วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีทั้ง 12 ดาวฤกษ์ทั้ง 27 ในกลุ่มดาวดาราศาสตร์สากล ตอนที่ 4



ความเบื้องต้น

                 วันนี้จะเป็นการอธิบายกลุ่มดาวราศีตุลย์และพิจิก ซึ่งกลุ่มดาวพิจิกนี้ ถือได้ว่าเป็นกลุ่มดาวที่มีความสวยงามกลุ่มดาวหนึ่งบนท้องฟ้า


                 ถัดจากกลุ่มดาวหญิงสาวราศีกันย์แล้วก็คือกลุ่มดาวตาชั่ง (Libra – ลิบรา, ไลบรา) ของราศีตุลย์ กลุ่มดาวตาชั่งเป็นกลุ่มดาวเดียวในจักรราศีที่เป็นสิ่งของมิใช่สัตว์หรือมนุษย์ ทำให้ตำนานของกลุ่มดาวตาชั่งแท้ ๆ นั้นไม่มี มีแต่ตำนานที่เชื่อมโยงกันเท่านั้น ซึ่งตำนานนี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มดาวหญิงสาว ในเบื้องต้นนั้นกลุ่มดาวหญิงสาวเป็นกลุ่มดาวของเทพีดีมีเทอร์ แต่ในอีกตำนานหนึ่งกลุ่มดาวหญิงสาวเป็นกลุ่มดาวของเทพีอัสทราเอีย (Astraea) เทพีแห่งความยุติธรรม และกลุ่มดาวตาชั่งคือตาชั่งที่เทพีถืออยู่เป็นประจำ เรื่องราวนี้คงเป็นเพียงตำนานเดียวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดาวตาชั่ง

                 จากกลุ่มดาวสวาติ ลงมาทางด้านล่างคือกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ (corona borealis) หรือทางโหราศาสตร์อินเดียเรียกว่ากลุ่มดาววิสาขะ อันเป็นกลุ่มดาวที่บ่งบอกถึงวันสำคัญทางศาสนาพุทธคือวันวิสาขะปูรณมีบูชานั่นเอง เมื่อเลยวันสงกรานต์ พระอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษแล้ว วันเพ็ญแรกหลังจากวันสงกรานต์ จะเป็นวันวิสาขะบูชา เพราะสันนิษฐานได้ว่า พระจันทร์เข้าสู่วิสาขะฤกษ์ในราศีตุลย์

                 กลุ่มดาวแมงป่อง (Scopius – สกอปิอุส, สกอปิอัส) ของราศีพิจิก เป็นกลุ่มดาวที่มีความสวยงามมากบนท้องฟ้า แต่ในปัจจุบันนี้เนื่องจากแสงสว่างบนพื้นดินมีมาก เราจึงไม่สามารถมองเห็นดาวในกลุ่มดาวนี้ได้ครบทุกดวงอีกต่อไป แต่ก็ยังดีกว่ากลุ่มดาวปูของราศีกรกฎ เพราะว่าจะไม่สามารถมองเห็นได้เลยหากอยู่ในเมืองหลวง และแม้แต่ออกไปต่างจังหวัด ก็ยังมองเห็นกลุ่มดาวปูได้ยากอยู่ดี ในกลุ่มดาวแมงป่องยังมีกลุ่มดาวฤกษ์ทางโหราศาสตร์อินเดียถึง 3 กลุ่มดาวด้วยกันคือ กลุ่มดาวอนุราธ กลุ่มดาวเชษฐะ และกลุ่มดาวมูลละ ในกลุ่มดาวแมงป่องนี้มีดาวส่องสว่างดวงหนึ่งที่มีความสำคัญคือดาวปาริชาติ หรือดาวแอนทาเรส (Antares) ซึ่งศาสนาคริสต์เชื่อว่ามันเป็นดาวตัวแทนของเทวทูตโอริเอล (Oriel) ผู้พิทักษ์สรวงสวรรค์ทางทิศตะวันตก ตำนานของกลุ่มดาวแมงป่องจะเชื่อมโยงกับตำนานของกลุ่มดาวนายพราน โดยกลุ่มดาวแมงป่องนี้คือ แมงป่องที่เทพีไกอาส่งมาฆ่านายพรานโอไรออน ทำให้กลุ่มดาวโอไรออนต้องหนีกลุ่มดาวแมงป่องบนท้องฟ้า เมื่อกลุ่มดาวโอไรออนลับขอบฟ้าไปแล้วทางทิศตะวันตก กลุ่มดาวแมงป่องก็จะขึ้นมาในทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

                 ตำนานของกลุ่มดาวแมงป่องจบลงเพียงสั้น ๆ เท่านั้น ข้าง ๆ กับกลุ่มดาวแมงป่องคือกลุ่มดาวคนแบกงู (ophiucus) ซึ่งเป็นราศีที่ 13 ของระบบดาราศาสตร์สากล ต่อไปคือเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มดาวฤกษ์ โดยกลุ่มดาวฤกษ์กลุ่มแรกในกลุ่มดาวแมงป่องคือ กลุ่มดาวอนุราธ ส่วนประกอบหลักคือดาว 3 ดวงที่เป็นส่วนหัวของกลุ่มดาวแมงป่อง เรียงลำดับจากซ้ายไปขวาคือ ดาวแจ๊บบาห์ (Jabbah) อะแคร๊บ (Acrab) และดสคุบบา (Dschubba) อีกทั้งยังมีดาวข้าง ๆ อีกด้านละ 1 หนึ่งรวมกันเป็น 5 ดวงมีลักษณะคล้ายคันธนู ทางโหราศาสตร์ไทยจึงเรียกว่ากลุ่มดาวคันธนู แต่ในปัจจุบัน ดาวทางด้านข้างนั้นอาจจะไม่สามารถมองเห็นได้แล้ว คงเหลือเพียงดาว 3 ดวงตรงกลางเท่านั้น

                 กลุ่มดาวฤกษ์เชษฐะ ในคัมภีร์โหราศาสตร์ของหลวงวิศาลดรุณกรก็มีเนื้อหาแตกต่างกัน ในส่วนของการระบุตำแหน่งนั้น ท่านระบุว่าคือดาว 3 ดวงตรงกลางกลุ่มดาวแมงป่อง หมายถึง ดาวแอนทาเรส หรือดาวปาริชาติตรงกลางบริเวณตัวของแมงป่อง บวกกับดาวทางด้านบนหนึ่งดวงและด้านล่างอีกหนึ่งดวง รวมเป็น 3 ดวงคือกลุ่มดาวเชษฐะ แต่ในส่วนเนื้อหาที่เป็นนิทาน กลับบรรยายว่ากลุ่มดาวเชษฐะนั้น มีลักษณะเป็นงูเลื้อยเหมือนพญานาค และดาว 3 ดวงดังกล่าวไปนั้นโหราศาสตร์ไทยก็เรียกว่ากลุ่มดาวคอพญานาค ทำให้เชื่อได้ว่ารูปลักษณะที่แท้จริงของกลุ่มดาวเชษฐะคือ ลักษณะของดาวเรียงกันคดไปคดมาเหมือนงู แต่ดาว 4 ดวงที่ลากเส้นประออกจากลำตัวของแมงป่องนั้น ปัจจุบันไม่สามารถมองเห็นได้แล้ว คงเหลือแต่ดาวที่เรียงกันเป็นลำตัวของแมงป่องเท่านั้น คือเริ่มต้นนับจากดาวก่อนหน้าดาวแอนทาเรสเป็นลำดับหนึ่ง ดาวแอนทาเรสเป็นลำดับสอง นับเรื่อยไปจนถึงลำดับที่แปด ทั้งหมดนี้คือกลุ่มดาวเชษฐะ

                 กลุ่มดาวมูลละ ทางโหราศาสตร์ไทยเรียกว่ากลุ่มดาวช้างน้อย ส่วนประกอบหลักก็คือดาว 4 ดวงตรงหางของกลุ่มดาวแมงป่อง แต่อันที่จริงแล้วกลุ่มดาวช้างน้อยนั้นมีดาวทั้งหมด 9 ดวง ดาวอีก 5 ดวงที่ลากเส้นประนั้นเป็นดาวมีแสงน้อยมาก จึงไม่สามารถมองเห็นได้หรือมองเห็นได้ยากมาก กลุ่มดาวมูลละจึงเหลือเพียง 4 ดวงที่เป็นของส่วนหางของกลุ่มดาวแมงป่องนั่นเอง

                 ยิ่งผู้เขียนรวบรวมเรื่องราวของดวงดาวในโหราศาสตร์มากเท่าไหร่ ผู้เขียนก็ยิ่งรู้สึกน้อยใจ ที่ตอนนี้ท้องฟ้าในยามค่ำคืน ไม่ได้มีดวงดาวพร่างพราวเหมือนสมัยโบราณอีกแล้ว ท้องฟ้ายามค่ำคืน มีความสวยงามลดน้อยลงไปมากทีเดียว

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ
ผู้ใดที่สนใจเรียนโหราศาสตร์ภารตะฟรี (ไม่เก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น) สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 082 - 454 - 6554
หรือสามารถดูรายละเอียดได้ในเนื้อของบล๊อคนี้ ในเดือนเมษายน ปี 2015 นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น