น การกระทำที่ไม่ดีที่เทพไม่ชอบมีอะไรบ้าง การกระทำดีที่เทพชอบนอกจากการสวดมนต์ภาวนาถึงเทพเจ้านั้นมีอะไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่เข้าใจ ย่อมไม่เข้าถึง และมองศาสนาฮินดูอย่างผิวเผิน และแน่นอนว่ารวมไปถึงความขัดแย้งในเรื่องเทพเจ้าต่าง ๆ ของศาสนาฮินดูที่คนจำพวกหนึ่งมองว่างมงาย และคนจำพวกหนึ่งมองว่ามีอยู่จริง

             ทางผู้เขียนก็เป็นบุคคลหนึ่งที่เชื่อว่า เทพเจ้าทุกพระองค์มีอยู่จริง เพียงแต่ศาสนาฮินดูนั้นมีหลายนิกายและเล่ากันไปเหมือนภาพยนต์คนละม้วนเท่านั้น แต่เทพทุกพระองค์ก็ยังทรงมีอยู่จริง เช่นที่ศาสนาพุทธได้วางหลักการไว้ ศาสนาพุทธสอนให้มนุษย์เพียรพยายามพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเบื้องหลังโลกมนุษย์อันเป็นรูปธรรม ยังมีนามธรรมอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นตัวแปรสามารถเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ได้เช่นกัน เช่น เจ้ากรรมนายเวร เทพยดา เทพเจ้า มารทั้งหลาย เป็นต้น ดังนั้นแล้วสองสิ่งนี้ต้องกระทำคู่กัน คือการเคารพความสามารถของมนุษย์ และการเคารพความสามารถของเทพเจ้า เหมือนคำกล่าวของจีนที่ผู้เขียนเคยได้ยินว่า คนจะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องเก่งบวกเฮง ถ้าเฮงแต่ไม่เก่งก็สำเร็จได้แต่ไม่ตลอด ถ้าเก่งแต่ไม่เฮงประสบความสำเร็จได้แต่ไม่สูงสุดเพราะไม่ได้รับโอกาสที่ดี บทความนี้เป็นการแสดงที่มาของความเชื่อคนไทย บทความหน้าจะเป็นเรื่องของศาสนาฮินดูจริงที่เกิดขึ้น ผู้อ่านอาจจะค้นพบว่า ความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าของคนอินเดียนั้น เมื่อเดินทางมาถึงเมืองไทยแล้ว กลับกลายเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากทีเดียว

วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ฮินดู พุทธ พัฒนาการจากเทวนิยมสู่อเทวนิยม


ศาสนาฮินดูในยุคเริ่มแรก

             ศาสนาฮินดู เป็นศาสนาของชาวภารตะ โดยเริ่มแรกนั้นชาวอารยันนั้นมีลักษณะของการนับถือผีสางและอำนาจต่าง ๆ ทางธรรมชาติที่ตนไม่สามารถอธิบายได้ ทั้งนี้เพราะชาวอารยันในสมัยพระเวทดำรงชีวิตอยู่ใกล้กับธรรมชาติมาก คือดำรงชีวิตอยู่ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมากกว่าที่จะตีตัวออกจากธรรมชาติเสียหมด ฉะนั้นศาสนาของชาวอารยันจึงเป็นเรื่องของศาสนาของจักรวาล เราสามารถสังเกตเทียบเคียงได้กับวิชาโหราศาสตร์ภารตะ เริ่มแรกนั้นวิชาโหราศาสตร์ยังเป็นเพียงวิชา ดาราศาสตร์ ที่เฝ้าสังเกตพระอาทิตย์ กลายเป็นคัมภีร์สุริยะสิทธานตะ จากการเฝ้าสังเกตพระอาทิตย์ ได้พัฒนาไปถึงการสังเกตพระจันทร์ รวมถึงดาวเคราะห์อื่น ๆ บนท้องฟ้า วิชาดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์ของชาวอารยัน รวมถึงชาวดราวิเดียนนั้น เป็นเครื่องหมายของการอยู่กับธรรมชาติโดยแท้จริง

             ในคัมภีร์ฤคเวทซึ่งเป็นคัมภีร์เริ่มแรกของศาสนาฮินดูนั้น มีการสรรเสริญเทพอยู่เพียงแค่ 3 องค์เท่านั้น คือ พระอินทร์ (Indra) พระอัคนี (Agni) และพระวรุณ (Varuna) เท่านั้น มิได้มีคณะเทพหลากหลายเช่นทุกวันนี้ พระอินทร์เป็นเทพสูงสุด มีประวัติความเป็นมาสันนิษฐานว่าตอนที่ชาวอารยันได้บุกรุกเข้ามาในอินเดีย ชาวอารยันได้ต่อสู้เรื่อยมาโดยต้องทำสงครามกับชนเผ่าต่าง ๆ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามเป็นระยะ ๆ ไป ในที่สุดชาวอารยันก็ได้รับชัยชนะ และได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบปัญจาบ ในการทำสงครามครั้งนั้น ชาวอารยันมีบุคคลที่ชื่อว่า อินทรา เป็นผู้นำ ชาวอารยันจึงตั้งให้พระอินทร์เป็นเทพไป ในคัมภีร์ฤคเวทนั้นถือว่าพระอินทร์เป็นเทพแห่งบรรยากาศ มีอาวุธคือ วัชระ หรือสายฟ้า พระอินทร์จึงเป็นเทพเจ้าที่ทำลายปีศาจแห่งฝนแล้งและความมืด เป็นผู้ป่าวประกาศให้ฝนตก เพื่อชุบชีวิตให้มนุษย์และสัตว์ในอินเดีย

             พระอัคนี นั้นสันนิษฐานว่าเกิดจากการใช้ไฟในการบูชา ในคัมภีร์ฤคเวทนั้นพระอัคนีมีความโดดเด่นรองจากพระอินทร์องค์เดียวเท่านั้น พระอัคนีมีสามรูปคือ ในโลกมีรูปเป็นไฟ ในบรรยากาศคือแสงสว่าง และในสวรรค์มีรูปเป็นดวงอาทิตย์ ดังนั้นหน้าที่ของพระอัคนีในฐานะที่เป็นไฟสำหรับการบูชายัญของพวกพราหมณ์ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพในสรวงสวรรค์

             พระวรุณ เป็นเพทผู้บริหารกฎจักรวาล ซึ่งทำพฤติกรรมทั้งปวง ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ บรรดามีในโลกนี้ให้ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ เช่น พระวรุณเทพ ทรงขยายโลกนี้ออกไปและทรงทำให้ดวงอาทิตย์เคลื่อนย้ายไปได้ และทรงเป็นผู้ที่หลั่งฝนลงมา

             ในยุคเริ่มแรกนั้น การบูชาเทพเจ้าเน้นในเรื่องการบูชายัญ ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ทำพิธีในยุคแรกคือพ่อบ้านหรือแม่บ้านของแต่ละครอบครัว พิธีก็จัดทำกันง่าย ๆ ไม่ต้องศาลหรือเทวาลัย เมื่อจะสังเวยเทพก็เอาเครื่องสังเวยวางไว้กับพื้นดิน แล้วกล่าวคำสดุดีหรือสรรเสริญเทพ อ้อนวอนของความช่วยเหลือตามที่ตนต้องการ จากนั้นจึงเกิดเป็นพิธีขึ้น มีข้อกำหนดวางไว้มากมาย ถ้าผู้ใดไม่ได้เรียนรู้มาก่อนก็ทำเองไม่ได้ หรือแม้จะฝืนทำเองพิธีนั้นก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์ จึงเกิดเป็นพวกพราหมณ์ขึ้น แล้วพวกพราหมณ์นี้เองก็ได้เพิ่มเติมเสริมสิ่งต่าง ๆ ขึ้นในพิธี ให้ซับซ้อนมากขึ้น มีองค์ประกอบและข้อกำหนดให้มากขึ้น เกิดเป็นคัมภีร์พระเวทขึ้น เวทแปลว่าความรู้ หมายถึง ความรู้ที่ช่วยคนให้ได้รับความสงเคราะห์จากเทพเจ้า

             ต่อมาพวกพราหมณ์ก็เริ่มมีอิทธิพลต่อสังคมชาวอารยันมากขึ้น พิธีบูชายัญนั้นหากไม่มีพราหมณ์ ก็ไม่สามารถกระทำพิธีได้ พราหมณ์จึงมีความสำคัญขึ้นมาเพราะเป็นพวกเดียวที่เรียนรู้เวทย์มนต์คาถา และยังอ้างว่ามีอำนาจลึกลับอีกด้วย ถือว่าตนเป็นสื่อกลางระหว่างพระเป็นเจ้ากับมนุษย์ ในกาลต่อมาพราหมณ์ก็มีอำนาจมากขึ้น และมีอิทธิพลมากในวงการต่าง ๆ ในทุกวรรณะ พิธีกรรมเริ่มมีหลากหลายมากขึ้น และการทำพิธีแต่ละครั้งเริ่มมีข้อกำหนดในเรื่องของสิ่งของเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การทำพิธีของพราหมณ์กลายเป็นสิ่งที่สิ้นเปลือง และสุดท้ายวรรณอื่นก็เริ่มที่จะไม่พอใจการกระทำของวรรณะพราหมณ์

             คัมภีร์อุปนิษ เป็นคัมภีร์สุดท้ายของยุคพระเวท เป็นเครื่องหมายถึงการพัฒนาทางความเชื่อของชาวภารตะ ความก้าวหน้าทางความคิดและจิตใจ เริ่มมีความสงสัย และแสวงหาเหตุผล หรือปรัชญา แสดงถึงความไม่พอใจต่อการบูชาแบบมีพิธีกรรมบูชายัญต่อเทพต่าง ๆ ตามคัมภีร์พระเวท และแสดงความไม่พอใจต่อการครอบงำของวรรณะพราหมณ์ พราหมณ์ที่ตระเวนบำเพ็ยเพียรต่างแสวงหาเหตุผลของตนเอง ซึ่งในท้ายที่สุดก็มีศาสนาที่เกิดขึ้นใหม่และได้รับการยอมรับจากผู้คนส่วนมากอยู่ 2 ศาสนาด้วยกันคือ ศาสนาเชนและศาสนาพุทธ

             ซึ่งทั้งสองศาสนานี้ ต่างปฏิเสธการบูชาเทพเจ้า โดยศาสนาเชนเองนั้นมีพฤติกรรมที่ปฏิเสธการบูชาเทพเจ้าอย่างเด็ดขาด เพราะมีความเห็นว่า การบูชาเทพเจ้านั้น ไม่ช่วยให้คนกลายเป็นคนดีได้ และไม่อาจจะช่วยเหลือให้เรื่องร้ายกลายเป็นเรื่องดีได้จริง ๆ และความเชื่อที่เหมือนกันอีกประการคือ การปฏิเสธในเรื่องของวรรณะ เพราะเห็นว่าบุคคลทุกคนย่อมเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกันทั้งหมด และคุณค่าของมนุษย์นั้นอยู่ที่การกระทำ มิใช่เกิดจากวรรณะที่บุคคลนั้นเกิดมา

             หลาย ๆ คนที่เป็นพุทธศาสนิกชนเอง ก็ยังเข้าใจว่า ศาสนาพุทธเราเป็น อเทวนิยม หมายถึง การปฏิเสธเรื่องเทพเจ้า แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ของศาสนาพุทธคือ ศาสนาพุทธยอมรับการมีอยู่ของเทวดา มาร และพรหม ยอมรับการมีอยู่ของสวรรค์และนรก ผู้ที่ทำความดีย่อมขึ้นสวรรค์ และผู้ที่ทำความชั่วย่อมจะถูกลงโทษในนรก ดังนั้นแม้ว่าศาสนาพุทธจะเป็นอเทวนิยม แต่เราก็ไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของเทวดาเหล่านั้นเช่นกัน โดยดูจากบทสวดมนต์รัตนสูตรดังนี้ว่า

             ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข
             สัพเพ วะ ภูตา สุมะนา ภะวันตุ อะโถปิ สักกัจจะ สุณันตุ ภาสิตัง
             ตัสมา หิ ภูตา นิสาเมถะ สัพเพ เมตตัง กะโรถะ มานุสิยา ปะชายะ
             ทิวา จะ รัตโต จะ หะรันติ เย พะลิง ตัสมา หิ เน รักขะถะ อัปปะมัตตา ฯ

             แปลว่า หมู่ภูตประจำถิ่นเหล่าใด ประชุมกันแล้วในนครนี้ก็ดี เหล่าใดประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี ขอหมู่ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้ดีใจและจงฟังภาษิตโดยเคารพ เพราะเหตุนั้นแล ท่านภูตทั้งปวงจงตั้งใจฟัง กระทำไมตรีจิต ในหมู่มนุษยชาติ ประชุมชนมนุษย์เหล่าใด ย่อมสังเวยทั้งกลางวันกลางคืน เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่ประมาท รักษาหมู่มนุษย์เหล่านั้น

             แสดงให้เห็นว่า ศาสนาพุทธนั้นยอมรับถึงเรื่องที่มีเทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหลายในโลก โดยเรียกท่านทั้งหลายเหล่านั้นว่า หมู่ภูต และยอมรับว่ามนุษย์ที่กระทำการบูชาสรรเสริญต่อหมู่ภูตนั้น สมควรที่จะได้รับการสงเคราะห์จากหมู่ภูตนั้นด้วยเช่นกัน

             ดังนั้นในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า แม้ว่าในทัศนะของนักประวัติศาสตร์ จะมองว่าการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธินั้นเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย และเกิดขึ้นจากความกลัวปรากฏการณ์ธรรมชาติของมนุษย์ก็ตาม แต่ในหลักการทางศาสนาพุทธนั้น ยอมรับว่าสิ่งศักดิ์สิทธิเหล่านั้นมีอยู่จริง แต่แม้ว่าศาสนาพุทธจะยอมรับว่าสิ่งศักดิ์สิทธิมีอยู่จริงก็ตาม ศาสนาพุทธเองก็สอนให้มนุษย์นั้น พึ่งตนเอง เสียก่อนที่จะเพิ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ และการพึ่งตนเองนั้นถือเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า รวดเร็วกว่าเพราะไม่ต้องรอพึ่งใครทั้งสิ้น ดังคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสว่า

             อัตตา หิ อัตตโน นาโถ - ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน - โก หิ นาโถ ปโร สิยา - คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ - อัตตนา หิ สุทันเตนะ - หากว่าบุคคลมีตนที่ฝึกดีแล้ว - นาถัง ลภติ ทุลลภัง - ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้โดยยาก แปลง่าย ๆ ว่า หากเราสามารถพัฒนาตนเองให้เก่งกาจขนาดว่าพึ่งตนเองได้ไม่ต้องไปพึ่งใครแล้ว เราก็จะได้ที่พึ่งที่หาได้ยากยิ่ง และไม่จำเป็นจะต้องง้อใครอีกต่อไป

             ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่า เป็นหน้าที่ของนักโหราศาสตร์ภารตะ ที่จะต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องเทพเจ้าของฮินดู ให้คนทั่วไปได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง นับถือศรัทธาในแนวทางที่ถือว่าเป็น ภูต ที่คอยรักษามนุษย์ แต่มิใช่ว่านับถือจนงมงาย เช่นที่หลาย ๆ คนในทุกวันนี้เป็นกัน