วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีทั้ง 12 ดาวฤกษ์ทั้ง 27 ในกลุ่มดาวดาราศาสตร์สากล ตอนที่ 1



ความในเบื้องต้น

                 ในศาสนาคริสต์ตอนที่พระเยซูถือกำเนิดนั้น พระคัมภีร์ได้กล่าวไว้ว่ามีโหราจารย์ 3 คน มาเป็นพยานการถือกำเนิดของพระเยซู ดังนี้คือ เมลคีออร์ (Melchior) แห่งเปอร์เซีย คัสปาร์ (Caspar) แห่งอินเดีย และบัลธาซาร์ (Balthassar) แห่งบาบิโลเนีย จะเห็นว่าโหราจารย์ทั้ง 3 นั้นมีคนหนึ่งเป็นชาวอินเดีย แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะมีชาวจีนกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า หนึ่งในนั้นน่าจะมีนักโหราจารย์ชาวจีนด้วยเหมือนกัน เพราะหลักการทางดาราศาสตร์สมัยโบราณของดินแดนในแถบลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติสก็ดี ลุ่มแม่น้ำสินธุก็ดี หรือลุ่มแม่น้ำฮวงโหก็ดี มีความคล้ายคลึงกันจนแทบจะแยกกันไม่ออก เนื่องจากอายรธรรมในแถบนี้ มีหลักเกณฑ์ของกลุ่มดาวเหมือนกันคือ 28 กลุ่มนักษัตร รวมกันแล้วเป็น 12 ราศี แตกต่างกันตรงจำนวนของดาวที่ประกอบกันเป็นกลุ่มดาว อาจจะแตกต่างกันตามวัฒนธรรม แต่โดยส่วนมากแล้วก็จะมีตำแหน่งเดียวกันบนท้องฟ้า ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักจะกล่าวกันว่าโหราศาสตร์ไทยนั้นมีดาวฤกษ์ 27 กลุ่ม ส่วนของจีนนั้นมี 28 กลุ่ม ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ว่าจะของอินเดีย ของไทย หรือของจีน ต่างก็มีกลุ่มดาวฤกษ์ 28 กลุ่มทั้งสิ้น เพียงแต่ลุ่มดาวฤกษ์ลำดับที่ 28 นั้น มีอาณาเขตแคบเกินจนไร้ความสำคัญ นักโหราศาสตร์จึงตัดออกจากสารบบ คงสืบทอดมาเพียง 27 กลุ่มเท่านั้น หากมองในแง่นี้ชาวจีนก็มิได้มีมากไปกว่าอินเดียหรือไทยเท่าใดนัก และอาจจะเป็นไปได้ว่า กลุ่มดาวฤกษ์ 28 กลุ่มของชาวจีนนั้น ชาวจีนก็มิได้คิดเอง เพราะประวัติศาสตร์ของชนชาติจีนก็ยอมรับกันว่า วิชาบางอย่างได้รับมาจากสำนักเรียนแบเทือกเขาหิมาลัยทั้งสิ้น รวมถึงพุทธศาสนาด้วยเหมือนกันต่มีการปรับเปลี่ยนไปในตอนหลังให้เข้ากับวัฒนธรรมและความเข้าใจของคนจีน เช่นที่เกิดกับพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน



                 รูปภาพทางด้านบนเป็นรูปของจานดินเหนียวอันมีตัวอักษรคูนิฟอร์ม เป็นจานดินเหนียวที่ถูกค้นพบบริเวรเมืองนิเนเวห์ ปัจจุบันอยู่ใกล้ ๆ เมืองโมซูล ประเทศอิรัก ในสมัยก่อนนั้นเมืองนิเนเวห์เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองของพวกอัสซิเรียน (Assyrian) โดยมีการขุดพบห้องสมุดของจักรพรรดิ์อาซูร์บานีปาล (Ashurnasirpal) ซึ่งครองราชย์ 668-327 ปีก่อนคริสตกาล มีการค้นพบจานดินเหนียวที่บันทึกเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์นี้เป็นนับพันอัน ซึ่งอันที่นำมาเป็นรูปภาพนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ได้บันทึกเหตุการณ์เกิดดาวเคราะห์น้อยชนโลกเอาไว้เมื่อประมาณ 3123 ปีก่อนคริสต์กาล และเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงทำลายเมืองโซดอม (Sodom) และโกโมร่า (Gomorrah) ในคัมภีร์ไบเบิล สิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันถึงกับอึ้งและทึ่งก็คือ นักดาราศาสตร์สมัยก่อน สามารถบอกได้ว่าดาวเคราะห์น้อยนี้พุ่งมาจากกลุ่มดาวใด เวลาใด และมีองศาการพุ่งเข้ามาในทิศทางใด จนนักวิทยาศาสตร์สามารถนำมาคำนวณหาจุดตกกระทบบนพื้นโลกได้เลยทีเดียว แสดงว่านักดาราศาสตร์สมัยก่อนนั้นมีความแม่นยำทางดาราศาสตร์อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันแปลกใจอย่างมาก สำหรับผู้เขียนแล้วสิ่งนี้ไม่น่าแปลกใจเลยสักนิดเดียว เพราะหากดูจากคัมภีร์สุริยาตร์ของไทยที่ได้รับมาจากอินเดียแล้ว จะเห็นว่าเราสามารถคำนวณการโคจรของดาวเคราะห์ได้มานานแล้ว

                 ผู้เขียนมีความเห็นว่าในเมื่อวิชาโหราศาสตร์ มีรากเหง้ามาจากวิชาดาราศาสตร์ ผู้เขียนจึงทำการค้นคว้าข้อมูลในเรื่องดาราศาสตร์สากลในเรื่องของกลุ่มดาวราศี เพื่อเชื่อมโยงถึงกลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 27 กลุ่มของทางโหราศาสตร์อินเดีย นักโหราศาสตร์ไทยจำนวนมาก ใช้ฤกษ์ทั้ง 27 ในการหาเวลาพึงประกอบกิจการมาเป็นเวลาช้านาน และผู้เขียนสันนิษฐานคงมีจำนวนไม่มากนัก ที่จะรู้ว่ากลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 27 นั้นอยู่ตรงส่วนไหนบ้างของท้องฟ้ายามค่ำคืนเมื่อเราแหงนมองท้องฟ้า หลังจากผู้เขียนศึกษาเรื่องกลุ่มดาวราศีและกลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 27 นี้ ผู้เขียนก็สามารถมองเห็นพระพฤหัสบดีและพระเสาร์ได้ด้วยตาเปล่า เพราะทราบตำแหน่งอยู่แล้วจากปฏิทินของอาจารย์ทองเจือ อ่างแก้ว เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า ตำแหน่งดาวนั้นตรงกับท้องฟ้าจริงเมื่อยามแหงนหน้าขึ้นไปมองในทุกครั้ง

                 สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอันดับแรกมี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ดาวที่อยู่ในแผนภูมิดาราศาสตร์นี้ เราอาจจะไม่สามารถมองเห็นดาวบางดวงหรือแม้กระทั่งบางกลุ่มดาวได้อีกต่อไป เพราะว่าบนพื้นดินมีหลอดไฟหลายดวงที่เปิดไว้ในตอนกลางคืน อย่างเช่น แสงหน้ารถยนต์ แสงไฟตามถนนหลวง แสงไฟของบ้านเรือนประชาชน เป็นต้น ทำให้มีแสงส่องขึ้นฟ้าจนกลบแสงของดาวบางดวงจนหมด ในสมัยก่อนนั้นกองไฟหนึ่งกองมีแสงสว่างอยากมากประมาณไม่เกิน 100 เซนติเมตร แต่หลอดไฟในปัจจุบันนี้หลอดเดียว มีรัศมีการส่งสว่างเป็นเมตรทำให้เราไม่สามารถมองเห็นดาวบางดวงได้อีกต่อไป เรื่องที่สองคือ ชาวอินเดียเรียกกลุ่มดาวทั้ง 12 ราศีว่า ราศี (Rasi) และเรียกกลุ่มดาวทั้ง 27 ฤกษ์ว่า นักษัตร (Nakshatra) แต่คนไทยกลับใช้คำว่านักษัตรกับราศี และเรียก กลุ่มดาวนักษัตรทั้ง 27 กลุ่มว่า ฤกษ์ ดังนั้นเพื่อความคุ้นชินและความเข้าใจของคนไทย ผู้เขียนจึงขอใช้คำว่า กลุ่มดาวฤกษ์ ตามแบบคนไทย 

ดาราศาสตร์สากล สู่กลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 27 




                 หากทุกท่านประสงค์จะศึกษาเรื่องกลุ่มดาวนี้ด้วยตาตนเอง ผู้เขียนขอแนะนำให้เริ่มตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมประมาณ 20.00 น. ทุกท่านจะเห็นกลุ่มดาวนายพรานหรือกลุ่มดาวโอไรออน (Orion) ดังรูป คนไทยจะเรียกว่ากลุ่มดาวเต่า การเริ่มต้นที่กลุ่มดาวนี้จะเป็นการง่ายที่สุด เพราะเป็นกลุ่มดาวที่สวยงามกลุ่มดาวหนึ่งในท้องฟ้า ตรงกลางกลุ่มดาวเต่านั้นจะมีดาวเรียงกันสามดวงเรียกว่า เข็มขัดนายพราน (Orion's Belt) ซึ่งชาวอียิปต์เชื่อว่ากลุ่มดาวนายพรานนี้เป็นกลุ่มดาวแห่งกษัตริย์ และดาวสามดวงนี้ก็เป็นต้นกำเนิดการสร้างปิรามิดที่เมืองกีซ่า ประเทศอียิปต์ เนื่องจากปิรามิดดังกล่าว เรียงตัวในแนวเดียวกันดาวทั้งสามด้วงนี้ ในกลุ่มดาวนายพรานนี้ในส่วนหัวจะเป็นสามเหลี่ยม คนไทยเรียกว่ากลุ่มดาวหัวเต่า แต่ในทางโหราศาสตร์คือกลุ่มดาวมฤคศิระ ฤกษ์ลำดับที่ 5 ของจักรราศี ความสำคัญของกลุ่มดาวมฤคศิระจะอยู่ที่ดาวตรงกลาง อันเป็นจุดสิ้นสุดเขตของราศีพฤษภในด้านท้ายติดต่อกับราศีเมถุน

                 ย้อนขึ้นไปทางด้านบนเราจะเห็นกลุ่มดาววัว มีดาวที่รวมกันเป็นสามเหลี่ยม ตรงนั้นคือกลุ่มดาวโรหิณี ฤกษ์ลำดับที่ 4 กลุ่มดาววัวหรือกลุ่มดาวเทารัส (Taurus เป็นกลุ่มดาวของราศีพฤษภ ทุกกลุ่มดาวนั้นจะมีเรื่องราวประกอบทั้งสิ้น หากเป็นกลุ่มดาวทั้ง 12 ราศีก็จะเป็นเรื่องราวเทพปกรณัมของกรีกโรมัน แต่หากเป็นของดาวฤกษ์ทั้ง 27 นี้ก็จะเป็นของคติทางไทยเป็นส่วนมาก แต่เนื่องจากหากนำเสนอเรื่องราวนิทานของกลุ่มดาวฤกษ์แล้วจะทำให้เนื้อหามีจำนวนมาก ดังนั้นขอให้ผู้อ่านที่สนใจติดตามอ่านนิทานของกลุ่มดาวฤกษ์ได้ในหนังสือคัมภีร์โหราศาสตร์ไทยมาตรฐานของหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงจะนำเสนอเฉพาะนิทานที่เกี่ยวกับกลุ่มดาวทั้ง 12 ราศีเท่านั้น

                 ในกลุ่มดาววัวนี้มีดาวสำคัญคือดาวอัลเดบาแรน (Aldebaran) หรือทางไทยเรียกว่าดาวตาวัว เป็นกลุ่มดาวที่มีความสำคัญกับศาสนาคริสต์ เนื่องจากชาวเปอร์เซียเชื่อว่า ในท้องฟ้านี้มีดาวอยู่ 4 ดวง อันเป็นตัวแทนของผู้พิทักษ์สรวงสวรรค์ทั้ง 4 ทิศ (Guardians of Heaven) ดาวอัลเดบาแรนคือดาว 1 ใน 4 เปอร์เซียเรียกว่า ทาสเชเตอร์ (Tascheter) เป็นตัวแทนของเทวทูตไมเคิลหรือมิคาเอล (Michael) ผู้พิทักษ์สวรรค์ทางทิศตะวันออก ตำนานของกลุ่มดาววัวนั้นเริ่มต้นจากพระราชาอจีนอร์ (Agenor) แห่งโฟนีเซีย (Phoenicia) พระองค์มีบุตรสาวชื่อยูโรปา (Europa) วันหนึ่งขณะที่ยูโรปากำลังเก็บดอกไม้อย่างเพลิดเพลิน มีวัวสีขาวตัวหนึ่งเดินมาใกล้ ๆ ยูโรปาก็เข้าไปเล่นกับวัวตัวนั้น วัวตัวนั้นก็หมอบลงกับพื้นเป็นสัญญาณให้ยูโรปาขึ้นขี่หลัง ยูโรปาก็ลองขึ้นขี่หลังวัว ทันใดนั้นเองวัวสีขาวตัวนั้นก็ออกวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปถึงเกาะครีต (Crete) จากนั้นวัวขาวก็แปลงร่างกลับคืนเป็นเทพเจ้าซุสตามเดิม และทรงรับยูโรปาเป็นพระชายาอีกคน เทพเจ้าซุสและยูโรปามีบุตรชายด้วยกัน 3 คน คือ ไมนอส (Minos) เป็นพระราชาของเกาะครีต ราดามันทัส (Rhadamanthus) และซาปิดอน (Sarpedon) ซึ่งต่อมาทั้งสามคนกลายเป็นผู้พิพากษาในนรก

                 ถัดจากกลุ่มดาววัวขึ้นไปเป็นกระจุกดาวลูกไก่หรือไพลยาดิส (Pleiades) ในทางโหราศาสตร์อินเดียและไทยก็เรียกว่ากลุ่มดาวกฤติกา กลุ่มดาวกฤกติกานี้เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นขอบเขตของราศีพฤษภ กลุ่มดาวลูกไก่นี้ในทางดาราศาสตร์สากลจะบอกว่ามี 9 ดวง ประกอบด้วย มายา (Maia) อิเล็กตรา (Electra) ไทยิตตา (Taygeta) อัลไซโอนี (Alcyone) เชลิโน (Celaeno) แอสเตโรพี (Asterope) และมิโรพี (Merope) และอีก 2 ดวงทางด้านท้ายคือแอตลาส (Atlas) และพระนางไพลยานี (Pleione) บิดามารดาของพวกนาง ตำนานกระจุกดาวลูกไก่นี้เริ่มต้นจากนายพรานคนหนึ่งชื่อโอไรออน เขามักจะล่าสัตว์พร้อม ๆ กับสุนัขตัวเก่งที่ชื่อซิริอุสเป็นประจำ ซึ่งต่อมานายพรานคนนี้และสุนัขคู่ใจของเขาก็ได้เป็นกลุ่มดาวเช่นกัน วันหนึ่งนายพรานโอไรออนมาเจอกับพี่น้องไพลยาดิสทั้ง 7 คน เกิดหลงรักพวกนางเข้าจึงวิ่งเข้ามาหาพวกนางหมายจะเกี้ยวพาราสี พี่น้องทั้ง 7 ตกใจจึงพากันวิ่งหนี นายพรานเห็นดังนั้นก็วิ่งตาม วิ่งไล่วิ่งตามกันเช่นนี้อยู่ 7 ปี เทพซุสจึงเสกให้พี่น้องไพลยาดิสทั้ง 7 กลายเป็นนกพิราบและขึ้นไปสถิตบนท้องฟ้าเป็นกระจุกดาวลูกไก่

                 ไกลออกไปเป็นระยะทางเท่ากับระยะของกระจุกดาวลูกไก่และกลุ่มดาววัว เราจะเจอดาวอันเป็นส่วนหางของกลุ่มดาวแกะ (Aries) ของราศีเมษ ดาวที่เป็นส่วนหางนี้อันที่จริงแล้วจะต้องมีดาวอีก 2 ดวงอยู่ใกล้ ๆ รวมกันเป็น 3 ดวง คนไทยเรียกว่ากลุ่มดาวก้อนเส้า ในทางโหราศาสตร์ก็เรียกว่า กลุ่มดาวภรณี หรือดาวแม่ไก่ แต่ดาวอีก 2 ดวงนั้นเราไม่สามารถเห็นได้อีกต่อไปแล้ว คงจะเห็นเพียงดาวที่เป็นส่วนหางของกลุ่มดาวแกะเท่านั้น ตำนานของกลุ่มดาวแกะนั้นเริ่มต้นที่พระราชาพระองค์หนึ่ง ชื่อว่าอาธามัส (Athamus) ผู้ปกครองเมืองโบอีเทีย (Boetia) พระองค์มีพระราชีนีองค์หนึ่งชื่อพระนางเนเพเล่ (Nephele) และมีบุตร 2 คนคือเจ้าชายพริซัส (Phrixus) และเจ้าหญิงเฮเล่ (Helle) แต่มาพระราชาอาธามัสทรงแต่งงานใหม่กับพระนางไอโน่ (Ino) และมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง พระนางไอโน่ทรงริษยาบุตรของพระนางเนเพเล่ จึงออกอุบายให้นำเอาเมล็ดพืชที่จะใช้เพาะปลูกทั้งหมดไปเผา ทำให้เป็นเมล็ดที่ตายแล้วไม่สามารถงอกได้ พระราชาอาธามัสทรงเข้าใจผิดว่าเป็นภัยพิบัติจึงปรึกษากับนักบวช นักบวชก็แนะนำว่าให้นำเจ้าชายพริซัสและเจ้าหญิงเฮเล่บูชายัญต่อเทพเจ้า ในระหว่างที่พระราชาทรงกำลังจะบูชายัญเจ้าชายและเจ้าหญิง พระนางเนเพเล่ทรงสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากเทพซุส (Zeus) เทพซุสจึงทรงประทานแกะทองคำมาช่วยเจ้าชายและเจ้าหญิงขี่ในเสี้ยววินาทีสุดท้ายและพาบินหนีไป ในระหว่างทางพอมาถึงช่องแคบระหว่างยุโรปและเอเซีย เจ้าหญิงเฮเล่ก็ทรงร่วงลงทะเลเสียชีวิต ซึ่งบริเวณที่เจ้าหญิงเฮเล่ทรงร่วงลงไปนั้นยังถูกเรียกว่า เฮลเลสปอนท์ (Hellespont) ปัจจุบันคือเมืองชานักกาเลในประเทศตุรกี เจ้าชายได้ขี่แกะเดินทางมาถึงเมืองคอลคิส (Colchis) พระราชาอาเอเตส (Aeëtes) ผู้ปกครองเมืองคอลคิสก็ไห้การต้อนรับเจ้าชายเป็นอย่างดี เจ้าชายก็ทรงฆ่าแกะทองคำตัวนั้นเพื่อ  บูชายัญแก่เทพเจ้าและนำขนแกะซึ่งเป็นทองคำถวายแด่พระราชาเอเตส พระราชาเอเตสก็นำขนแกะทองคำไปแขวนยังต้นไม้ต้นหนึ่งและให้มังกรตัวหนึ่งเฝ้าไว้

                 และสุดท้ายเมื่อเอาดาวปลายสุดของกลุ่มดาวปลาราศีมีนคือดวงทางขวาสุด รวมกับดาว 3 ดวงของกลุ่มดาวแกะ รวมกับดาว 3 ดวงของกลุ่มดาวสามเหลี่ยม และสุดท้ายคือดาวในกลุ่มดาวแอนโดรเมดาอีก 1 ดวง จะได้เป็นรูปม้า กลายเป็นกลุ่มดาวอัศวิณี กลุ่มดาวฤกษ์ลำดับแรกของจักราศี จะเห็นว่าจุด 0 องศาราศีเมษ คือ ดาวทางด้านขวา อันเป็นดาวปลายสุดของราศีมีนนั่นเอง และในทิศทางตรงข้าม 180 องศาจากดาวปลายสุดของราศีมีนนี้ คือ ดาวสไปกา (Spica) ในกลุ่มดาวหญิงสาวของราศีกันย์ ซึ่งเราจะได้ติดตามในตอนต่อไป 

                 หากจะเรียงลำดับดาวโดยแท้จริงแล้วจะต้องเริ่มตั้งแต่กลุ่มดาวอัศวิณี กลุ่มดาวแกะ ดาวภรณีฤกษ์ลำดับ 2 กระจุกดาวลูกไก่กฤติกาฤกษ์ลำดับ 3 กระจุกดาวหน้าวัวโรหิณีฤกษ์ลำดับ 4 และสุดท้ายกลุ่มดาวมฤคศิระฤกษ์ลำดับที่ 5 

1 ความคิดเห็น: