วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีทั้ง 12 ดาวฤกษ์ทั้ง 27 ในกลุ่มดาวดาราศาสตร์สากล ตอนที่ 3







ความเบื้องต้น

                 คราวที่แล้วผมได้เกริ่นไปแล้วว่า วันนี้ผมจะนำเสนอกลุ่มดาวสิงโตของราศีสิงห์ และกลุ่มดาวหญิงสาวของราศีกันย์ รวมทั้งกลุ่มดาวฤกษ์ที่อยู่ในอาณาเขตของทั้ง 2 ราศีมาให้ชมกันนะครับ เรามาดูแผนภาพหมู่ดาวตามภาพด้านล่างกันเลยครับ คราวนี้เราจะมีกลุ่มดาวมาเกี่ยวข้องหลายกลุ่มเลยทีเดียว


                 กลุ่มดาวสิงโต (Leo - ลีโอ) ของราศีสิงห์นี้ ประกอบไปด้วยกลุ่มดาวฤกษ์หลายกลุ่มด้วยกัน กลุ่มดาวสิงโตนั้นจะเริ่มตั้งแต่กลุ่มดาวอาศเลษาส่วนท้าย 2 ดวงที่ไม่ใช่เส้นประ โยงเส้นเรื่อยมาจนถึงดาวหัวใจสิงห์ แล้วโยงเส้นต่อจนถึงกลุ่มดาวปุรวผลคุณีและดาวทางด้านซ้ายของอุตรผลคุณี รวมกันเป็นกลุ่มดาวสิงโต ตำนานของกลุ่มดาวสิงโตของกรีกจะรวมอยู่ในตำนานเรื่องเฮอร์คิวลิสด้วยเช่นกัน โดยเริ่มต้นจากส่วนที่เฮอร์คิวลิสต้องปฏิบัติภารกิจ 12 ประการ ซึ่งภารกิจแรกนั้นเริ่มต้นด้วยการปราบสิงโตนีเมี่ยม (Nemean Lion) สาเหตุที่เรียกว่าสิงโตนีเมี่ยนเพราะว่ามันอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งของตำบลนีเมียแห่งเมืองอาร์โกลิส ไม่ไกลจากแหล่งที่อยู่ของงูไฮดร้านัก เป็นที่น่าแปลกว่าสัตว์ประหลาดในตำนานกรีกทุกตัวจะมีชื่อของตนเอง แต่สิงโตนีเมี่ยนกลับไม่มีชื่อของตนเอง แต่เรียกชื่อตามถิ่นที่อาศัยแทน ปัจจุบันนี้นีเมียเป็นตำบลหนึ่งในจังหวัดโครินเธีย (Corinthia) ประเทศกรีซ มีสถานที่ท่องเที่ยวอันสำคัญคือสนามกีฬาสมัยกรีกโบราณ วิหารของเทพซุส และพิพิธภัณฑ์ของโบราณ ที่สำคัญคือตำบลนีเมียนี้ยังเป็นแหล่งผลิตไวน์ชื่อดังของกรีซอีกด้วย กลับมาที่เรื่องของตำนาน สิงโตนีเมี่ยนเป็นสิงโตที่มีผิวหนังทนทานต่ออาวุธทุกสิ่งอย่าง ดังนั้นเมื่อเฮอร์คิวลิสเข้าต่อสู้กับสิงโตโดยใช้ทั้งธนูและดาบ ก็จึงไม่สามารถทำอะไรสิงโตได้ สุดท้ายแล้วเฮอร์คิวลิสจึงเอากระบองตีให้สิงโตมึนและใช้ลำแขนของตนเองรัดคอสิงโตจนตาย จากนั้นก็เอาเล็บของมันลับให้คมเพื่อถลกหนังของมันมาทำเป็นเสื้อคลุมยาว ซึ่งเฮอร์คิวลิสสวมใส่เป็นประจำเวลาจะไปทำการต่อสู้ เมื่อสิงโตตายแล้วเทพซุสจึงนำวิญญาณของมันไปสถิตบนฟ้า และถ้าเราสังเกตกลุ่มดาวที่เรียงตัวกันจะเห็นว่า กลุ่มดาวปู กลุ่มดาวงูไฮดร้า และกลุ่มดาวสิงโต เป็นกลุ่มดาวที่เรียงตัวอยู่ใกล้กัน

                 กลุ่มดาวสิงโตนั้นประกอบด้วยกลุ่มดาวของทางโหราศาสตร์อินเดียและไทยถึง 4 กลุ่มดาวด้วยกัน เริ่มจากกลุ่มดาวแรกคืออาสเลษา อันที่จริงแล้วฤกษ์อาศเลษานั้นเป็นฤกษ์สุดท้ายของราศีกรกฎ แสดงให้เห็นว่าทางดาราศาสตร์อินเดียนั้น กลุ่มดาวสิงโตจะไม่นับดาวสองดวงแรกรวมเข้าไว้ในกลุ่มดาวสิงโต คงจะเริ่มนับดาวที่อยู่ในกลุ่มดาวมาฆะเป็นจุดเริ่มต้นของราศีสิงห์ กลุ่มดาวอาศเลษานี้จะเป็นดาวที่เรียงตัวกัน 4 ดวง ซึ่งประกอบไปด้วยดาว 2 ดวงที่เป็นอิสระผนวกกับดาวอีก 2 ดวงที่เป็นของกลุ่มดาวสิงโตแบบสากล มีรูปร่างเหมือนกระพ้อมใส่ข้าว ทางโหราศาสตร์ไทยจึงเรียกว่ากลุ่มดาวกระพ้อม แต่หากพิจารณาจากรูปลักษณะแล้วน่าจะเหมือนกับกระบุงมากกว่า เพราะมีลักษณะเหมือนสี่เหลี่ยมคางหมู ความสำคัญของกลุ่มดาวอาศเลษาอีกประการคือ เป็นหนึ่งในกลุ่มดาวทั้ง 3 ที่แบ่งท้องฟ้าออกเป็น 3 บริเวณ โดยกลุ่มดาวทั้ง 3 นี้คือ อาศเลษา เชษฐะ และเรวตี ฤกษ์ทั้ง 3 ประการนี้ทางโหราศาสตร์อินเดียเรียกว่า คัณฑานตะ ในทางไทยเรียกว่าฤกษ์ขาด หรือนวางค์ขาด เพราะถือว่าเป็นฤกษ์ที่แบ่งท้องฟ้าออกเป็นสามส่วนขาดจากกันอย่างชัดเจน

                 กลุ่มดาวมาฆะ จะประกอบไปด้วยดาว 5 ดวง เรียงรายกันประหนึ่งงูเลื้อย ดังนั้นในทางโหราศาสตร์ไทยจึงเรียกกลุ่มดาวนี้ว่า กลุ่มดาวงูตัวผู้ ในกลุ่มดาวมาฆะนี้มีดาวที่สำคัญดวงหนึ่งคือ ดาวหัวใจสิงห์หรือดาวเรกูลัส (Regulus) ถือว่าเป็นดาวที่ส่องสว่างที่สุดของกลุ่มดาวสิงโต และเป็น 1 ใน 4 ดาวแห่งกษัตริย์ หรือดาวแห่งผู้พิทักษ์สวรรค์ ซึ่งชาวเปอร์เซียเรียกว่า วีแนนท์ (Venant) ถือว่าเป็นตัวแทนของเทวทูตราฟาเอล (Raphael) ผู้พิทักษ์สวรรค์ทางทิศเหนือ

                 ถัดมาทางด้านท้ายจะเป็นกลุ่มดาวปุรวผลคุณีและอุตรผลคุณี อันที่จริงแล้วทั้งสองกลุ่มดาวนี้ต้องรวมกันเป็นกลุ่มดาวเดียวกันเรียกว่า กลุ่มดาวผลคุณี ซึ่งโหราศาสตร์ไทยเรียกว่า กลุ่มดาวเพดาน เพราะดาวทั้ง 4 ดวงรวมกันจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม กลุ่มดาวอุตรผลคุณีนั้นประกอบไปด้วยดาวเดเนโบล่า (Denebola) ของกลุ่มดาวสิงโต และดาวทางด้านบนสุดของกลุ่มดาวหญิงสาวราศีกันย์อีก 1 ดวงที่ชื่อซาวิจาวา (Zavijava) เมื่อรวมกับกลุ่มดาวปุรวผลคุณีแล้วจะกลายเป็นดาวเพดาน คำว่าเดเนโบล่านั้นย่อมาจากคำว่า อัล-เดเน็บ-อัล-อาซาด (Al Dhanab al Asad) ในภาษาอาหรับ ซึ่งแปลว่าหางสิงโต ส่วนคำว่าซาวิจาวานั้น ก็มาจากภาษาอาหรับว่า อัล-ซาวิอาห์ (Al Zawiah) แปลว่ามุม หมายถึง มุมของปีกเทวทูตหญิงสาว

                 ถัดจากฤกษ์อุตรผลคุณีคือกลุ่มดาวหัสตะ กลุ่มดาวหัสตะนี้ในระบบดาราศาสตร์สากลคือกลุ่มดาวนกกาหรือกลุ่มดาวคอร์วัส (Corvus) กลุ่มดาวนกกานี้ก็มีตำนานเหมือนกัน ตำนานกล่าวว่าแต่ดั้งเดิมนั้นกามีเสียงที่ไพเราะและมีขนสีขาวสวยงาม เป็นสัตว์ที่คอยรับใช้เทพอพอลโล่ ซึ่งเป็นเทพแห่งพระอาทิตย์อยู่เสมอ วันหนึ่งเทพอพลอโล่ใช้ให้กาไปนำน้ำมาให้พระองค์ทรงดื่มแก้กระหาย นกกาก็นำถ้วยไปด้วยใบหนึ่งเพื่อจะไปตักน้ำ เมื่อมาถึงบ่อน้ำ สายตาของนกกาก็จับต้องไปที่ต้นมะเดื่อที่มีผลเต็มต้น แต่ผลมะเดื่อเหล่านั้นยังไม่สุกเต็มที่จึงยังกินไม่ได้ นกกาลืมคำสั่งของเทพอพอลโล่จนสิ้น เฝ้ารอผลมะเดื่อสุกเพื่อจะได้กินผลมะเดื่อนั้น เวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ในที่สุดผลมะเดื่อก็สุก นกกากินผลมะเดื่อจนอิ่ม ทันใดนั้นนกกาก็นึกถึงคำสั่งของเทพอพอลโล่ขึ้นมาได้ เลยคิดหาวิธีไม่ให้เทพอพอลโล่ตำหนิตน ตนจึงเอาถ้วยตักน้ำในบ่อ และจิกเอางูน้ำไปด้วยตัวหนึ่ง เมื่อกลับมาหาเทพอพอลโล่แล้วจึงทูลว่าที่ตนล่าช้านั้นเพราะว่ามีงูน้ำมีพิษขวางเอาไว้ เทพอพอลโล่รู้ว่านกกาโกหก ทรงสาปนกกาให้มีสีดำและมีเสียงเหมือนประหนึ่งคนคอแห้งไปตลอดกาล จากนั้นพระองค์ก็จับนกกา ถ้วยน้ำ และงูน้ำนั้นโยนขึ้นไปบนท้องฟ้ากลายเป็นกลุ่มดาวนกกา ถ้วยน้ำ และงูไฮดร้า

                 กลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo - เวอร์โก) ของราศีกันย์ เป็นกลุ่มดาวที่มีอาณาเขตบริเวณกว้าง อันมีกลุ่มดาวหัสตะอยู่ในอาณาเขตนั้นด้วยเช่นกัน ในทางโหราศาสตร์อินเดียนั้น ราศีกันย์ประกอบไปด้วยฤกษ์อุตรผลคุณี 3 บาทฤกษ์ หัสตะ 4 บาทฤกษ์ และจิตรา 2 บาทฤกษ์ ซึ่งตรงกลางฤกษ์จิตราคือดาวรวงข้าวหรือดาวสไปกา (Spica)   ดาวจิตราหรือดาวสไปกานี้เป็นเครื่องหมายของการสิ้นสุดขอบเขตราศีกันย์ในทางโหราศาสตร์อินเดีย แต่ในทางดาราศาสตร์สากลแล้วดาวรวงข้าวนี้เป็นเพียงช่วงมือของหญิงสาวเท่านั้น ยังมีดาวที่แทนส่วนลำตัวช่วงล่างต่อไปอีก จะเห็นได้ว่าขอบเขตของราศีจักรหากยึดตามกลุ่มดาวราศีทั้ง 12 ราศีนั้นจะได้ขอบเขตแบบหนึ่ง แต่หากยึดตามกลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 27 ฤกษ์ก็จะได้ขอบเขตอีกแบบหนึ่ง ความสำคัญอีกประการของดาวสไปกาคือ การเป็นจุดตรงข้ามของ 0 องศาราศีเมษอันเป็นจุดเริ่มต้นของจักรราศี หรือกล่าวได้ว่าดาวสไปกาคือจุด 180 องศาของจุดเริ่มต้นจักรราศี คำว่า สไปกา นั้นมาจากคำว่า Spike ที่แปลว่า รวงข้าว หากให้กล่าวโดยจำเพาะก็ต้องกล่าวว่าเป็นรวงข้าวสาลี (Ear of Wheat)

                  คัมภีร์สุริยะสิทธานตะ (Surya siddhanta) ฉบับแปลภาษาอังกฤษของบัณฑิตพาปุเดวะสาสตริ (Pundit Bapu Deva Sastri) และลานซล๊อต วิลคินสัน (Lancelot Wilkinson) ตีพิมพ์ในปี 1861 บทที่ 8 โศลกที่ 2 เขียนไว้ว่า "Multiply the Bhoga of each Asterism by 10 and to the product add the spaces of the autecedent Asterism, the sum is the longtitude" แปลว่า หากนำโภคะของกลุ่มดาวนักษัตรคูณด้วย 10 จากนั้นบวกด้วยระยะของนักษตรก่อนหน้าทั้งหมด จะได้เป็นลองติจูดของกลุ่มดาวนักษัตรนั้น จากนั้นในโศลกที่ 3 ระบุว่า กลุ่มดาวฤกษ์จิตรามีโภคะ 40 นำ 40 x 10 = 400 ตราไว้ก่อน จิตราเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ที่ 14 ดังนั้นนำ 13 x 800 = 10,400 + 400 ที่ได้ตราไว้แล้ว = 10,800 / 60 = 180 องศาพอดี

                 กลุ่มดาวหญิงสาวเป็นกลุ่มดาวของเทพีดีมีเทอร์ (Demeter) เทพีแห่งการเพาะปลูก อันเป็นพระธิดาของเทพโครนัส (Cronus) และเทพีเรอา (Rhea) เทพีดีมีเทอร์เป็นผู้ที่สอนให้มนุษย์รู้จักการปลูกข้าว จะถือว่าเทพีดีมีเทอร์คือพระแม่ไพรศพของกรีกก็ได้เหมือนกัน แต่ความสำคัญของกลุ่มดาวหญิงสาวนี้ส่วนมากจะเกี่ยวกับเรื่องราวของเทพีเพอร์เซโฟเน่ (Persephone) เทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิ พระธิดาของเทพีดีมีเทอร์และเทพซุสกับเทพฮาเดส (Hades) เทพแห่งยมโลกพระอนุชาของเทพซุสเสียมากกว่า เรื่องราวเริ่มต้นที่เทพฮาเดสหลงรักเทพีเพอร์เซโฟเน่และอยากแต่งงานกับเธอ จึงไปขอเทพซุสให้จัดงานแต่งงานให้ตนกับเทพีเพอร์เซโฟเน่ ซึ่งเทพซุสก็อนุญาตแต่ทรงเตือนว่าเทพีดีมีเทอร์จะต้องไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานครั้งนี้ เพราะเทพีดีมีเทอร์รักและหวงแหนเทพีเพอร์เซโฟเน่อย่างมาก เทพฮาเดสได้ฟังดังนั้นแล้วก็ทรงคิดไปว่าคงจะต้องใช้วิธีลักพาตัวว่าที่เจ้าสาว จึงทรงขึ้นรถม้าทะยานออกไปหาเทพีเพอร์เซโฟเน่ ซึ่งในขณะนั้นเทพีเพอร์เซโฟเน่กำลังเดินเก็บดอกไม้กับเทพีอาร์เทมิสและอาร์เทนน่าในเกาะซิซิลี (Sicily) ปัจจุบันแคว้นซิสิลี่นี้เป็นเกาะที่อยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ประเทศอิตาลี มีเมืองหลวงชื่อปาร์เลโม่ (Palermo) เกาะซิซิลี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เนื่องจากมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามหลายแห่ง อีกทั้งยังมีภูเขาไฟแอตน่า (Mount Etna) ภูเขาไฟที่ยังปะทุกอยู่และเป็นภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป

                 ขณะที่เทพีเพอร์เซโฟเน่กำลังเก็บดอกไม้อยู่นั้น แผ่นดินก็ระเบิดแล้วแยกออก เทพฮาเดสก็ทรงขับรถม้าทะยานขึ้นมา จากนั้นพระองค์เดินลงจากรถม้าพุ่งตรงมาที่เทพีเพอร์เซโฟเน่แล้วจับข้อมือพระนาง ฉุดพระนางขึ้นรถแล้วขับรถม้าเหาะลงไปที่โลกเบื้องล่าง (Underworld) เทพีดีมีเทอร์เมื่อไม่เห็นพระธิดาอยู่นานจึงเริ่มหวั่นใจ และออกตามหา แต่ไม่ว่าเทพีดีมีเทอร์ออกตามหาที่ไหนก็ไม่เจอพระธิดา เทพีทรงตามหาอยู่ตลอด 9 วัน 9 คืนโดยไม่ได้ดื่ม กิน หรือหยุดพัก เมื่อพระองค์ไม่เจอพระธิดา พระองค์ก็ทรงโศกเศร้าเป็นอย่างมาก พืชผลต่าง ๆ แห้งเหี่ยวไปหมดทุกหย่อมหญ้า เทพอพอลโล่ทรงเห็นเหตุการณ์ทุกอย่างเพราะทรงขับรถพระอาทิตย์เคลื่อนผ่านพื้นพิภพในตอนที่        เทพฮาเดสลักพาตัวเทพีเพอร์เซโฟเน่ เทพอพอลโล่มาหาเทพีดีมีเทอร์แต่ไม่ได้บอกพระนางตรง ๆ เพียงแต่กล่าวว่า เทพฮาเดสคงไม่เหมาะจะเป็นเจ้าบ่าวของเพอร์เซโฟเน่

                 เมื่อเทพีดีมีเทอร์ได้ฟังดังนั้นก็ทรงรู้ได้ในทันทีและทรงพิโรธมาก ทรงปฏิเสธที่จะกลับไปที่เขาโอลิมปัส และปฏิเสธที่จะทำหน้าที่ของตนเอง จนพืชพันธุ์ทั้งโลกนี้แห้งเหี่ยวตายและมนุษย์เริ่มอดตายเพราะไม่มีอาหาร เทพซุสจึงทรงจัดขบวนเทพไปอันเชิญเทพีดีมีเทอร์ให้กลับเขาโอลิมปัส แต่พระนางก็ทรงยืนกรานว่าจะไม่กลับเขาโอลิมปัสเด็ดขาด เทพซุสจึงเรียกเทพเฮอร์เมสมาแล้วตรัสสั่งให้ไปบอกเทพฮาเดสว่าให้ปลดปล่อยเทพีเพอร์เซโฟเน่เสีย เมื่อเทพเฮอร์เมสนำข่าวจากเทพซุสไปแจ้งกับเทพฮาเดส เทพฮาเดสก็ยอมปล่อยเทพีเพอร์เซโฟเน่กลับมา แต่ก่อนที่เทพีจะกลับ เทพฮาเดสทรงยื่นผลทับทิมให้กับเทพีเพอร์เซโฟเน่เป็นของปลอบขวัญ เทพีเพอร์เซโฟเน่ทรงหิวเป็นกำลังอยู่จึงหยิบเมล็ดทับทิมเสวยเข้าปาก ทันใดนั้นเองเทพฮาเดสก็กล่าวแก่เทพีว่า ในโลกใต้พิภพนี้มีกฎว่า หากใครได้กินอาหารในโลกนี้แล้ว จะต้องอยู่ในโลกใต้พิภพตลอดไป แน่นอนว่าแม้จะเป็นกฎ แต่ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างเทพีดีมีเทอร์ เทพซุส และเทพฮาเดส

                 เทพีเรอามารดาของเทพทั้งสามนั้นจึงจัดการประชุม ให้เทพทั้งสามมาประชุมกันแล้วทำข้อตกลง โดยเทพีเรอาทรงทำข้อตกลงว่าให้เทพีเพอร์เซโฟเน่ทรงอยู่บนพื้นพิภพ 6 เดือน และอยู่บนโลกใต้พิภพ 6 เดือน ดังนั้นในหนึ่งปี โลกมนุษย์จึงทำการเพาะปลูกได้ 6 เดือนคือในช่วงที่เทพีเพอร์เซโฟเน่ทรงอยู่กับเทพีดีมีเทอร์ จากนั้นอีก 6 เดือนก็จะไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ เพราะเทพีดีมีเทอร์จะทรงโศกเศร้า พืชพันธุ์ต่าง ๆ จะแห้งเหี่ยวตาย กลุ่มดาวหญิงสาวเป็นตัวแทนของเทพีดีมีเทอร์ ซึ่งชาวกรีกจะเริ่มมองเห็นบนท้องฟ้ายามค่ำคืนได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม – สิงหาคม และเป็นสิ่งบ่งบอกถึงระยะเวลาเพาะปลูกของชาวกรีก ดาวที่ส่องสว่างที่สุดและสำคัญที่สุดของกลุ่มดาวหญิงดาวคือ ดาวสไปกาหรือดาวจิตรา

                 ถัดจากดาวจิตราก็คือกลุ่มดาวสวาติ ในคัมภีร์โหราศาสตร์ของหลวงวิศาลดรุณกรนั้นจะระบุว่า กลุ่มดาวสวาติมิได้เป็นกลุ่มดาว แต่เป็นเพียงดาวดวงเดียว คือดาวดวงแก้วหรือดาวอาร์คตุรุส (Arcturus) ที่อยู่ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์หรือโบโอเตส (Bootes) แต่เนื้อหาส่วนนิทานกลุ่มดาวสวาติในคัมภีร์เล่มเดียวกัน กลับบรรยายว่ากลุ่มดาวสวาติเป็นกลุ่มดาวที่มีชื่อว่ากลุ่มดาวปลอกคอสุนัข อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงรูปวาดประกอบแล้ว กลุ่มดาวสวาตินั้นก็คือกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์นั่นเอง โดยโยงเส้นแตกต่างกับทางดาราศาสตร์สากล เริ่มจากดาวรวงแก้วโยงขึ้นไปหาดาวทางด้านบน 1 ดวงเป็นส่วนของปลอกคอสุนัข และจากดาวดวงแก้วโยงมาที่ดาวทางด้านซ้ายล่างอีก 3 ดวงเป็นสันหลังของสุนัข รวมกันเป็นกลุ่มดาวสวาติ เมื่อกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์และกลุ่มดาวสวาติถือได้ว่าเป็นกลุ่มดาวดวงเดียวกัน จึงขอเริ่มเล่าในส่วนของตำนานกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ก่อน คำว่า โบโอเตสนั้นเป็นภาษากรีกแปลว่าคนเลี้ยงสัตว์ (Herdsman) หรือคนเลี้ยงวัวกระทิง (Ox Driver) เรื่องราวเริ่มต้นที่พระนางคัลลิสโต้ (Callisto) เป็นพระธิดาของพระราชาไลเคออน (Lycaon) แห่งอาร์เคเดี้ยน (Arcadian) พระนางคัลลิสโต้เป็นนางรับใช้คนหนึ่งของเทพีอาร์เทมิส วันหนึ่งเทพซุสแปลงกายเป็นเทพีอาร์เทมิสแล้วเข้าไปใกล้ชิดกับพระนาง จนสุดท้ายเทพซุสก็ปรากฏพระองค์และร่วมรักกับพระนางจนมีบุตรด้วยกันคนหนึ่งชื่ออาร์คัส (Arcus) เทพีเฮร่าพระมเหสีของเทพซุสทรงทราบเรื่องดังกล่าวเข้าจึงสาปพระนางคัลลิสโต้เป็นหมี อาร์คัสก็ถูกเลี้ยงดูโดยพระราชาไลเคออนซึ่งเป็นตาของพระองค์มาโดยตลอด วันหนึ่งมีงานเลี้ยงฉลองจัดขึ้นในวังซึ่งเทพซุสก็มาร่วมงามด้วย พระราชาเกิดอยากจะท้าทายเทพซุสขึ้นมาจึงฆ่าอาร์คัสเสียแล้วเอาเนื้อของอาร์คัสมาปรุงอาหารต้อนรับเทพซุส จากนั้นก็ท้าทายเทพซุสว่าหากพระองค์ทรงมีอิทธิฤทธิ์จริง ก็ต้องสามารถชุบชีวิตบุตรของพระองค์ได้ เทพซุสทรงพิโรธจึงสาปให้พระราชาไลเคออนกลายเป็นหมาป่าไป ทำให้พระราชาไลเคออนกลายเป็นมนุษย์หมาป่า (Werewolf) หรือเรียกอีกชื่อว่า ไลเคน (Lycan) ตนแรกของโลก จากนั้นก็ทรงฆ่าบุตรของพระราชาไลเคออนทุกคนแล้วชุบชีวิตอาร์คัสขึ้นมา ทำให้อาร์คัสกลายเป็นพระราชาของอาร์เคเดี้ยนคนต่อมา วันหนึ่งอาร์คัสออกไปล่าสัตว์ ก็ได้ไปเจอกับหมีตัวใหญ่ตัวหนึ่ง ซึ่งหมีตัวนี้จริง ๆ แล้วคือพระนางคัลลิสโต้ที่ถูกสาป พระนางพยายามจะบอกว่าตนเองเป็นใคร แต่อาร์คัสไม่เข้าใจเพราะได้ยินแต่เสียงคำรามของหมี จึงเหนี่ยวธนูเงินหมายจะยิงใส่พระนางคัลลิสโต้ เทพซุสทรงมาห้ามไว้ทันโดยจับพระนางคัลลิสโต้ในร่างหมีโยนขึ้นไปบนท้องฟ้ากลายเป็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือคนไทยรู้จักกันในนามกลุ่มดาวจระเข้ ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่คนทั่วโลกใช้บอกทิศเหนือมาหลายร้อยปี และสำหรับคนจีน กลุ่มดาวจระเข้ยังเป็นต้นกำเนิดของวิชาดาวเก้ายุคของวิชาฮวงจุ้ยอีกด้วย เมื่อเทพซุสจับพระนางคัลลิสโต้โยนขึ้นไปแล้ว ก็ทรงเสกให้อาร์คัสกลายเป็นลูกหมีโยนขึ้นไปบนท้องฟ้าด้วยเช่นกัน ซึ่งปลายหางของกลุ่มดาวหมีน้อยนี้คือดาวเหนือ เทพีเฮร่าทรงทราบเรื่องที่เทพซุสนำพระนางและพระโอรสไปสถิตบนฟ้า เทพีเฮร่าก็ทรงจับกลุ่มดาวทั้งสองนี้ให้หันหน้าออกจากกันไปคนทิศ เพื่อที่จะกลั่นแกล้งให้ไม่มีวันได้เจอกันอีกตลอดกาล

                 เมื่อประมาณวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 ผมได้ไปเที่ยวห้างเซ็นทรัล สาขาบางนา ผมเดินเข้าร้านหนังสือซีเอ็ด เห็นหนังสืออยู่เล่มหนึ่งเขียนว่า "ฮวงจุ้ย ดาวฤกษ์" ซึ่งมีการพูดถึงกลุ่มดาวฤกษ์ที่เรากำลังศึกษานี้อยู่เหมือนกัน ผมก็ค่อนข้างเกรงว่าเขาจะหาว่าผมลอกเลียนเนื้อหาเขาหรือเปล่านะจึงได้ลองเปิดอ่านดู ปรากฎว่าเนื้อหาของหนังสือเล่มดังกล่าวและของผมนั้นไม่ตรงกันเท่าไรนัก ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านที่กำลังศึกษาว่า การระบุดาวในเนื้อหาที่ผมเขียนทั้งหมดนี้ อ้างอิงมาจากหนังสือโหราศาสตร์ไทยมาตรฐานฉบับสมบูรณ์ของหลวงวิศาลดรุณกร แล้วทางผู้เขียนได้ชำระเองด้วยส่วนหนึ่ง เพราะเหตุว่าชื่อกลุ่มดาวในหนังสือเล่มดังกล่าวใช้คำแบบภาษาละติน ผู้เขียนต้องนำมาชำระให้เป็นภาษาอังกฤษ อีกทั้งแผนที่ดาวในหนังสือ น่าจะเป็นแผนที่หมู่ดาวที่เก่าแก่แล้ว จึงไม่ค่อยเหมือนกับแผนที่ดาวสมัยใหม่เท่าใดนัก ผู้เขียนก็ได้นำแผนที่ดาวสมัยใหม่ มาเทียบเคียงกับแผนที่ดาวในหนังสือ เพื่อระบุพิกัดกลุ่มดาวที่แน่ชัด จึงขอยืนยันว่า ผู้เขียนมิได้ลอกเลียนแบบมาแต่อย่างใด และไม่ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนกลุ่มดาวทั้ง 27 กลุ่มจากหนังสือเล่มดังกล่าว เป็นความนึกสนุกและต้องการสนอง Need ของผู้เขียนเองล้วน ๆ นะครับ

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ
ผู้ใดที่สนใจเรียนโหราศาสตร์ภารตะฟรี (ไม่เก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น) สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 082 - 454 - 6554
หรือสามารถดูรายละเอียดได้ในเนื้อของบล๊อคนี้ ในเดือนเมษายน ปี 2015 นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น