วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - อันโตนาทีสามัญ และหลักการทางดาราศาสตร์สากล



อันโตนาทีสามัญ : ความสัมพันธ์พระอาทิตย์และโลกผ่านทางเงาแดด

                 ในสมัยโบราณนั้นก่อนที่ดาราศาสตร์สากลยังไม่พัฒนา หลักการที่เกี่ยวกับโลกและพระอาทิตย์นั้นมีมากมายหลายประการ เริ่มตั้งแต่ปีทากอรัสที่พยายามจะอธิบายว่าโลกมีสัณฐานกลม หมุนรอบตัวเอง และยังโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทั้ง ๆ ที่ทฤษฎีของปีทากอรัสเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับโลกและพระอาทิตย์แรก ๆ ที่เกิดขึ้นในอารยธรรมของโลกตะวันตก และเป็นทฤษฎีที่ถูกต้อง แต่กลับไม่มีใครเชื่อปีทากอรัสเลย ทฤษฎีที่ได้รับการเชื่อถือตกไปอยู่กับทฤษฎีของอริสโตเติลที่กล่าวว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล จะสังเกตเห็นว่าความแตกต่างของนักปราชญ์ทั้งสองท่านคือ คณิตศาสตร์ ปีทากอรัสเป็นนักคณิตศาสตร์ที่เก่งกาจ ในขณะที่อริสโตเติลนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นนักปรัชญาทางด้านกฎหมายและการเมืองการปกครอง อีกทั้งยังมีเรื่องเล่าว่า หากห้องสมุดอเล็กซานเดรียไม่ถูกเผา คณิตศาสตร์ที่มนุษย์จะต้องเรียนจะมีมากมายกว่านี้อีกเท่าหนึ่ง เพราะห้องสมุดอเล็กซานเดรียถูกเผา ทำให้หนังสือคณิตศาสตร์หายไปประมาณครึ่งหนึ่ง คณิตศาสตร์ในยุคหลังพัฒนามาจากหนังสือคณิตศาสตร์ของอียิปต์ที่เหลืออยู่เพียงครึ่งเดียวนั่นเองครับ

                 ต่อมาจากทฤษฎีของอริสโตเติลที่กล่าวว่าโลกกลม ก็พัฒนาบิดเบือนไปเป็นโลกมีสัณฐานแบน ลอยอยู่ในจักรวาล ถ้าล่องเรือเลยจากอินเดียไปก็จะต้องตกขอบฟ้าร่วงลงไปในจักรวาล และดาวทุกดวงในระบบสุริยะจักรวาลต่างโคจรรอบโลกทั้งสิ้น ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวนี้มิได้เกิดจากวิทยาศาสตร์หรือนักคณิตศาสตร์ แต่เกิดจากศาสนาคริสต์ สิ่งที่น่าแปลกใจคือทฤษฎีนี้ได้รับการยอมรับมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่โรมันล่มสลายในคริสค์ศตวรรษที่ 3 - 16 สิ้นสุดลงเมื่อกาลิเลโอพิสูจน์ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ว่าโลกกลม หมุนรอบตัวเอง และโคจรรอบโลก แต่รวมแล้วก็เชื่อกันแบบผิด ๆ มาเป็นระยะเวลาประมาณ 1,300 ปี

                 จากนั้นวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันก็เริ่มเผยทฤษฎีระหว่างโลกและพระอาทิตย์มากขึ้น ทฤษฎีที่เกี่ยวกับเรื่องราวของอันโตนาทีสามัญของเราคือทฤษฎีการโคจรของโลกที่มีลักษณะเป็นวงรีที่คล้ายวงกลม และทฤษฎีแกนโลกเอียง ในตอนแรก ๆ ของวิชาดาราศาสตร์สากลนั้น มีความเชื่อว่าการที่โลกโคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์ ประกอบกับการที่แกนโลกเอียงนี้ ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก โดยมีจุดอยู่ 2 จุดที่ต้องทำความเข้าใจ

                 1. จุดอายันหรือโซลสทิส (Solstice) ตามคำอธิบายของดาราศาสตร์สากลอธิบายว่า จุดอายันคือจุดเปลี่ยนฤดูกาลอย่างแท้จริง เนื่องจากจุดอายันมีความเกี่ยวพันกับแกนของโลก การที่โลกเอียงขั้วโลกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์ คล้ายว่าโลกก้มหน้าลง ทำให้ซีกโลกทางเหนืออันเป็นที่ตั้งของภูมิภาคโดยรวมของโลก ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่ ประกอบกับที่โลกโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้เกิดเป็นฤดูร้อนขึ้น เราเรียกจุดอายันนี้ว่า ครีษมายัน (Summer solstice) ซึ่งดาราศาสตร์สากลระบุว่า จะเกิดทุก ๆ ช่วงวันที่ 21 มิถุนายนของทุกปีโดยประมาณ
                     จุดอายันอีกจุดคือเมื่อแกนโลกเอียงขั้วเหนือออกจากดวงอาทิตย์ เหมือนประหนึ่งว่าโลกเงยหน้าขึ้น ทำให้ซีกโลกทางด้านเหนือไม่ค่อยได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ ประกอบกับโลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด ก็จะทำให้เกิดเป็นฤดูหนาวขึ้น เราเรียกจุดอายันนี้ว่า เหมายัน (Winter solstice) ซึ่งดาราศาสตร์สากลก็ระบุว่า จะเกิดทุก ๆ วันที่ 21 ธันวาคมของทุกปีโดยประมาณ

                 2. จุดวิษุวัตหรืออีควินอกซ์ (Equinox) ก็คือจุดที่ความแกนเอียงของโลกนั้น หันข้างเขาหาดวงอาทิตย์ จึงไม่ได้อยู่ในลักษณะก้มหน้าหรือเงยหน้า เป็นผลให้ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ทำให้มีอากาศที่อบอุ่นสม่ำเสมอกันทั่วทั้งโลก อีกทั้งยังทำให้เวลากลางวันกับกลางคืนมีระยะที่เท่ากันด้วย เกิดเป็นอีกชื่อหนึ่งคือ จุดราตรีเสมอภาค อีกทั้งยังทำให้เป็นจุดที่พระอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลกในเวลาเที่ยงวัน ซึ่งมีสองจุดในหนึ่งปี จุดแรกชื่อว่า ศารทวิษุวัต (Autumnal equinox) จะเกิดทุก ๆ ช่วงวันที่ 21 กันยายนของทุกปีโดยประมาณ
                     จุดวิษุวัตอีกจุดชื่อว่า วสัตวิษุวัต (Vernal equinox) จะเกิดทุก ๆ ช่วงวันที่ 21 มีนาคมของทุกปีโดยประมาณ

                 จากจุดอายันและวิษุวัตนี้ทำให้เกิดเป็นแผนภูมิดังภาพด้านล่าง


                 แผนภูมิที่นำมาแสดงนี้เป็นแผนภูมิที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่จากความเชื่อเดิม แผนภูมิรูปแบบเดิมนั้นจุดวิษุวัตและดวงอาทิตย์จะอยู่ใกล้กับจุดศรีษมายัน มิได้อยู่ใกล้กับจุดเหมายันอย่างในภาพ เพราะแต่ก่อนนั้นนักดาราศาสตร์เชื่ออย่างสนิทใจว่าฤดูร้อนและหนาวเกิดจากที่โลกอยู่ใกล้และไกลจากดวงอาทิตย์ ซึ่งต่อในปี ค.ศ. 2015 นักวิทยาศาสตร์ขององค์การ NASA เพิ่งจะออกมายอมรับว่าทฤษฎีเรื่องฤดูร้อนหนาวเกิดขึ้นเพราะโลกอยู่ใกล้ไกลดวงอาทิตย์เป็นทฤษฎีที่ผิด พร้อมกับอธิบายใหม่ว่าการที่โลกมีฤดูกาลเปลี่ยนแปลงนั้น โดยแท้จริงแล้วเกิดจากแกนโลกที่เอียงเอาขั้วโลกเหนือเข้าและออกจากพระอาทิตย์เท่านั้น มิได้เกี่ยวข้องกับระยะใกล้ไกลระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์แต่อย่างใด สังเกตว่าตั้งแต่ทฤษฎีดังกล่าวได้รับการเผยแพร่จนถึงตอนที่ยอมรับว่าทฤษฎีนี้ผิด ก็ใช้เวลานานมากทีเดียว ทั้ง ๆ ที่โลกของเราไปไกลจนมีเทคโนโลยีทันสมัยแล้ว ก็ยังเหมือนกับล้าหลังในเรื่องอวกาศอยู่ดี และแม้ว่าแผนภูมิจะได้รับการแก้ไขแล้ว ก็ยังมีจุดผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยอยู่อีกจุดอยู่ดี ซึ่งจะขอยกไปบรรยายในส่วนของอันโตนาที

                  หลักความรู้เพิ่มเติมอีกประการคือในขณะที่แกนโลกเอียงขั้วโลกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์นั้น จะทำให้ซีกโลกด้านทิศหนือกลายเป็นฤดูร้อน แต่โลกซีกด้านใต้จะกลายเป็นฤดูหนาว และในขณะที่แกนโลกเอียงขั้วโลกเหนือออกจากดวงอาทิตย์ จะทำให้ซีกโลกด้านทิศเหนือกลายเป็นฤดูหนาว แต่ซีกโลกด้านทิศใต้กลายเป็นฤดูร้อน

                 เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปอีกขั้น จะเห็นชัดว่าทฤษฎีของโลกกับพระอาทิตย์ และฤดูกาลนี้ ยึดเอาตามฤดูกาลของทวีปยุโรปเป็นสำคัญ ซึ่งทวีิปยุโรปมีละติจูดที่ออกห่างจากเส้นศูนย์สูตรค่อนข้างไกลคืออยู่เหนือเส้นละติจูดที่ 40 องศาเหนือ ทำให้ฤดูกาลของเขาแตกต่างจากประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทย เช่น ฤดูร้อนของยุโรปเริ่มต้นที่เดือนมิถุนายน แต่ของประเทศไทยเดือนมิถุนายนคือการเริ่มฤดูฝน หรือฤดูฝนของยุโรปเริ่มต้นที่เดือนมีนาคม แต่ของประเทศไทยเดือนมีนาคมคือการเริ่มฤดูร้อน เป็นต้น

อันโตนาทีสามัญ

                 คำว่า อันโตนาที นั้นน่าจะหมายถึง นาทีของชาวตะวันตก ที่ 60 นาทีเท่ากับ 1 ชั่วโมง ซึ่งเลขในอันโตนาทีสามัญทั้งหมดรวมกันได้ 1,440 นาทีหรือก็คือ 24 ชั่วโมง อันโตนาทีจึงน่าจะคือระบบเวลาสากลนั่นเองครับ จุดกำเนิดอันโตนาทีสามัญนั้นเกิดขึ้นมาเนื่องด้วยในอินเดียสมัยโบราณ ชาวอินเดียสังเกตว่า พระอาทิตย์นั้น ทำให้เงาที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงไปใน 2 แนวทางคือ ในตอนแรกเงาจะเริ่มต้นที่ตรงศีรษะ จากนั้นก็จะยาวขึ้นเรื่อย ๆ ไปทางทิศเหนือจนสุดแล้ว ก็เริ่มหดสั้นเข้าจนกลับมาที่เงาตรงศีรษะอีกครั้ง อีกแนวทางหนึ่งก็คือ เมื่อเงาตรงศีรษะแล้วก็จะยืดออกไปทางทิศใต้จนสุดแล้วก็เริ่มหดสั้นเข้าจนกลับมาที่เงาตรงศีรษะอีกครั้ง







                 ปรากฎการณ์นี้ทำให้ชาวอินเดียรู้ในเบื้องต้นว่าการที่เงาทอดยาวไปทางทิศใต้จนสุดแล้ว มักจะเป็นฤดูร้อนและช่วงที่ร้อนที่สุด หรือก็คือจุดที่พระอาทิตย์เข้าสู่ตำแหน่งอุตรยันปัดเหนือหรือจุดครีษมายันนั่นเอง ต่อมาเมื่อเงาทอดยาวไปทางทิศเหนือก็จะสัมพันธ์กับฤดูหนาวเพราะพระอาทิตย์โคจรเข้าสู่จุดทักษิณยันปัดใต้หรือจุดเหมายัน และถ้าเงาไม่ได้ทอดยาวไปทางไหนเลยนั่นคือสัญญาณบอกถึงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง เพราะพระอาทิตย์โคจรเข้าสู่จุดวสันตวิษุวัตและศารทวิษุวัต เกิดเป็นเงาตรงหัวในเวลาเที่ยงวันหรือจุดราตรีเสมอภาค ซึ่งปรากฎการณ์นี้สัมพันธ์กับการเอียงของแกนโลกนั่นเอง

                 เมื่อพิจารณามาถึงตรงนี้ ย่อมพบว่าในการโคจรของพระอาทิตย์นั้น มีความเอียงบางประการเกิดขึ้นระหว่างโลกกับพระอาทิตย์ อาจเกิดข้อสันนิษฐานขึ้นว่าพระอาทิตย์อาจโคจรรอบโลกแบบเอียงก็เป็นได้ แต่ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ๆ พระอาทิตย์คงไม่อาจโคจรรอบโลกไปด้วย แล้วเปลี่ยนความเอียงไปพร้อมกันได้ เนื่องจากจะทำให้ผิดแปลกกับการโคจรของดาวอื่น ๆ และแม้ว่าพระอาทิตย์จะโคจรรอบโลก แต่จักรราศีย่อมไม่อาจทำเช่นนั้น เพราะพระอาทิตย์โคจรไปในแนวจักรราศีที่เรียกว่า "รวิมรรค" หรือ "สุริยะวิถี" ถ้าเราสรุปว่าพระอาทิตย์โคจรรอบโลก นั่นก็แปลว่าเราต้องสรุปว่าอวกาศทั้งหมดโคจรรอบโลกด้วยเช่นกัน และกลายเป็นว่าโลกไม่ได้เป็นเพียงศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาลเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางของหมู่ดาวและอวกาศทั้งหมดด้วย ดูน่าเหลือเชื่อเกินกว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์

                 ด้วยเหตุนี้ หากนำปรากฎการณ์ทุกอย่างมากองรวมกัน โดยมีข้อกำหนดว่า พระอาทิตย์ต้องผ่านท้องฟ้าทุกวันทำให้เกิดกลางวันกลางคืน จักรราศีก็ต้องโคจรผ่านท้องฟ้าด้วย แต่พระอาทิตย์ต้องโคจรเร็วกว่าราศี เพราะพระอาทิตย์เคลื่อนตำแหน่งในราศีจักรไปข้างหน้าทุกวัน ๆ ละประมาณ 59 ลิปดา บวกกับที่พระอาทิตย์และราศีจักรต้องโคจรเอียงบ้างตรงบ้าง เมื่อนำข้อกำหนดทุกอย่างมาวิเคราะห์จะเห็นว่าวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้เกิดปรากฎการณ์ตรงกับข้อกำหนดทุกข้อในเวลาเดียวกันคือให้โลกหมุนรอบตัวเองเกิดเป็นกลางวันกลางคืน และโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะที่แกนโลกเอียง ซึ่งทฤษฎีนี้ปีทากอรัสได้เคยบอกไว้แล้วตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสตกาล และถ้าท่านเลือกจะเชื่อ นักประวัติศาสตร์ให้ข้อสันนิษฐานว่าปีทากอรัสอาจเคยมาศึกษาคณิตศาสตร์ในแถบอาหรับและอินเดียด้วย

                 ทำให้เห็นว่าทฤษฎีที่กล่าวว่าโลกเป็นจุดศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาลนั้น เป็นทฤษฎีที่เต็มไปด้วยความเชื่อ ความเพ้อฝัน และขาดการคิดวิเคราะห์อย่างสิ้นเชิง แต่เมื่อทฤษฎีดังกล่าวนั้นมีอริสโตเติลผู้มีชื่อเสียงจากตำแหน่งราชครูของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นคนเผยแพร่ จึงทำให้ได้รับการยอมรับเชื่อถือศรัทธาไปทั้งกรีก โรมัน และอียิปต์ จนสุดท้ายกลายเป็นแกนความเชื่อหลักของคริสต์จักร ผ่านเวลาไปนานหลายร้อยปีทีเดียวกว่ากาลิเลโอและโคเปอร์นิคัสจะค้นพบว่ามันเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ เป็นอุทาหรณ์ว่าแม้ผู้ที่มีชื่อเสียงทางด้านการทรงภูมิปัญญา ก็หาอาจจะกล่าวภูกต้องไปเสียทั้งหมดทุกอย่าง

                 ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า เนื่องจากอารยธรรมชาวสินธุเกิดก่อนอารยธรรมกรีก-โรมันนานมาก ดังนั้นความรู้ในเรื่องกลุ่มดาวจักรราศี น่าจะมาจากชาวสินธุเป็นต้นกำเนิด เพราะในตำราดาราศาสตร์ของชาวสินธุ ก็มี 12 ราศีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และหากผู้ใดจะกล่าวแย้งว่าตำราดาราศาสตร์อินเดียน่าจะเขียนตามหลักการของกรีกโรมัน เนื่องจากมีช่วงระยะเวลาหนึ่งที่โรมันปกครองอินเดีย ก็ขอแย้งว่า พระพุทธศาสนานั้นเกิดมาแล้วประมาณ 534 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนอารยธรรมอินเดียก็มีมาก่อนหน้านั้นหลายพันปีก่อนคริสตกาล ตอนที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น หลักการทางดาราศาสตร์ของอินเดียก็มีมานานแล้วเหมือนกัน แต่อารยธรรมกรีกโรมันเพิ่งเริ่มต้นเมื่อ 750 ปีก่อนคริสตกาล การจะกล่าวว่าราศีจักรของอินเดียมาจากหลักการของชาวกรีกโรมัน จึงดูขัดกับช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์

                 นอกจากนี้ยังมีนักประวัติศาสตร์ที่เป็นถึงศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดให้การสันนิษฐานไว้ว่าวิชาการต่าง ๆ ของชาวอินเดียในคัมภีร์พระเวทนี้ โดยเฉพาะวิชาดาราศาสตร์ น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 100 ปีก่อนคริสต์ศักราชนี่เอง ทั้ง ๆ ที่ในทางพุทธศาสนศึกษาก็ต่างเข้าใจตรงกันว่าเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเรียนวิชาต่าง ๆ จากคัมภีร์พระเวท หนึ่งในนั้นคือดาราศาสตร์ ซึ่งเจ้าชายสิทธัตถะทรงประสูติขึ้นในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่วิชาดาราศาสตร์อินเดียจะเกิดในช่วง 100 ปีก่อนคริศตกาล

                 หรือที่นักประวัติศาสตร์สรุปว่าคำศัพท์ในภาษาสันสกฤตมาจากกรีก-โรมัน เช่นคำว่า "โหรา" ที่ต่างก็เข้าใจว่าอินเดียยืมมาจากกรีก ก็ขอเรียนว่าอารยธรรมกรีกและอินเดียเชื่อมโยงกันในช่วง 326 ปีก่อนคริสตกาลตอนพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพบุกอินเดียนี่เอง ชาวกรีกจึงเริ่มรู้จักอินเดีย ก่อนหน้านั้นอินเดียแทบไม่เป็นที่รู้จักในภูมิภาคยุโรปเลย และหากนับจากประวัติการใช้ภาษาบาลีสันสกฤตของพระพุทธศาสนา จะเห็นว่าเหตุการณ์ที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชบุกอินเดีย เกิดหลักจากพระพุทธศาสนาถือกำเนิดถึง 208 ปีทีเดียว เป็นไปไม่ได้เลยที่ภาษาสันสกฤตจะยืมคำมาจากภาษากรีก ด้วยความที่นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกเมื่อศึกษาสิ่งใด มักจะมุ่งไปที่สิ่งนั้นเพียงด้านเดียว มักจะไม่เชื่อมโยงกับศาสตร์อื่น จึงเกิดขึ้นสรุปหลายอย่างที่ผิดพลาดในตอนหลัง เช่น คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต ศิลาจารึกพ่อขุนแรมคำแหงเป็นของปลอม อาณาจักรเขมรโบราณล่มสลายเพราะทำสงครามกับอยุธยา เป็นต้น

                 ซึ่งจากการศึกษาเรื่องอันโตนาทีรวมทั้งปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์สากล ทำให้ผู้เขียนสันนิษฐานว่าชาวอินเดียน่าจะรู้เรื่องโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์มาอยู่ก่อนแล้ว


                 จากแผนภูมิดังกล่าวจะเห็นว่า เส้นทางการโคจรของดวงอาทิตย์ที่ไม่ได้ตั้งฉาก ทำให้เรารู้ได้ว่า ระหว่างโลกกับพระอาทิตย์นั้นมีความเอียงเกิดขึ้นแน่นอน ในยามที่พระอาทิตย์อ้อมทางทิศใต้มากเท่าไหร่ เงาก็จะยิ่งทอดยาวไปทางทิศเหนือมากเท่านั้น แต่หากพระอาทิตย์ตรงศีรษะ เงาก็จะไม่ยาวออกไปทางไหนเลย

                 ความรู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ แผนภูมิดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นถึงเส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์ในตอนกลางวันของโลกทางซีกเหนือ ที่มีลักษณะอ้อมไปทางทิศใต้ แต่หากเป็นโลกทางซีกด้านใต้ พระอาทิตย์จะอ้อมไปทางทิศเหนือ ทำให้เงาทอดยาวมาทางทิศใต้แทน อันเป็นลักษณะที่ตรงข้ามกัน และหากสมมติว่ามีผู้ใดผู้หนึ่งที่รับรู้ได้ว่า ความเอียงนี้เกิดขึ้นในลักษณะตรงข้ามกันในซีกโลกด้านเหนือและด้านใต้ ผู้นั้นก็จะรับรู้ได้ทันทีว่า พระอาทิตย์ไม่เอียง แต่โลกต่างหากที่เอียง กล่าวโดยสรุปคือ เงาที่หดสั้นเข้าและยืดออกนั้นเกิดจากแกนโลกที่ทำมุมเอียงขณะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ เงาจะหดสั้นเข้าและยาวออกเร็วหรือช้าก็ด้วยอาศัยอัตราการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์นั่นเอง

อันโตนาทีสามัญสร้างมาจากอะไร ?

                 ชาวอินเดียโบราณได้กำหนดจุดหนึ่งขึ้นให้เป็นจุดเริ่มต้นเงา เป็นจุดที่พระอาทิตย์ตรงศีรษะเป็นจุดเริ่มต้น และกำหนดให้จุดที่เงายาวไปทางทิศเหนืออย่างที่สุดเป็นจุดสิ้นสุด นำระยะทั้ง 2 จุดมาแบ่งเป็น 6 ส่วน ๆ ละเท่า ๆ กัน ภาษาอินเดียเรียกว่า "บาท" และคอยเก็บสถิติเวลาว่า จากจุดที่เงาตรงศีรษะเป็นวันแรก แล้วจึงค่อยยืดยาวขึ้นจนแตะระยะที่ 2 ใช้เวลากี่วันกี่ชั่วโมง จากระยะที่ 2 ไประยะที่ 3 ไประยะที่ 4 จนสุดที่ระยะที่ 6 แล้วจดสถิติต่อในเมื่อเงาเริ่มหดสั้นจากระยะที่ 6 จนระยะที่ 5 ระยะที่ 4 เรื่อยไปจนเงากลับมาตรงศีรษะอีกครั้ง ทุกครั้งที่วัด คนโบราณจะถือเอาเงาที่ทอดยาวไปทางเหนือหรือใต้เท่านั้น เพื่อให้เงาบอกองศาการเอียงของโลกต่อพระอาทิตย์อย่างชัดเจน เงาจะต้องไม่ปัดไปทางตะวันออกหรือตะวันตกอย่างเด็ดขาด

                 ดังนั้นคำว่า บาท ในที่นี้ จึงมีความหมายเหมือนคำว่า Part คือ ส่วน ตอน หรือระยะใดระยะหนึ่ง ไม่ได้หมายถึง 12 นิ้วหรือ 1 ฟุต หรือ 1 รอยเท้า และการวัดเงาแดด ก็มิได้ทำกันในเที่ยงวันเสมอไป ต้องดูว่าเงานั้นอยู่ในแนวเหนือใต้เมื่อใดจึงไปวัด ซึ่งผันแปรตามเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ถ้าพระอาทิตย์ขึ้นเร็ว อาจจะวัดในช่วง 11 โมงกว่า แต่ถ้าพระอาทิตย์ขึ้นช้า อาจจะต้องวัดตอนเที่ยงกว่า




                 เมื่อจดระยะเวลาวันที่ผันผ่านไปของแต่ละจุดจนครบ 1 ปีหรือ 365 วันโดยประมาณแล้ว พบว่าแต่ละช่วงของการที่เงายืดออกจากจุดหนึ่งไปอีกจุดใช้เวลาไม่เท่ากันเลย บางจุดใช้เวลานานมาก บางจุดใช้เวลาสั้นมากไม่กี่วันเท่านั้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นได้ ทั้ง ๆ ที่ตามหลักโหราศาสตร์แล้วพระอาทิตย์จะต้องโคจรต่อวันราว 59 ลิปดาเกือบเท่ากันตลอด แต่เหตุไฉนเวลาของเงาแต่ละช่วงจึงไม่เท่ากัน การจะหาคำตอบของคำถามนี้ทุกท่านจะต้องศึกษา "กฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์" ของโยฮันเนส เคปเลอร์ซึ่งจะอธิบายในส่วนต่อไป


                 จากแผนภูมิข้างต้นนั้นเป็นการระบุเวลาของเงาเทียบจาก 1 ปีมาเป็น 1 วันโดยใช้ระบบของอินเดียที่เรียกว่า "ฆะติกะ" ซึ่งคนไทยได้ตั้งชื่อใหม่ว่า "พหินาฑี" เมื่อนำหลักการ 60 ฆติกะเท่ากับ 1 วัน มาเทียบกับ แบบเวลาสากลคือ 24 ชั่วโมง หรือ 1,440 นาทีเท่ากับ 1 วันก็จะได้เป็นว่า 1 ฆติกะของอินเดีย เท่ากับ 24 นาทีของสากล เราจึงเอา 24 นาทีคูณกับฆติกะหรือพหินาทีของทุกราศีก็จะได้เป็น อันโตนาทีสามัญ หรือ มหานาทีดังด้านล่างนี้ครับ


                 เมื่อเรานำอันโตนาทีสามัญทั้งหมดมารวมกัน จะได้เท่ากับ 1,440 นาที หรือ 24 ชั่วโมงพอดี หรือหากเราอยากจะทราบว่า เมื่อเทียบกับ 365 วันแล้ว แต่ละราศีให้เวลาจดบันทึกนานกี่วัน ก็นำ 1,440 นาที หารด้วย 365 วัน จะได้เท่ากับ 3.9 อันโตนาทีต่อวัน แล้วนำไปหารนาทีของแต่ละราศี ก็จะได้เป็นวันของแต่ละราศีใน 1 ปี เช่น 120 หารด้วย 3.9 เท่ากับ 30.7 วัน หรือเท่ากับ 30 วัน 16 ชั่วโมงโดยประมาณ เป็นต้น เมื่อนำอันโตนาทีสามัญมาอิงกับการหาลัคนาของโหราศาสตร์ อันโตนาทีก็คือช่วงเวลาที่ขอบฟ้าจะหมุนไปตามจักรราศีนั่นเอง ซึ่งใช้เวลามากน้อยไม่เท่ากัน

                 ดังนั้นในแนวทางของโหราศาสตร์อินเดีย จึงใช้เวลาพระอาทิตย์ขึ้นจริงมาคำนวณหาลัคนา หรือเส้นขอบฟ้าว่าอยู่ในราศีใด จะไม่ใช้พระอาทิตย์ขึ้น 6.00 น. มาคำนวณ เพราะเหตุว่า อันโตนาทีสามัญนั้น มีจุดเริ่มต้นที่ขอบฟ้าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น และครบ 24 ชั่วโมง หรือ 1,440 อันโตนาทีเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นในวันถัดไป หากเราใช้พระอาทิตย์ขึ้น 6.00 น. มาคำนวณ ก็จะเป็นการบีบบังคับให้พระอาทิตย์ขึ้นมาก่อน หรือขึ้นมาช้ากว่าความเป็นจริง ลัคนาที่ได้ก็จะมิใช่ตำแหน่งขอบฟ้าในราศี ณ เวลาจริงแต่อาจจะผิดเพี้ยนไปหลายนาที ซึ่งมีผลหลายองศาหากว่าอยู่ในราศีที่มีอันโตนาทีจำนวนน้อยเช่น ราศีเมถุน เป็นต้น

                 จากการเก็บรวบรวมสถิติของเวลาใน 1 ปี พบว่าเวลาที่เงายืดออกและหดสั้นในแต่ละช่วงนั้นไม่เท่ากันเลย บางช่วงใช้เวลาเพียง 19 วัน ในขณะที่บางช่วงใช้เวลาถึง 41 วัน ในตอนแรกที่เราสรุปได้ว่าแกนโลกน่าจะเอียง หมุนรอบตัวเอง และโคจรรอบดวงอาทิตย์ เมื่อนำมาผนวกกับเรื่องเวลาของเงาด้วยก็สันนิษฐานไม่ยากว่าการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ย่อมไม่ใช่วงกลม แต่ควรจะเป็นวงรีที่มีความใกล้ไกลแตกต่างกัน ในทฤษฎีตรงจุดนี้ใช่ว่าจะไม่มีใครค้นพบมาก่อน

                 ในช่วงคริศต์ศตวรรษที่ 4 มีนักคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์หญิงผู้หนึ่งชื่อไฮพาเทีย (Hypatia) เธอก็ได้ค้นพบเรื่องนี้มาก่อนจากการที่สังเกตว่าเหตุใดบางฤดูกาลพระอาทิตย์จึงดูเล็ก บางฤดูกาลทำไมพระอาทิตย์จึงดูใหญ่นัก แน่นอนว่าย่อมจะเกี่ยวกับความใกล้ไกล เมื่อนำมาผนวกรวมกับทฤษฎีวงกลมก็จะพบว่าวงกลมที่มีความใกล้ไกลก็คือวงรีนั่นเอง ซึ่งการค้นพบนี้ถูกต่อต้านจากผู้ที่นับถือคริสต์ศาสนาในขณะนั้นอย่างมาก เพราะชื่อตามที่พระเยซูตรัสว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและสวรรค์ จนสุดท้ายเธอก็ถูกชาวคริสต์รุมฆ่าตายในสถานที่ที่ชื่อว่า อะโกร่า (Agora) ความเก่งกาจของเธอทำให้ศิลปินนามราฟาเอลยอมเสี่ยงชีวิตแอบวาดภาพของเธอไว้ในสำนักวาติกันปรากฎในภาพชื่อ School of Athens และต่อมาอัตชีวประวัติของเธอก็ถูกสร้างเป็นหนังภาพยนต์ในชื่อ Agora


                 การที่จะทำความเข้าใจในเรื่องนี้ จำเป็นจะต้องทราบทฤษฎีกฎการโคจรของดาวเคราะห์ (laws of planetary motion) ของโยฮันเนส เคปเลอร์เสียก่อน โยฮันเนส เคปเลอร์ เป็นนักดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ และนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน มีชีวิตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 - 17



                 ทฤษฎีของเคปเลอร์นั้นเกิดจากการที่เขาศึกษาคาบเวลาการโคจรของดาวอังคารที่เขาสังเกตได้ผ่านทางกล้องโทรทัศน์ ซึ่งสรุปได้เป็นกฎอยู่ 3 ข้อ ดังนี้
                                  1. ดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี
                                  2. ในเวลาการโคจรที่เท่ากันนี้ จะต้องกวาดพื้นที่สามเหลี่ยมเท่ากัน
                                  3. ดาวเคราะห์จะโคจรช้าหากอยู่ไกลจากพระอาทิตย์ และโคจรเร็วเมื่ออยู่ใกล้พระอาทิตย์


                 กฎข้อ 1. คือภาพทางด้านซ้ายสุด จะเห็นว่าดาวเคราะห์หรือโลกจะต้องโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี จากนั้นข้ามไปข้อ 3. คือภาพทางขวาสุด อธิบายว่าความเร็วในการโคจรของดาวเคราะห์จะผกผันตามหลักว่าเวลายกกำลังสองผกผันตามเส้นรัสมียาวสุดวงรียกกำลังสาม หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าหากดาวเคราะห์อยู่ไกลจะพระอาทิตย์ ดาวเคราะห์ก็จะโคจรช้า แต่หากอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ก็จะโคจรเร็ว เมื่อศึกษามาจนถึงจุดนี้ ขอให้ย้อนกลับขึ้นไปดูเลขแต่ละราศีทางด้านบน จะเห็นว่าตั้งแต่ราศีมังกรถึงราศีกรกฎ จะเป็นฝั่งที่มีเลขบรรจุอยู่น้อย เมื่อเทียบกับเลขที่บรรจุในราศีสิงห์ถึงราศีพิจิก

                 ถ้าเราจะเข้าใจ เราต้องจินตนาการว่า หากเรายืนบนโลก เราจะเห็นพระอาทิตย์หมุนรอบโลก แต่ถ้าเราลองยืนบนพระอาทิตย์ เราจะเห็นภาพเป็นมุมตรงข้าม เช่น ถ้าเรายืนบนโลก แล้วเห็นว่าพระอาทิตย์โคจรในราศีมีน นั่นแสดงว่าถ้าเรายืนบนพระอาทิตย์ โลกเราก็จะโคจรในราศีกันย์ ดังนั้นตัวเลขน้อยทางด้านบนนี้ แสดงว่าเมื่อพระอาทิตย์โคจรในฝั่งราศีกุมภ์ - เมถุน หรือในทางกลับกัน โลกโคจรในฝั่งราศีสิงห์ - พิจิก โลกโคจรเร็วมาก ระยะเวลาที่เงาหดสั้นหรือยาวออก จึงใช้เวลาน้อย เมื่อใช้เวลาน้อย แสดงว่าในห้วงเวลาดังกล่าวนั้น โลกอยู่ใกล้พระอาทิตย์

                 เกล็ดทางดาราศาสตร์ในเรื่องสาเหตุของความเร็วการโคจรสัมพันธ์กับระยะทางนี้ เซอร์ไอแซค นิวตัน ผู้คิดค้นกฎแรงโน้มถ่วงอธิบายว่าเมื่อดาวเคราะห์โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์แล้ว แรงดึงดูดระหว่างดาวเคราะห์กับดวงอาทิตย์จะกระทำต่อกันอยากสูงที่สุด แรงโน้มถ่วงจึงเหวี่ยงดาวเคราะห์ออกไปด้วยความเร็ว แต่ถ้าแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์มีน้อยกว่า และโคจรช้า ดาวเคราะห์นั้นก็จะพุ่งชนดวงอาทิตย์ เซอร์ไอแซค นิวตันจึงกล่าวว่าจักรวาลนี้พระเจ้าเป็นผู้สร้าง เพราะนิวตันไม่สามารถหาเหตุได้ว่า ทำไมดาวเคราะห์โดยเฉพาะโลก จะต้องเหวี่ยงตัวเองให้ออกห่างจากดวงอาทิตย์ ทำไมไม่พุ่งชนเข้าไปเลย มันไม่มีเหตุผลเลยที่ดาวเคราะห์ซึ่งไม่มีชีวิตจิตใจ จะต้องรักษาตัวเองให้รอดปลอดภัยจากดวงอาทิตย์

                 เมื่อเราเห็นตัวเลขทางด้านราศีสิงห์ - พิจิกมีจำนวนมาก นั่นแสดงว่าเมื่อเรายืนบนพระอาทิตย์ เราเห็นโลกโคจรผ่านราศีกุมภ์ - เมถุนช้ามาก ก็เพราะว่าโลกอยู่ไกลจากพระอาทิตย์นั่นเอง ขอให้ทุกท่านสังเกตว่า ตัวเลข 120 นั้น มักจะเป็นจุดของครีษมายัน เหมายัน และวิษุวัต หรือกล่าวง่าย ๆ คือเป็นแกนของวงรี

                 ในข้อ 2. คือภาพตรงกลาง เมื่อดาวเคราะห์โคจรโดยเวลา หรือ t เท่ากัน ทั้งฝั่งซ้ายและขวา จะต้องกวาดพื้นที่สามเหลี่ยมที่ระบายเป็นสีเทา หรือ a เท่ากัน ดังนั้นแล้วเราจะเห็นว่า ระยะทางการโคจรหรือ b ในแต่ละ t ไม่เท่ากัน ฝั่งขวาได้ระยะนิดเดียว แต่ฝั่งซ้ายได้ระยะเยอะมาก ในเวลาหรือ t เท่ากัน แต่เนื่องจากเรากำลังหา "เวลา" ของระยะเงาแดด หรือระยะการเอียงของโลกบนเส้นโคจร จึงเป็นการบังคับให้ b เท่ากัน !!! เช่นนี้ t ย่อมไม่เท่ากัน

                 เมื่อโลกโคจรอยู่ไกลพระอาทิตย์ โลกโคจร t แต่ระยะทาง คือ b นิดเดียว พอ b นิดเดียว โลกก็เอียงไปได้แค่นิดเดียว เมื่อโลกเอียงได้แค่นิดเดียว กว่าที่เงาจะยาวออกหรือหดสั้นเข้าก็เลยใช้เวลานานมาก แต่เมื่อโลกโคจรอยู่ใกล้พระอาทิตย์ โลกโคจร t เหมือนเดิม แต่ระยะทางคือ b ได้มาก โลกก็เอียงไปได้เยอะในเวลา t เงาที่จะยาวออกหรือหดสั้นเข้าก็เลยใช้เวลน้อย เพราะฉะนั้นแล้วเวลาในอันโตนาที คือเวลาของเงาที่เปลี่ยนไป เพื่อบอกว่าโลกโคจรในเส้นวงรีอย่างไร และเป็นภาพที่เสมือนยืนบนพระอาทิตย์แล้วยิงเส้นรัศมีออกไปถึงราศี จะเห็นเส้นรอบวงโคจรของโลกเป็นวงรี ตามเวลาช้าเร็วที่ผันแปรจากความใกล้ไกลระหว่างโลกกับพระอาทิตย์

                 ดังนั้นแล้วการคำนวณวางลัคน์ของโหราศาสตร์ไทยและอินเดียโบราณที่ใช้ฆะติกะ จึงเป็นการคำนวณหาเส้นขอบฟ้าที่ไต่ไปตามวงรีอันเป็นวงโคจรโลก มิใช่วงกลมตามที่เราเข้าใจ และพึงเข้าใจว่า การที่พระอาทิตย์โคจรวันละ 59 ลิปดาโดยประมาณนั้น เป็นการเฉลี่ยการโคจรโดยเอา 365 วันเป็นตัวตั้ง แล้วให้ t เท่ากันคือ 1 วัน ดังนั้น b คือระยะจะไม่เท่ากัน พูดง่าย ๆ คือ โลกมองไปหาตำแหน่งดวงอาทิตย์ ไม่เกี่ยวกับความเอียงหรือเส้นวงโคจรใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วนอันโตนาที เป็นระยะของ b คือ ระยะการเอียงหรือระยะเงาแดดเท่ากัน จึงทำให้ t ไม่เท่ากัน เป็นการมองจากพระอาทิตย์ไปหาโลก และเป็นการนำเส้นวงรีมาคำนวณ ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างกัน อย่านำมาปะปนกัน

                 ส่วนเหตุผลว่าทำไมการวางลัคน์จึงต้องใช้วิธียุ่งยากแบบนั้น ทำไมต้องวงรีมิใช่วงกลม ทำไมไม่ทำให้เหมือนตำแหน่งดาวเคราะห์ที่อ้างอิงจากวงกลมแล้วเฉลี่ยเวลา แทนที่จะเอาเวลามาเฉลี่ยบนเส้นวงรี อันนี้ทางผู้เขียนก็ไม่สามารถจะให้คำตอบได้เหมือนกันครับผม แต่ในต่างประเทศนั้น การถกเถียงถึงเรื่องจะใช้ระบบภพเช่นไร มีมาเนิ่นนานแล้วเหมือนกัน ภพของโหราศาสตร์สากลจะไม่เท่ากัน กลายมาเป็นหลักการ "อันโตนาทีท้องถิ่น" ซึ่งวงการโหราศาสตร์ในประเทศไทยก็ได้รับเอามา

                 เรื่องอินเดียรับวัฒนธรรมจากกรีกโรมันนี่ ผมขอเรียนว่าหากทุกท่านศึกษาประวัติศาสตร์จริง ๆ ทุกท่านจะเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเพียง "ความเชื่อ" ที่นักโหราศาสตร์ในประเทศไทย เชื่อและสืบทอดความเชื่อกันมาอย่างผิด ๆ ทั้งหมด ทุกท่านต้องเข้าใจก่อนว่าอารยธรรมของโลกมี 3 แหล่งที่เกิดขึ้นใกล้ ๆ กันคือ อารยธรรมสินธุ เมโสโปเตเมีย และอียิปต์เมื่อประมาณ 3,000 BC โดยที่อารยธรรมสินธุอยู่ที่แม่น้ำสินธุหรืออินดัสในประเทศปากีสถาน อารยธรรมเมโสโปเตเมียเกิดขึ้นในประเทศอิรัก อารยธรรมทั้งสองนี้มีการติดต่อค้าขายกันมาแต่โบราณคือตั้งแต่ 2,500 BC แล้ว จนสุดท้ายประมาณ 1,900 BC ชาวฮิตไทต์จากเมโสโปเตเมียแถบตุรกีในปัจจุบัน หรือที่หลายคนเข้าใจในชื่อชาวอารยัน ก็ยกกองทัพมารุกรานชาวสินธุหรือชาวดราวิเดียน (ฑราวิฑ) จนชาวดราวิเดียนค่อย ๆ ถอยร่นเข้าสู่ประเทศอินเดีย จากนั้นก็นำความเชื่อทางศาสนาของตนมาบีบบังคับให้ชาวดราวิเดียนนับถือ เปลียนจากเทพเดิม เป็นเทพที่ชื่อว่าอินทรา และวรุณ กลายเป็นยุคพระเวทเมื่อประมาณ 1,500 - 1,200 BC มีหลักฐานชัดเจนว่าชื่ออินทรา และวรุณนั้น เป็นชื่อเทพที่ชาวฮิตไทต์นับถือมาแต่เดิม

                 และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเส้นทางการค้าขายก็ยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อย ๆ จากอินเดียเหนือผ่านไปที่ประเทศปากีสถาน ล่องเรือในทะเลอาระเบียน เข้าอ่าวเปอร์เซีย เทียบท่าแล้วมุ่งไปยังกรุงแบกแดด อารยธรรมทั้งสองแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองควบคู่กันมาตลอด เมื่อชาวแคลเดียนรุ่งเรืองขึ้นก่อตั้งบาบิโลนใหม่ มีการฟื้นฟูวิชาการทุกอย่างโดยเฉพาะวิชาดาราศาสตร์เมื่อประมาณ 650 BC เก่ากว่านั้นไม่มี ขุดค้นได้ที่เมืองนิเนเวห์ แต่สุดท้ายบาบิโลนใหม่ก็ถูกเปอร์เซียรุกรานและล่มสลายลงในปี 539 BC การติดต่อกันทางวิชาการระหว่างบาบิโลนกับอินเดียก็หยุดลง พวกเปอร์เซียขนความรู้ไปสร้างอาณาจักรของตนเองและกลายเป็นรากฐานความรู้ของพวกรีก

                 ส่วนพวกกรีกถือกำเนิดอารยธรรมเมื่อ 750 BC จากงานเขียนเรื่องโอดิสซีของโฮเมอร์กวีตาบอด ตอนแรกเป็นแค่กลุ่มชนที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้โดดเด่นอะไร ไม่ใช่เกิดมาแล้วมีกองทหารฟาลังซ์ใส่เกราะอาวุธครบมือเลยนะคุณนะ แรก ๆ ที่เขาเป็นอยู่ก็เหมือนขอม ทวารวดี สุโขทัย นี่แหละคุณ มีเมือง แต่มันยังไม่ได้เจริญมากมายอะไร จนสุดท้ายมี 2 เมืองที่โดดเด่นขึ้นมาคือเอเธนส์และสปาตาร์ และเพิ่งจะลืมตาอ้าปากได้เพราะชนะเปอร์เซียเมื่อประมาณ 490 BC จากนั้นจึงเริ่มรับความรู้จากทั้งอียิปต์และเปอร์เซีย กรุงเอเธนส์รุ่งเรืองขึ้นมาในปี 450 BC มีความรู้จนสามารถสร้างเป็นวิหารพาเทนอนเมื่อ 432 BC ต่อมา 404 BC เอเธนส์ล่มสลาย ถูกสปาตาร์ตีแตก 317 BC โดยประมาณพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชมาบุกตีอินเดีย กำลังจะไปตีแคว้นมคธแต่ไปไม่ถึงทหารเบื่อหน่ายการรบอยากกลับบ้านเสียก่อน นั่นคือจุดที่กรีกมาใกล้อินเดียที่สุดแล้ว

                 จะเห็นว่ากว่ากรีกจะรุ่งเรืองที่สุดครั้งแรกก็คือประมาณ 450 BC ในกรุงเอเธนส์นั่นเอง ก่อนหน้านั้นพระพุทธศาสนาเกิดแล้วที่ 543 BC และกรีกกับอินเดียแยกขาดกันอย่างสมบูรณ์ เพราะกรีกไม่เคยก้าวเข้าไปในดินแดนอาหรับเลยจนสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช แล้วอินเดียจะไปรับวัฒนธรรมของกรีกโรมันมาได้อย่างไรครับ ต้องบอกว่ากรีกโรมันสิ ที่ไปรับวิชาการความรู้จากเปอร์เซีย อันมาจากบาบิโลน และอินเดีย ถึงจะถูก

ขอบคุณรูปภาพจาก 
http://www.hora-thai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539275362
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=mahahora&month=07-06-2012&group=3&gblog=9

ติดตามต่อได้ที่ facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะสำนักวะนะยาสะนะ
                                    https://www.facebook.com/jyotishthailand/

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระเกตุ


๙. พระเกตุ (Ketu)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีพิจิก 0º - 30º หรือราศีธนู 0º - 6º มูลตรีโกณ ราศีสิงห์ 0º - 16º เกษตร ราศีเมถุน 0º - 30º
         ** อุจจ์ ราศีพิจิก เกษตร ราศีมีน : คัมภีร์ปาระสาระโหรา
2. ทิศ : เจ้าการทิศพายัพ (Vayavya Dikpala)
         ** พระวายุเทพเป็นผู้ดูแลทิศพายัพ มีธนูวายุอัสตราเป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลากลางคืน
4. ภพ : -
5. วรรณะ : -
6. ธาตุ : ปฐวีธาตุ (Prithvi Tattva)
7. ฤดู : -
8. สี : สีเทาดำ สีหมอก
9. อัญมณี : พลอยตาแมว (Cat’s Eye) ทดแทนโดย เทอร์คอยซ์ (Turquoise) ประดับกับแหวนที่ทำด้วยอัสตะธาตุ (อัสตะธาตุ คือโลหะที่เกิดจากการผสมด้วยแร่ ๘ ชนิดคือ ทองคำ เงิน ทองแดง สังกะสี ตะกั่ว ดีบุก เหล็ก และปรอท) ถ้าหาแหวนจากแร่อัสตะธาตุไม่ได้ อนุโลมให้เป็นแหวนเหล็กหรือแหวนเงินได้ โดยพลอยนั้นจะมีน้ำหนักเท่าใดก็ได้ สวมที่นิ้วก้อย ต้องสวมครั้งแรกในเวลาเที่ยงคืนวันพฤหัสบดี ดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : -
11. เทพผู้รักษา : พระคเณศ (Ganesha)
         *พระไภรวะ หรือพระพิราพ (Bhairava)
12. เพศ : บัณเฑาะว์ ทั้งเพศชายและหญิง
13. อวัยวะ : -
14. โรค :  โรคความดันเลือดต่ำ หูหนวก บาดเจ็บ อักเสบ โรคผิวหนัง ไข้ตัวร้อน ลำไส้ผิดปกติ ระบบการพูดผิดปกติ โรคระบบประสาท ร่างกายซูบผอม โรคขาดสารอาหาร เส้นปูดโปน เส้นเลือดขอด
15. นิสัย : ตมัสสะคุณะ (Tamas Guna) อดทน ฉลาดเรื่องหากิน เอาการเอางานดี ออกแบบเก่ง ทำอาหารเก่ง ไม่ชอบสนใจเรื่องของคนอื่น ชอบคิดมากหรือทุกข์ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรียนเก่ง นับถือพวกผีและเจ้า ไม่ชอบหลอกลวงใคร ซื่อสัตย์ ทำงานด้วยฝีมือ รักสัตว์ สันโดษ มีพรสวรรค์ เชื่อเรื่องโชคลาง
16. บุคคล : ญาติฝ่ายแม่ นักปรัชญา
17. สถานที่ :  ห้องที่มืดหรือมีแสงสลัว
18. รูปร่าง : -
19. สิ่งอื่นๆ : ผ้าหลายสี วิทยาศาสตร์ มนต์ดำ ไสยเวทย์ วิญญาณ
20. ประวัติการกำเนิด
         ในกาลครั้งหนึ่ง มหาฤๅษีทุรวาสะเดินทางขึ้นไปสวรรค์โลกเพื่อจะไปหาอินทราเทพหรือพระอินทร์ซึ่งในขณะนั้นอินทราเทพกำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยวในที่อื่น มหาฤๅษีทุรวาสะจึงมอบพวงมาลัยปาริชาติให้กับอินทราเทพ อินทราเทพเมื่อรับพวงมาลัยไปแล้วก็เอาไปวางไว้บนเศียรของพระยาช้างเอรวัณ เป็นการเทิดทูนพวงมาลัยของมหาฤๅษี แต่พวงมาลัยนั้นกลับไหลลื่นตกจากเศียรของพระยาช้าง แล้วโดนเท้าพระยาช้างเหยียบย่ำจนแหลกเละ ในเวลานั้นมหาฤๅษีทุรวาสะหันกลับมามองอินทราเทพ พลันเห็นพวงมาลัยตนถูกเท้าช้างเหยียบย่ำเช่นนั้น จึงกล่าวสาปอินทราเทพว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านมี อันทำให้ท่านยิ่งใหญ่จนเกิดความจองหอง ขอสาปให้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นจงหายไปเสียให้หมด” ทันใดนั้นทรัพย์สินทุกอย่างบนสรวงสวรรค์ก็หายไป กำลังของเทวาทั้งมวลในสวรรค์โลกก็หายไปหมด เป็นเหตุให้อสูรขึ้นมาชิงสวรรค์โลกไปจากเหล่าเทวาได้
         เหล่าเทวามีความกังวลเป็นอันมาก จึงไปปรึกษาพระพรหมเทพบิดา พระพรหมเทพบิดาประชุมกับพระนารายณ์และพระศิวะ พระศิวะเจ้าทรงแนะนำให้กวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤตให้เหล่าเทวาดื่มเพื่อคืนกำลัง พระนารายณ์จึงทรงแนะนำให้นำเขาพระสุเมรุทำเป็นแท่งกวน นำพระยานาควาสุกรีมาแทนเชือกปั่น แล้วตนเองจะอวตารเป็นเต่ารองฐานเขาพระสุเมรุ พระศิวะเจ้าจึงทรงเรียกเหล่าอสุราและเทวามารวมกัน ตรัสดำริสั่งให้กวนเกษียรสมุทร โดยให้อสูรจับที่หัวนาค และเทวาจับที่หางนาค ยื้ดยุดกันให้เขาพระสุเมรุหมุน
ขณะที่กวนเกษียรสมุทรอยู่นั้น ของวิเศษต่างๆก็บังเกิดผุดออกมาจากเกษียรสมุทรนั้น เช่น พระแม่ลักษมี ช้างเอรวัณ ต้นปาริชาติ โคสุรภี ม้าอุจจัยสราวะ และสุดท้ายก็คือ โถน้ำอมฤต เมื่อโถน้ำอมฤตผุดขึ้นมา เหล่าอสูรก็พากันเข้าไปยื้อแย่งเพื่อจะดื่มน้ำอมฤต พระนารายณ์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงทรงแปลงร่างเป็นสตรีรูปโฉมสวยสคราญนางหนึ่งชื่อพระนางโมหิณี ทรงล่อลวงอสูรให้สนใจนาง อสูรพากันสนใจพระนางโมหิณีจนถึงกับทิ้งโถน้ำอมฤตไว้ เป็นจังหวะให้เหล่าเทวานำน้ำอมฤตมาดื่ม แต่ในเหล่าเทวานี้มีอสูรตนหนึ่งไม่ได้หลงใหลกับกับรูปโฉมของพระนางโมหิณี แปลงร่างกลายเป็นเทวาเข้ามาปะปนนั่งอยู่กับเทวาอื่นๆด้วย อสูรตนนั้นคือ พระราหู เมื่อพระราหูได้ดื่มน้ำอมฤตเข้าไปแล้วก็ได้กลายเป็นอมตะ พระสุริยาและพระจันทร์จำได้ว่าเป็นพระราหูปลอมแปลงกายมา จึงร้องแจ้งแก่พระนารายณ์ พระราหูเห็นดังนั้นจึงคิดจะบินหนี พระนารายณ์จึงขว้างสุทาสะนะจักร์ตัดเศียรพระราหูขาด แต่เมื่อพระราหูดื่มน้ำอมฤตเข้าไปแล้วจึงไม่ตายแม้ว่าจะเหลือแต่เศียร กายของพระราหูที่ขาดออกจากเศียรยังมีชีวิตอยู่ได้โดยกลายเป็นพระเกตุ
         และด้วยเหตุที่พระราหูมีความแค้นต่อพระสุริยาและพระจันทร์เพราะร้องแจ้งแก่พระนารายณ์ จึงคอยหาโอกาสจับพระสุริยาและพระจันทร์กินอยู่เสมอ แต่ไม่สามารถกลืนได้เพราะมีแต่เศียร ไม่มีร่างกายเสียแล้ว
         เทวลักษณ์ของพระเกตุ จะเป็นยักษ์มีสองกร ถือคฑา ๑ ประทานพร ๑ มีนกอินทรีย์ดำเป็นพาหนะ รถม้าของพระเกตุมีสีแดงเทียมด้วยม้า ๘ ตัว ในทางไทย พระเกตุถือพระขรรค์ ทรงพญานาคเป็นพาหนะ

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระราหู


๘. พระราหู (Rahu)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศึพพิจิก 0º - 30º มูลตรีโกณ ราศีกรกฎ 0º - 30º หรือราศีกุมภ์ 0º - 6º
         * หลังจากองศามูลตรีโกณ เป็นเกษตรในราศีกุมภ์
         * อุจจ์ ราศีพฤษภ เกษตร ราศีกันย์ : คัมภีร์ปาระสาระโหรา
2. ทิศ : เจ้าการทิศหรดี (Nirrti Dikpala)
         ** พระแม่นิรตีเป็นผู้ดูแลทิศหรดี มีพระขรรค์เป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลากลางคืน
4. ภพ : -
5. วรรณะ : ศูทร (Shudra Varna)
6. ธาตุ : วาโยธาตุ (Vayu Tattva)
7. ฤดู : ศิศิระฤดู (Sisira ritu) ฤดูต้นใบไม้ผลิ กุมภาพันธ์ – มีนาคม
8. สี : สีดำ เทาดำ สีหมอก
9. อัญมณี : โกเมนสีส้ม (Gometha) ทดแทนโดย พลอยสีส้ม (Hessonite Garnet) ประดับกับแหวนที่ทำด้วยอัสตะธาตุ (อัสตะธาตุ คือโลหะที่เกิดจากการผสมด้วยแร่ ๘ ชนิดคือ ทองคำ เงิน ทองแดง สังกะสี ตะกั่ว ดีบุก เหล็ก และปรอท) ถ้าหาแหวนจากแร่อัสตะธาตุไม่ได้ อนุโลมให้เป็นแหวนเหล็กหรือแหวนเงินได้ โดยโกเมนนั้นต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 6 กะรัต สวมที่นิ้วกลางหรือนิ้วก้อย ต้องสวมครั้งแรกก่อนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าในเย็นวันพุธ (before Sunset on a Wednesday evening) ดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : -
11. เทพผู้รักษา : เษษะนาคา (Adhishesha Naka) บัลลังค์นาคของพระนารายณ์
         *พระแม่ทุรคา (Durga)
12. เพศ : เสามะยะ (Saumya) เพศหญิง
13. อวัยวะ : -
14. โรค :  โรคลำไส้ หนอง ผิวหนัง แผลเปื่อย ม้าม พยาธิ โรคเฉื่อยชา กามโรค ความผิดปกติในพฤติกรรมทางเพศ ติดเหล้า ติดสารเสพติด ติดการพนัน
15. นิสัย : ตมัสสะคุณะ (Tamas Guna) นักเลง ในกว้าง กล้าได้กล้าเสีย เหลี่ยมจัด เดินทางไร้ร่องรอย อยู่ไม่เป็นที่ ชอบการพนัน ชอบเที่ยว ชอบดื่มของมึนเมา ชอบเที่ยวผู้หญิง ทุ่มไม่อั้น ใจถึง ไม่ค่อยซื่อสัตย์
16. บุคคล : ญาติฝ่ายพ่อ นักเลง มาเฟีย นักพนัน คนต่างด้าว
17. สถานที่ :  บันได โรงเหล้า โรงเบียร์ บ่อน ซ่อง สถานที่มั่วโลกีย์ ห้องที่มืดหรือมีแสงสลัว
18. รูปร่าง : อ้วนใหญ่
19. สิ่งอื่นๆ : ผ้าหลายสี ทรัพยากร เชื้อเพลิง ของผิดกฎหมาย
20. ประวัติการกำเนิด
         พระราหูเป็นบุตรของพระวิประจิตติและพระนางสิงหิกะ พระวิประจิตติเป็นบุตรของมหาฤๅษีกัสยปะและพระนางธานุ ตามตำนานในปุราณะ พระราหูจะโดนสุทธาศนจักร์ตัดศีรษะขาดแต่ไม่ตาย พระราหูจึงเหลือเพียงศีรษะเท่านั้น
         เทวลักษณ์ของพระราหู คือมารมีสี่กร หอก ๑ ดาบ ๑ โล่ห์ ๑ ประทานพร ๑ มีสิงห์ดำเป็นพาหนะ หรือในเทวลักษณ์ในลักษณะครึ่งตัวบนเป็นยักษ์ ครึ่งตัวล่างเป็นงู มีสี่กร ถือคฑา ๑ ธงชัย ๑ ดาบ ๑ โล่ห์ ๑  รถม้าของพระราหูมีสีเทาเทียมด้วยม้า ๘ ตัว ในทางโหราศาสตร์ไทย พระราหูจะมีครึ่งตัวบนเป็นยักษ์ ครึ่งตัวล่างเป็นงู มีสองกร ถือกระบองเหล็กเป็นอาวุธ

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ

วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระเสาร์


พระเสาร์ (Shani or Sani)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีตุลย์ 0º - 20º เป็นมูลตรีโกณ ราศีกุมภ์ 0º – 20º เป็นเกษตร ราศีกุมภ์ 21º - 30º และเป็นเกษตร ราศีมกร 0º - 30º
         * บรมอุจจ์ ราศีตุลย์ 20º
         * บรมเกษตร ราศีกุมภ์ 27º และราศีมกร 16º
         * หลังจากองศาอุจจ์ คือ 21º – 30º ของราศีตุลย์ มีกำลังเทียบเท่ามูลตรีโกณ
2. ทิศ : เจ้าการทิศประจิม (Pascima Dikpala)
         ** พระวรุณเทพเป็นผู้ดูแลทิศประจิม มีบ่วงบาศก์ปาสะเป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลากลางคืน
4. ภพ : ทิคะพละศักดิ์ มีกำลังเมื่ออยู่ในภพปัตนิ
5. วรรณะ : ศูทร (Shudra Varna) ช่างทุกแขนง วิศวกร และกสิกรรม
6. ธาตุ : วาโยธาตุ (Vayu Tattva)
7. ฤดู : ศิศิระฤดู (Sisira ritu) ฤดูต้นใบไม้ผลิ กุมภาพันธ์ – มีนาคม
8. สี : สีน้ำเงิน สีดำ สีสลัว สีเทาดำ
9. อัญมณี : ไพลิน (Blue Sapphire) ทดแทนโดย เพทายสีน้ำเงิน (Blue Zircon) ทัวร์มาลีนสีน้ำเงิน (Blue Tourmaline) พลอยสีน้ำเงิน (Blue Spinel) เขี้ยวหนุมาน (Amethyst) นิล (Nila) หรือ ลาพิซลาซูไล (Lapis Lazuli) ประดับกับแหวนเหล็กในวันเสาร์ หรือศุกร์ โดยไพลินต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 5 กะรัต สวมที่นิ้วกลางข้างขวา ต้องสวมครั้งแรกก่อนพระอาทิตย์ตกดิน 2 ชั่วโมง ในวันเสาร์ ดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม
11. เทพผู้รักษา : พระพรหม (Brahma)
         ** พระยม (Yama)
         ** พระแม่กาลี (Kali Devi)
         ** พระหนุมาน (Hanuman)
12. เพศ : บัณเฑาะก์ ทั้งเพศชายและหญิง
13. อวัยวะ : ผม เล็บ กระดูก กล้ามเนื้อ ซี่โครง ท้องตอนบน ม้าม เท้า ธาตุลมในร่างกาย กรดในร่างกาย เข่า ไขมันในกระดูก
14. โรค :  โรคหู หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง โรคหืด วัณโรค กามโรค โรคผิวหนัง การประพฤติผิดศีลธรรม โรคปวดตามข้อ ท้องผูก ไตอักเสบ การขับของเสียออกจากร่างกาย
15. นิสัย : ตมัสสะคุณะ (Tamas Guna) เกียจคร้าน ไม่กระฉับกระเฉง เฉื่อยชา เยือกเย็น ไม่เปิดเผยเรื่องของตนให้คนอื่นรู้ เคร่งครัดในระเบียบวินัย รักความยุติธรรม กระด้างทางอารมณ์ โหดเหี้ยม ทารุณ ดื้อรั้น เฉยเมย เห็นแก่ตัว ทิฐิมานะ หยาบคาย
16. บุคคล : ลูกชู้ ลูกนอกกฎหมาย พ่อเลี้ยง โจร วิศวกร สถาปัตยกรรม ช่างทุกแขนง กสิกร ปศุสัตว์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง พ่อครัว ทหารเกณฑ์ ทูต ผู้พิพากษา เพชฌฆาตลานประหาร
17. สถานที่ : ห้องส้วม ที่ๆน้ำเน่าขัง ที่เก็บศพ ป่าช้า ที่รกร้าง กองขยะ ตึกร้อง บ้านเก่า คลังอาวุธ เรือนจำ หมู่บ้านชนบท ที่กันดาร ที่แห้งแล้ง ทะเลทราย เนินเขา ป่าใหญ่ ยอดเขาสูง
18. รูปร่าง : สูงใหญ่ สูงโปร่ง กระดูกใหญ่ มือและเท้าใหญ่ไม่งดงามน่ารัก ผิวเนื้อดำ ฟันซี่โตและไม่เป็นระเบียบ ตาโตและค่อนข้างแดง ผมหยาบ แข็งแรง
19. สิ่งอื่นๆ : รสฝาด รสเฉียบ รสกรด ต้นหญ้าและวัชพืช ผ้าหลายสี ผ้าขี้ริ้ว ผ้าเช็ดพื้น แร่เหล็ก แร่ตะกั่ว เครื่องนุ่งห่มเก่า ของเก่า ก่อสร้าง อุปสรรค ตายโหง ความล่าช้า ความวิตกกังวล
20. ประวัติการกำเนิด
         พระเสาร์ เป็นบุตรของพระสุริยา และพระนางชายา เทวลักษณะของพระเสาร์ เป็นหนุ่มรูปงาม มีสี่กร ถือคันธนู ๑ ลูกศร ๑ หอก ๑ ประทานพร ๑ มีกาดำเป็นพาหนะ รถม้าของพระเสาร์เป็นเหล็กเทียมด้วยม้า ๘ ตัว ส่วนทางไทย พระเสาร์ถือตรี และคันธนู ทรงเสือเป็นพาหนะ

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ

วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระศุกร์


พระศุกร์ (Shukra)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีมีน 0º - 27º เป็นมูลตรีโกณ ราศีตุลย์ 0º – 15º เป็นเกษตร ราศีตุลย์ 16º - 30º และเป็นเกษตร ราศีพฤษภ 0º - 30º
* บรมอุจจ์ ราศีมีน 27º
* บรมเกษตร ราศีตุลย์ 14º และราศีพฤษภ 13º
* หลังจากองศาอุจจ์ คือ 28º – 30º ของราศีมีน มีกำลังเทียบเท่ามูลตรีโกณ
2. ทิศ : เจ้าการทิศอาคเนย์ (Agneya Dikpala)
** พระอัคนีเทพเป็นผู้ดูแลทิศอาคเนย์ มีธนูอาคเนยะศาสตราเป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลากลางวัน
4. ภพ : ทิคะพละศักดิ์ มีกำลังเมื่ออยู่ในภพพันธุ
5. วรรณะ : พราหมณ์ (Brahmin Varna) นักบวช พระสงฆ์ ครู อาจารย์
6. ธาตุ : ชลธาตุ (Jala Tattva)
7. ฤดู : วสันต์ฤดู (Vasanta ritu) ฤดูใบไม้ผลิ เมษายน – พฤษภาคม
8. สี : สีหลากสี
9. อัญมณี : เพชร (Diamond) ทดแทนโดย แซฟไฟร์สีขาว (White Sapphire) ทัวร์มาลีนสีขาว (White Tourmaline) เพทายสีขาว (White Zircon) หรือคริสตัลสีขาว (White Rock Crystal) ประดับกับแหวนเงินหรือทองคำขาว โดยเพชรนั้นจะมีน้ำหนักเท่าไหร่ก็ได้ น้อยที่สุดคือ 1 – 1.5 กะรัต ส่วนแซฟไฟร์ ทัวร์มาลีน หรือเพทายสีขาวควรมีน้ำหนักมากกว่า 3 หรือ 4 กะรัต และคริสตัลควรมีน้ำหนักมากกว่า 11 กะรัต สวมที่นิ้วก้อยข้างขวา ต้องสวมครั้งแรกตอนพระอาทิตย์ขึ้น ในวันศุกร์ ดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : จ ฉ ช ซ ฌ ญ
11. เทพผู้รักษา : พระแม่ศจี (Sachi Devi) พระชายาพระอินทร์ ** พระแม่ลักษมี (Lakshmi)
12. เพศ : เสามะยะ (Saumya) เพศหญิง
13. อวัยวะ : ใบหน้า ตา ท้ายทอย คอ คาง แก้ม ผิวหนัง ระบบสืบพันธุ์ ความปรารถนาทางกามรมณ์ น้ำอสุจิ รังไข่ อวัยวะเพศ ไต
14. โรค :  โลหิตจาง นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในไต ตาเป็นต้อ ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ โรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์หรืออวัยวะเพศ อัมพาต หืด วัณโรค คออักเสบ หวัดคัดจมูก กามารมณ์มากผิดปกติ ความผิดปกติในพฤติกรรมทางเพศ โรคไร้สมรรถภาพหรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รูปร่างไม่ดึงดูดเพศตรงข้าม กามโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เบาหวาน
15. นิสัย : รชัสสะคุณะ (Rajasa Guna) ความหลงใหล งมงายในตัวเอง ชอบแต่งตัวและความผาสุกไปวันๆ ชอบเที่ยวเตร่หาความสำราญ เจ้าบทเจ้ากลอน ชอบความเพลิดเพลิน สนุกสนานร่าเริง ชอบดนตรีและขับร้อง ใจดี มีเสน่ห์ ชอบเอาใจใส่เพศตรงข้าม รักความสะอาด มีวาจาไพเราะ ช่างเจรจา วิริยะทางสังคมดี
16. บุคคล : ญาติฝ่ายแม่ เมียน้อย หญิงสาว นางงาม ดารา นักแต่งเพลง สร้างภาพยนต์ ช่างเสริมสวย คนขายเครื่องสำอาง นางสนม นางสนองพระโอษฐ์
17. สถานที่ : ห้องนอน สถานที่ร่วมเพศ สวนดอกไม้ สถานเริงรมย์ สถานบันเทิง สภากาชาด สภาสังคมสังเคราะห์ แหล่งท่องเที่ยว สถานเสริมสวยและสถานเสริมความงาม โรงละคร
18. รูปร่าง : รูปร่างงามสะดุดตา แขนขาได้สัดส่วน นัยน์ตาคม ผมดำสลวยและหยักศก
19. สิ่งอื่นๆ : รสเปรี้ยว ต้นไม้ดอก ผ้าไหม ผ้าห่ม เสื้อคลุม เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง เพชรพลอย งานมงคลสมรส เครื่องนุ่งห่มที่ใช้ทนทาน แร่ไข่มุกและเพชร
20. ประวัติการกำเนิด
         พระศุกร์เป็นบุตรของมหาฤๅษีวศิษฐะและนางอุระชะ พระศุกร์เป็นครูของพวกอสุรา ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามของพระพฤหัสบดีที่เป็นครูของฝ่ายเทพ
         เทวลักษณะของพระศุกร์ เป็นหนุ่มรูปงาม มีสี่กร ถือคัมภีร์พระเวทย์ ๑ สังข์ ๑ หงายมือประทานพร ๑ ประทานพร ๑ มีม้าเป็นสัตว์พาหนะ หรือมีสี่กร ถือไม้เท้า ๑ ลูกประคำ ๑ คัมภีร์พระเวทย์ ๑ ประทานพร ๑ ประทับบนรถม้าเทียมด้วยม้า ๗ ตัว ส่วนทางไทย พระศุกร์ถือไม้เท้า ทรงโคเป็นพาหนะ

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระพฤหัสบดี


พระพฤหัสบดี (Vrihaspati)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีกรกฎ 0º - 5º เป็นมูลตรีโกณ ราศีธนู 0º – 10º เป็นเกษตร ราศีธนู 11º - 30º และเป็นเกษตร ราศีมีน 0º - 30º
* บรมอุจจ์ ราศีกรกฎ 5º
* บรมเกษตร ราศีธนู 16º และราศีมีน 7º
* หลังจากองศาอุจจ์ คือ 6º – 30º ของราศีกรกฎ มีกำลังเทียบเท่ามูลตรีโกณ
2. ทิศ : เจ้าการทิศอีสาน (Isanya Dikpala)
** พระศิวะเทพเป็นผู้ดูแลทิศอีสาน (อิศวร) มีตรีศูลเป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลากลางวัน
4. ภพ : ทิคะพละศักดิ์ มีกำลังเมื่ออยู่ในภพตนุ
5. วรรณะ : พราหมณ์ (Brahmin Varna) นักบวช พระสงฆ์ ครู อาจารย์
6. ธาตุ : อากาศธาตุ (Akasa Tattva)
7. ฤดู : เหมันต์ฤดู (Hemanta ritu) ฤดูหนาว ธันวาคม – มกราคม
8. สี : สีน้ำตาลอ่อน หรือสีเหลือง
9. อัญมณี : บุษราคัม (Yellow Sapphire) ทดแทนโดย โทแพซสีเหลือง (Yellow Topaz) คอรันดัมสีเหลือง (Yellow Corundum) ทัวร์มาลีนสีเหลือง (Yellow Tourmaline) เพทายสีเหลือง (Yellow Zircon) หรือซิตริน (Citrine) ประดับกับแหวนทองในวันจันทร์หรือวันพฤหัสบดี โดยบุษราคัมต้องมีน้ำหนัก 6 11 หรือ 15 กะรัต สวมที่นิ้วนางข้างขวา ต้องสวมครั้งแรกตอนพระอาทิตย์ขึ้น ในวันพฤหัสบดี ดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : ด ต ถ ธ ท น
11. เทพผู้รักษา : พระอินทร์ (Indra) ** พระพรหม (Brahma)
12. เพศ : กรูระ (Kroora) เพศชาย
13. อวัยวะ : หู เพดานปาก คอ เส้นเลือดขั้วหัวใจ ต่อไร้ท่อ ตับ น้ำดี ตับอ่อน ถุงน้ำดี การดูดซึมอาหาร การย่อยอาหาร การเจริญเติบโตของร่างกาย ระบบการสลายไขมันในร่างกาย
14. โรค :  หูหนวก ไอ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เบาหวาน โรคหืด วัณโรค โรคตับอ่อน โรคม้ามโรคอ้วน ลิ่มเลือด เส้นเลือดอุดตัน โลหิตจาง เนื้องอก ดีซ่านและโรคอื่นๆของตับ
15. นิสัย : สัตวะคุณะ (Sattva Guna) ผ่องใสในอารมณ์ มีความคิดความอ่าน ทรงภูมิปัญญา น่านับถือ วางตัวดี ชอบศึกษา รอบรู้คงแก่เรียน มีความรู้ อัจฉริยะด้านการอ่านและเขียน มีพรหมวิหาร มีคุณธรรมสูง วางตัวเฉยเมย เยือกเย็น บูชาความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรมและยุติธรรม
16. บุคคล : บุตรและหลาน ทายาท ครูอาจารย์ พระสงฆ์ ผู้พิพากษา วุฒิสมาชิก นักปราชญ์ราชบัณฑิต มหัลกะ (ผู้มีอายุมาก) พระพรหม
17. สถานที่ : ห้องหนังสือ ห้องเรียน ห้องสมบัติ คลังสมบัติ ศาล โรงเรียน สถานศึกษา ป่าไผ่ โรงทาน ธนาคาร ตลาดหุ้น
18. รูปร่าง : อ้วนชนิดลงพุง ตาและผมมักเป็นสีน้ำตาล ผมหยักศก
19. สิ่งอื่นๆ : รสหวาน ต้นไม้ผลดกออกตลอดปี ผ้าสีเหลือง จีวรพระ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร แร่เงินและทองแดง ผลประโยชน์ รายได้ กำไร ปานิโยทก (น้ำดื่ม) เครื่องเรือน รัตนาวลี (สร้อยเพชร) ความรุ่งเรือง ศิโรรัตน์ (เพชรประดับศีรษะ) ชโยติส (โหราศาสตร์และดาราศาสตร์) พระเวทย์ เวทางคศาสตร์ (ศาสตร์ประกอบการศึกษาพระเวทย์)
20. ประวัติการกำเนิด
         หลังจากที่พระพรหมบิดาได้สร้างโลกขึ้นมาแล้ว ทรงสร้างมหาฤๅษีขึ้นมากลุ่มหนึ่ง เพื่อคอยจดบันทึกพระเวทย์จากพระโอษฐ์ของพระองค์ได้ โดยหลาย ๆ คัมภีร์ จะกล่าวว่ามหาฤๅษีนั้นมีเพียง ๗ รูปเท่านั้น แต่ในอีกหลายคัมภีร์ก็มีหลายรูป พอสรุปได้ดังนี้คือ มหาฤๅษีภฤคุ มหาฤๅษีปุลาหะ มหาฤๅษีกรตุ มหาฤๅษีอังคิร์ มหาฤๅษีมริจิ มหาฤๅษีอตริ มหาฤๅษีปุละสัตยะ มหาฤๅษีนารท มหาฤๅษีวศิษฐะ และพระพรหมยังทรงสร้างมนู หรือมนุษย์กลุ่มแรกขึ้นมาหลายคน หนึ่งในนั้นคือ กรรธะมะประชาบดี และเทวะหุติภริยา ทั้งสองบำเพ็ญทุขกิริยาต่อพระวิษณุริมฝั่งแม่น้ำสรัสวตี พระวิษณุจึงให้พรบังเกิดเป็น ลูกสาวทั้งหมด ๗ คน คือ กาละ อนุสุยา ศรัทธา หรรภิวุ คติ กริยา ฆยาติ อรุณธติ และศรรติ ศรัทธาและมหาฤๅษีอังคิร์แต่งงานกัน กำเนิดบุตรเป็น พระพฤหัสบดี
         พระพฤหัสบดีเป็นครูของเหล่าเทพทั้งหลาย มีภรรยาชื่อพระนางทาระ ตอนที่พระจันทร์ลักพาตัวพระนางทาระไป จนกำเนิดเป็นพระพุธ พระพฤหัสบดีตามหาจนเจอ เกิดการโต้เถียงกันขึ้น พระจันทร์พาพระนางทาระหนีไปอยู่กับพระศุกร์ พระพฤหัสบดีก็ไปทวงคืน พระศุกร์ก็โต้เถียงกับพระพฤหัสบดีด้วย และเนื่องด้วยพระศุกร์เป็นครูของเหล่าอสูร ด้วยเหตุนี้จึงลุกลามกลายเป็นศึกระหว่างเทพและอสูรอีกครั้งหนึ่ง
         พระพฤหัสบดีมีเทวลักษณะเป็นหนุ่มรูปงาม มีสี่กร ถือจักร ๑ สังข์ ๑ หงายมือประทานพร ๑ และประทานพร ๑ ทรงช้างเป็นพาหนะ หรือในบางลักษณะจะมีสองกร ถือประคำ ๑ และคัมภีร์พระเวทย์ ๑ ประทับอยู่บนรถม้าสีทอง เทียมด้วยม้าสีเหลืองอ่อน ๘ ตัว สำหรับในทางไทย พระพฤหัสบดีถือกระดานชนวน และทรงกวางเป็นพาหนะ

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระพุธ


พระพุธ (Budha)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีกันย์ 0º - 15º เป็นมูลตรีโกณ ราศีกันย์ 16º – 20º เป็นเกษตร ราศีกันย์ 21º - 30º และเป็นเกษตร ราศีเมถุน 0º - 30º
* บรมอุจจ์ ราศีกันย์ 15º
* บรมเกษตร ราศีกันย์ 7º และราศีเมถุน 24º
2. ทิศ : เจ้าการทิศอุดร (Uttara Dikpala)
** พระกุเวรเทพเป็นผู้ดูแลทิศอุดร มีคฑาหรือกระบองศิพิกะเป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
4. ภพ : ทิคะพละศักดิ์ มีกำลังเมื่ออยู่ในภพตนุ
5. วรรณะ : ไวศยะ (Vaishya Varna) แพทย์ พ่อค้าวานิช
6. ธาตุ : ปฐวีธาตุ (Prithvi Tattva)
7. ฤดู : สารทฤดู (Sarad ritu) ฤดูใบไม้ร่วง ตุลาคม –พฤษศจิกายน
8. สี : สีเขียวใบหญ้าหรือสีเขียวใบไม้
9. อัญมณี : มรกต (Emerald) ทดแทนโดย อความารีน (Aquamarine) เขียวส่อง (Peridot) เพทายสีเขียว (Green Zircon) โมราสีเขียว (Green Agate) หรือ หยก (Jade) ประดับบนแหวนเงินในวันพุธ โดยมรกตต้องมีน้ำหนัก 3 กะรัตขึ้นไป และสวมที่นิ้วก้อยข้างขวา สวมครั้งแรกในตอนเช้าหลังจากพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว 2 ชั่วโมง วันพุธ ดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ
11. เทพผู้รักษา : พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ (Maha Vishnu or Naraya)
** พระสุรัสวดี (Saraswati)
12. เพศ : ยุนุค บัณเฑาะก์ ทั้งเพศชายและหญิง
13. อวัยวะ : ลิ้น ปาก มือ แขน ปอด หลอดลม น้ำย่อยในกระเพาะ การย่อยอาหาร ลำไส้ ท้องส่วนล่าง กระเพาะปัสสาวะ ผิวหนัง จิตใจ ไหวพริบปฏิภาณ ระบบประสาท
14. โรค :  โรคหืด โรคหลอดลมอักเสบ โรคนอนไม่หลับ ประสาทเสื่อม ความจำสั้น พูดไม่ชัด การพูดผิดปกติ โรคหูหนวก โรคเวียนศีรษะ โรคลมชัก โรคผิวหนัง โรคไร้สมรรถภาพทางเพศ ลำไส้ผิดปกติ การย่อยผิดปกติ โรคกระเพาะ ปวดท้อง ท้องร่วง
15. นิสัย : รชัสสะคุณะ (Rajasa Guna) เจ้าคำพูด เจ้าวาทะศิลป์ ร่าเริง ชอบร่วมเพศด้วยท่าแปลกๆ ปากหวาน เอาใจเก่ง เจ้าปัญญา มีไหวพริบปฏิภาณคล่องแคล่ว ชอบตลกขบขัน วางท่าโต ใจดี ร้องเพลง ปรุงอาหาร เจ้าบทเจ้ากลอน พูดจาฉะฉาน
16. บุคคล : เด็กๆ ลุง น้า บุตร หลาน ญาติฝ่ายพ่อ ลุงน้าฝ่ายแม่ พ่อค้า พวกหากินกับปาก ร้านอาหาร นักแต่งเพลง นักประพันธ์ นักร้อง นักแสดง ทหารอากาศ
17. สถานที่ : สนามหน้าบ้าน สนามกีฬา ที่เล่นกีฬา ร้านอาหาร ห้องอาหาร
18. รูปร่าง : สมส่วน สะโอดสะอง เพรียว โปร่ง อ้อนแอ้น มีลำข้อแข็งแรงและใหญ่โต
19. สิ่งอื่นๆ : รสปร่าหรือหลายรสผสมกัน ต้นไม้ผลออกตามฤดูกาล ผ้าไหมสีดำ ผ้าที่เปียกน้ำ เครื่องนุ่มห่ม แร่ธาตุที่เอามาทำระฆัง สุนทรพจน์ พระสุพรรณบัฏ ลายมือเขียน ตัวอักษร บ้าน การเขียน การพูด การสลัก พระเครื่อง วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ ฉากตั้ง ป้ายโฆษณา อุปศาสตร์และตำราพิชัยสงคราม เอกสาร กระดาษ ธนบัตร
20. ประวัติการกำเนิด
         ครั้งหนึ่ง พระจันทร์เกิดมีใจหลงรักนางทาระ ซึ่งเป็นภรรยาของพระพฤหัสบดีมหาฤๅษี พระจันทร์จึงลักพาตัวนางทาระไปอยู่ด้วยตน หลังจากนั้นไม่นาน นางทาระจึงให้กำเนิดพระพุธ
         เทวลักษณะของพระพุธ เป็นชายหนุ่มมีสี่กร ถือดาบ ๑ โล่ ๑ คฑา ๑ ประทานพร ๑ รถม้าของพระพุธเป็นสีน้ำตาลอ่อนเทียมด้วยม้าขาว ๘ ตัว สัตว์พาหนะคือสิงห์ ตามคติไทย พระพุธทรงช้างเป็นพาหนะ ถือตะขอสับช้างเป็นอาวุธ

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ

วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระอังคาร


พระอังคาร (Mangal)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีมกร 0º - 28º เป็นมูลตรีโกณ ราศีเมษ 0º – 12º เป็นเกษตร ราศีเมษ 13º - 30º และเป็นเกษตร ราศีพิจิก 0º - 30º
* บรมอุจจ์ ราศีมกร 28º
* บรมเกษตร ราศีเมษ 11º และราศี พิจิก 14º
* หลังจากองศาอุจจ์ คือ 29º – 30º ของราศีมกร มีกำลังเทียบเท่ามูลตรีโกณ
2. ทิศ : เจ้าการทิศทักษิณ (Daksina Dikpala)
** พระยมเทพเป็นผู้ดูแลทิศทักษิณ มีไม้เท้ายมทัณฑ์เป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลากลางคืน
4. ภพ : ทิคะพละศักดิ์ มีกำลังเมื่ออยู่ในภพกัมมะ
5. วรรณะ : วรรณกษัตริย์ (Kshatriya varna) นักรบ ขุนนาง เจ้าพระยา
6. ธาตุ : อัคนีธาตุ (Agni Tattva)
7. ฤดู : กรีศมะฤดู (Greeshma ritu) ฤดูร้อน มิถุนายน – กรกฎาคม
8. สี : สีแดงเลือด หรือสีชมพู
9. อัญมณี : ปะการังสีแดง (Red Coral) ทดแทนโดย คาร์เนเลี่ยนสีแดง (Red Carnelian) เจสเปอร์สีแดง (Red Jasper) ประดับบนแหวนทองผสมทองแดง โดยปะการังต้องมีน้ำหนัก 6 กะรัตขึ้นไป ซื้อหรือประดับในวันจันทร์ วันอังคาร หรือวันพฤหัสบดี สวมที่นิ้วนางข้างขวา และต้องสวมครั้งแรกตอนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ในวันอังคาร ดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : ก ข ฃ ค ฅ ฆ ง
11. เทพผู้รักษา : พระขัณฑกุมาร (Subrahmanya)
12. เพศ : กรูระ (Kroora) เพศชาย
13. อวัยวะ : หน้าผาก จมูก คอ ทรวงอก ไขกระดูก เลือด น้ำดี การย่อยอาหาร ลำไส้ ระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และไหวพริบ
14. โรค :  กาฬโรค หลอดลมอักเสบ โรคปอด โลหิตออกจากปอด ไอเป็นเลือด ผอมแห้ง โรคที่มีเชื้อปลิวในอากาศ กระดูกหัก กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อฉีก บวมแดง มะเร็งในกล้ามเนื้อ ไข้ตัวร้อน ผื่นผิวหนัง ผิวหนังแผลเปื่อย แผลเป็น บาดเจ็บ ระบบความคิดผิดปกติ ลมบ้าหมู โรคจิตประสาทผิดปกติ บ้า หิวง่าย แผลไหม้พุพอง ถูกไฟไหม้ อุบัติเหตุ โรคตับ
15. นิสัย : ตมัสสะคุณะ (Tamas Guna) รุนแรง ก้าวร้าว โหดเหี้ยม บ้าบิ่นไร้สติ ใจร้อนรน ดื้อรั้น กล้าหาญ ความเด็ดขาด ความใคร่ของเพศชาย รักอิสระ ชำนาญเรื่องเครื่องจักรกล ชอบขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็วสูง มีความกระหายจัด มีความอยากในกามคุณ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทะเล่อทะล่า อาฆาต เข้มแข็ง มีเมตตาอารีย์ กล้ากระทำทั้งผิดและถูก
16. บุคคล : ปู่ เพื่อน พี่น้อง น้องชาย ชู้ คู่ครองอื่นนอกจากสามีหรือภริยาตน บ้านใกล้เรือนเคียง นักเลงอันธพาล ทหาร ตำรวจ ทรราชย์
17. สถานที่ : เตาไฟ ห้องครัว กระท่อมมุงด้วยไม้ไผ่
18. รูปร่าง : เอวคอดแต่อกใหญ่ แขนขางามได้สัดส่วน
19. สิ่งอื่นๆ : รสขม ต้นไม้ที่มีรสขม ผ้าสีแดง ผ้าที่เกี่ยวกับการระบำขับร้อง อาวุธ ของแหลม ทองคำ นาฬิกา ผ่าตัด อาสนะพระ อุบัติเหตุกระทันหัน ชัยชนะ เปคัสการิมหรือแตน ยานพาหนะ
20. ประวัติการกำเนิด
         วันหนึ่งขณะที่พระศิวะกำลังนั่งสมาธิอยู่นั้น พระแม่ปารวตีทรงย่องมาทางด้านหลังขององค์พระศิวะ และปิดตาทั้ง ๓ ของพระศิวะไว้ พลันโลกนี้ก็มืดมิดลงทันใด ขณะนั้นเองก็ได้บังเกิดมีเด็กชายขึ้นมาหนึ่งคน พระศิวะเจ้าจึงตั้งชื่อว่า อันทะกะ แปลว่า มืดบอด หรือมืดมิด
         ในขณะเดียวกันอีกสถานที่หนึ่ง หิรัญยักษะกำลังกระทำทุขกิริยาชำระบาปอย่างเคร่งครัด บูชาต่อองค์พระศิวะเพื่อจะขอพรต่อพระองค์ เมื่อพระศิวะรับรู้ถึงความตั้งใจนั้นแล้วพระองค์ก็ได้มาปรากฎพระวรกายเบื้องหน้าหิรัญยักษะและถามถึงสิ่งที่หิรัญยักษะต้องการ หิรัญยักษะจึงแจ้งว่าตนประสงค์จะมีบุตรชายที่มีกำลังและอิทธิฤทธิ์สามารถจะครอบครองทั้ง ๓ โลกได้ พระศิวะเจ้าทรงไม่ประทานพรข้อนี้ให้แต่ทรงเสนอว่า จะทรงยกเด็กคนหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติเพรียบพร้อมทุกอย่างดังที่หิรัญยักษะต้องการให้เป็นลูกชายของหิรัญยักษะ หิรัญยักษะมีความปิติยินดีจึงได้รับเด็กน้อยอันทะกะมาเลี้ยงเป็นบุตรของตน
         ต่อมาอันทะกะน้อยเติบโตเป็นมารหนุ่ม ชื่อว่า อันทะกะอสุรา จึงกระทำทุขกิริยาชำระบาปบูชาต่อองค์พระพรหมเทพ พระพรหมเทพก็เสด็จลงมาจากวิมาน มาปรากฎพระวรกายเบื้องหน้าอันทะกะอสุราแล้วจึงทรงถามถึงความปรารถนาของอันทะกะ อันทะกะทูลขอให้ตนเองนั้นจะไม่ถูกฆ่าโดยอสูร ไม่ถูกฆ่าโดยมนุษย์ และไม่ถูกฆ่าโดยเทพเจ้าใดๆ โดยเฉพาะพระนารายณ์ พระพรหมเห็นสมควร แต่ก็ทรงกล่าวว่าพรทุกข้อต้องมีข้อยกเว้น อันทะกะจึงขอว่า ยกเว้นว่าตนจะไปหลงรักหญิงซึ่งตนไม่ควรจะหลงรัก เช่น มารดาของตน พระพรหมเทพก็ทรงให้พรสัมฤทธิ์ดังอันทะกะปรารถนาทุกประการ
         เวลาผ่านมาเนิ่นนาน หลังจากหิรัญยักษะถูกฆ่าโดยร่างวราหะอวตารของพระนารายณ์แล้ว อันทะกะอสุราก็กลายเป็นกษัตริย์แห่งอสูร อันทะกะอสุราไปเที่ยวเขาหิมาลัย ได้เห็นโยคีที่บำเพ็ญเพียรอยู่ แล้วพลันสายตาก็ไปจับจ้องที่พระแม่ปารวตีพระชายาของพระศิวะ อันทะกะอสุราหลงรักพระแม่ปารวตีในทันที อันทะกะรีบกลับมายังเมืองมาร กรีธาทัพทั้งหมดเพื่อจะไปต่อสู้กับพระศิวะ ชิงพระนางปารวตีมาเป็นภริยาตน โดยมิรู้ว่าพระนางปารวตีคือมารดาผู้ให้กำเนิดตน
         การต่อสู้ดำเนินไปชั่วขณะ พระศิวะได้โอกาสรุกรบ ก็ทรงใช้ตรีศูล แทงที่ด้านหลังของอันทะกะทะลุหน้าอก แล้วก็ทรงยกร่างของอันทะกะขึ้นเหนือพระเศียร เหงื่อของพระศิวะไหลออกจากหน้าผากหยดลงบนพื้นกลายเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง พระศิวะทรงให้ชื่อว่า จรรจิกา และเหงื่อของพระศิวะไหลออกจากใบหน้าแล้วหยดลงพื้นกลายเป็นเด็กผู้ชาย พระศิวะทรงให้ชื่อว่า มังคะละ หรือ พระอังคาร
         เทวาลักษณะของพระอังคาร คือหนุ่มรูปงาม มีสี่กร ถือหอกหรือตรีศูล ๑ คฑา ๑ ประทานพระ ๑ หงายมือประทานพร ๑ รถม้าของพระอังคารเป็นสีทอง เทียมด้วยม้าสีแดงเลือด ๗ ตัว สัตว์พาหนะคือแกะ พระอังคารของไทย มีสี่กร ถือตรี ๑ หอก ๑ ศร ๑ ประทานพร ๑ สัตว์พาหนะคือกาสร

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระจันทร์



พระจันทร์ (Chandra or Chadrama or Soma)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีพฤษภ 0º - 3º เป็นมูลตรีโกณ ราศีพฤษภ 4º – 30º เป็นเกษตร ราศีกรกฎ 0º - 30º
* บรมอุจจ์ ราศีพฤษภ 3º
* บรมเกษตร ราศีกรกฎ 9º
2. ทิศ : เจ้าการทิศพายัพ (Vayavya Dikpala)
** พระวายุเทพเป็นผู้ดูแลทิศพายัพ มีธนูวายุอัสตราเป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลากลางคืน
* ขึ้น 11 ค่ำ – แรม 5 ค่ำ อยู่ในดิถีเพ็ญ มีกำลังมากที่สุด
* แรม 6 ค่ำ – แรม 15 ค่ำ อยู่ในดิถีดับ มีกำลังน้อยที่สุด
* ขึ้น 1 ค่ำ – ขึ้น 10 ค่ำ อยู่ในดิถีเพ็ญ มีกำลังปานกลาง
4. ภพ : ทิคะพละศักดิ์ มีกำลังเมื่ออยู่ในภพพันธุ
5. วรรณะ : ไวศยะ (Vaishya Varna) แพทย์ พ่อค้าวานิช
6. ธาตุ : ชลธาตุ (Jala Tattva)
7. ฤดู : วรรศาฤดู (Varsa ritu) ฤดูมรสุม สิงหาคม - กันยายน
8. สี : น้ำตาลอ่อน
9. อัญมณี : มุก (Pearl) ทดแทนโดย มูนสโตน (Moon-stone) หรือ ไวท์แซฟไฟร์ (white Sapphire) โดยมุกต้องมีน้ำหนัก 2 4 6 หรือ 11 กะรัต ประดับบนแหวนเงินในวันจันทร์ สวมที่นิ้วนางข้างขวา และต้องสวมครั้งแรกในเช้าวันจันทร์ หรือพฤหัสบดีดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฮ ฬ
11. เทพผู้รักษา : พระพิรุณ (Varuna) ** พระแม่ปาราวตี (Parvati)
12. เพศ : เสามะยะ (Saumya) เพศหญิง
13. อวัยวะ : ใบหน้า น้ำลาย น้ำทุกอย่างในร่างกาย ต่อมไร้ท่อ ต่อมฮอโมน ต่อมทอลซิล ต่อมน้ำเหลือง ถันของหญิงสาว หน้าอก ปอด ท้อง มดลูก รังไข่ ระบบประจำเดือน ตาขวาของหญิง ตาซ้ายของชาย
14. โรค :  ความแข็งแรงและความสมบูรณ์ของร่างกาย น้ำในร่างกาย โรคเลือดและน้ำเหลือง โรคโลหิตจาง ปัญหานอนไม่หลับ ความเฉื่อยชา โรคจิต หลอดลมอักเสบ โรคปอด วัณโรค โรคช่องปาก ระบบการย่อยผิดปกติ โรคประสาท โรคชักและลมบ้าหมู โรคม้าม โรคกระเพาะปัสสาวะ โรคที่เกี่ยวกับมดลูกและรังไข่ ประจำเดือนมาไม่ปกติ
15. นิสัย : สัตวะคุณะ (Sattva Guna) ใช้ดูหญิง และใช้ดูจิตใจ ใจดี ใจเย็น ความสะอาดสะอ้าน ความสง่างามของหญิง ความสวยงาม ความผาสุก ความยินดี พูดมาก แสนงอน
16. บุคคล : มารดา ภรรยา เจ้านายหญิง สตรีเพศ อายุในวัยเด็ก หญิงเบญจกัลยาณี บุราณทุติยิกา-ภรรยาที่มีก่อนบวชพระ นางพระยา ทหารเรือ
17. สถานที่ : ห้องน้ำ สระน้ำ ที่ๆมีน้ำขัง ลำน้ำ น้ำจืด แม่น้ำ ที่นอนชั้นดี กองทัพเรือ
18. รูปร่าง : รูปร่างสูงโปร่งระหง แบบบางสะโอดสะอง มีส่วนเว้าส่วนโค้งที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ขาและแขนแข็งแรงและสวยงามน่ารัก สวยงาม งามพร้อม ตาเป็นประกาย เสียงและวาจาอ่อนหวานไพเราะ งามผุดผ่อง
19. สิ่งอื่นๆ : รสเค็ม ต้นไม้ที่มีน้ำยาง ต้นยางพารา ผ้าไหมสีขาว ผ้าเนื้อบาง ดอกไม้ อาหารชั้นดี ขนม บุพเพสันนิวาส ผังเมือง พฤกษชาติ แม่พิมพ์ ปลาน้ำจืด เพชรที่เจียระไนแล้ว มณีรัตน์ เสื้อผ้าหญิง น้ำหอม กำไลข้อมือ พาหุรัดหรือที่รัดต้นแขน กระดิ่ง การเจริญเติบโตของพืช น้ำฝน สายสิญจ์
20. ประวัติการกำเนิด
         ประวัติการกำเนิดของพระจันทร์นั้นมีเรื่องราวที่แตกต่างกันดังนี้
         ในคัมภีร์สกันทะปุราณะ กล่าวว่าพระจันทร์ผุดขึ้นจากเกษียรสมุทรตอนกระทำพิธีกวนเกษียรสมุทร ซึ่งเป็นเพียงปุราณะเดียวที่อธิบายกำเนิดของพระจันทร์เช่นนี้ ส่วนในปุราณะอื่นได้อธิบายเรื่องราวการกำเนิดของพระจันทร์ไว้ดังนี้
         ในสมัยหนึ่ง มีพรามหณีผู้หนึ่งชื่อ เกาสิกี บิดาของนางได้ยกนางให้แต่งงานกับพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า เกาสิกะ แต่เกาสิกะปฏิเสธที่จะแต่งงานกับนางด้วยเพราะเกาสิกะชอบเที่ยวหอนางคณิกาโสเภณีและรักชีวิตอิสระปราศจากคู่ครอง แต่เกาสิกีก็ยืนยันที่จะแต่งงานอยู่รับใช้เกาสิกะ เกาสิกะจึงยอมแต่งงานกับนาง เมื่อแต่งงานแล้วด้วยความรักของเกาสิกี นางก็ดูแลและเทิดทูนสามีราวกับเป็นเทพองค์หนึ่ง แต่เกาสิกะก็ไม่เลิกนิสัยเจ้าชู้ ซ้ำร้ายยังระบายอารมณ์โกรธใส่และเยาะเย้ยถากถางนางเกาสิกีบ่อยครั้ง แต่ด้วยความรักและความบริสุทธิ์ใจของนางเกาสิกี นางก็ยังคงภักดีต่อสามีของนางไม่เสื่อมคลาย และแม้ว่าเกาสิกะจะแต่งงานกับนางแล้ว เกาสิกะก็ยังชอบไปเที่ยวหอนางคณิกาและโสเภณีบ่อยครั้งแม้นว่าตนเองจะเป็นพราหมณ์ที่ควรจะถือศีลและมีภรรยาอยู่แล้วก็ตาม
         ด้วยความร้ายกาจของเกาสิกะนี้เอง เทพเจ้าจึงบันดาลโรคเรื้อนให้ผุดขึ้นตามร่างกายของเกาสิกะทั่วไปหมด เกาสิกะหลังจากเป็นโรคเรื้อน หอนางคณิกาโสเภณีก็ไม่รับเกาสิกะเข้าไปเที่ยวอีกต่อไป และไล่เกาสิกะให้กลับบ้านไปอยู่กับภรรยา เกาสิกะเป็นโรคเรื้อนจนร่างกายอ่อนแอ แม้กระนั้นเองเกาสิกะก็ยังไม่หยุดความร้ายกาจของตน กลับสั่งนางเกาสิกีผู้เป็นภรรยา ให้พาตนไปเที่ยวหอนางคณิกาโสเภณี โดยจะขี่คอนางเกาสิกีไป ด้วยความรักของนางเกาสิกีนางก็ยอมทำตามคำสั่งของสามี นางเก็บเงินที่มีในบ้าน พาสามีขึ้นขี่คอ เดินทางไปในตอนกลางคืน
         ระหว่างทางต้องผ่านป่าทึบ ที่ซึ่งมีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อมานทวายะ ถูกจับผูกกับต้นไม้ห้อยประจานความผิดไว้ ในความมืดนั้นเองนางเกาสิกีมองเห็นอะไรได้ไม่ชัดนัก จึงทำให้เกาสิกะที่ขี่บ่าอยู่นั้น ไปชนกับตัวของมานทวายะ และมานทวายะก็ได้สาปว่า ผู้ที่มาแตะต้องตัวของตน ขอให้จบชีวิตในเช้าวันรุ่งขึ้นนั้นเอง นางเกาสิกีได้ยินดังนั้นก็เหมือนฟ้าผ่าลงกลางหัวใจ นางกลัวสามีจะต้องจบชีวิตลง และโกรธมานทวายะที่บังอาจสาปสามีตน นางจึงใช้ความดีที่นางสะสมมาทั้งหมด อธิษฐานต่อไปว่า ขอพระอาทิตย์จงอย่าขึ้นมาอีกเลย ด้วยเหตุนี้ ในเช้าวันนั้นพระอาทิตย์ก็มิขึ้นมาเหมือนเคย ทำให้โลกสวรรค์และโลกมนุษย์ปั่นป่วนเป็นอันมาก ด้วยต้องตกอยู่ในความมืดมิด เทพต่าง ๆ ก็มีความกังวลว่า หากโลกทั้งหมดนั้นต้องตกอยู่ในความมืด จักรวาลอาจจะถูกทำลาย ต่อไปนี้จะไม่รู้วันและเวลา เทพทั้งหลายจึงชักชวนกันไปหาพระพรหม พระพรหมทรงตรัสชี้แนะว่าให้ไปขอความช่วยเหลือจากนางอนสุยา
         นางอนสุยาเป็นภริยาของมหาฤๅษีอตริ มหาฤๅษีอตริเป็นหนึ่งในมหาฤๅษีทั้ง ๗ ที่พระพรหมสร้างขึ้นมาเพื่อชำระคัมภีร์พระเวทย์ เมื่อเหล่าเทพมาเยือนนางถึงกระท่อมและขอให้นางช่วยเหลือ นางจึงเดินทางไปหานางเกาสิกี เมื่อนางมาถึงที่กระท่อมของนางเกาสิกีแล้วจึงแจ้งความจำนง ขอให้นางเกาสิกียกเลิกคำอธิษฐานและปล่อยให้พระอาทิตย์ขึ้นมาเหมือนเดิม นางเกาสิกีไม่ยอม เพราะหากนางปล่อยให้พระอาทิตย์ขึ้น สามีของนางก็จะต้องตาย นางอนสุยาจึงสัญญาว่า หากพระอาทิตย์ขึ้นแล้วนางจะชุบชีวิตสามีของนางให้ฟื้นคืนดังเดิม ด้วยเหตุนี้นางเกาสิกีจึงยอมยกเลิกคำอธิษฐานนั้นและปล่อยให้พระอาทิตย์ขึ้นมาดังเดิม
         เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นพ้นขอบฟ้า พราหมณ์เกาสิกะก็ถึงแก่ความตาย นางอนสุยาจึงชุบชีวิตเกาสิกะให้ฟื้นคืนดังเดิมพร้อมทั้งรักษาโรคเรื้อนให้หายกลายเป็นชายหนุ่มรูปงามดังเดิม เกาสิกะจึงประจักษ์แจ้งในความรักของนางเกาสิกีและสัญญาจะดูแลนางในฐานะสามีที่ดีตลอดไป
         เทพทั้งหลายเมื่อรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ จึงพากันสรรเสริญนางอนสุยา พระพรหมบิดาจึงถามถึงความปรารถนาของนาง นางอนสุยาจึงขอพรจากพระพรหมเทพบิดาว่า อยากจะให้พระพรหมเทพ พระนายรายณ์ และพระศิวะ มาประสูติในครรภ์เป็นลูกของตน พระนารายณ์จึงแบ่งภาคมาจุติในครรภ์ของนางเป็น ทัตตะเตรยะ หรือพระตรีมูลติ พระพรหมแบ่งภาคมาจุติเป็นพระจันทร์ และพระศิวะแบ่งภาคมาจุติเป็น มหาฤๅษีทุรวาสะ
         เทวลักษณะของพระจันทร์เป็นหนุ่มรูปงามมีสี่กร ถือหม้อน้ำ ๑ ดอกบัว ๑ คฑา ๑ ประทานพร ๑ รถม้าของพระจันทร์มีม้าเทียม 10 ตัว สัตว์พาหนะของพระจันทร์คือกวาง ส่วนในทางไทยพระจันทร์จะถือพระขรรค์ และสัตว์พาหนะของพระจันทร์คือม้า

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระอาทิตย์


พระอาทิตย์ (Surya or Aditiya)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีเมษ 0º - 10º เป็นมูลตรีโกณ ราศีสิงห์ 0º – 20º เป็นเกษตร ราศีสิงห์ 21º - 30º
* บรมอุจจ์ ราศีเมษ 10º
* หลังจากองศาอุจจ์ คือ 11º – 30º ของราศีเมษ มีกำลังเทียบเท่ามูลตรีโกณ
* บรมเกษตร ราศีสิงห์ 7º
2. ทิศ : เจ้าการทิศบูรพา (Purva Dikpala)
** พระอินทราเทพเป็นผู้ดูแลทิศบูรพา มีวชิระ คือสายฟ้า เป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลาเที่ยงวัน
4. ภพ : ทิคะพละศักดิ์ มีกำลังเมื่ออยู่ในภพกัมมะ
5. วรรณะ : วรรณกษัตริย์ (Kshatriya varna) นักรบ ขุนนาง เจ้าพระยา
6. ธาตุ : อัคนีธาตุ (Agni Tattva)
7. ฤดู : กรีศมะฤดู (Greeshma ritu) ฤดูร้อน มิถุนายน – กรกฎาคม
8. สี : สีแดง หรือ สีเลือด
9. อัญมณี : ทับทิม (Ruby) ทดแทนโดย พลอยแดง (Red spinel) สตาร์รูบี้ (Star Ruby) โกเมนสีแดง (Pyrope Garnet) เพทายสีแดง (Red Zircon) หรือ ทัวร์มาลีนสีแดง (Red Tourmaline) ประดับบนแหวนทองคำผสมทองแดง โดยทับทิมนั้นต้องมีน้ำหนักมากกว่า 2.5 กะรัตขึ้นไป ซื้อหรือบรรจุใส่แหวนในวันอาทิตย์ จันทร์ หรือพฤหัสบดี สวมนิ้วนางข้างขวา และสวมครั้งแรกควรเป็นตอนเช้าตรู่ ในวันอาทิตย์ ดีถีเพ็ญ
**ห้ามใส่กับอัญมณีที่เป็นตัวแทนของดาวคู่ศัตรูโดยเด็ดขาด
**การดูแลรักษาอัญมณีทั่วไป ให้แช่ไว้ในน้ำนมที่ยังไม่ผ่านการต้ม (Unboiled Milk) หรือน้ำจากแม่น้ำคงคา (Ganges Water)
10. ตัวอักษร : สระทั้งหมด อะ อา อิ อี อุ อู อึ อือ เอ แอ ไอ ใอ เอา ฤ ฦ
11. เทพผู้รักษา : พระอัคนีเทพแห่งไฟ (Agni) ** พระศิวะ (Shiva)
12. เพศ : กรูระ (Kroora) เพศชาย
13. อวัยวะ : ศีรษะ กระดูก เลือด สมอง น้ำดี และระบบการย่อยอาหาร ตาขวาของชาย ตาซ้ายของหญิง
14. โรค :  ระบบสายตา ปวดศีรษะ ไมเกรน ระบบเลือด ความดันเลือด ไข้ตัวร้อน โรคหัวใจ โรคฟัน มะเร็งในกระดูก กระดูกหัก หัวล้าน ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
15. นิสัย : สัตวะคุณะ (Sattva Guna) อำนาจ ความดีงาม เกียรติยศ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรี รุ่มร้อน ผู้นำ เชาว์ปัญญา อารมณ์ร้อน บารมี สง่างาม การเอาชนะ กล้าได้กล้าเสีย ใจร้อนใจเร็ว ความก้าวหน้า
16. บุคคล : บิดา สามี ญาติมิตรถ้าเจ้าชะตาเกิดกลางคืน พระราชา เจ้านาย นายกรัฐมนตรี องคมนตรี
17. สถานที่ : สถานที่ตั้งพระบูชาในบ้าน ห้องพระ สถานที่ราชการ พระราชวัง เทวาลัย โบสถ์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่สำคัญของประเทศ
18. รูปร่าง : อกผายไหล่ผึ่งมีสง่าน่าเกรงขาม สมส่วน นัยน์ตาแจ่มใส เส้นขนสั้นและละเอียดดกดำ
19. สิ่งอื่นๆ : รสเผ็ด ต้นไม้สูงใหญ่และเป็นไม้เนื้อแข็ง ผ้าไหมสีแดง ผ้าเนื้อหนา แสงสว่าง หลอดไฟ เตาไฟ เครื่องนุ่งห่มสวยงามและมีราคาแพง แร่ทองแดง แร่ทองคำ เรือบิน รังสี ไฟฟ้า พลังงาน ท้องฟ้า
20. ประวัติการกำเนิด
ย้อนไปตอนกำเนิดโลก พระพรหมได้สร้างโลกขึ้นมา พร้อมกับคณะเทพคณะหนึ่ง ประกอบด้วย พระอัคนีเทพแห่งไฟ พระวายุเทพแห่งลม พระวรุณเทพแห่งสายฝน พระอินทรา พระสุริยะเทพแห่งอรุณ พระวิษณุกรรมเทพแห่งการช่าง พระภูษาเทพแห่งการประชุม พระมิตรเทพแห่งท้องทะเล ดังนั้น พระสุริยะ คือคณะเทพชุดแรกที่เกิดจากการสร้างของพระพรหม
เหตุกำเนิดชื่อ “อาทิตย์” ในการสร้างโลกครั้งนั้นเอง พระพรหมได้ทำการสร้างมนุษย์ เทพ และมารขึ้นมา แบ่งจักรวาลออกเป็นหลายภูมิหลายโลก ในตอนแรกมีเพียงสวรรค์โลก และบาดาลเท่านั้น เพื่อให้เป็นที่อยู่ของเทพเจ้าและมาร และได้ทำการสร้างมหาฤๅษีขึ้นมา ๗ ตน เพื่อทำการชำระพระเวทย์ หนึ่งในนั้นคือ มหาฤๅษีกัสยปะประชาบดี อันมหาฤๅษีกัสยปะนี้มีภรรยาถึง ๑๓ คน ในบรรดาภรรยาทั้ง ๑๓ คนนี้ มีอยู่ ๒ คนที่สำคัญ คือพระนางอทิติ และพระนางทิติ พระนางทิตินั้น ได้ให้กำเนิดมาร ๒ ตน คือ หิรัญยักษิปุ และหิรัญยักษะ ส่วนพระนางอทิติและพระนางคนอื่นได้ให้กำเนิดเทพบนสวรรค์ เวลาผ่านมาจนมารมีกำลังมากขึ้นและจำนวนมากขึ้นเหล่ามารจึงกรีธาทัพขึ้นมายึดสวรรค์โลก การรบดำเนินไปจนสุดท้ายแล้วฝ่ายมารเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ครั้งนั้นเองพระนางอทิติมองไปยังพระสุริยะซึ่งรถม้าของพระองค์กำลังโคจรผ่านท้องฟ้า นางอทิติได้ขอความเมตตาจากพระสุริยะ อันเชิญพระสุริยะมาเกิดในครรภ์ของพระนาง เพื่อจะได้กำเนิดออกมาเป็นบุตรของนาง มีสิทธิจะไปทวงสวรรค์โลกของบรรดาพี่ ๆในฐานะน้องชาย คืนจากพวกมาร
พระสุริยะเห็นชอบด้วย จึงเสด็จลงมาประสูติในครรภ์ของพระนางอทิติ พระสุริยะจึงได้ชื่อว่า พระอาทิติยา หรือ พระอาทิตย์นับแต่นั้นเป็นต้นมา
พระอาทิตย์นั้นมีเทวลักษณ์เป็นชายหนุ่มรูปงาม มีสี่กร ถือจักร์ ๑ สังข์ ๑ ดอกบัว ๑ อีกถือหนึ่งประทานพร ด้วยความเชื่อว่า พระสุริยะเทพคือร่างอีกร่างหนึ่งของพระนารายณ์ แต่ในบางรูปลักษณ์มีเพียงสองกรเท่านั้น และถือดอกบัวทั้ง ๒ กร นั่งอยู่บนรถม้าทองคำกว้างยาวเก้าพันโยชน์ เทียมด้วยม้า ๗ ตัว สัตว์พาหนะของพระสุริยะ คือ ม้า ซึ่งแตกต่างจากทางไทยที่สัตว์พาหนะของพระอาทิตย์คือ สิงห์

วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีกุมภ์ และมีน





ราศีกุมภ์ (Kumbha)
กุมภะ – หม้อน้ำ, โตยะธะระ – สระน้ำ, ฆะฏะ – โอ่งน้ำ
1. ควบคุมอวัยวะ – ขา, กระดูก, ประสาท
    โรคกระดูก, โรคปลายประสาท, โรคฟัน
2. เจ้าการแห่งประจิมทิศ
3. ประเภทสถิระราศี
4. ศิระโศทายะราศี
5. ราศีกรูระ
6. ราศีวรรณะ ศูรท กรรมกร
7. ราศีวาโยธาตุ
8. ราศีประเภทนระ 
9. ราศีหรัสวะ เตี้ย แคระ
10. ราศีสีพรภรุ สีน้ำตาลเข้ม สีทองแดง เทาเข้ม
11. ราศีแห่งสถานอโคจร โรงเหล้า บ่อน ชุมชนที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์
12. ราศีแห่งพระครุฑ
13.. ราศี ตมัสสะคุณะ เป็นกลาง ไม่เคร่งศีลธรรม และไม่มัวเมาจนเกินเหตุ
    นิสัยเงียบๆ อ่านนิสัยไม่ค่อยออก ไม่ชอบแสดงออก ไม่ชอบเล่าเรื่องของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้ คบคนได้ทุกคนและเข้ากันได้กับทุกคน ไม่ถือตัว มีความคิดแปลก ๆ ไม่เหมือนใคร บางทีอัจฉริยะ บางครั้งออกแนวเพี้ยน เป็นนักคิด นักประดิษฐ์ นักปรับปรุงพลิกแพลง นักวางแผน ทำงานเก่ง ประสานงานได้ดี เพราะชอบวางแผนการดำเนินงานให้พร้อมก่อนเสมอ กลัวการเสียหน้า กลัวความผิดพลาด มีความพยายามและมีความบากบั่นอดทนเฉพาะเรื่องที่ตนเองชอบเท่านั้น ชอบใช้เหตุผลและตรรกศาสตร์มาใช้ติดสินเรื่องต่างๆ ช่างคิดหาเหตุผลและคำตอบ เจ้าระเบียบ เคร่งธรรมเนียม หัวโบราณ ขี้กังวล ชอบคิดมาก รักษาภาพลักษณ์ของตนเอง

ราศีมีน (Meena)
มีนะ – มีน – มัตสยา – มัตสยะ – ปฤถุโรมะ – ณะษะ - ปลา, อันตยะ – ราศีสุดท้าย
1. ควบคุมอวัยวะ – เท้า,นิ้วเท้า,ส้นเท้า
    วัณโรค,โรคผอมแห้ง, การหมุนเวียนโลหิต, อวัยวะเกี่ยวกับกระดูกข้อเท้า, โรคเยื่ออ่อนอักเสบ
2. เจ้าการแห่งอุดรทิศ
3. ประเภทอุภะยะราศี
4. ศิระปฤษโตทายะราศี หรือ อุภะโยทายะราศี มีกำลังทั้งกลางวันกลางคืน
5. ราศีเสามะยะ
6. ราศีวรรณะ พรามหณ์
7. ราศีอาโปธาตุ
8. ราศีประเภทชลจร 
9. ราศีหรัสวะ ไม่เล็กไม่ใหญ่ รูปร่างเหมือนปลา ช่วงบนใหญ่ แต่ช่วงล่างเรียวเล็ก
10. ราศีสีเกล็ดปลา สีขาวใส สีคริสตัล
11. ราศีแห่งทะเล ชายหาด
12. ราศีแห่งพระคงคาเทวี
13.. ราศี สัตวะคุณะ สูงส่งทางอารมณ์ สูงส่งทางศีลธรรม
    เฉื่อยชา ใจเย็น ไม่โลดโผน ช่างคิดช่างตรอง ทำงานเป็นระเบียบดีแต่ช้า ไม่ทะเยอทะยาน ชอบสบาย เข้าถึงยาก ไม่ชอบความวุ่นวาย ชอบเก็บตัว ชอบหลีกหนีสังคม มีโลกส่วนตัวสูง มีความคิดเป็นของตนเองที่คนอื่นยากจะเข้าใจ ไม่ชอบเปิดเผยความคิดหรือความรู้สึกของตนเอง กลัวคนอื่นจะรับรู้ความคิดหรือความรู้สึกตนเอง กิริยาท่าทางดูนุ่มนิ่มบอบบาง อ่อนน้อม แต่อาจจะกระทำสิ่งที่ตรงกันข้ามได้เหมือนกัน ช่างฝัน มีอารมณ์ศิลปิน ภายนอกดูเข้มแข็งแต่ภายในอ่อนไหวง่าย มีไหวพริบปฏิภาณสูง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่งมาก มักจะรักและเห็นใจผู้อื่นเสมอ เสียสละ มีความอดทน มีความกล้าที่จะเผชิญปัญหา และมีความนิ่งเมื่อเผชิญปัญหา

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีธนู และมังกร

ราศีธนู (Dhanu)
ธะนุส์ – คันธนู, จาปะ – คันศร, ศะราสะนะ – การยิงธนู
1. ควบคุมอวัยวะ – ตะโพก, ก้นกบ, ต้นขา, ข้อกระดูก
    โรคปวดตามข้อ, โรคอัมพาต
2. เจ้าการแห่งบูรพาทิศ
3. ประเภทอุภะยะราศี
4. ปฤษโตทายะราศี
5. ราศีกรูระ
6. ราศีวรรณะ กษัตริย์
7. ราศีเตโชธาตุ
8. ราศีประเภทนระ ตั้งแต่ ๐ – ๑๕ องศา และปศุตั้งแต่ ๑๖ – ๓๐ องศา
9. ราศีสมะ ๐ – ๑๕ องศา รูปร่างสูงโปร่ง สมส่วน ๑๖ – ๓๐ องศา หรัสวะ รูปร่างใหญ่ ล่ำสัน * สราวลีกล่าวว่า ราศีธนู เป็น สมะราศีทั้ง ๓๐ องศา
10. ราศีสีปิงคละ สีเหลือง น้ำตาลแดง น้ำตาลเข้ม น้ำตาลเหลือง หรือสีทองสุกใส
11. ราศีแห่งสมรภูมิรบ ค่ายทหารที่มีศาตราวุธและช้างม้า สนามขี่ม้า สนามกีฬา สนามประลองความเร็ว ถนน เส้นทางคมนาคม หน้าผาสูง ยอดไม้ ที่สูง
12. ราศีแห่งพระอินทราเทพ
13.. ราศี สัตวะคุณะ สูงส่งทางอารมณ์ สูงส่งทางศีลธรรม
    มีเมตตากรุณา ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ชอบเป็นธุระงานให้ผู้อื่น เจ้ากี้เจ้าการในงานผู้อื่น ชอบชี้แนะ ชอบชักนำผู้คนมาเจอกัน สนุกกับการสนทนา สนใจศาสนา การศึกษา โคลง กลอน ฉันท์ กาพย์ และวรรณคดี ชอบศึกษาเรื่องที่เป็นปรัชญาและศีลธรรม เคร่งครัดในศีลธรรม ให้คำแนะนำปรึกษาผู้อื่นได้ดี เกลียดความชั่วและความเลว มักเลือกคบคน อ่อนน้อมกับผู้ที่ตนเห็นว่าควรนับถือเท่านั้น ชอบคบหากับคนที่มีเหตุผลและเป็นผู้มีภูมิความรู้เท่านั้น มีความเข้าใจในหลักธรรม มีความเข้าใจในเรื่องบุญกรรม และมีความเข้าใจในเรื่องความสมดุลของธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของทางอภิปรัชญาได้เป็นอย่างดี

ราศีมกร (Makara)
มฤคะ – มฤคาสัย – หัวเป็นกวางหรือเนื้อ, มะกะระ – มังกร – สัตว์ทะเล, นะกระ – จระเข้
1. ควบคุมอวัยวะ – ต้นขา, หัวเข่า, ผิวหนัง, หนังกำพร้า
    โรคเนื้อหนังพิการ, โรคเรื้อน, โรคผิวหนัง,
2. เจ้าการแห่งทักษิณทิศ
3. ประเภทจรราศี
4. ปฤษโตทายะราศี
5. ราศีเสามะยะ
6. ราศีวรรณะ ไวศยะ
7. ราศีปฐวีธาตุ
8. ราศีประเภทปศุ ตั้งแต่ ๐ – ๑๕ องศา และเป็นชะลาจร ตั้งแต่ ๑๖ – ๓๐
9. ราศีสมะ ปานกลาง รูปร่างล่ำใหญ่แข็งแรง กระดูกใหญ่ แต่ผอมสมส่วน
10. ราศีสีกรพุระ สีเทาอ่อน ด่าง ลายจุด เหลืองอ่อน
11. ราศีแห่งพื้นที่น้ำ ป่าชายเลน หรือสถานที่มีน้ำขัง
12. ราศีแห่งพระศิวะเทพ
13.. ราศี ตมัสสะคุณะ เป็นกลาง ไม่เคร่งศีลธรรม และไม่มัวเมาจนเกินเหตุ
    เงียบขรึม ไม่ชอบคุย เก็บตัวใช้ความคิดของตนเองอย่างเงียบ ๆ คนเดียว ไม่ชอบเข้าสังคมและมักจะมีเพื่อนสนิทไม่กี่คน ทำงานจริงจัง จริงจังกับชีวิต ทำงานเอาเป็นเอาตาย บากบั่นในการแก้ปัญหาและอุปสรรค เป็นนักวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนจนบางครั้งมากเกินไป เจ้าแห่งเหตุผล ใช้เหตุผลเหนือความรู้สึก ไม่ว่าจะรักใครจะเกลียดใครหรือจะทำอะไรต้องมีเหตุผลที่ดีประกอบเสมอ พูดความจริงไม่กลัวตาย พูดตรงไม่กลัวใคร ชอบออกกำลังกาย ชอบผจญภัย ชอบต่อสู้ เที่ยวกลางแจ้ง ชอบออกแดด ใจยุติธรรม ยอมรับความผิด เจ้าระเบียบ เคร่งธรรมเนียม หัวโบราณ ขี้กังวล ชอบคิดมาก จึงมักจะอมทุกข์ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบการบิดพริ้ว ชอบความมั่นคงแน่นอน เมื่อตัดสินใจแล้วจะไม่เปลี่ยนความตั้งใจ

วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีตุลย์ และพิจิก

ราศีตุลย์ (Tula)
ตุลา – ตุลย์ – ตราชูตราชั่ง, ธะตะ – เครื่องชั่งน้ำหนัก, เตาลี – ช่างเขียน, วะนิก์ – ผู้ขอร้อง
1. ควบคุมอวัยวะ – รังไข่, ไต, กระเพาะปัสสาวะ, ต่อมลูกหมาก, ท่อปัสสาวะ, ท่อน้ำอสุจิ, อัณฑะ, องคชาติชาย
    โรคไตอักเสบ, ปวดกระเบนเหน็บ, นิ่วในไต, โรคต่อมลูกหมาก
2. เจ้าการแห่งประจิมทิศ
3. ประเภทจรราศี
4. ศิระโศทายะราศี
5. ราศีกรูระ
6. ราศีวรรณะ ศูรท ข้าราชการทั่วไป
7. ราศีวาโยธาตุ
8. ราศีประเภทนระ
9. ราศีทีรฆะ ยาว สูงโปร่ง ยาว หรืออาจจะตัวโตโครงใหญ่สักหน่อย
10. ราศีสีนิละ สีน้ำเงินเข้ม กรมท่า สีดำ
11. ราศีแห่งตลาดร้านค้า ย่านการค้า เมืองหลวง เมืองท่า เมืองเศรษฐกิจ
12. ราศีแห่งพระสุรัสวดีเทวี
13.. ราศี รชัสสะคุณะ กิเลสและตัณหา เจ้าชู้ ชอบการร่วมเพศ
    ร่าเริง รักสนุก ชอบอยู่กับหมู่คณะ ชอบเข้าสังคม ตลกขบขันและมีเสน่ห์ เบิกบาน เจ้าสำราญ ชอบเสาะแสวงหาสีสันให้กับชีวิต ตามเพื่อนหรือคนรักง่าย ชอบสร้างความสมดุลระหว่างความสุขของตนเองกับความสุขของเพื่อนหรือคนรัก แคร์ความรู้สึกผู้อื่นเสมอ ไม่ชอบการแตกแยก ไม่ชอบการด่าทอหรือการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ชอบการโต้เถียงหรือโวยวายใส่กัน ไม่ชอบใช้กำลัง ชอบที่จะเจรจาหาจุดตรงกลาง สุภาพเรียบร้อยและอ่อนน้อม มักจะทำอะไรโดยคิดถึงผลได้ผลเสียหรือความคุ้มค่าเป็นหลัก ไม่ชอบการคดโกงที่ตนเองเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ยึดหลักความถูกต้องยุติธรรมเพื่อรักษาประโยชน์ของตนและหรือพวกพ้อง บางครั้งกลายเป็นคนจริงจัง ดุดัน และเคร่งเครียด มีโลกส่วนตัวที่ยากจะเข้าถึงในบางเวลา ทำอะไรมักละเอียดรอบคอบ มีเล่ห์เหลี่ยม มีแผนการณ์ ไม่บุ่มบ่ามผลีผลามและไม่ชอบเสี่ยงมากเกินไปนัก 

ราศีพิจิก (Vrishchika)
วฤศจิกะ – พิจิก – แมงป่อง, กีฏะ – เการปิ – อะลิ – แมลง
1. ควบคุมอวัยวะ – ลูกอัณฑะ, เครื่องเพศหญิง, ทวารหนัก
    โรคริดสีดวงทวาร, โรคในเครื่องเพศหญิง, โรควิปริตทางอารมณ์เพศ
2. เจ้าการแห่งอุดรทิศ
3. ประเภทสถิระราศี
4. ปฤษโตทายะราศี มีกำลังในเวลากลางคืน และใกล้พลบค่ำ หรือช่วงเวลาที่แสงทองจับขอบฟ้า
5. ราศีเสามะยะ
6. ราศีวรรณะ พราหมณ์
7. ราศีอาโปธาตุ
8. ราศีประเภทกีฏะ มีกำลังในภพ ๗
9. ราศีทีรฆะ ท้วมใหญ่ ก้นกว้าง ท้องใหญ่ มีพุง หากเป็นบุรุษมีขนมากในที่ต่างๆ ความต้องการทางเพศสูง หากเป็นสตรี เครื่องเพศใหญ่ โหนกนูนพิเศษ ไม่มีขนในที่ลับ
10. ราศีสีกาญจนะ สีทองแดง ทองคำสนิม สีทองคำ
11. ราศีแห่งรูโพรง ที่มืดเย็น ใต้ดิน
12. ราศีแห่งพระยมเทพ
13.. ราศี สัตวะคุณะ สูงส่งทางอารมณ์ สูงส่งทางศีลธรรม
    ชอบเก็บตัวเพราะมักจะเข้ากับใครไม่ติด ชอบอยู่คนเดียว ชอบอยู่เบื้องหลัง ขี้สงสัย ขี้ระแวง ชอบกังวล คิดมาก ใจเย็น ไม่ค่อยไว้ใจใคร มองคนและโลกในแง่ร้าย  อยากรู้อยากเห็น สงสัยเรื่องใดต้องหาคำตอบให้ได้ เก่งทางด้านค้นคว้าหาคำตอบในทุกเรื่อง ให้คำปรึกษาได้ดีที่สุดในสิ่งที่รู้หรือศึกษามาก่อนเท่านั้น หากไม่มีความรู้ในเรื่องใดอย่างแท้จริงจะไม่พูดในเรื่องนั้น เก่งทางด้านการวิจารณ์และการเสนอมุมมองอย่างลึกซึ้ง คมคาย และเฉียบแหลม มักมีแนวความคิดแปลก ๆ พยายามจะฝืนโลก จะเปิดเผยความคิด ความรู้สึก และอุทิศตนให้กับคนที่ตนไว้ใจเท่านั้น เมื่อรักใครจะรักจริง รักแบบปกป้อง แต่ถ้าเกลียดใครจะเกลียดลึก ฝังจำ บางครั้งก็จะเป็นคนเปิดเผยจนเกินไป ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดได้ง่าย ต้องการกำลังใจจากคนรอบข้างอย่างมาก เวลาเข้าสังคมมักจะพลาดทำอะไรไม่เข้าท่าเข้าทาง หรือชอบทำอะไรบ้าๆบอๆเวลาเข้าสังคม ทำให้คนอื่นมองไม่ดี เวลาหวังอะไรจะหวังมากเพราะคิดว่าศึกษามาดีแล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีสิงห์ และกันย์





ราศีสิงห์ (Simha)
กัณฐระวะ – เกษาริน – สิมหะ – เลยะ – สิงโต, มฟเคนทระ – สัตว์มีแผงคอ
1. ควบคุมอวัยวะ – กระเพาะ, ท้อง, หลัง
    การย่อยผิดปกติ, โรคขาดธาตุอ่อน, เบาหวาน, อัมพาต, ง่อย, อ่อนเพลีย, กระดูกสันหลัง
2. เจ้าการแห่งบูรพาทิศ
3. ประเภทสถิระราศี
4. ศิระโศทายะราศี
5. ราศีกรูระ เพศชาย
6. ราศีวรรณะ กษัตริย์
7. ราศีเตโชธาตุ
8. ราศีประเภทปศุ
9. ราศีทีรฆะ ยาว หน้าอกใหญ่ อกผาย ขาใหญ่ แต่สูงสมส่วน
10. ราศีสีปานฑุ สีนวล สีเหลืองอ่อน สีหมอก สีเทาอ่อน
11. ราศีแห่งป่าดงดิบ ป่าไม้ ถ้ำ เทือกเขา ภูเขา
12. ราศีแห่งพระพรหมเทพ
13.. ราศี สัตวะคุณะ สูงส่งทางอารมณ์ สูงส่งทางศีลธรรม
    จองหอง ทรนง มีมาดผู้นำ มักแต่งตัวให้ดูภูมิฐานน่าเคารพเชื่อถือเสมอ ต้องดูดีในสายตาผู้อื่น ชอบวางมาดเพื่อให้ผู้อื่นยำเกรงและเกรงใจ ไว้ตัว จุกจิกกับลูกน้องหรือคนใช้ ชอบที่จะเป็นผู้นำ มีมนุษย์สัมพันธ์ดี เข้ากับคนได้ง่าย แต่มักจะชอบคบกับคนที่อยู่ในระดับฐานะหรือความรู้เดียวกันเท่านั้น หรือชอบคบกับบุคคลที่รู้ใจตนและไม่ค่อยค้านความคิดของตนมากนัก ชอบเข้าสังคมชั้นสูง ชอบพบปะผู้คนหลากหลายเพื่อสร้างอำนาจทางสังคม พูดจาชัดเจนและชอบตลกขบขัน มีเสน่ห์กับคนรอบข้าง มีความมั่นใจในตนเองสูง เปิดเผยและกล้าแสดงออก มีท่าทางที่คนรอบข้างจะต้องเกรงใจ ทิฐิมานะแรงกล้า จริงใจกับเพื่อนและมิตรสหาย แต่หากถูกทำร้าย มักจะตอบโต้ทันที แต่ก็จะให้อภัย ไม่ตัดสัมพันธ์ใครง่ายๆ หรือจะไม่ทำร้ายใครรุนแรง รักหน้าตาและศักดิ์ศรีมาก เกลียดความพ่ายแพ้ ความอับอาย การถูกตำหนิติเตียน และการสบประมาท เวลาทำงานอันใด งานนั้นจะต้องสมบูรณ์แบบที่สุด

ราศีกันย์ (Kanya)
กันยะ – ดรุณี – หญิงสาวแรกรุ่น, ระมะณี – สตรีที่งามพร้อม
1. ควบคุมอวัยวะ – ท้องน้อย, มดลูก, ช่องคลอดหญิง
    โรคท้องผูก, กามโรค, โรคปลดเปลื้องความใคร่ด้วยตัวเอง, โรคลำไส้เล็ก
2. เจ้าการแห่งทักษิณทิศ
3. ประเภททอุภะยะราศี
4. ศิระโศทายะราศี
5. ราศีเสามะยะ
6. ราศีวรรณะ ไวศยะ
7. ราศีปฐวีธาตุ
8. ราศีประเภทนระ
9. ราศีทีรฆะ ยาว รูปร่างตามบิดา
10. ราศีสีจิตระ สีเหลือบ หรือสีลายสลับหลากหลายสี
11. ราศีแห่งห้องนอนของสตรี เมืองหลวง กลางเมืองที่มีความสวยงามและแสงสี
12. ราศีแห่งพระลักษมีเทวี
13.. ราศี ตมัสสะคุณะ เป็นกลาง ไม่เคร่งศีลธรรม และไม่มัวเมาจนเกินเหตุ
    อ่อนหวาน ขี้อาย ถ่อมตัว ปากหวาน รู้จักพูด มีคารมคมคาย สุภาพ อ่อนโยน น่ารัก เข้าสังคมง่าย ไม่ถือตัว เข้ากับคนอื่นได้ดี วางตัวในสังคมดี มีอัธยาศัยไมตรี มักเกลียดการกระทำที่ไร้มารยาท ฉลาดปราดเปรื่อง ชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทำงานคล่องแคล่ว งานที่ทำจะต้องออกมาสวยงามและสมบูรณ์แบบตรงกับที่ใจต้องการมากที่สุด จริงจังและมุ่งมั่นกับการงานเพราะต้องการให้งานออกมาดีที่สุด ชอบทันสมัยอยู่เสมอ ชอบใช้จ่ายหมดเปลืองและฟุ่มเฟือยไปกับการรับประทาน การใช้ชีวิต และการแต่งตัวตามสมัยนิยม รักความสวยงาม ชอบเรื่องศิลปะและความคลาสสิค มีระดับและมีสไตล์ในการใช้ชีวิต นิยมความสุนทรียรมณ์ รักความสะอาด ชอบกลิ่นหอม ช่างเลือกและเรื่องมาก จุกจิกจู้จี้ พิถีพิถัน ละเอียดถี่ถ้วนในทุกเรื่อง ชอบวิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่ง ชอบเพ้อฝัน ชอบเรื่องความรักและความใคร่ ชอบความโรแมนติก จิตใจภายในมักจะอ่อนไหวและท้อแท้ง่าย แต่ภายนอกจะดูเข้มแข็ง และชอบนินทาจนเกินเหตุ โดยไม่ดูกาละเทศะ

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีเมถุน และกรกฎ

ราศีเมถุน (Mithuna)
เมถุน – ชายถือกระบอง ผู้หญิงถือพิณ, ทวาทวะ – มะยะ – คู่แฝด, นฟยุคคะมะ – นำหน้าผู้อื่น, ชุตุมะมะ – เมถุนะ – การร่วมเพศ การร่วมสังวาส
1. ควบคุมอวัยวะ – บ่า, ไหล่, แขน, ปอด, หลอดเลือดด้านบนหัวใจ
โรคผอมแห้ง, ปอดบวม, หอบหืด, หลอดลม, เส้นเลือดหัวใจตีบ
2. เจ้าการแห่งประจิมทิศ มีกำลังเมื่อเป็นภพปัตนิ
3. ประเภทอุภะยะราศี ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลง
4. ปฤษโตทายะราศี หันสันหลังขึ้นท้องฟ้า มีกำลังในเวลากลางคืน
5. ราศีกรูระ เพศชาย
6. ราศีวรรณะ ศูรท กสิกรรม กรรมกร
7. ราศีวาโยธาตุ ธาตุลม
8. ราศีประเภทนระ สัตว์ ๒ เท้า มีกำลังในภพ ๑
9. ราศีสมะ ปานกลาง รูปร่างสมส่วน แบบมนุษย์รูปงาม
10. ราศีสีศุภะ สีเขียวใบไม้แก่ สีเขียวปีกแมลงทับ สีเขียวนกแก้ว
11. ราศีแห่งสวนพฤกษา ทุ่งดอกไม้ บ่อนการพนัน หอคณิกา ที่สำหรับร่วมรักหลับนอน
12. ราศีแห่งพระวิษณุเทพ หรือพระนารายณ์
13.. ราศี รชัสสะคุณะ กิเลสและตัณหา เจ้าชู้ ชอบการร่วมเพศ
พูดเก่ง วาทะศิลป์ดีมาก ปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศ เฉลียวฉลาด ความคิดรวดเร็ว ความจำดี เรียนรู้สิ่งใดได้รวดเร็ว ช่างสังเกต ชอบเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ ใฝ่หาความเจริญก้าวหน้า ไม่ชอบจมอยู่กับที่ คล่องแคล่ว ไม่ชอบการรอคอย เก่งเรื่องวางนโยบายหรือวางแผน แต่ไม่ชอบปฎิบัติเอง ไม่ค่อยน่าเชื่อถือเพราะมักจะลังเลในการตัดสินใจ และมักจะโลเลเปลี่ยนแปลงความคิดได้ตลอด เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ทำอะไรมักเผื่อทางรอดทางหนีให้ตนเองเสมอ อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีมาก แต่ไม่ชอบทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นระยะเวลานาน กระล่อน เจ้าเล่ห์ รู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง ชอบพูด ความความสุขกับการพูดคุย ชอบเข้าสังคม ชอบนินทา ไม่ชอบมีกฎเกณฑ์มากนัก ช่วยเหลือคนอื่นต่อเมื่อเห็นว่าเป็นผลดีกับตน

ราศีกรกฎ (Kataka)
กลีระ – กรกฎะ – ปู, กรกฎะกะ – น้ำเต้าหรือบวบ
1. ควบคุมอวัยวะ – หน้าอก, ถัน, หัวใจ, ตับ
โรคที่มากับน้ำ, จมน้ำ, ท้องมาน, โรคหัวใจ
2. เจ้าการแห่งอุดรทิศ มีกำลังเมื่อเป็นภพพันธุ
3. ประเภทจรราศี
4. ปฤษโตทายะราศี
5. ราศีเสามะยะ
6. ราศีวรรณะ พราหมณ์
7. ราศีอาโปธาตุ ธาตุน้ำ
8. ราศีประเภทอัมพุหรือชลจร สัตว์น้ำ มีกำลังในภพ ๔
9. ราศีสมะ ปานกลาง ดูอ้วนอวบ หรือท้วม แข็งแรง
10. ราศีสีปาฏะละ สีชมพู, สีกลีบกุหลาบอ่อน
11. ราศีแห่งแม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร บึง ทะเลสาบ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นน้ำที่มีทราย
12. ราศีแห่งพระปาระวะตี หรือพระอุมาเทวี
13.. ราศี สัตวะคุณะ สูงส่งทางอารมณ์ สูงส่งทางศีลธรรม
เรียบร้อย ขี้อาย เรียบง่าย ไม่รีบร้อน ไม่กระตือรือร้น รักสงบ ทำตัวนิ่งไว้ก่อนและจะไม่เป็นฝ่ายเริ่มก่อน สงวนท่าที ไม่ชอบจองเวรใดๆ ชอบมีชีวิตที่ไม่มีปัญหาและสุขสบาย ไม่ชอบปฏิบัติตามกฎ ไม่ชอบเครียด มีความเป็นแม่สูง ขี้สงสาร ชอบดูแลและปกป้องคนรอบข้าง มีศีลธรรม มีเมตตาสูง มีความเห็นอกเห็นใจชอบช่วยเหลือผู้อื่น ขี้กังวล เป็นห่วงคนรอบข้างเกินเหตุ ทำให้เจ้าระเบียบ ขาดเหตุผล และเข้มงวดกับคนรอบข้างเกินไป แต่สำหรับตนเองจะขอสบายไว้ก่อน และไม่ชอบถูกวิจารณ์ รับฟังคำเตือนจากผู้อื่น ชอบการกินและรักความบันเทิง รักความสวยงาม รักครอบครัว ชอบอยู่บ้านมากกว่า แต่จะชอบท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมกับครอบครัว เป็นพ่อบ้านแม่เรือนที่ดี รักประเพณี รักท้องถิ่นเกิด จิตใจอ่อนไหวและอ่อนแอง่าย ขี้งอน ต้องการความรักจากผู้อื่นตอบแทนบ้าง หงุดหงิดง่าย ชอบให้ยกยอ ชอบให้ชม แต่ถ้าพระ ๒ เป็นข้างแรมแก่ ใจจะเหลาะแหละ รับปากไปทั่วแต่ทำไม่ได้ และจิตใจจะอ่อนแอผิดปกติ