วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีทั้ง 12 ดาวฤกษ์ทั้ง 27 ในกลุ่มดาวดาราศาสตร์สากล ตอนที่ 2






ความในเบื้องต้น

                 ในคราวที่แล้วนั้นเราได้ทำการศึกษาเรื่องของกลุ่มดาวราศีเมษ และพฤษภกันไปแล้ว ซึ่งเราก็ได้รับรูุ้กลุ่มดาวอัศวิณี ภรณี กฤติกา โรหิณี และมฤคศิระ กันไปแล้ว ในวันนี้จะเป็นการศึกษากลุ่มดาวราศีเมถุนและกรกฎ รวมถึงกลุ่มดาวอารทรา       ปุณรวสุ และบุษยะ กันต่อไป



                 ประมาณต้นเดือนมราคมตอนประมาณ 21.00 น. ที่ท้องฟ้าทิศตะวันออก มุมเงยประมาณ 45 องศา เราจะเห็นกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini – เจมีนี่) เป็นกลุ่มดาวที่หาไม่ยาก หากว่าเราลากเส้นจากเขาของกลุ่มดาววัว และไหล่ของกลุ่มดาวนายพรานก็จะเจอกับขาของกลุ่มดาวคนคู่ ดาวที่เด่นในกลุ่มดาวคนคู่คือดาวคัสเตอร์และดาวพอลลักซ์ ชื่อคนคู่ของกลุ่มดาวราศีเมถุนมาจากดาวคู่นี้ซึ่งชาวกรีกเรียกดาวทั้งสองดวงนี้ว่า ดาวแฝด ชาวกรีกจะมองเห็นกลุ่มดาวราศีเมถุนและดาวทั้งสองนี้ตอนหัวค่ำประมาณเดือนธันวาคม แสดงให้เห็นว่าพระอาทิตย์ได้เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ช่วงเวลานี้เป็นเวลาสิ้นสุดของพายุฤดูหนาว ชาวเรือสามารถออกเรือหาปลาหรือเดินทางได้โดยสะดวก บนเรือของชาวกรีกจะมีหิ้งบูชาเทพคัสเตอร์และพอลลักซ์เพื่ออธิษฐานให้เดินทางได้โดยปลอดภัย ถัดจากดาวพอลลักซ์จะเชื่อมต่อไปที่ดาวอันเป็นส่วนขาปู กลุ่มดาวปูจะปรากฎในทางทิศตะวันออกช่วงประมาณ 21.00 น. ในเดือนมกราคม บริเวณสำคัญคือกระจุกดาวรวงผึ้ง (Beehive Cluster) ที่อยู่ตรงกลางกลุ่มดาวปู ในภาษาละตินจะเรียกกระจุกดาวนี้ว่า เปรเซเป (Presepe) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในคัมภีร์โหราศาสตร์ไทยของหลวงวิศาลดรุณกร อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าในปัจจุบันนี้มีแสงไฟจากหลอดไฟจำนวนมากที่ส่องขึ้นท้องฟ้า ทำให้เราอาจจะเห็นกลุ่มดาวปูเหลือแค่เพียงขาหนึ่งข้างที่อยู่ใกล้กับกลุ่มดาวสุนัขเล็ก และแขนอีก 2 ข้างทางด้านล่างเท่านั้น รวมกันแล้วจะเป็นรูปตัว Y ส่วนขาอีกข้างที่อยู่ใกล้กับกลุ่มดาวคนคู่และกระจุกดาวรวงผึ้งตรงกลางนั้น เราไม่สามารถจะมองเห็นได้อีกต่อไปแล้ว

                  ตำนานของกลุ่มดาวคนคู่ของกรีกนั้นเริ่มต้นที่เทพซุสได้ตกหลุมรักพระนางเลดา (Leda) มเหสีของพระราชา      ไทน์ดาริอุส (Tyndareus) แห่งสปาตาร์ (Sparta) เทพซุส (Zeus) จึงสั่งให้เทพเฮอร์เมส (Hermes) เทพแห่งการค้าและการสื่อสารบุตรของพระองค์แปลงเป็นนกอินทรีย์ ส่วนเทพซุสจะแปลงเป็นหงส์ ซึ่งหงส์ตัวนี้ก็กลายเป็นกลุ่มดาวในท้องฟ้า จากนั้นก็ทำแผนการให้หงส์บินหนีนกอินทรย์จนมาถึงที่ประทับของพระนางเลดา พระนางเลดาทรงเห็นดังนั้นก็ทรงกอดหงส์เอาไว้และไล่นกอินทรีย์ไป เทพซุสในร่างของหงส์ก็ใช้โอกาสนี้เสพสมกับพระนาง ในคืนนั้นเองขณะที่พระองค์ทรงหลับ พระองค์ก็ได้คลอดไข่สองใบออกมา ใบหนึ่งมีเด็กชายหญิง 2 คนคือคาสเตอร์ (Castor) และไคลเทมเนสตร้า (Clytemnestra) ซึ่งเด็กทั้งสองคนนี้เป็นมนุษย์ธรรมดาจึงถือว่าเป็นบุตรของพระราชาไทน์ดาริอุส และไข่อีกใบหนึ่งแตกออกเป็นเด็กหญิง 2 คนคือพอลลักซ์ (Pollux) และเฮเลน (Helen) ซึ่งทั้งสองคนเป็นอมตะ จึงอนุมานได้ว่าเด็กทั้ง 2 คนนี้เป็นลูกของเทพซุส คาสเตอร์และพอลลักซ์เติบโตมาด้วยกันและเรียนมาด้วยกัน คาสเตอร์จะเก่งทางด้านฟันดาบ ส่วนพอลลักซ์จะเก่งทางด้านชกมวย ท้ายที่สุดนั้นทั้งคู่ได้ไปร่วมงานแต่งงานระหว่างฝาแฝดไอดัส (Idas) และไลน์ชุส (Lynceus) กับฟีเบ (Phoebe) และฮิราเอย์ร่า (Hilaira) คาสเตอร์และพอลลักซ์เกิดตกหลุมรักเจ้าสาวขึ้น ทำให้คาสเตอร์และพอลลักซ์ตรงเข้าฉุดเจ้าสาวและเกิดการต่อสู้กันระหว่างเจ้าบ่าวและคาสเตอร์กับพอลลักซ์ ไลนเชอุสได้เอาดาบแทงคาสเตอร์ตาย พอลลักซ์เห็นดังนั้นจึงฆ่าไลนเชอุส ไอดัสเห็นพี่ชายตายจึงเข้าทำร้ายพอลลักซ์ แต่ยังไม่ทันจะถึงตัว เทพซุสก็ขว้างสายฟ้ามาถูกไอดัสตาย พอลลักซ์เสียใจมากเพราะตนเองเป็นอมตะไม่สามารถตายไปพร้อมคาสเตอร์ได้ พอลลักซ์จึงอ้อนวอนให้เทพซุสบิดาของตนช่วยเหลือ เทพซุสจึงบันดาลให้คาสเตอร์เป็นอมตะและนำทั้งสองขึ้นไปสถิตในท้องฟ้า

                 กลุ่มดาวคนคู่แห่งราศีเมถุนนั้นในส่วนท้าย 2 ดวงกับดาวอิสระ 1 ดวง และกลุ่มดาวยูนิคอร์นอีก 1 ดวงรวมกันเป็นรูปฉัตร ด้วยเหตุนี้คนไทยจึงเรียกกลุ่มดาวอารทราว่ากลุ่มดาวฉัตร ส่วนทางศีรษะของกลุ่มดาวคนคู่ คือ ดาวคาสเตอร์และพอลลักซ์จะเป็นดาว 2 ดวงที่เป็นส่วนหัวเรือ ดาว 2 ดวงของกลุ่มดาวสุนัขเล็กเป็นกลางสำเภา และกลุ่มดาวสุนัขใหญ่สุนัขคู่ใจของนายพรานโอไรออนเป็นท้ายสำเภา รวมกันแล้วกลายเป็นกลุ่มดาวปุณรวสุหรือกลุ่มดาวเรือสำเภา

                  ถัดจากกลุ่มดาวคนคู่ของราศีเมถุนก็คือกลุ่มดาวปู (Cancer - แคนเซอร์) ของราศีกรกฎ การหากลุ่มดาวราศีกรกฎนั้นหากเป็นสมัยโบราณคงไม่ยากเท่าไรนัก เพราะว่าดาวที่เป็นขาปูจะอยู่ใกล้กับดาวพอลลักซ์ แต่ในปัจจุบันนี้ดาวที่เป็นขาปูดังกล่าวอาจจะไม่สามารถมองเห็นได้แล้ว เพราะดาวขาปูดวงนี้เป็นดาวที่มีแสงน้อยมาก ดังนั้นกลุ่มดาวปูที่จะสามารถมองเห็นได้คือขาปูอีกข้างทางด้านซ้ายที่เหลือ และแขนของปูทั้ง 2 ข้างทางด้านล่างเท่านั้น รวมถึงกระจุกดาวรวงผึ้งตรงกลางนั้น ก็ถือว่าเป็นกระจุกดาวที่มีความสว่างน้อยกว่ากระจุกดาวลูกไก่มาก ดังนั้นในปัจจุบันเราก็อาจจะไม่สามารถมองเห็นกระจุกดาวรวงผึ้งได้เช่นกัน ตำนานของกลุ่มดาวปูของราศีกรกฎนั้นเริ่มต้นจากเรื่องของวีรบุรุษของตำนานกรีกคนหนึ่งชื่อว่า เฮอร์คิวลิส (Hercules) เนื่องจากตำนานเรื่องเฮอร์คิวลิสนั้นมีความยาวค่อนข้างมาก อีกทั้งรายละเอียดก็เกี่ยวข้องกับกลุ่มดาวปูเพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้น จึงขอบรรยายตำนานสั้น ๆ ดังนี้ว่า เฮอร์คิวลิสเป็นบุตรเทพซุสและนางอัลค์มีนี่ (Alcmene) ภรรยาของแม่ทัพแอมฟิทรีออน (Amphitryon) แห่งเมืองทีบีส (Thebes) โดยคืนหนึ่งที่แม่ทัพแอมฟิทริออนออกไปทำสงคราม เทพซุสก็ลักลอบเป็นชู้กับนางอัลค์มีนี่และมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือเฮอร์คิวลิส ด้วยเหตุนี้เองทำให้เทพีเฮร่า (Hera) มเหสีของเทพซุสไม่พอใจเป็นอย่างมาก เมื่อเฮอร์คิวลิสเติบโตขึ้นจนมีภรรยาและบุตรสามคน เทพีเฮร่าจึงบันดาลให้เขาคลุ้มคลั่งพลั้งมือฆ่าภรรยาและจับบุตรโยนเข้ากองไฟตายทั้งหมด เมื่อเฮอร์คิวลิสคืนสติขึ้นก็เศร้าเสียใจกับสิ่งที่ตนทำลงไปและคิดฆ่าตัวตาย ขณะที่เขากำลังจะฆ่าตัวตายนั้น ธีซีอุส (Theseus) ลูกพี่ลูกน้องของเขาก็เข้ามาห้ามและเตือนสติให้เฮอร์คิวลิสล้างบาปกรรมของเขาด้วยวิธีอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่าการฆ่าตัวตาย เฮอร์คิวลิสจึงเดินทางไปที่วิหารเทพอพอลโล่เพื่อเจอกับผู้ทำนายที่ชื่อเดลฟี (Delphi) เธอบอกให้เฮอร์คิวลิสเดินทางไปหาพระราชายูริสธีอุส (Eurystheus) ที่เมืองทิรินส์ (Tiryns) และทำทุกอย่างที่ยูริสธิอุสสั่งให้ทำ เฮอร์คิวลิสก็เดินทางไปหายูริสธีอุสและเขาก็ได้สั่งให้เฮอร์คิวลิสทำภารกิจ 12 อย่าง (Twelve Labors of Hercules) โดยภารกิจอย่างหนึ่งคือการฆ่างูไฮดร้า (Hydra)

                 งูไฮดร้านั้นอยู่อาศัยในบึงใกล้กับทะเลสาบเลอร์น่า (Lerna) ในอาร์โกลิส (Argolis) ซึ่งปัจจุบันนี้เลอร์น่าเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเพโลพอนนีส (Peloponnese) ประเทศกรีซ เลอร์น่าในปัจจุบันนี้ไม่มีทะเลสาบแต่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายทั้งซากปรักหักพังของวิหารต่าง ๆ และพิพิธภัณฑ์ที่มีวัตถุเก่าแก่มากมาย กลับมาที่เรื่องราวของเฮอร์คิวลิส เขาเดินทางไปต่อสู้กับงูไฮดร้าโดยมีลูกพี่ลูกน้องชื่อว่าไอโอเลาส์หรือไอโอเลอุส (Iolaus) คอยช่วยเหลือ งูไฮดร้านั้นมีหัวหลายหัว บ้างก็ว่า 7 หัว บ้างก็ว่า 9 หัว แต่จุดสำคัญคือหากตัดหัวงูไฮดร้าออก 1 หัว ก็จะงอกใหม่เป็น 2 หัวทันที ดังนั้นเมื่อเฮอร์คิวลิสตัดหัวงูแล้ว ไอโอเลอุสก็จะเอาเหล็กเผาไฟร้อน ๆ ยื่นให้เฮอร์คิวลิสเพื่อเอาไปนาบไว้ที่รอยแผลบริเวณคองูให้มันไหม้เกรียม หัวงูก็จะงอกใหม่ไม่ได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวทั้งหมดนี้รวมทั้งดาบทองคำที่เฮอร์คิวลิสใช้ก็ได้รับมาจากเทพีอาร์เทนน่า (Athena) เทพีแห่งปัญญาทั้งสิ้น ระหว่างที่เฮอร์คิวลิสสู้กับงูไฮดร้าอยู่นั่นเอง เทพีเฮร่าก็ส่งปูยักษ์ตัวหนึ่งมาช่วยงูไฮดร้า โดยเจ้าปูใช้ก้ามหนีบข้อเท้าของเฮอร์คิวลิสเอาไว้ เฮอร์คิวลิสจึงใช้เท้ากระทืบปูตาย และตัดหัวสุดท้ายของงูได้สำเร็จ แม้ว่างูจะโดนตัดหัวแล้วแต่มันก็ยังไม่ตาย เฮอร์คิวลิสจึงเอาหินก้อนใหญ่ทับหัวมันเอาไว้ เทพีเฮร่าเห็นความกล้าหาญของปูตัวนั้น จึงจับมันโยนขึ้นไปสถิตบนท้องฟ้ากลายเป็นกลุ่มดาวปูแห่งราศีกรกฎ

                 ในกลุ่มดาวราศีกรกฎนี้มีกระจุกดาวรวงผึ้งอยู่ตรงกลาง ในทางโหราศาสตร์อินเดียเรียกกระจุกดาวรวงผึ้งนี้ว่ากลุ่มดาวบุษยะ ในทางโหราศาสตร์ไทยเรียกว่ากลุ่มดาวสมอเรือ อาจจะเป็นเพราะอยู่ทางด้านล่างค่อนไปทางหัวเรือสำเภานั่นเอง


                  คราวหน้าจะเป็นการแนะนำกลุ่มดาวราศีสิงห์และราศีกันย์ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มดาวฤกษ์ทางโหราศาสตร์ถึง 7 กลุ่มดาวด้วยกันนะครับผม

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น