วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีทั้ง 12 ดาวฤกษ์ทั้ง 27 ในกลุ่มดาวดาราศาสตร์สากล ตอนที่ 6

 


                 กลุ่มดาวแพะทะเล (Capricorn - แคพพริคอน) ของดาราศาสตร์สากลนั้น ก็มีลักษณะเป็นสัตว์ครึ่งแพะครึ่งปลา เหมือนกับลักษณะของราศีมังกรในทางโหราศาสตร์ คือครึ่งแรกเป็นปศุคือแพะ ครึ่งหลังเป็นอัมพุคือปลา ตำนานของกลุ่มดาวแพะทะเลนั้นมาจาก นางไม้ที่มีลักษณะครึ่งแพะที่ชื่อ อมัลที (Amalthea) ที่เลี้ยงดูเทพซุสจนเติบโต เทพโครนัส (Cronus) เทพแห่งเวลา ที่ยึดบัลลังค์จากเทพยูเรนัส (Uranus) บิดาของตนเอง เทพยูเรนัสก็ได้สาปเทพโครนอสไว้ว่า บุตรของโครนอสก็จะมายึดบัลลังค์เหมือนที่โครนอสทำกับบิดาตนเอง ด้วยเหตุนี้ทำให้เทพโครนอสก็กินลูก ๆ ทุกคนของตนเองลงท้องทั้งหมด จนมาถึงบุตรคนสุดท้ายคือ เทพซุส เทพีเรอามารดาของเทพซุสทรงนำเทพซุสไปซ่อนไว้ แล้วเอาก้อนหินมาห่อผ้าให้เทพโครนอสกินแทน เทพซุสก็ถูกเลี้ยงดูโดยนางไม้อมัลทีจนเติบโต และต่อมาก็ได้ยึดบัลลังค์จากเทพโครนอสหลายเป็นมหาเทพผู้ปกครองสวรรค์ เทพซุสจึงนำวิญญาณของอมัลทีไปสถิตบนท้องฟ้ากลายเป็นกลุ่มดาวแพะทะเล ในอารยธรรมเมโสโปเตเมียราศีมังกรจะเป็นราศีของเทพเอ็นกิ (Enki) เทพแห่งการช่าง ผู้สร้างความศิวิไลซ์ต่าง ๆ


                 ในทางโหราศาสตร์ ราศีมังกรจะประกอบไปด้วยฤกษ์อุตรษาฒ 3 บาท ศรวณะ 4 บาท และธนิษฐา 2 บาท ดังนั้นกลุ่มดาวธนิษฐาจึงถือว่าอยู่ในอาณาเขตของราศีมังกร กลุ่มดาวธนิษฐานนี้คือกลุ่มดาวปลาโลมาในทางดาราศาสตร์สากล แต่กลุ่มดาวปลาโลมาจะมีหางด้วย 1 ดวง ในขณะที่กลุ่มดาวธนิษฐาจะมีเพียง 4 ดวงที่เป็นส่วนหัวของปลาโลมาเท่านั้น กลุ่มดาวปลาโลมาก็ไม่มีตำนานที่เฉพาะนัก เพียงแต่กล่าวว่า ปลาโลมาคือสัตว์รับใช้ของเทพโปเซดอน (Poseidon) เทพแห่งท้องทะเลเท่านั้น ในทางโหราศาสตร์ไทยจะเรียกกลุ่มดาวธนิษฐาว่ากลุ่มดาวไซ

                  นักโหราศาสตร์ไทยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่ากลุ่มดาวฤกษ์มีทั้งหมด 27 กลุ่มดาว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มดาวฤกษ์ทั้งหมดของทางไทยและอินเดียมีทั้งสิ้น 28 กลุ่มดาวเท่ากับของจีน กลุ่มดาวฤกษ์ลำดับที่ 28 นั้นอยู่ในราศีมังกรนี้เอง แต่เนื่องจากอาณาเขตของมันแคบมาก ตอนหลังจึงถูกตัดออกไป ทำให้กลุ่มดาวฤกษ์เหลือเพียง 27 กลุ่มหลักเท่านั้น กลุ่มดาวฤกษ์นี้มีชื่อว่าฤกษ์อภิชิต (Abhijit) เป็นฤกษ์ลำดับที่ 28 มีอาณาเขตคือ บาทสุดท้ายของอุตรษาฒบวกกับประมาณ 1 ใน 4 ของบาทแรกของฤกษ์ศรวณะ ดาวที่เด่นสุดคือดาวอภิชิตนี้ ในทางสากลเรียกว่าดาววีกาหรือเวกา (Vega) และทางสากลก็เรียกกลุ่มดาวอภิชิตนี้ว่าเป็นกลุ่มดาวพิณ (Lyra) คัมภีร์ภควัตคีตาได้ระบุไว้ว่า พระกฤษณะทรงเกิดภายใต้ฤกษ์อภิชิตนี้

                 กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (Aquarius - อะควาริอัส) ของราศีกุมภ์ ไม่มีตำนานที่เกี่ยวข้องแน่ชัดนัก จึงขอละเอาไว้และข้ามไปกล่าวถึงเรื่องของกลุ่มดาวศตภิษัตซึ่งอยู่กลางราศีกุมภ์และอยู่ตรงกลางกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ เป็นดาว 4 ดวงโดยมีดาวตรงกลางดวงหนึ่ง และมีดาวอีก 3 ดวงล้อมรอบเป็น 3 แฉก

                 กลุ่มดาวปุรวภัทรบทเป็นฤกษ์สุดท้ายของราศีกุมภ์ ในทางโหราศาสตร์ไทยจะเรียกว่ากลุ่มดาวสิงโตตัวผู้ แท้จริงแล้วเป็นดาวในกลุ่มดาวม้ามีปีกหรือเปกาซัส (Pegasus) กลุ่มดาวปุรวภัทรบทคือดาวที่เป็นส่วนต้นคอม้าและดาวที่เป็นต้นขาม้า ส่วนกลุ่มดาวอุตรภัทรบทนั้น เป็นฤกษ์ที่อยู่ตรงกลางของราศีมีน แต่ในแผนภูมิดังกล่าวนี้ ยังไม่ได้นำเสนอกลุ่มดาวปลาของราศีมีน เพราะเหตุว่าจะแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกับกลุ่มดาวปุรวภัทรบทในแง่ที่รวมกันเป็นกลุ่มดาวเพดานเสียก่อน กลุ่มดาวอุตรภัทรบทประกอบด้วยดาวที่เป็นปลายปีกของม้ามีปีก และดาวส่วนศีรษะของกลุ่มดาวแอนโดรเมดา (Andromeda) อีกหนึ่งดวง รวมเป็นสองดวงกลายเป็นกลุ่มดาวอุตรภัทรบท เมื่อรวมดาวปุรวภัทรบทและอุตรภัทรบทเข้าด้วยกันก็จะกลายเป็นดาวเพดานอีกกลุ่มดาวหนึ่ง กลุ่มดาวอุตรภัทรบทนี้ทางโหราศาสตร์ไทยเรียกว่ากลุ่มดาวสิงโตตัวเมีย


                 กลุ่มดาวสุดท้ายของทั้งสิบสองราศีคือ กลุ่มดาวปลา (Pisces - พิซเซส) ของราศีมีน ตำนานของกลุ่มดาวปลานี้มีสั้น ๆ คือ ในตอนที่เทพีไกอาส่งอสูรกาลไทฟอน (Typhon) มาบุกทำลายสวรรค์นั้น เทพีอะโพรไดท์ (Aphrodite) และเทพเอรอส (Eros) หรือคิวปิด (Cupid) บุตรของเทพี ได้อ้อนวอนต่อเทพยดาแห่งทะเลให้ช่วยพาพระองค์ทั้งสองหนี เทพยดาแห่งท้องทะเลจึงส่งปลา 2 ตัวมาพาพระองค์ไปในที่ปลอดภัย ปลา 2 ตัวนั้นจึงขึ้นไปสถิตบนท้องฟ้ากลายเป็นกลุ่มดาวปลาของราศีมีน

                 และกลุ่มดาวที่เป็นฤกษ์สุดท้ายของทั้งราศีมีนและจักร์ราศีคือ กลุ่มดาวเรวดี ซึ่งทางโหราศาสตร์ไทยเรียกว่ากลุ่มดาวปลาตะเพียน ประกอบด้วยดาวของกลุ่มดาวแอนโดรเมดา 4 ดวงรวมกับดาวข้างเคียงอีก 1 ดวงเป็นหัวปลา ดาวในส่วนแขนของแดนโดรเมดา 2 ดวงรวมกับดาวของกลุ่มดาวปลาอีก 2 ดวงกลายเป็นลำตัวปลา และสุดท้ายคือดาวของกลุ่มดาวปลา 3 ดวงและดาวที่อยู่กลางกลุ่มดาวปลาอีก 2 ดวงเป็นหางปลา รวมกันทั้งหมดจึงกลายเป็นรูปปลาตัวเดียว จุดสำคัญจะอยู่ที่ดาว 2 ดวงที่อยู่ในวงกลม อันเป็นดาวที่แสดงว่าเป็นอาณาเขต 0 องศาราศีเมษ แต่เนื่องจากดาว 2 ดวงนี้เป็นดาวมีแสงน้อยมาก ดังนั้นในปัจจุบันอาจจะไม่สามารถมองเห็นได้อีกต่อไปแล้ว และจุดที่สำคัญคือ ดาวที่เป็นมุมหางปลาที่วงกลมไว้ คือจุดตรงข้าม 180 องศากับดาวจิตรา หรือก็คือ 0 องศาราศีเมษนั่นเองครับ ซึ่งเป็น 0 องศาราศีเมษแบบอินเดียนะครับผม หากเป็น 0 องศาราศีเมษแบบสากลซึ่งกำหนดโดยปโตเลมีจะอยู่ถัดเข้ามาทางกลุ่มดาวราศีเมษอีกประมาณ 3 - 4 องศาครับ อีกประการที่น่าสนใจเกี่ยวกับนักษัตรเรวดีนี้ก็คือทางสมาคมโหราศาสตร์อินเดียระบุว่ากลุ่มดาวที่อยู่กึ่งกลางนักษัตรเรวดีคือดาวเซตาพิสซิอุม (Zeta Piscium) แต่ความจริงเมื่อวัดองศาในทางแผนที่ของหมู่ดาวพบว่า ดาวที่อยู่กึ่งกลางนักษัตรเรวดีที่แท้จริงคือดาวแอพซิลอนพิสซิอุม (Epsilon Piscium) ที่อยู่ใกล้กันต่างหาก

                 จบแล้วนะครับสำหรับการอธิบายกลุ่มดาวราศีทั้ง 12 ราศีและดาวฤกษ์ทั้ง 27 ฤกษ์ ต่อไปนี้นักโหราศาสตร์ทั้งไทยและอินเดียทุกท่านก็จะทราบแล้วว่า ฤกษ์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนั้น อยู่ตรงไหนบนท้องฟ้ากันบ้างครับผม

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ
https://www.facebook.com/profile.php?id=100009582517663
ผู้ใดที่สนใจเรียนโหราศาสตร์ภารตะฟรี (ไม่เก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น) สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 082 - 454 - 6554
หรือสามารถดูรายละเอียดได้ในเนื้อของบล๊อคนี้ ในเดือนเมษายน ปี 2015 นะครับ

วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2559

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีทั้ง 12 ดาวฤกษ์ทั้ง 27 ในกลุ่มดาวดาราศาสตร์สากล ตอนที่ 5



                 กลางเดือนกรกฎาคม ประมาณ 20.00 เราจะเริ่มเห็นกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius - ซาจิทาริอัส) แบบเต็มกลุ่มดาว ในเขตเมืองเราอาจจะเห็นกลุ่มดาวคนยิงธนูได้ไม่ครบทั้งหมด จะเห็นแต่เพียงกลุ่มดาวปุรวษาฒ ดาวตรงกลาง และกลุ่มดาวอุตรษาฒเท่านั้น ส่วนที่เป็นลำตัวทางด้านหลังจะเป็นดาวที่มีแสงน้อย ดังนั้นอาจจะไม่สามารถมองเห็นได้หากอยู่ในเขตเมืองใหญ่ ขอบเขตของราศีธนูนั้นสิ้นสุดที่บาทแรกของฤกษ์อุตรษาฒ แสดงว่าในทางโหราศาสตร์อินเดียนั้น อนาเขตของกลุ่มดาวราศีธนูสิ้นสุดที่ดาวดวงแรกของกลุ่มดาวอุตรษาฒ แสดงว่าดาวในส่วนท้ายทั้งหมดของกลุ่มดาวคนยิงธนู ถือเป็นราศีมังกรแล้วในทางโหราศาสตร์อินเดีย กลุ่มดาวคนยิงธนูนั้นท่องบนเป็นคนถือธนู ส่วนท่อนล่างเป็นม้า ตำนานกรีกที่เกี่ยวกับครึ่งคนครึ่งสัตว์นั้นมีอยู่ 2 ตำนานด้วยกัน ตำนานแรกเป็นของคนครึ่งม้า หรือภาษากรีกเรียกว่า เซนทอร์หรือเซนทัวร์ (centaur) ที่ชื่อว่า ไครอน (Chiron) เป็นผู้ที่มีความสามารถยิงธนูได้แม่นยำ อีกตำนานหนึ่งเป็นของคนครึ่งแพะ คือ ส่วนบนเป็นคนแต่ส่วนล่างมีสองขาและเป็นขาของแพะ หรือภาษากรีกเรียกว่า ซาเทอร์ (satyr) ที่ชื่อว่า โครตัส (Crotus) ซึ่งเป็นนายพรานเหมือนกัน และเนื่องจากดาราศาสตร์สากลก็มีกลุ่มดาวที่มีลักษณะแทนด้วยคนครึ่งม้าอยู่ 2 กลุ่มดาว คือ กลุ่มดาวคนยิงธนูของราศีธนู และกลุ่มดาวคนครึ่งม้า จึงทำให้ชาวตะวันตกสับสน และเนื่องจากกลุ่มดาวคนครึ่งม้ามีชื่อชัดเจนว่า กลุ่มดาวเซนทอร์ ดังนั้นชาวตะวันตกจึงยกตำนานกรีกเรื่องไครอนคนครึ่งม้าให้กับกลุ่มดาวคนครึ่งม้า และยกตำนานของโครตัสคนครึ่งแพะให้กับกลุ่มดาวคนยิงธนู


                 แสดงให้เห็นว่าชาวตะวันตกก็มิได้มีความเข้าใจในรากเหง้าระบบดาราศาสตร์ของตนเองสักเท่าใดนัก จากที่เราศึกษามาจะพบว่าระบบดาราศาสตร์ของอินเดียนั้นมีความเก่าแก่ย้อนหลังไปถึง 3,000 ปีก่อนคริสต์กาลหรือมากกว่านั้น กลุ่มดาวคนยิงธนูจึงได้ชื่อว่าถือกำเนิดมาก่อนกลุ่มดาวคนครึ่งม้า ดังนั้นการมอบตำนานของไครอนให้กับกลุ่มดาวคนครึ่งม้าที่เกิดมาที่หลังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและบิดเบือน ในคัมภีร์ปาระสาระโหราศาสตร์ก็ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า ราศีธนูนั้นครึ่งแรกเป็นนระคือมนุษย์ ครึ่งหลังเป็นปศุคือสัตว์สี่เท้า มิใช่สัตว์สองเท้า สัญลักษณ์ของราศีธนูตามคัมภีร์จึงหมายถึงสัตว์ที่ชื่อ เซนทอร์ ไม่ใช่ ซาเทอร์ เหมือนที่ชาวตะวันตกเข้าใจ

                 โครตัสส เป็นเทพครึ่งคนครึ่งแพะ มีความสามารถยิงธนูได้แม่นยำเพราะว่าเป็นนายพราน หมกมุ่นกับตัณหา และไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่โลกเลยสักอย่างเดียว ตำนานของโครตัสจึงไม่ตรงกับลักษณะของราศีธนูอย่างยิ่ง ซึ่งแตกต่างจากตำนวนของไครอนที่มีเรื่องราวคล้ายกับลักษณะของราศีธนูอย่างมาก แต่ก่อนจะเล่าถึงเรื่องราวของไครอน จะต้องรับรู้เรื่องราวของบุคคลหนึ่งชื่อว่า โพรมิธีอัส (Prometheus) เสียก่อน โพรมิธีอัสเป็นยักษ์ไททัน (Titan) อันเป็นบุตรของเทพยูเรนัสหรืออุรานุส (Uranus) เทพแห่งท้องฟ้า และเทพีไกอา เทพีแห่งธรณี เมื่อตอนที่เกิดศึกสงครามระหว่างยักษ์ไททันและซุส โพรมิธีอัสอยู่ฝ่ายซุส เมื่อฝ่ายซุสชนะ โพรมิธีอัสจึงไม่ต้องถูกส่งไปในนรกแทนทาลัส (Tartarus) เหมือนกับยักษ์ไททันตนอื่น ๆ โพรมิธีอัสในภาษากรีกแปลว่า คิดก่อนทำ มีน้องชายคนหนึ่งชื่อ เอพิมีธิอัส (Epimetheu) แปลว่า ทำก่อนคิด พี่น้องทั้งสองคนนี้ได้รับคำสั่งจากซุสให้สร้างมนุษย์และสัตว์ เอพิมีธีอัสสร้างสัตว์ขึ้นมาหลายอย่างและด้วยเอกลักษณ์ของตนคือทำก่อนคิด ก็เลยให้พรดี ๆ แก่สัตว์ทั้งหลายไปหมด ทั้งให้มีเขี้ยว เล็บ ความแข็งแกร่ง และให้บินได้ โพรมิธีอัสเห็นว่าพรดี ๆ หมดไปแล้ว ก็เลยสร้างมนุษย์ขึ้นมาโดยสร้างเลียนแบบเทพเจ้า จากนั้นก็มอบความรู้ทั้งดาราศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ฯลฯ ให้กับมนุษย์ รวมทั้งไฟด้วย มนุษย์จึงกลายเป็นผู้ที่มีความชาญฉลาด

                 ต่อมาซุสก็มีคำสั่งให้มนุษย์ต้องบูชายัญเทพเจ้าโดยเรียกเอาส่วนแบ่งจากเนื้อสัตว์ที่มนุษย์หามาได้ บางตำราก็ว่าโพรมิธีอัสยังแค้นซุสอยู่ หรือบางตำราก็ว่าโพรมิธีอัสรักในมนุษย์ จึงคิดกลอุบายขึ้นมา โดยฆ่ากระทิงตัวหนึ่งแล้วแบ่งออกเป็น 2 กอง กองแรกเอาเนื้อดี ๆ มาห่อด้วยเครื่องในเน่า ๆ ส่วนกองที่สองเอากระดูกมาห่อด้วยมันกระทิงดูสวยงาม จากนั้นก็เชิญเทพซุสมาเลือกเครื่องสังเวย ซุสเห็นว่ากองที่สองนั้นมีมันสวยงาม จึงเข้าใจว่าภายในคงจะเป็นเนื้อ จึงเลือกกองที่ 2 แต่พอเปิดดูบนสวรรค์กลับพบว่าข้างในมีแต่กระดูก ดังนั้นชาวกรีกตั้งแต่โบราณจึงบูชาเทพด้วยกระดูกและไขมันสัตว์

                 เทพซุสทรงพิโรธจึงแก้แค้นมนุษย์ด้วยวิธี 3 ประการ ประการแรกคือยึดไฟคืนจากมนุษย์ ประการที่สองคือสร้างมนุษย์ผู้หญิงขึ้นมาให้ชื่อว่า แพนดอร่า (Pandora) ที่แปลว่า ของขวัญอันมีค่าทั้งมวล ซึ่งแพนดอร่านี้มีหน้าตารูปร่างที่สวยงามมาก มอบให้กับโพรมิธีอัสเป็นของขวัญ แต่เขาปฏิเสธที่จะรับไว้ และกล่าวเตือนเอพิมีธีอัสว่าอย่ารับของขวัญดังกล่าว แต่เอพิมีธีอัสไม่เชื่อ เลยรับแพนดอร่าไว้เป็นภรรยา วันหนึ่งแพนดอร่าได้รับกล่องใบหนึ่งจากเทพเจ้าพร้อมกับคำสั่งว่า ห้ามเปิดดูเด็ดขาด แต่เพราะแพนดอร่ามีความเป็นผู้หญิง จึงมีความสงสัยใคร่รู้เป็นกำลัง เมื่อแง้มฝากล่องออกดู ทันใดนั้นเอง ความชั่วร้าย ความเศร้า ความโชคร้าย และโรคระบาดต่าง ๆ ก็ถูกปล่อยออกมา แพนดอร่าเห็นดังนั้นก็เลยรีบปิดฝา ทำให้สิ่งสุดท้ายคือ ความหวัง ไม่ได้ออกมาจากกล่องด้วย และประการสุดท้ายคือ ซุสบันดาลให้น้ำท่วมโลกใบนี้ทั้งหมด

                 เทพซุสทรงลงโทษโพรมิธีอัสด้วยการใช้โซ่ที่ทำขึ้นจากแร่อดามันไทน์อันเป็นเหล็กที่แกร่งเท่าเพชร ล่ามโพรมิธีอัสไว้ที่ภูเขาคาซเบค (Kazbek) ในหุบเขาคอเคซัส (Caucasus) ปัจจุบันภูเขาลูกนี้ตั้งอยู่ในประเทศจอร์เจียใกล้กับชายแดนของประเทศรัสเซีย จากนั้นก็บันดาลให้มีนกอินทรีย์มาจิกกินตับของโพรมิธีอัสในตอนกลางวันจนโพรมิธีอัสตาย จากนั้นในตอนกลางคืนตับก็จะคืนกลับเหมือนเดิม เป็นเช่นนี้จนกว่าจะมีผู้เป็นอมตะคนใดใช้ความเป็นอมตะมาแลกกับชีวิตของโพรมิธีอัส หรือมีมนุษย์คนใดฆ่านกอินทรีย์ตายและปลดปล่อยเขาได้

                 มาถึงเรื่องของไครอนเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งม้า เป็นบุตรของเทพโครนัส (kronus) และนางไม้ฟิเรร่า (Philyra) ไครอนมีความสามารถหลายอย่าง ทั้งการแพทย์ ปรัชญาและศีลธรรม การยิงธนู การฟันดาบ ฯลฯ มีลูกศิษย์มากมาย วีรบุรุษแทบทุกคนเป็นลูกศิษย์ไครอนทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น เฮอร์คิวลิส เจสัน ธีซีอัส เปอร์ซีอุส อะคีเลียส เป็นต้น จะเห็นว่าลักษณะของไครอนมีความเหมาะสมกับราศีธนูที่ครอบครองด้วยพระพฤหัสบดีและแสดงถึงความเป็นครูอาจารย์เป็นอย่างมาก

                 วันหนึ่งเฮอร์คิวลิสมาเยี่ยมเยียนไครอนผู้เป็นอาจารย์ มีการทบทวนการยิงธนู เฮอร์คิวลิสไม่ทันระวังจึงยิงธนูพลาดไปปักที่หัวเข่าของไครอน โดยลูกธนูนั้นอาบพิษของไฮดร้าเอาไว้ แต่เพราะไครอนเป็นอมตะเขาจึงไม่ตาย แต่ก็ได้รับความเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัสแทน ไครอนจึงบอกให้เฮอร์คิวลิสพาตนไปหาโพรมิธีอัส จากนั้นก็ใช้ความอมตะของตนแลกกับอิสระของโพรมิธีอัส ทำให้โพรมิธีอัสหลุดจากคำสาปได้ ด้วยเหตุนี้เทพซุสจึงนำวิญญาณของไครอนไปสถิตบนท้องฟ้าเป็นกลุ่มดาว หากเป็นชาวตะวันตกจะบอกว่าเป็นกลุ่มดาวคนครึ่งม้า แต่ในความคิดของผู้เขียนแล้ว ตำนานนี้ควรคู่กับกลุ่มดาวคนยิงธนูของราศีธนูเสียมากกว่า

                 กลุ่มดาวปุรวษาฒ เป็นฤกษ์แรกของราศีธนู ดังนั้นตำแหน่งของกลุ่มดาวนี้บ่งบอกเป็นเขตเริ่มต้นของราศีธนู กลุ่มดาวปุรวษาฒจะประกอบไปด้วยดาว 3 ดวงเรียงตัวคล้ายปากนก กลุ่มดาวอุตรษาฒ เป็นกลุ่มดาวที่มี 5 ดวงด้วยกัน โดยมีดาวศูนย์กลางหนึ่งดวง และดาวที่อยู่ในทิศทั้งสี่อีก 4 ดวงรวมกันเป็น 5 ดวง ฤกษ์อุตรษาฒที่อยู่ในราศีธนูนั้นมีเพียงบาทแรกเท่านั้น ส่วนอีกสามบาทที่เหลืออยู่ในราศีมังกร จึงอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มดาวอุตรษาฒคือจุดเริ่มต้นขอบเขตของราศีมังกรวันเพ็ญแรกเมื่อพระจันทร์อยู่ในกลุ่มดาวอุตรษาฒนี้ จะกลายเป็นวันอาสาฬหปูรณมีบูชา อันเป็นวันสำคัญทางศาสนาของไทย

                 กลุ่มดาวนกอินทร์ย์นั้นไม่มีตำนานกรีกอันใดเกี่ยวข้อง แต่ดาวตานกอินทรีย์หรือดาวอัลแทร์ (Altair) ซึ่งมาจากภาษาอาหรับคือ อัล-นาร์ส อัล-แตร์ (al-nasr al-ta’ir) ที่แปลว่านกอินทรีย์ที่กำลังบิน ดาวตานกอินทรีย์เป็นดาวที่ส่องสว่างในฤดูร้อน ดังนั้นกลุ่มดาวนกอินทรีย์จึงเรียกกันว่าสามเหลี่ยมแห่งฤดูร้อน จากดาวตานกอินทรีย์โยงตรงขึ้นไปอีก 2 ดวงรวมกันจะกลายเป็นกลุ่มดาวศรวณะ กลุ่มดาวศรวณะเป็นสัญลักษณ์ว่าตำแหน่งดังกล่าวคือบริเวณกลางราศีมังกร

                 คราวนี้ไว้แค่นี้พอก่อนนะครับ อ่านโหราศาสตร์วันละนิดจิตแจ่มใส ถ้าอ่านมากไปเดี๋ยวจะมึนเกินครับ ^^

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ
ผู้ใดที่สนใจเรียนโหราศาสตร์ภารตะฟรี (ไม่เก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น) สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 082 - 454 - 6554
หรือสามารถดูรายละเอียดได้ในเนื้อของบล๊อคนี้ ในเดือนเมษายน ปี 2015 นะครับ

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีทั้ง 12 ดาวฤกษ์ทั้ง 27 ในกลุ่มดาวดาราศาสตร์สากล ตอนที่ 4



ความเบื้องต้น

                 วันนี้จะเป็นการอธิบายกลุ่มดาวราศีตุลย์และพิจิก ซึ่งกลุ่มดาวพิจิกนี้ ถือได้ว่าเป็นกลุ่มดาวที่มีความสวยงามกลุ่มดาวหนึ่งบนท้องฟ้า


                 ถัดจากกลุ่มดาวหญิงสาวราศีกันย์แล้วก็คือกลุ่มดาวตาชั่ง (Libra – ลิบรา, ไลบรา) ของราศีตุลย์ กลุ่มดาวตาชั่งเป็นกลุ่มดาวเดียวในจักรราศีที่เป็นสิ่งของมิใช่สัตว์หรือมนุษย์ ทำให้ตำนานของกลุ่มดาวตาชั่งแท้ ๆ นั้นไม่มี มีแต่ตำนานที่เชื่อมโยงกันเท่านั้น ซึ่งตำนานนี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มดาวหญิงสาว ในเบื้องต้นนั้นกลุ่มดาวหญิงสาวเป็นกลุ่มดาวของเทพีดีมีเทอร์ แต่ในอีกตำนานหนึ่งกลุ่มดาวหญิงสาวเป็นกลุ่มดาวของเทพีอัสทราเอีย (Astraea) เทพีแห่งความยุติธรรม และกลุ่มดาวตาชั่งคือตาชั่งที่เทพีถืออยู่เป็นประจำ เรื่องราวนี้คงเป็นเพียงตำนานเดียวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดาวตาชั่ง

                 จากกลุ่มดาวสวาติ ลงมาทางด้านล่างคือกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ (corona borealis) หรือทางโหราศาสตร์อินเดียเรียกว่ากลุ่มดาววิสาขะ อันเป็นกลุ่มดาวที่บ่งบอกถึงวันสำคัญทางศาสนาพุทธคือวันวิสาขะปูรณมีบูชานั่นเอง เมื่อเลยวันสงกรานต์ พระอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษแล้ว วันเพ็ญแรกหลังจากวันสงกรานต์ จะเป็นวันวิสาขะบูชา เพราะสันนิษฐานได้ว่า พระจันทร์เข้าสู่วิสาขะฤกษ์ในราศีตุลย์

                 กลุ่มดาวแมงป่อง (Scopius – สกอปิอุส, สกอปิอัส) ของราศีพิจิก เป็นกลุ่มดาวที่มีความสวยงามมากบนท้องฟ้า แต่ในปัจจุบันนี้เนื่องจากแสงสว่างบนพื้นดินมีมาก เราจึงไม่สามารถมองเห็นดาวในกลุ่มดาวนี้ได้ครบทุกดวงอีกต่อไป แต่ก็ยังดีกว่ากลุ่มดาวปูของราศีกรกฎ เพราะว่าจะไม่สามารถมองเห็นได้เลยหากอยู่ในเมืองหลวง และแม้แต่ออกไปต่างจังหวัด ก็ยังมองเห็นกลุ่มดาวปูได้ยากอยู่ดี ในกลุ่มดาวแมงป่องยังมีกลุ่มดาวฤกษ์ทางโหราศาสตร์อินเดียถึง 3 กลุ่มดาวด้วยกันคือ กลุ่มดาวอนุราธ กลุ่มดาวเชษฐะ และกลุ่มดาวมูลละ ในกลุ่มดาวแมงป่องนี้มีดาวส่องสว่างดวงหนึ่งที่มีความสำคัญคือดาวปาริชาติ หรือดาวแอนทาเรส (Antares) ซึ่งศาสนาคริสต์เชื่อว่ามันเป็นดาวตัวแทนของเทวทูตโอริเอล (Oriel) ผู้พิทักษ์สรวงสวรรค์ทางทิศตะวันตก ตำนานของกลุ่มดาวแมงป่องจะเชื่อมโยงกับตำนานของกลุ่มดาวนายพราน โดยกลุ่มดาวแมงป่องนี้คือ แมงป่องที่เทพีไกอาส่งมาฆ่านายพรานโอไรออน ทำให้กลุ่มดาวโอไรออนต้องหนีกลุ่มดาวแมงป่องบนท้องฟ้า เมื่อกลุ่มดาวโอไรออนลับขอบฟ้าไปแล้วทางทิศตะวันตก กลุ่มดาวแมงป่องก็จะขึ้นมาในทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

                 ตำนานของกลุ่มดาวแมงป่องจบลงเพียงสั้น ๆ เท่านั้น ข้าง ๆ กับกลุ่มดาวแมงป่องคือกลุ่มดาวคนแบกงู (ophiucus) ซึ่งเป็นราศีที่ 13 ของระบบดาราศาสตร์สากล ต่อไปคือเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มดาวฤกษ์ โดยกลุ่มดาวฤกษ์กลุ่มแรกในกลุ่มดาวแมงป่องคือ กลุ่มดาวอนุราธ ส่วนประกอบหลักคือดาว 3 ดวงที่เป็นส่วนหัวของกลุ่มดาวแมงป่อง เรียงลำดับจากซ้ายไปขวาคือ ดาวแจ๊บบาห์ (Jabbah) อะแคร๊บ (Acrab) และดสคุบบา (Dschubba) อีกทั้งยังมีดาวข้าง ๆ อีกด้านละ 1 หนึ่งรวมกันเป็น 5 ดวงมีลักษณะคล้ายคันธนู ทางโหราศาสตร์ไทยจึงเรียกว่ากลุ่มดาวคันธนู แต่ในปัจจุบัน ดาวทางด้านข้างนั้นอาจจะไม่สามารถมองเห็นได้แล้ว คงเหลือเพียงดาว 3 ดวงตรงกลางเท่านั้น

                 กลุ่มดาวฤกษ์เชษฐะ ในคัมภีร์โหราศาสตร์ของหลวงวิศาลดรุณกรก็มีเนื้อหาแตกต่างกัน ในส่วนของการระบุตำแหน่งนั้น ท่านระบุว่าคือดาว 3 ดวงตรงกลางกลุ่มดาวแมงป่อง หมายถึง ดาวแอนทาเรส หรือดาวปาริชาติตรงกลางบริเวณตัวของแมงป่อง บวกกับดาวทางด้านบนหนึ่งดวงและด้านล่างอีกหนึ่งดวง รวมเป็น 3 ดวงคือกลุ่มดาวเชษฐะ แต่ในส่วนเนื้อหาที่เป็นนิทาน กลับบรรยายว่ากลุ่มดาวเชษฐะนั้น มีลักษณะเป็นงูเลื้อยเหมือนพญานาค และดาว 3 ดวงดังกล่าวไปนั้นโหราศาสตร์ไทยก็เรียกว่ากลุ่มดาวคอพญานาค ทำให้เชื่อได้ว่ารูปลักษณะที่แท้จริงของกลุ่มดาวเชษฐะคือ ลักษณะของดาวเรียงกันคดไปคดมาเหมือนงู แต่ดาว 4 ดวงที่ลากเส้นประออกจากลำตัวของแมงป่องนั้น ปัจจุบันไม่สามารถมองเห็นได้แล้ว คงเหลือแต่ดาวที่เรียงกันเป็นลำตัวของแมงป่องเท่านั้น คือเริ่มต้นนับจากดาวก่อนหน้าดาวแอนทาเรสเป็นลำดับหนึ่ง ดาวแอนทาเรสเป็นลำดับสอง นับเรื่อยไปจนถึงลำดับที่แปด ทั้งหมดนี้คือกลุ่มดาวเชษฐะ

                 กลุ่มดาวมูลละ ทางโหราศาสตร์ไทยเรียกว่ากลุ่มดาวช้างน้อย ส่วนประกอบหลักก็คือดาว 4 ดวงตรงหางของกลุ่มดาวแมงป่อง แต่อันที่จริงแล้วกลุ่มดาวช้างน้อยนั้นมีดาวทั้งหมด 9 ดวง ดาวอีก 5 ดวงที่ลากเส้นประนั้นเป็นดาวมีแสงน้อยมาก จึงไม่สามารถมองเห็นได้หรือมองเห็นได้ยากมาก กลุ่มดาวมูลละจึงเหลือเพียง 4 ดวงที่เป็นของส่วนหางของกลุ่มดาวแมงป่องนั่นเอง

                 ยิ่งผู้เขียนรวบรวมเรื่องราวของดวงดาวในโหราศาสตร์มากเท่าไหร่ ผู้เขียนก็ยิ่งรู้สึกน้อยใจ ที่ตอนนี้ท้องฟ้าในยามค่ำคืน ไม่ได้มีดวงดาวพร่างพราวเหมือนสมัยโบราณอีกแล้ว ท้องฟ้ายามค่ำคืน มีความสวยงามลดน้อยลงไปมากทีเดียว

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ
ผู้ใดที่สนใจเรียนโหราศาสตร์ภารตะฟรี (ไม่เก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น) สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 082 - 454 - 6554
หรือสามารถดูรายละเอียดได้ในเนื้อของบล๊อคนี้ ในเดือนเมษายน ปี 2015 นะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีทั้ง 12 ดาวฤกษ์ทั้ง 27 ในกลุ่มดาวดาราศาสตร์สากล ตอนที่ 3







ความเบื้องต้น

                 คราวที่แล้วผมได้เกริ่นไปแล้วว่า วันนี้ผมจะนำเสนอกลุ่มดาวสิงโตของราศีสิงห์ และกลุ่มดาวหญิงสาวของราศีกันย์ รวมทั้งกลุ่มดาวฤกษ์ที่อยู่ในอาณาเขตของทั้ง 2 ราศีมาให้ชมกันนะครับ เรามาดูแผนภาพหมู่ดาวตามภาพด้านล่างกันเลยครับ คราวนี้เราจะมีกลุ่มดาวมาเกี่ยวข้องหลายกลุ่มเลยทีเดียว


                 กลุ่มดาวสิงโต (Leo - ลีโอ) ของราศีสิงห์นี้ ประกอบไปด้วยกลุ่มดาวฤกษ์หลายกลุ่มด้วยกัน กลุ่มดาวสิงโตนั้นจะเริ่มตั้งแต่กลุ่มดาวอาศเลษาส่วนท้าย 2 ดวงที่ไม่ใช่เส้นประ โยงเส้นเรื่อยมาจนถึงดาวหัวใจสิงห์ แล้วโยงเส้นต่อจนถึงกลุ่มดาวปุรวผลคุณีและดาวทางด้านซ้ายของอุตรผลคุณี รวมกันเป็นกลุ่มดาวสิงโต ตำนานของกลุ่มดาวสิงโตของกรีกจะรวมอยู่ในตำนานเรื่องเฮอร์คิวลิสด้วยเช่นกัน โดยเริ่มต้นจากส่วนที่เฮอร์คิวลิสต้องปฏิบัติภารกิจ 12 ประการ ซึ่งภารกิจแรกนั้นเริ่มต้นด้วยการปราบสิงโตนีเมี่ยม (Nemean Lion) สาเหตุที่เรียกว่าสิงโตนีเมี่ยนเพราะว่ามันอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งของตำบลนีเมียแห่งเมืองอาร์โกลิส ไม่ไกลจากแหล่งที่อยู่ของงูไฮดร้านัก เป็นที่น่าแปลกว่าสัตว์ประหลาดในตำนานกรีกทุกตัวจะมีชื่อของตนเอง แต่สิงโตนีเมี่ยนกลับไม่มีชื่อของตนเอง แต่เรียกชื่อตามถิ่นที่อาศัยแทน ปัจจุบันนี้นีเมียเป็นตำบลหนึ่งในจังหวัดโครินเธีย (Corinthia) ประเทศกรีซ มีสถานที่ท่องเที่ยวอันสำคัญคือสนามกีฬาสมัยกรีกโบราณ วิหารของเทพซุส และพิพิธภัณฑ์ของโบราณ ที่สำคัญคือตำบลนีเมียนี้ยังเป็นแหล่งผลิตไวน์ชื่อดังของกรีซอีกด้วย กลับมาที่เรื่องของตำนาน สิงโตนีเมี่ยนเป็นสิงโตที่มีผิวหนังทนทานต่ออาวุธทุกสิ่งอย่าง ดังนั้นเมื่อเฮอร์คิวลิสเข้าต่อสู้กับสิงโตโดยใช้ทั้งธนูและดาบ ก็จึงไม่สามารถทำอะไรสิงโตได้ สุดท้ายแล้วเฮอร์คิวลิสจึงเอากระบองตีให้สิงโตมึนและใช้ลำแขนของตนเองรัดคอสิงโตจนตาย จากนั้นก็เอาเล็บของมันลับให้คมเพื่อถลกหนังของมันมาทำเป็นเสื้อคลุมยาว ซึ่งเฮอร์คิวลิสสวมใส่เป็นประจำเวลาจะไปทำการต่อสู้ เมื่อสิงโตตายแล้วเทพซุสจึงนำวิญญาณของมันไปสถิตบนฟ้า และถ้าเราสังเกตกลุ่มดาวที่เรียงตัวกันจะเห็นว่า กลุ่มดาวปู กลุ่มดาวงูไฮดร้า และกลุ่มดาวสิงโต เป็นกลุ่มดาวที่เรียงตัวอยู่ใกล้กัน

                 กลุ่มดาวสิงโตนั้นประกอบด้วยกลุ่มดาวของทางโหราศาสตร์อินเดียและไทยถึง 4 กลุ่มดาวด้วยกัน เริ่มจากกลุ่มดาวแรกคืออาสเลษา อันที่จริงแล้วฤกษ์อาศเลษานั้นเป็นฤกษ์สุดท้ายของราศีกรกฎ แสดงให้เห็นว่าทางดาราศาสตร์อินเดียนั้น กลุ่มดาวสิงโตจะไม่นับดาวสองดวงแรกรวมเข้าไว้ในกลุ่มดาวสิงโต คงจะเริ่มนับดาวที่อยู่ในกลุ่มดาวมาฆะเป็นจุดเริ่มต้นของราศีสิงห์ กลุ่มดาวอาศเลษานี้จะเป็นดาวที่เรียงตัวกัน 4 ดวง ซึ่งประกอบไปด้วยดาว 2 ดวงที่เป็นอิสระผนวกกับดาวอีก 2 ดวงที่เป็นของกลุ่มดาวสิงโตแบบสากล มีรูปร่างเหมือนกระพ้อมใส่ข้าว ทางโหราศาสตร์ไทยจึงเรียกว่ากลุ่มดาวกระพ้อม แต่หากพิจารณาจากรูปลักษณะแล้วน่าจะเหมือนกับกระบุงมากกว่า เพราะมีลักษณะเหมือนสี่เหลี่ยมคางหมู ความสำคัญของกลุ่มดาวอาศเลษาอีกประการคือ เป็นหนึ่งในกลุ่มดาวทั้ง 3 ที่แบ่งท้องฟ้าออกเป็น 3 บริเวณ โดยกลุ่มดาวทั้ง 3 นี้คือ อาศเลษา เชษฐะ และเรวตี ฤกษ์ทั้ง 3 ประการนี้ทางโหราศาสตร์อินเดียเรียกว่า คัณฑานตะ ในทางไทยเรียกว่าฤกษ์ขาด หรือนวางค์ขาด เพราะถือว่าเป็นฤกษ์ที่แบ่งท้องฟ้าออกเป็นสามส่วนขาดจากกันอย่างชัดเจน

                 กลุ่มดาวมาฆะ จะประกอบไปด้วยดาว 5 ดวง เรียงรายกันประหนึ่งงูเลื้อย ดังนั้นในทางโหราศาสตร์ไทยจึงเรียกกลุ่มดาวนี้ว่า กลุ่มดาวงูตัวผู้ ในกลุ่มดาวมาฆะนี้มีดาวที่สำคัญดวงหนึ่งคือ ดาวหัวใจสิงห์หรือดาวเรกูลัส (Regulus) ถือว่าเป็นดาวที่ส่องสว่างที่สุดของกลุ่มดาวสิงโต และเป็น 1 ใน 4 ดาวแห่งกษัตริย์ หรือดาวแห่งผู้พิทักษ์สวรรค์ ซึ่งชาวเปอร์เซียเรียกว่า วีแนนท์ (Venant) ถือว่าเป็นตัวแทนของเทวทูตราฟาเอล (Raphael) ผู้พิทักษ์สวรรค์ทางทิศเหนือ

                 ถัดมาทางด้านท้ายจะเป็นกลุ่มดาวปุรวผลคุณีและอุตรผลคุณี อันที่จริงแล้วทั้งสองกลุ่มดาวนี้ต้องรวมกันเป็นกลุ่มดาวเดียวกันเรียกว่า กลุ่มดาวผลคุณี ซึ่งโหราศาสตร์ไทยเรียกว่า กลุ่มดาวเพดาน เพราะดาวทั้ง 4 ดวงรวมกันจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม กลุ่มดาวอุตรผลคุณีนั้นประกอบไปด้วยดาวเดเนโบล่า (Denebola) ของกลุ่มดาวสิงโต และดาวทางด้านบนสุดของกลุ่มดาวหญิงสาวราศีกันย์อีก 1 ดวงที่ชื่อซาวิจาวา (Zavijava) เมื่อรวมกับกลุ่มดาวปุรวผลคุณีแล้วจะกลายเป็นดาวเพดาน คำว่าเดเนโบล่านั้นย่อมาจากคำว่า อัล-เดเน็บ-อัล-อาซาด (Al Dhanab al Asad) ในภาษาอาหรับ ซึ่งแปลว่าหางสิงโต ส่วนคำว่าซาวิจาวานั้น ก็มาจากภาษาอาหรับว่า อัล-ซาวิอาห์ (Al Zawiah) แปลว่ามุม หมายถึง มุมของปีกเทวทูตหญิงสาว

                 ถัดจากฤกษ์อุตรผลคุณีคือกลุ่มดาวหัสตะ กลุ่มดาวหัสตะนี้ในระบบดาราศาสตร์สากลคือกลุ่มดาวนกกาหรือกลุ่มดาวคอร์วัส (Corvus) กลุ่มดาวนกกานี้ก็มีตำนานเหมือนกัน ตำนานกล่าวว่าแต่ดั้งเดิมนั้นกามีเสียงที่ไพเราะและมีขนสีขาวสวยงาม เป็นสัตว์ที่คอยรับใช้เทพอพอลโล่ ซึ่งเป็นเทพแห่งพระอาทิตย์อยู่เสมอ วันหนึ่งเทพอพลอโล่ใช้ให้กาไปนำน้ำมาให้พระองค์ทรงดื่มแก้กระหาย นกกาก็นำถ้วยไปด้วยใบหนึ่งเพื่อจะไปตักน้ำ เมื่อมาถึงบ่อน้ำ สายตาของนกกาก็จับต้องไปที่ต้นมะเดื่อที่มีผลเต็มต้น แต่ผลมะเดื่อเหล่านั้นยังไม่สุกเต็มที่จึงยังกินไม่ได้ นกกาลืมคำสั่งของเทพอพอลโล่จนสิ้น เฝ้ารอผลมะเดื่อสุกเพื่อจะได้กินผลมะเดื่อนั้น เวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ในที่สุดผลมะเดื่อก็สุก นกกากินผลมะเดื่อจนอิ่ม ทันใดนั้นนกกาก็นึกถึงคำสั่งของเทพอพอลโล่ขึ้นมาได้ เลยคิดหาวิธีไม่ให้เทพอพอลโล่ตำหนิตน ตนจึงเอาถ้วยตักน้ำในบ่อ และจิกเอางูน้ำไปด้วยตัวหนึ่ง เมื่อกลับมาหาเทพอพอลโล่แล้วจึงทูลว่าที่ตนล่าช้านั้นเพราะว่ามีงูน้ำมีพิษขวางเอาไว้ เทพอพอลโล่รู้ว่านกกาโกหก ทรงสาปนกกาให้มีสีดำและมีเสียงเหมือนประหนึ่งคนคอแห้งไปตลอดกาล จากนั้นพระองค์ก็จับนกกา ถ้วยน้ำ และงูน้ำนั้นโยนขึ้นไปบนท้องฟ้ากลายเป็นกลุ่มดาวนกกา ถ้วยน้ำ และงูไฮดร้า

                 กลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo - เวอร์โก) ของราศีกันย์ เป็นกลุ่มดาวที่มีอาณาเขตบริเวณกว้าง อันมีกลุ่มดาวหัสตะอยู่ในอาณาเขตนั้นด้วยเช่นกัน ในทางโหราศาสตร์อินเดียนั้น ราศีกันย์ประกอบไปด้วยฤกษ์อุตรผลคุณี 3 บาทฤกษ์ หัสตะ 4 บาทฤกษ์ และจิตรา 2 บาทฤกษ์ ซึ่งตรงกลางฤกษ์จิตราคือดาวรวงข้าวหรือดาวสไปกา (Spica)   ดาวจิตราหรือดาวสไปกานี้เป็นเครื่องหมายของการสิ้นสุดขอบเขตราศีกันย์ในทางโหราศาสตร์อินเดีย แต่ในทางดาราศาสตร์สากลแล้วดาวรวงข้าวนี้เป็นเพียงช่วงมือของหญิงสาวเท่านั้น ยังมีดาวที่แทนส่วนลำตัวช่วงล่างต่อไปอีก จะเห็นได้ว่าขอบเขตของราศีจักรหากยึดตามกลุ่มดาวราศีทั้ง 12 ราศีนั้นจะได้ขอบเขตแบบหนึ่ง แต่หากยึดตามกลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 27 ฤกษ์ก็จะได้ขอบเขตอีกแบบหนึ่ง ความสำคัญอีกประการของดาวสไปกาคือ การเป็นจุดตรงข้ามของ 0 องศาราศีเมษอันเป็นจุดเริ่มต้นของจักรราศี หรือกล่าวได้ว่าดาวสไปกาคือจุด 180 องศาของจุดเริ่มต้นจักรราศี คำว่า สไปกา นั้นมาจากคำว่า Spike ที่แปลว่า รวงข้าว หากให้กล่าวโดยจำเพาะก็ต้องกล่าวว่าเป็นรวงข้าวสาลี (Ear of Wheat)

                  คัมภีร์สุริยะสิทธานตะ (Surya siddhanta) ฉบับแปลภาษาอังกฤษของบัณฑิตพาปุเดวะสาสตริ (Pundit Bapu Deva Sastri) และลานซล๊อต วิลคินสัน (Lancelot Wilkinson) ตีพิมพ์ในปี 1861 บทที่ 8 โศลกที่ 2 เขียนไว้ว่า "Multiply the Bhoga of each Asterism by 10 and to the product add the spaces of the autecedent Asterism, the sum is the longtitude" แปลว่า หากนำโภคะของกลุ่มดาวนักษัตรคูณด้วย 10 จากนั้นบวกด้วยระยะของนักษตรก่อนหน้าทั้งหมด จะได้เป็นลองติจูดของกลุ่มดาวนักษัตรนั้น จากนั้นในโศลกที่ 3 ระบุว่า กลุ่มดาวฤกษ์จิตรามีโภคะ 40 นำ 40 x 10 = 400 ตราไว้ก่อน จิตราเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ที่ 14 ดังนั้นนำ 13 x 800 = 10,400 + 400 ที่ได้ตราไว้แล้ว = 10,800 / 60 = 180 องศาพอดี

                 กลุ่มดาวหญิงสาวเป็นกลุ่มดาวของเทพีดีมีเทอร์ (Demeter) เทพีแห่งการเพาะปลูก อันเป็นพระธิดาของเทพโครนัส (Cronus) และเทพีเรอา (Rhea) เทพีดีมีเทอร์เป็นผู้ที่สอนให้มนุษย์รู้จักการปลูกข้าว จะถือว่าเทพีดีมีเทอร์คือพระแม่ไพรศพของกรีกก็ได้เหมือนกัน แต่ความสำคัญของกลุ่มดาวหญิงสาวนี้ส่วนมากจะเกี่ยวกับเรื่องราวของเทพีเพอร์เซโฟเน่ (Persephone) เทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิ พระธิดาของเทพีดีมีเทอร์และเทพซุสกับเทพฮาเดส (Hades) เทพแห่งยมโลกพระอนุชาของเทพซุสเสียมากกว่า เรื่องราวเริ่มต้นที่เทพฮาเดสหลงรักเทพีเพอร์เซโฟเน่และอยากแต่งงานกับเธอ จึงไปขอเทพซุสให้จัดงานแต่งงานให้ตนกับเทพีเพอร์เซโฟเน่ ซึ่งเทพซุสก็อนุญาตแต่ทรงเตือนว่าเทพีดีมีเทอร์จะต้องไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานครั้งนี้ เพราะเทพีดีมีเทอร์รักและหวงแหนเทพีเพอร์เซโฟเน่อย่างมาก เทพฮาเดสได้ฟังดังนั้นแล้วก็ทรงคิดไปว่าคงจะต้องใช้วิธีลักพาตัวว่าที่เจ้าสาว จึงทรงขึ้นรถม้าทะยานออกไปหาเทพีเพอร์เซโฟเน่ ซึ่งในขณะนั้นเทพีเพอร์เซโฟเน่กำลังเดินเก็บดอกไม้กับเทพีอาร์เทมิสและอาร์เทนน่าในเกาะซิซิลี (Sicily) ปัจจุบันแคว้นซิสิลี่นี้เป็นเกาะที่อยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ประเทศอิตาลี มีเมืองหลวงชื่อปาร์เลโม่ (Palermo) เกาะซิซิลี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เนื่องจากมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามหลายแห่ง อีกทั้งยังมีภูเขาไฟแอตน่า (Mount Etna) ภูเขาไฟที่ยังปะทุกอยู่และเป็นภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป

                 ขณะที่เทพีเพอร์เซโฟเน่กำลังเก็บดอกไม้อยู่นั้น แผ่นดินก็ระเบิดแล้วแยกออก เทพฮาเดสก็ทรงขับรถม้าทะยานขึ้นมา จากนั้นพระองค์เดินลงจากรถม้าพุ่งตรงมาที่เทพีเพอร์เซโฟเน่แล้วจับข้อมือพระนาง ฉุดพระนางขึ้นรถแล้วขับรถม้าเหาะลงไปที่โลกเบื้องล่าง (Underworld) เทพีดีมีเทอร์เมื่อไม่เห็นพระธิดาอยู่นานจึงเริ่มหวั่นใจ และออกตามหา แต่ไม่ว่าเทพีดีมีเทอร์ออกตามหาที่ไหนก็ไม่เจอพระธิดา เทพีทรงตามหาอยู่ตลอด 9 วัน 9 คืนโดยไม่ได้ดื่ม กิน หรือหยุดพัก เมื่อพระองค์ไม่เจอพระธิดา พระองค์ก็ทรงโศกเศร้าเป็นอย่างมาก พืชผลต่าง ๆ แห้งเหี่ยวไปหมดทุกหย่อมหญ้า เทพอพอลโล่ทรงเห็นเหตุการณ์ทุกอย่างเพราะทรงขับรถพระอาทิตย์เคลื่อนผ่านพื้นพิภพในตอนที่        เทพฮาเดสลักพาตัวเทพีเพอร์เซโฟเน่ เทพอพอลโล่มาหาเทพีดีมีเทอร์แต่ไม่ได้บอกพระนางตรง ๆ เพียงแต่กล่าวว่า เทพฮาเดสคงไม่เหมาะจะเป็นเจ้าบ่าวของเพอร์เซโฟเน่

                 เมื่อเทพีดีมีเทอร์ได้ฟังดังนั้นก็ทรงรู้ได้ในทันทีและทรงพิโรธมาก ทรงปฏิเสธที่จะกลับไปที่เขาโอลิมปัส และปฏิเสธที่จะทำหน้าที่ของตนเอง จนพืชพันธุ์ทั้งโลกนี้แห้งเหี่ยวตายและมนุษย์เริ่มอดตายเพราะไม่มีอาหาร เทพซุสจึงทรงจัดขบวนเทพไปอันเชิญเทพีดีมีเทอร์ให้กลับเขาโอลิมปัส แต่พระนางก็ทรงยืนกรานว่าจะไม่กลับเขาโอลิมปัสเด็ดขาด เทพซุสจึงเรียกเทพเฮอร์เมสมาแล้วตรัสสั่งให้ไปบอกเทพฮาเดสว่าให้ปลดปล่อยเทพีเพอร์เซโฟเน่เสีย เมื่อเทพเฮอร์เมสนำข่าวจากเทพซุสไปแจ้งกับเทพฮาเดส เทพฮาเดสก็ยอมปล่อยเทพีเพอร์เซโฟเน่กลับมา แต่ก่อนที่เทพีจะกลับ เทพฮาเดสทรงยื่นผลทับทิมให้กับเทพีเพอร์เซโฟเน่เป็นของปลอบขวัญ เทพีเพอร์เซโฟเน่ทรงหิวเป็นกำลังอยู่จึงหยิบเมล็ดทับทิมเสวยเข้าปาก ทันใดนั้นเองเทพฮาเดสก็กล่าวแก่เทพีว่า ในโลกใต้พิภพนี้มีกฎว่า หากใครได้กินอาหารในโลกนี้แล้ว จะต้องอยู่ในโลกใต้พิภพตลอดไป แน่นอนว่าแม้จะเป็นกฎ แต่ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างเทพีดีมีเทอร์ เทพซุส และเทพฮาเดส

                 เทพีเรอามารดาของเทพทั้งสามนั้นจึงจัดการประชุม ให้เทพทั้งสามมาประชุมกันแล้วทำข้อตกลง โดยเทพีเรอาทรงทำข้อตกลงว่าให้เทพีเพอร์เซโฟเน่ทรงอยู่บนพื้นพิภพ 6 เดือน และอยู่บนโลกใต้พิภพ 6 เดือน ดังนั้นในหนึ่งปี โลกมนุษย์จึงทำการเพาะปลูกได้ 6 เดือนคือในช่วงที่เทพีเพอร์เซโฟเน่ทรงอยู่กับเทพีดีมีเทอร์ จากนั้นอีก 6 เดือนก็จะไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ เพราะเทพีดีมีเทอร์จะทรงโศกเศร้า พืชพันธุ์ต่าง ๆ จะแห้งเหี่ยวตาย กลุ่มดาวหญิงสาวเป็นตัวแทนของเทพีดีมีเทอร์ ซึ่งชาวกรีกจะเริ่มมองเห็นบนท้องฟ้ายามค่ำคืนได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม – สิงหาคม และเป็นสิ่งบ่งบอกถึงระยะเวลาเพาะปลูกของชาวกรีก ดาวที่ส่องสว่างที่สุดและสำคัญที่สุดของกลุ่มดาวหญิงดาวคือ ดาวสไปกาหรือดาวจิตรา

                 ถัดจากดาวจิตราก็คือกลุ่มดาวสวาติ ในคัมภีร์โหราศาสตร์ของหลวงวิศาลดรุณกรนั้นจะระบุว่า กลุ่มดาวสวาติมิได้เป็นกลุ่มดาว แต่เป็นเพียงดาวดวงเดียว คือดาวดวงแก้วหรือดาวอาร์คตุรุส (Arcturus) ที่อยู่ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์หรือโบโอเตส (Bootes) แต่เนื้อหาส่วนนิทานกลุ่มดาวสวาติในคัมภีร์เล่มเดียวกัน กลับบรรยายว่ากลุ่มดาวสวาติเป็นกลุ่มดาวที่มีชื่อว่ากลุ่มดาวปลอกคอสุนัข อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงรูปวาดประกอบแล้ว กลุ่มดาวสวาตินั้นก็คือกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์นั่นเอง โดยโยงเส้นแตกต่างกับทางดาราศาสตร์สากล เริ่มจากดาวรวงแก้วโยงขึ้นไปหาดาวทางด้านบน 1 ดวงเป็นส่วนของปลอกคอสุนัข และจากดาวดวงแก้วโยงมาที่ดาวทางด้านซ้ายล่างอีก 3 ดวงเป็นสันหลังของสุนัข รวมกันเป็นกลุ่มดาวสวาติ เมื่อกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์และกลุ่มดาวสวาติถือได้ว่าเป็นกลุ่มดาวดวงเดียวกัน จึงขอเริ่มเล่าในส่วนของตำนานกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ก่อน คำว่า โบโอเตสนั้นเป็นภาษากรีกแปลว่าคนเลี้ยงสัตว์ (Herdsman) หรือคนเลี้ยงวัวกระทิง (Ox Driver) เรื่องราวเริ่มต้นที่พระนางคัลลิสโต้ (Callisto) เป็นพระธิดาของพระราชาไลเคออน (Lycaon) แห่งอาร์เคเดี้ยน (Arcadian) พระนางคัลลิสโต้เป็นนางรับใช้คนหนึ่งของเทพีอาร์เทมิส วันหนึ่งเทพซุสแปลงกายเป็นเทพีอาร์เทมิสแล้วเข้าไปใกล้ชิดกับพระนาง จนสุดท้ายเทพซุสก็ปรากฏพระองค์และร่วมรักกับพระนางจนมีบุตรด้วยกันคนหนึ่งชื่ออาร์คัส (Arcus) เทพีเฮร่าพระมเหสีของเทพซุสทรงทราบเรื่องดังกล่าวเข้าจึงสาปพระนางคัลลิสโต้เป็นหมี อาร์คัสก็ถูกเลี้ยงดูโดยพระราชาไลเคออนซึ่งเป็นตาของพระองค์มาโดยตลอด วันหนึ่งมีงานเลี้ยงฉลองจัดขึ้นในวังซึ่งเทพซุสก็มาร่วมงามด้วย พระราชาเกิดอยากจะท้าทายเทพซุสขึ้นมาจึงฆ่าอาร์คัสเสียแล้วเอาเนื้อของอาร์คัสมาปรุงอาหารต้อนรับเทพซุส จากนั้นก็ท้าทายเทพซุสว่าหากพระองค์ทรงมีอิทธิฤทธิ์จริง ก็ต้องสามารถชุบชีวิตบุตรของพระองค์ได้ เทพซุสทรงพิโรธจึงสาปให้พระราชาไลเคออนกลายเป็นหมาป่าไป ทำให้พระราชาไลเคออนกลายเป็นมนุษย์หมาป่า (Werewolf) หรือเรียกอีกชื่อว่า ไลเคน (Lycan) ตนแรกของโลก จากนั้นก็ทรงฆ่าบุตรของพระราชาไลเคออนทุกคนแล้วชุบชีวิตอาร์คัสขึ้นมา ทำให้อาร์คัสกลายเป็นพระราชาของอาร์เคเดี้ยนคนต่อมา วันหนึ่งอาร์คัสออกไปล่าสัตว์ ก็ได้ไปเจอกับหมีตัวใหญ่ตัวหนึ่ง ซึ่งหมีตัวนี้จริง ๆ แล้วคือพระนางคัลลิสโต้ที่ถูกสาป พระนางพยายามจะบอกว่าตนเองเป็นใคร แต่อาร์คัสไม่เข้าใจเพราะได้ยินแต่เสียงคำรามของหมี จึงเหนี่ยวธนูเงินหมายจะยิงใส่พระนางคัลลิสโต้ เทพซุสทรงมาห้ามไว้ทันโดยจับพระนางคัลลิสโต้ในร่างหมีโยนขึ้นไปบนท้องฟ้ากลายเป็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือคนไทยรู้จักกันในนามกลุ่มดาวจระเข้ ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่คนทั่วโลกใช้บอกทิศเหนือมาหลายร้อยปี และสำหรับคนจีน กลุ่มดาวจระเข้ยังเป็นต้นกำเนิดของวิชาดาวเก้ายุคของวิชาฮวงจุ้ยอีกด้วย เมื่อเทพซุสจับพระนางคัลลิสโต้โยนขึ้นไปแล้ว ก็ทรงเสกให้อาร์คัสกลายเป็นลูกหมีโยนขึ้นไปบนท้องฟ้าด้วยเช่นกัน ซึ่งปลายหางของกลุ่มดาวหมีน้อยนี้คือดาวเหนือ เทพีเฮร่าทรงทราบเรื่องที่เทพซุสนำพระนางและพระโอรสไปสถิตบนฟ้า เทพีเฮร่าก็ทรงจับกลุ่มดาวทั้งสองนี้ให้หันหน้าออกจากกันไปคนทิศ เพื่อที่จะกลั่นแกล้งให้ไม่มีวันได้เจอกันอีกตลอดกาล

                 เมื่อประมาณวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 ผมได้ไปเที่ยวห้างเซ็นทรัล สาขาบางนา ผมเดินเข้าร้านหนังสือซีเอ็ด เห็นหนังสืออยู่เล่มหนึ่งเขียนว่า "ฮวงจุ้ย ดาวฤกษ์" ซึ่งมีการพูดถึงกลุ่มดาวฤกษ์ที่เรากำลังศึกษานี้อยู่เหมือนกัน ผมก็ค่อนข้างเกรงว่าเขาจะหาว่าผมลอกเลียนเนื้อหาเขาหรือเปล่านะจึงได้ลองเปิดอ่านดู ปรากฎว่าเนื้อหาของหนังสือเล่มดังกล่าวและของผมนั้นไม่ตรงกันเท่าไรนัก ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านที่กำลังศึกษาว่า การระบุดาวในเนื้อหาที่ผมเขียนทั้งหมดนี้ อ้างอิงมาจากหนังสือโหราศาสตร์ไทยมาตรฐานฉบับสมบูรณ์ของหลวงวิศาลดรุณกร แล้วทางผู้เขียนได้ชำระเองด้วยส่วนหนึ่ง เพราะเหตุว่าชื่อกลุ่มดาวในหนังสือเล่มดังกล่าวใช้คำแบบภาษาละติน ผู้เขียนต้องนำมาชำระให้เป็นภาษาอังกฤษ อีกทั้งแผนที่ดาวในหนังสือ น่าจะเป็นแผนที่หมู่ดาวที่เก่าแก่แล้ว จึงไม่ค่อยเหมือนกับแผนที่ดาวสมัยใหม่เท่าใดนัก ผู้เขียนก็ได้นำแผนที่ดาวสมัยใหม่ มาเทียบเคียงกับแผนที่ดาวในหนังสือ เพื่อระบุพิกัดกลุ่มดาวที่แน่ชัด จึงขอยืนยันว่า ผู้เขียนมิได้ลอกเลียนแบบมาแต่อย่างใด และไม่ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนกลุ่มดาวทั้ง 27 กลุ่มจากหนังสือเล่มดังกล่าว เป็นความนึกสนุกและต้องการสนอง Need ของผู้เขียนเองล้วน ๆ นะครับ

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ
ผู้ใดที่สนใจเรียนโหราศาสตร์ภารตะฟรี (ไม่เก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น) สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 082 - 454 - 6554
หรือสามารถดูรายละเอียดได้ในเนื้อของบล๊อคนี้ ในเดือนเมษายน ปี 2015 นะครับ

วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีทั้ง 12 ดาวฤกษ์ทั้ง 27 ในกลุ่มดาวดาราศาสตร์สากล ตอนที่ 2






ความในเบื้องต้น

                 ในคราวที่แล้วนั้นเราได้ทำการศึกษาเรื่องของกลุ่มดาวราศีเมษ และพฤษภกันไปแล้ว ซึ่งเราก็ได้รับรูุ้กลุ่มดาวอัศวิณี ภรณี กฤติกา โรหิณี และมฤคศิระ กันไปแล้ว ในวันนี้จะเป็นการศึกษากลุ่มดาวราศีเมถุนและกรกฎ รวมถึงกลุ่มดาวอารทรา       ปุณรวสุ และบุษยะ กันต่อไป



                 ประมาณต้นเดือนมราคมตอนประมาณ 21.00 น. ที่ท้องฟ้าทิศตะวันออก มุมเงยประมาณ 45 องศา เราจะเห็นกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini – เจมีนี่) เป็นกลุ่มดาวที่หาไม่ยาก หากว่าเราลากเส้นจากเขาของกลุ่มดาววัว และไหล่ของกลุ่มดาวนายพรานก็จะเจอกับขาของกลุ่มดาวคนคู่ ดาวที่เด่นในกลุ่มดาวคนคู่คือดาวคัสเตอร์และดาวพอลลักซ์ ชื่อคนคู่ของกลุ่มดาวราศีเมถุนมาจากดาวคู่นี้ซึ่งชาวกรีกเรียกดาวทั้งสองดวงนี้ว่า ดาวแฝด ชาวกรีกจะมองเห็นกลุ่มดาวราศีเมถุนและดาวทั้งสองนี้ตอนหัวค่ำประมาณเดือนธันวาคม แสดงให้เห็นว่าพระอาทิตย์ได้เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ช่วงเวลานี้เป็นเวลาสิ้นสุดของพายุฤดูหนาว ชาวเรือสามารถออกเรือหาปลาหรือเดินทางได้โดยสะดวก บนเรือของชาวกรีกจะมีหิ้งบูชาเทพคัสเตอร์และพอลลักซ์เพื่ออธิษฐานให้เดินทางได้โดยปลอดภัย ถัดจากดาวพอลลักซ์จะเชื่อมต่อไปที่ดาวอันเป็นส่วนขาปู กลุ่มดาวปูจะปรากฎในทางทิศตะวันออกช่วงประมาณ 21.00 น. ในเดือนมกราคม บริเวณสำคัญคือกระจุกดาวรวงผึ้ง (Beehive Cluster) ที่อยู่ตรงกลางกลุ่มดาวปู ในภาษาละตินจะเรียกกระจุกดาวนี้ว่า เปรเซเป (Presepe) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในคัมภีร์โหราศาสตร์ไทยของหลวงวิศาลดรุณกร อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าในปัจจุบันนี้มีแสงไฟจากหลอดไฟจำนวนมากที่ส่องขึ้นท้องฟ้า ทำให้เราอาจจะเห็นกลุ่มดาวปูเหลือแค่เพียงขาหนึ่งข้างที่อยู่ใกล้กับกลุ่มดาวสุนัขเล็ก และแขนอีก 2 ข้างทางด้านล่างเท่านั้น รวมกันแล้วจะเป็นรูปตัว Y ส่วนขาอีกข้างที่อยู่ใกล้กับกลุ่มดาวคนคู่และกระจุกดาวรวงผึ้งตรงกลางนั้น เราไม่สามารถจะมองเห็นได้อีกต่อไปแล้ว

                  ตำนานของกลุ่มดาวคนคู่ของกรีกนั้นเริ่มต้นที่เทพซุสได้ตกหลุมรักพระนางเลดา (Leda) มเหสีของพระราชา      ไทน์ดาริอุส (Tyndareus) แห่งสปาตาร์ (Sparta) เทพซุส (Zeus) จึงสั่งให้เทพเฮอร์เมส (Hermes) เทพแห่งการค้าและการสื่อสารบุตรของพระองค์แปลงเป็นนกอินทรีย์ ส่วนเทพซุสจะแปลงเป็นหงส์ ซึ่งหงส์ตัวนี้ก็กลายเป็นกลุ่มดาวในท้องฟ้า จากนั้นก็ทำแผนการให้หงส์บินหนีนกอินทรย์จนมาถึงที่ประทับของพระนางเลดา พระนางเลดาทรงเห็นดังนั้นก็ทรงกอดหงส์เอาไว้และไล่นกอินทรีย์ไป เทพซุสในร่างของหงส์ก็ใช้โอกาสนี้เสพสมกับพระนาง ในคืนนั้นเองขณะที่พระองค์ทรงหลับ พระองค์ก็ได้คลอดไข่สองใบออกมา ใบหนึ่งมีเด็กชายหญิง 2 คนคือคาสเตอร์ (Castor) และไคลเทมเนสตร้า (Clytemnestra) ซึ่งเด็กทั้งสองคนนี้เป็นมนุษย์ธรรมดาจึงถือว่าเป็นบุตรของพระราชาไทน์ดาริอุส และไข่อีกใบหนึ่งแตกออกเป็นเด็กหญิง 2 คนคือพอลลักซ์ (Pollux) และเฮเลน (Helen) ซึ่งทั้งสองคนเป็นอมตะ จึงอนุมานได้ว่าเด็กทั้ง 2 คนนี้เป็นลูกของเทพซุส คาสเตอร์และพอลลักซ์เติบโตมาด้วยกันและเรียนมาด้วยกัน คาสเตอร์จะเก่งทางด้านฟันดาบ ส่วนพอลลักซ์จะเก่งทางด้านชกมวย ท้ายที่สุดนั้นทั้งคู่ได้ไปร่วมงานแต่งงานระหว่างฝาแฝดไอดัส (Idas) และไลน์ชุส (Lynceus) กับฟีเบ (Phoebe) และฮิราเอย์ร่า (Hilaira) คาสเตอร์และพอลลักซ์เกิดตกหลุมรักเจ้าสาวขึ้น ทำให้คาสเตอร์และพอลลักซ์ตรงเข้าฉุดเจ้าสาวและเกิดการต่อสู้กันระหว่างเจ้าบ่าวและคาสเตอร์กับพอลลักซ์ ไลนเชอุสได้เอาดาบแทงคาสเตอร์ตาย พอลลักซ์เห็นดังนั้นจึงฆ่าไลนเชอุส ไอดัสเห็นพี่ชายตายจึงเข้าทำร้ายพอลลักซ์ แต่ยังไม่ทันจะถึงตัว เทพซุสก็ขว้างสายฟ้ามาถูกไอดัสตาย พอลลักซ์เสียใจมากเพราะตนเองเป็นอมตะไม่สามารถตายไปพร้อมคาสเตอร์ได้ พอลลักซ์จึงอ้อนวอนให้เทพซุสบิดาของตนช่วยเหลือ เทพซุสจึงบันดาลให้คาสเตอร์เป็นอมตะและนำทั้งสองขึ้นไปสถิตในท้องฟ้า

                 กลุ่มดาวคนคู่แห่งราศีเมถุนนั้นในส่วนท้าย 2 ดวงกับดาวอิสระ 1 ดวง และกลุ่มดาวยูนิคอร์นอีก 1 ดวงรวมกันเป็นรูปฉัตร ด้วยเหตุนี้คนไทยจึงเรียกกลุ่มดาวอารทราว่ากลุ่มดาวฉัตร ส่วนทางศีรษะของกลุ่มดาวคนคู่ คือ ดาวคาสเตอร์และพอลลักซ์จะเป็นดาว 2 ดวงที่เป็นส่วนหัวเรือ ดาว 2 ดวงของกลุ่มดาวสุนัขเล็กเป็นกลางสำเภา และกลุ่มดาวสุนัขใหญ่สุนัขคู่ใจของนายพรานโอไรออนเป็นท้ายสำเภา รวมกันแล้วกลายเป็นกลุ่มดาวปุณรวสุหรือกลุ่มดาวเรือสำเภา

                  ถัดจากกลุ่มดาวคนคู่ของราศีเมถุนก็คือกลุ่มดาวปู (Cancer - แคนเซอร์) ของราศีกรกฎ การหากลุ่มดาวราศีกรกฎนั้นหากเป็นสมัยโบราณคงไม่ยากเท่าไรนัก เพราะว่าดาวที่เป็นขาปูจะอยู่ใกล้กับดาวพอลลักซ์ แต่ในปัจจุบันนี้ดาวที่เป็นขาปูดังกล่าวอาจจะไม่สามารถมองเห็นได้แล้ว เพราะดาวขาปูดวงนี้เป็นดาวที่มีแสงน้อยมาก ดังนั้นกลุ่มดาวปูที่จะสามารถมองเห็นได้คือขาปูอีกข้างทางด้านซ้ายที่เหลือ และแขนของปูทั้ง 2 ข้างทางด้านล่างเท่านั้น รวมถึงกระจุกดาวรวงผึ้งตรงกลางนั้น ก็ถือว่าเป็นกระจุกดาวที่มีความสว่างน้อยกว่ากระจุกดาวลูกไก่มาก ดังนั้นในปัจจุบันเราก็อาจจะไม่สามารถมองเห็นกระจุกดาวรวงผึ้งได้เช่นกัน ตำนานของกลุ่มดาวปูของราศีกรกฎนั้นเริ่มต้นจากเรื่องของวีรบุรุษของตำนานกรีกคนหนึ่งชื่อว่า เฮอร์คิวลิส (Hercules) เนื่องจากตำนานเรื่องเฮอร์คิวลิสนั้นมีความยาวค่อนข้างมาก อีกทั้งรายละเอียดก็เกี่ยวข้องกับกลุ่มดาวปูเพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้น จึงขอบรรยายตำนานสั้น ๆ ดังนี้ว่า เฮอร์คิวลิสเป็นบุตรเทพซุสและนางอัลค์มีนี่ (Alcmene) ภรรยาของแม่ทัพแอมฟิทรีออน (Amphitryon) แห่งเมืองทีบีส (Thebes) โดยคืนหนึ่งที่แม่ทัพแอมฟิทริออนออกไปทำสงคราม เทพซุสก็ลักลอบเป็นชู้กับนางอัลค์มีนี่และมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือเฮอร์คิวลิส ด้วยเหตุนี้เองทำให้เทพีเฮร่า (Hera) มเหสีของเทพซุสไม่พอใจเป็นอย่างมาก เมื่อเฮอร์คิวลิสเติบโตขึ้นจนมีภรรยาและบุตรสามคน เทพีเฮร่าจึงบันดาลให้เขาคลุ้มคลั่งพลั้งมือฆ่าภรรยาและจับบุตรโยนเข้ากองไฟตายทั้งหมด เมื่อเฮอร์คิวลิสคืนสติขึ้นก็เศร้าเสียใจกับสิ่งที่ตนทำลงไปและคิดฆ่าตัวตาย ขณะที่เขากำลังจะฆ่าตัวตายนั้น ธีซีอุส (Theseus) ลูกพี่ลูกน้องของเขาก็เข้ามาห้ามและเตือนสติให้เฮอร์คิวลิสล้างบาปกรรมของเขาด้วยวิธีอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่าการฆ่าตัวตาย เฮอร์คิวลิสจึงเดินทางไปที่วิหารเทพอพอลโล่เพื่อเจอกับผู้ทำนายที่ชื่อเดลฟี (Delphi) เธอบอกให้เฮอร์คิวลิสเดินทางไปหาพระราชายูริสธีอุส (Eurystheus) ที่เมืองทิรินส์ (Tiryns) และทำทุกอย่างที่ยูริสธิอุสสั่งให้ทำ เฮอร์คิวลิสก็เดินทางไปหายูริสธีอุสและเขาก็ได้สั่งให้เฮอร์คิวลิสทำภารกิจ 12 อย่าง (Twelve Labors of Hercules) โดยภารกิจอย่างหนึ่งคือการฆ่างูไฮดร้า (Hydra)

                 งูไฮดร้านั้นอยู่อาศัยในบึงใกล้กับทะเลสาบเลอร์น่า (Lerna) ในอาร์โกลิส (Argolis) ซึ่งปัจจุบันนี้เลอร์น่าเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเพโลพอนนีส (Peloponnese) ประเทศกรีซ เลอร์น่าในปัจจุบันนี้ไม่มีทะเลสาบแต่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายทั้งซากปรักหักพังของวิหารต่าง ๆ และพิพิธภัณฑ์ที่มีวัตถุเก่าแก่มากมาย กลับมาที่เรื่องราวของเฮอร์คิวลิส เขาเดินทางไปต่อสู้กับงูไฮดร้าโดยมีลูกพี่ลูกน้องชื่อว่าไอโอเลาส์หรือไอโอเลอุส (Iolaus) คอยช่วยเหลือ งูไฮดร้านั้นมีหัวหลายหัว บ้างก็ว่า 7 หัว บ้างก็ว่า 9 หัว แต่จุดสำคัญคือหากตัดหัวงูไฮดร้าออก 1 หัว ก็จะงอกใหม่เป็น 2 หัวทันที ดังนั้นเมื่อเฮอร์คิวลิสตัดหัวงูแล้ว ไอโอเลอุสก็จะเอาเหล็กเผาไฟร้อน ๆ ยื่นให้เฮอร์คิวลิสเพื่อเอาไปนาบไว้ที่รอยแผลบริเวณคองูให้มันไหม้เกรียม หัวงูก็จะงอกใหม่ไม่ได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวทั้งหมดนี้รวมทั้งดาบทองคำที่เฮอร์คิวลิสใช้ก็ได้รับมาจากเทพีอาร์เทนน่า (Athena) เทพีแห่งปัญญาทั้งสิ้น ระหว่างที่เฮอร์คิวลิสสู้กับงูไฮดร้าอยู่นั่นเอง เทพีเฮร่าก็ส่งปูยักษ์ตัวหนึ่งมาช่วยงูไฮดร้า โดยเจ้าปูใช้ก้ามหนีบข้อเท้าของเฮอร์คิวลิสเอาไว้ เฮอร์คิวลิสจึงใช้เท้ากระทืบปูตาย และตัดหัวสุดท้ายของงูได้สำเร็จ แม้ว่างูจะโดนตัดหัวแล้วแต่มันก็ยังไม่ตาย เฮอร์คิวลิสจึงเอาหินก้อนใหญ่ทับหัวมันเอาไว้ เทพีเฮร่าเห็นความกล้าหาญของปูตัวนั้น จึงจับมันโยนขึ้นไปสถิตบนท้องฟ้ากลายเป็นกลุ่มดาวปูแห่งราศีกรกฎ

                 ในกลุ่มดาวราศีกรกฎนี้มีกระจุกดาวรวงผึ้งอยู่ตรงกลาง ในทางโหราศาสตร์อินเดียเรียกกระจุกดาวรวงผึ้งนี้ว่ากลุ่มดาวบุษยะ ในทางโหราศาสตร์ไทยเรียกว่ากลุ่มดาวสมอเรือ อาจจะเป็นเพราะอยู่ทางด้านล่างค่อนไปทางหัวเรือสำเภานั่นเอง


                  คราวหน้าจะเป็นการแนะนำกลุ่มดาวราศีสิงห์และราศีกันย์ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มดาวฤกษ์ทางโหราศาสตร์ถึง 7 กลุ่มดาวด้วยกันนะครับผม

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีทั้ง 12 ดาวฤกษ์ทั้ง 27 ในกลุ่มดาวดาราศาสตร์สากล ตอนที่ 1



ความในเบื้องต้น

                 ในศาสนาคริสต์ตอนที่พระเยซูถือกำเนิดนั้น พระคัมภีร์ได้กล่าวไว้ว่ามีโหราจารย์ 3 คน มาเป็นพยานการถือกำเนิดของพระเยซู ดังนี้คือ เมลคีออร์ (Melchior) แห่งเปอร์เซีย คัสปาร์ (Caspar) แห่งอินเดีย และบัลธาซาร์ (Balthassar) แห่งบาบิโลเนีย จะเห็นว่าโหราจารย์ทั้ง 3 นั้นมีคนหนึ่งเป็นชาวอินเดีย แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะมีชาวจีนกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า หนึ่งในนั้นน่าจะมีนักโหราจารย์ชาวจีนด้วยเหมือนกัน เพราะหลักการทางดาราศาสตร์สมัยโบราณของดินแดนในแถบลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติสก็ดี ลุ่มแม่น้ำสินธุก็ดี หรือลุ่มแม่น้ำฮวงโหก็ดี มีความคล้ายคลึงกันจนแทบจะแยกกันไม่ออก เนื่องจากอายรธรรมในแถบนี้ มีหลักเกณฑ์ของกลุ่มดาวเหมือนกันคือ 28 กลุ่มนักษัตร รวมกันแล้วเป็น 12 ราศี แตกต่างกันตรงจำนวนของดาวที่ประกอบกันเป็นกลุ่มดาว อาจจะแตกต่างกันตามวัฒนธรรม แต่โดยส่วนมากแล้วก็จะมีตำแหน่งเดียวกันบนท้องฟ้า ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักจะกล่าวกันว่าโหราศาสตร์ไทยนั้นมีดาวฤกษ์ 27 กลุ่ม ส่วนของจีนนั้นมี 28 กลุ่ม ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ว่าจะของอินเดีย ของไทย หรือของจีน ต่างก็มีกลุ่มดาวฤกษ์ 28 กลุ่มทั้งสิ้น เพียงแต่ลุ่มดาวฤกษ์ลำดับที่ 28 นั้น มีอาณาเขตแคบเกินจนไร้ความสำคัญ นักโหราศาสตร์จึงตัดออกจากสารบบ คงสืบทอดมาเพียง 27 กลุ่มเท่านั้น หากมองในแง่นี้ชาวจีนก็มิได้มีมากไปกว่าอินเดียหรือไทยเท่าใดนัก และอาจจะเป็นไปได้ว่า กลุ่มดาวฤกษ์ 28 กลุ่มของชาวจีนนั้น ชาวจีนก็มิได้คิดเอง เพราะประวัติศาสตร์ของชนชาติจีนก็ยอมรับกันว่า วิชาบางอย่างได้รับมาจากสำนักเรียนแบเทือกเขาหิมาลัยทั้งสิ้น รวมถึงพุทธศาสนาด้วยเหมือนกันต่มีการปรับเปลี่ยนไปในตอนหลังให้เข้ากับวัฒนธรรมและความเข้าใจของคนจีน เช่นที่เกิดกับพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน



                 รูปภาพทางด้านบนเป็นรูปของจานดินเหนียวอันมีตัวอักษรคูนิฟอร์ม เป็นจานดินเหนียวที่ถูกค้นพบบริเวรเมืองนิเนเวห์ ปัจจุบันอยู่ใกล้ ๆ เมืองโมซูล ประเทศอิรัก ในสมัยก่อนนั้นเมืองนิเนเวห์เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองของพวกอัสซิเรียน (Assyrian) โดยมีการขุดพบห้องสมุดของจักรพรรดิ์อาซูร์บานีปาล (Ashurnasirpal) ซึ่งครองราชย์ 668-327 ปีก่อนคริสตกาล มีการค้นพบจานดินเหนียวที่บันทึกเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์นี้เป็นนับพันอัน ซึ่งอันที่นำมาเป็นรูปภาพนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ได้บันทึกเหตุการณ์เกิดดาวเคราะห์น้อยชนโลกเอาไว้เมื่อประมาณ 3123 ปีก่อนคริสต์กาล และเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงทำลายเมืองโซดอม (Sodom) และโกโมร่า (Gomorrah) ในคัมภีร์ไบเบิล สิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันถึงกับอึ้งและทึ่งก็คือ นักดาราศาสตร์สมัยก่อน สามารถบอกได้ว่าดาวเคราะห์น้อยนี้พุ่งมาจากกลุ่มดาวใด เวลาใด และมีองศาการพุ่งเข้ามาในทิศทางใด จนนักวิทยาศาสตร์สามารถนำมาคำนวณหาจุดตกกระทบบนพื้นโลกได้เลยทีเดียว แสดงว่านักดาราศาสตร์สมัยก่อนนั้นมีความแม่นยำทางดาราศาสตร์อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันแปลกใจอย่างมาก สำหรับผู้เขียนแล้วสิ่งนี้ไม่น่าแปลกใจเลยสักนิดเดียว เพราะหากดูจากคัมภีร์สุริยาตร์ของไทยที่ได้รับมาจากอินเดียแล้ว จะเห็นว่าเราสามารถคำนวณการโคจรของดาวเคราะห์ได้มานานแล้ว

                 ผู้เขียนมีความเห็นว่าในเมื่อวิชาโหราศาสตร์ มีรากเหง้ามาจากวิชาดาราศาสตร์ ผู้เขียนจึงทำการค้นคว้าข้อมูลในเรื่องดาราศาสตร์สากลในเรื่องของกลุ่มดาวราศี เพื่อเชื่อมโยงถึงกลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 27 กลุ่มของทางโหราศาสตร์อินเดีย นักโหราศาสตร์ไทยจำนวนมาก ใช้ฤกษ์ทั้ง 27 ในการหาเวลาพึงประกอบกิจการมาเป็นเวลาช้านาน และผู้เขียนสันนิษฐานคงมีจำนวนไม่มากนัก ที่จะรู้ว่ากลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 27 นั้นอยู่ตรงส่วนไหนบ้างของท้องฟ้ายามค่ำคืนเมื่อเราแหงนมองท้องฟ้า หลังจากผู้เขียนศึกษาเรื่องกลุ่มดาวราศีและกลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 27 นี้ ผู้เขียนก็สามารถมองเห็นพระพฤหัสบดีและพระเสาร์ได้ด้วยตาเปล่า เพราะทราบตำแหน่งอยู่แล้วจากปฏิทินของอาจารย์ทองเจือ อ่างแก้ว เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า ตำแหน่งดาวนั้นตรงกับท้องฟ้าจริงเมื่อยามแหงนหน้าขึ้นไปมองในทุกครั้ง

                 สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอันดับแรกมี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ดาวที่อยู่ในแผนภูมิดาราศาสตร์นี้ เราอาจจะไม่สามารถมองเห็นดาวบางดวงหรือแม้กระทั่งบางกลุ่มดาวได้อีกต่อไป เพราะว่าบนพื้นดินมีหลอดไฟหลายดวงที่เปิดไว้ในตอนกลางคืน อย่างเช่น แสงหน้ารถยนต์ แสงไฟตามถนนหลวง แสงไฟของบ้านเรือนประชาชน เป็นต้น ทำให้มีแสงส่องขึ้นฟ้าจนกลบแสงของดาวบางดวงจนหมด ในสมัยก่อนนั้นกองไฟหนึ่งกองมีแสงสว่างอยากมากประมาณไม่เกิน 100 เซนติเมตร แต่หลอดไฟในปัจจุบันนี้หลอดเดียว มีรัศมีการส่งสว่างเป็นเมตรทำให้เราไม่สามารถมองเห็นดาวบางดวงได้อีกต่อไป เรื่องที่สองคือ ชาวอินเดียเรียกกลุ่มดาวทั้ง 12 ราศีว่า ราศี (Rasi) และเรียกกลุ่มดาวทั้ง 27 ฤกษ์ว่า นักษัตร (Nakshatra) แต่คนไทยกลับใช้คำว่านักษัตรกับราศี และเรียก กลุ่มดาวนักษัตรทั้ง 27 กลุ่มว่า ฤกษ์ ดังนั้นเพื่อความคุ้นชินและความเข้าใจของคนไทย ผู้เขียนจึงขอใช้คำว่า กลุ่มดาวฤกษ์ ตามแบบคนไทย 

ดาราศาสตร์สากล สู่กลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 27 




                 หากทุกท่านประสงค์จะศึกษาเรื่องกลุ่มดาวนี้ด้วยตาตนเอง ผู้เขียนขอแนะนำให้เริ่มตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมประมาณ 20.00 น. ทุกท่านจะเห็นกลุ่มดาวนายพรานหรือกลุ่มดาวโอไรออน (Orion) ดังรูป คนไทยจะเรียกว่ากลุ่มดาวเต่า การเริ่มต้นที่กลุ่มดาวนี้จะเป็นการง่ายที่สุด เพราะเป็นกลุ่มดาวที่สวยงามกลุ่มดาวหนึ่งในท้องฟ้า ตรงกลางกลุ่มดาวเต่านั้นจะมีดาวเรียงกันสามดวงเรียกว่า เข็มขัดนายพราน (Orion's Belt) ซึ่งชาวอียิปต์เชื่อว่ากลุ่มดาวนายพรานนี้เป็นกลุ่มดาวแห่งกษัตริย์ และดาวสามดวงนี้ก็เป็นต้นกำเนิดการสร้างปิรามิดที่เมืองกีซ่า ประเทศอียิปต์ เนื่องจากปิรามิดดังกล่าว เรียงตัวในแนวเดียวกันดาวทั้งสามด้วงนี้ ในกลุ่มดาวนายพรานนี้ในส่วนหัวจะเป็นสามเหลี่ยม คนไทยเรียกว่ากลุ่มดาวหัวเต่า แต่ในทางโหราศาสตร์คือกลุ่มดาวมฤคศิระ ฤกษ์ลำดับที่ 5 ของจักรราศี ความสำคัญของกลุ่มดาวมฤคศิระจะอยู่ที่ดาวตรงกลาง อันเป็นจุดสิ้นสุดเขตของราศีพฤษภในด้านท้ายติดต่อกับราศีเมถุน

                 ย้อนขึ้นไปทางด้านบนเราจะเห็นกลุ่มดาววัว มีดาวที่รวมกันเป็นสามเหลี่ยม ตรงนั้นคือกลุ่มดาวโรหิณี ฤกษ์ลำดับที่ 4 กลุ่มดาววัวหรือกลุ่มดาวเทารัส (Taurus เป็นกลุ่มดาวของราศีพฤษภ ทุกกลุ่มดาวนั้นจะมีเรื่องราวประกอบทั้งสิ้น หากเป็นกลุ่มดาวทั้ง 12 ราศีก็จะเป็นเรื่องราวเทพปกรณัมของกรีกโรมัน แต่หากเป็นของดาวฤกษ์ทั้ง 27 นี้ก็จะเป็นของคติทางไทยเป็นส่วนมาก แต่เนื่องจากหากนำเสนอเรื่องราวนิทานของกลุ่มดาวฤกษ์แล้วจะทำให้เนื้อหามีจำนวนมาก ดังนั้นขอให้ผู้อ่านที่สนใจติดตามอ่านนิทานของกลุ่มดาวฤกษ์ได้ในหนังสือคัมภีร์โหราศาสตร์ไทยมาตรฐานของหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงจะนำเสนอเฉพาะนิทานที่เกี่ยวกับกลุ่มดาวทั้ง 12 ราศีเท่านั้น

                 ในกลุ่มดาววัวนี้มีดาวสำคัญคือดาวอัลเดบาแรน (Aldebaran) หรือทางไทยเรียกว่าดาวตาวัว เป็นกลุ่มดาวที่มีความสำคัญกับศาสนาคริสต์ เนื่องจากชาวเปอร์เซียเชื่อว่า ในท้องฟ้านี้มีดาวอยู่ 4 ดวง อันเป็นตัวแทนของผู้พิทักษ์สรวงสวรรค์ทั้ง 4 ทิศ (Guardians of Heaven) ดาวอัลเดบาแรนคือดาว 1 ใน 4 เปอร์เซียเรียกว่า ทาสเชเตอร์ (Tascheter) เป็นตัวแทนของเทวทูตไมเคิลหรือมิคาเอล (Michael) ผู้พิทักษ์สวรรค์ทางทิศตะวันออก ตำนานของกลุ่มดาววัวนั้นเริ่มต้นจากพระราชาอจีนอร์ (Agenor) แห่งโฟนีเซีย (Phoenicia) พระองค์มีบุตรสาวชื่อยูโรปา (Europa) วันหนึ่งขณะที่ยูโรปากำลังเก็บดอกไม้อย่างเพลิดเพลิน มีวัวสีขาวตัวหนึ่งเดินมาใกล้ ๆ ยูโรปาก็เข้าไปเล่นกับวัวตัวนั้น วัวตัวนั้นก็หมอบลงกับพื้นเป็นสัญญาณให้ยูโรปาขึ้นขี่หลัง ยูโรปาก็ลองขึ้นขี่หลังวัว ทันใดนั้นเองวัวสีขาวตัวนั้นก็ออกวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปถึงเกาะครีต (Crete) จากนั้นวัวขาวก็แปลงร่างกลับคืนเป็นเทพเจ้าซุสตามเดิม และทรงรับยูโรปาเป็นพระชายาอีกคน เทพเจ้าซุสและยูโรปามีบุตรชายด้วยกัน 3 คน คือ ไมนอส (Minos) เป็นพระราชาของเกาะครีต ราดามันทัส (Rhadamanthus) และซาปิดอน (Sarpedon) ซึ่งต่อมาทั้งสามคนกลายเป็นผู้พิพากษาในนรก

                 ถัดจากกลุ่มดาววัวขึ้นไปเป็นกระจุกดาวลูกไก่หรือไพลยาดิส (Pleiades) ในทางโหราศาสตร์อินเดียและไทยก็เรียกว่ากลุ่มดาวกฤติกา กลุ่มดาวกฤกติกานี้เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นขอบเขตของราศีพฤษภ กลุ่มดาวลูกไก่นี้ในทางดาราศาสตร์สากลจะบอกว่ามี 9 ดวง ประกอบด้วย มายา (Maia) อิเล็กตรา (Electra) ไทยิตตา (Taygeta) อัลไซโอนี (Alcyone) เชลิโน (Celaeno) แอสเตโรพี (Asterope) และมิโรพี (Merope) และอีก 2 ดวงทางด้านท้ายคือแอตลาส (Atlas) และพระนางไพลยานี (Pleione) บิดามารดาของพวกนาง ตำนานกระจุกดาวลูกไก่นี้เริ่มต้นจากนายพรานคนหนึ่งชื่อโอไรออน เขามักจะล่าสัตว์พร้อม ๆ กับสุนัขตัวเก่งที่ชื่อซิริอุสเป็นประจำ ซึ่งต่อมานายพรานคนนี้และสุนัขคู่ใจของเขาก็ได้เป็นกลุ่มดาวเช่นกัน วันหนึ่งนายพรานโอไรออนมาเจอกับพี่น้องไพลยาดิสทั้ง 7 คน เกิดหลงรักพวกนางเข้าจึงวิ่งเข้ามาหาพวกนางหมายจะเกี้ยวพาราสี พี่น้องทั้ง 7 ตกใจจึงพากันวิ่งหนี นายพรานเห็นดังนั้นก็วิ่งตาม วิ่งไล่วิ่งตามกันเช่นนี้อยู่ 7 ปี เทพซุสจึงเสกให้พี่น้องไพลยาดิสทั้ง 7 กลายเป็นนกพิราบและขึ้นไปสถิตบนท้องฟ้าเป็นกระจุกดาวลูกไก่

                 ไกลออกไปเป็นระยะทางเท่ากับระยะของกระจุกดาวลูกไก่และกลุ่มดาววัว เราจะเจอดาวอันเป็นส่วนหางของกลุ่มดาวแกะ (Aries) ของราศีเมษ ดาวที่เป็นส่วนหางนี้อันที่จริงแล้วจะต้องมีดาวอีก 2 ดวงอยู่ใกล้ ๆ รวมกันเป็น 3 ดวง คนไทยเรียกว่ากลุ่มดาวก้อนเส้า ในทางโหราศาสตร์ก็เรียกว่า กลุ่มดาวภรณี หรือดาวแม่ไก่ แต่ดาวอีก 2 ดวงนั้นเราไม่สามารถเห็นได้อีกต่อไปแล้ว คงจะเห็นเพียงดาวที่เป็นส่วนหางของกลุ่มดาวแกะเท่านั้น ตำนานของกลุ่มดาวแกะนั้นเริ่มต้นที่พระราชาพระองค์หนึ่ง ชื่อว่าอาธามัส (Athamus) ผู้ปกครองเมืองโบอีเทีย (Boetia) พระองค์มีพระราชีนีองค์หนึ่งชื่อพระนางเนเพเล่ (Nephele) และมีบุตร 2 คนคือเจ้าชายพริซัส (Phrixus) และเจ้าหญิงเฮเล่ (Helle) แต่มาพระราชาอาธามัสทรงแต่งงานใหม่กับพระนางไอโน่ (Ino) และมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง พระนางไอโน่ทรงริษยาบุตรของพระนางเนเพเล่ จึงออกอุบายให้นำเอาเมล็ดพืชที่จะใช้เพาะปลูกทั้งหมดไปเผา ทำให้เป็นเมล็ดที่ตายแล้วไม่สามารถงอกได้ พระราชาอาธามัสทรงเข้าใจผิดว่าเป็นภัยพิบัติจึงปรึกษากับนักบวช นักบวชก็แนะนำว่าให้นำเจ้าชายพริซัสและเจ้าหญิงเฮเล่บูชายัญต่อเทพเจ้า ในระหว่างที่พระราชาทรงกำลังจะบูชายัญเจ้าชายและเจ้าหญิง พระนางเนเพเล่ทรงสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากเทพซุส (Zeus) เทพซุสจึงทรงประทานแกะทองคำมาช่วยเจ้าชายและเจ้าหญิงขี่ในเสี้ยววินาทีสุดท้ายและพาบินหนีไป ในระหว่างทางพอมาถึงช่องแคบระหว่างยุโรปและเอเซีย เจ้าหญิงเฮเล่ก็ทรงร่วงลงทะเลเสียชีวิต ซึ่งบริเวณที่เจ้าหญิงเฮเล่ทรงร่วงลงไปนั้นยังถูกเรียกว่า เฮลเลสปอนท์ (Hellespont) ปัจจุบันคือเมืองชานักกาเลในประเทศตุรกี เจ้าชายได้ขี่แกะเดินทางมาถึงเมืองคอลคิส (Colchis) พระราชาอาเอเตส (Aeëtes) ผู้ปกครองเมืองคอลคิสก็ไห้การต้อนรับเจ้าชายเป็นอย่างดี เจ้าชายก็ทรงฆ่าแกะทองคำตัวนั้นเพื่อ  บูชายัญแก่เทพเจ้าและนำขนแกะซึ่งเป็นทองคำถวายแด่พระราชาเอเตส พระราชาเอเตสก็นำขนแกะทองคำไปแขวนยังต้นไม้ต้นหนึ่งและให้มังกรตัวหนึ่งเฝ้าไว้

                 และสุดท้ายเมื่อเอาดาวปลายสุดของกลุ่มดาวปลาราศีมีนคือดวงทางขวาสุด รวมกับดาว 3 ดวงของกลุ่มดาวแกะ รวมกับดาว 3 ดวงของกลุ่มดาวสามเหลี่ยม และสุดท้ายคือดาวในกลุ่มดาวแอนโดรเมดาอีก 1 ดวง จะได้เป็นรูปม้า กลายเป็นกลุ่มดาวอัศวิณี กลุ่มดาวฤกษ์ลำดับแรกของจักราศี จะเห็นว่าจุด 0 องศาราศีเมษ คือ ดาวทางด้านขวา อันเป็นดาวปลายสุดของราศีมีนนั่นเอง และในทิศทางตรงข้าม 180 องศาจากดาวปลายสุดของราศีมีนนี้ คือ ดาวสไปกา (Spica) ในกลุ่มดาวหญิงสาวของราศีกันย์ ซึ่งเราจะได้ติดตามในตอนต่อไป 

                 หากจะเรียงลำดับดาวโดยแท้จริงแล้วจะต้องเริ่มตั้งแต่กลุ่มดาวอัศวิณี กลุ่มดาวแกะ ดาวภรณีฤกษ์ลำดับ 2 กระจุกดาวลูกไก่กฤติกาฤกษ์ลำดับ 3 กระจุกดาวหน้าวัวโรหิณีฤกษ์ลำดับ 4 และสุดท้ายกลุ่มดาวมฤคศิระฤกษ์ลำดับที่ 5