วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระพฤหัสบดี


พระพฤหัสบดี (Vrihaspati)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีกรกฎ 0º - 5º เป็นมูลตรีโกณ ราศีธนู 0º – 10º เป็นเกษตร ราศีธนู 11º - 30º และเป็นเกษตร ราศีมีน 0º - 30º
* บรมอุจจ์ ราศีกรกฎ 5º
* บรมเกษตร ราศีธนู 16º และราศีมีน 7º
* หลังจากองศาอุจจ์ คือ 6º – 30º ของราศีกรกฎ มีกำลังเทียบเท่ามูลตรีโกณ
2. ทิศ : เจ้าการทิศอีสาน (Isanya Dikpala)
** พระศิวะเทพเป็นผู้ดูแลทิศอีสาน (อิศวร) มีตรีศูลเป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลากลางวัน
4. ภพ : ทิคะพละศักดิ์ มีกำลังเมื่ออยู่ในภพตนุ
5. วรรณะ : พราหมณ์ (Brahmin Varna) นักบวช พระสงฆ์ ครู อาจารย์
6. ธาตุ : อากาศธาตุ (Akasa Tattva)
7. ฤดู : เหมันต์ฤดู (Hemanta ritu) ฤดูหนาว ธันวาคม – มกราคม
8. สี : สีน้ำตาลอ่อน หรือสีเหลือง
9. อัญมณี : บุษราคัม (Yellow Sapphire) ทดแทนโดย โทแพซสีเหลือง (Yellow Topaz) คอรันดัมสีเหลือง (Yellow Corundum) ทัวร์มาลีนสีเหลือง (Yellow Tourmaline) เพทายสีเหลือง (Yellow Zircon) หรือซิตริน (Citrine) ประดับกับแหวนทองในวันจันทร์หรือวันพฤหัสบดี โดยบุษราคัมต้องมีน้ำหนัก 6 11 หรือ 15 กะรัต สวมที่นิ้วนางข้างขวา ต้องสวมครั้งแรกตอนพระอาทิตย์ขึ้น ในวันพฤหัสบดี ดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : ด ต ถ ธ ท น
11. เทพผู้รักษา : พระอินทร์ (Indra) ** พระพรหม (Brahma)
12. เพศ : กรูระ (Kroora) เพศชาย
13. อวัยวะ : หู เพดานปาก คอ เส้นเลือดขั้วหัวใจ ต่อไร้ท่อ ตับ น้ำดี ตับอ่อน ถุงน้ำดี การดูดซึมอาหาร การย่อยอาหาร การเจริญเติบโตของร่างกาย ระบบการสลายไขมันในร่างกาย
14. โรค :  หูหนวก ไอ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เบาหวาน โรคหืด วัณโรค โรคตับอ่อน โรคม้ามโรคอ้วน ลิ่มเลือด เส้นเลือดอุดตัน โลหิตจาง เนื้องอก ดีซ่านและโรคอื่นๆของตับ
15. นิสัย : สัตวะคุณะ (Sattva Guna) ผ่องใสในอารมณ์ มีความคิดความอ่าน ทรงภูมิปัญญา น่านับถือ วางตัวดี ชอบศึกษา รอบรู้คงแก่เรียน มีความรู้ อัจฉริยะด้านการอ่านและเขียน มีพรหมวิหาร มีคุณธรรมสูง วางตัวเฉยเมย เยือกเย็น บูชาความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรมและยุติธรรม
16. บุคคล : บุตรและหลาน ทายาท ครูอาจารย์ พระสงฆ์ ผู้พิพากษา วุฒิสมาชิก นักปราชญ์ราชบัณฑิต มหัลกะ (ผู้มีอายุมาก) พระพรหม
17. สถานที่ : ห้องหนังสือ ห้องเรียน ห้องสมบัติ คลังสมบัติ ศาล โรงเรียน สถานศึกษา ป่าไผ่ โรงทาน ธนาคาร ตลาดหุ้น
18. รูปร่าง : อ้วนชนิดลงพุง ตาและผมมักเป็นสีน้ำตาล ผมหยักศก
19. สิ่งอื่นๆ : รสหวาน ต้นไม้ผลดกออกตลอดปี ผ้าสีเหลือง จีวรพระ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร แร่เงินและทองแดง ผลประโยชน์ รายได้ กำไร ปานิโยทก (น้ำดื่ม) เครื่องเรือน รัตนาวลี (สร้อยเพชร) ความรุ่งเรือง ศิโรรัตน์ (เพชรประดับศีรษะ) ชโยติส (โหราศาสตร์และดาราศาสตร์) พระเวทย์ เวทางคศาสตร์ (ศาสตร์ประกอบการศึกษาพระเวทย์)
20. ประวัติการกำเนิด
         หลังจากที่พระพรหมบิดาได้สร้างโลกขึ้นมาแล้ว ทรงสร้างมหาฤๅษีขึ้นมากลุ่มหนึ่ง เพื่อคอยจดบันทึกพระเวทย์จากพระโอษฐ์ของพระองค์ได้ โดยหลาย ๆ คัมภีร์ จะกล่าวว่ามหาฤๅษีนั้นมีเพียง ๗ รูปเท่านั้น แต่ในอีกหลายคัมภีร์ก็มีหลายรูป พอสรุปได้ดังนี้คือ มหาฤๅษีภฤคุ มหาฤๅษีปุลาหะ มหาฤๅษีกรตุ มหาฤๅษีอังคิร์ มหาฤๅษีมริจิ มหาฤๅษีอตริ มหาฤๅษีปุละสัตยะ มหาฤๅษีนารท มหาฤๅษีวศิษฐะ และพระพรหมยังทรงสร้างมนู หรือมนุษย์กลุ่มแรกขึ้นมาหลายคน หนึ่งในนั้นคือ กรรธะมะประชาบดี และเทวะหุติภริยา ทั้งสองบำเพ็ญทุขกิริยาต่อพระวิษณุริมฝั่งแม่น้ำสรัสวตี พระวิษณุจึงให้พรบังเกิดเป็น ลูกสาวทั้งหมด ๗ คน คือ กาละ อนุสุยา ศรัทธา หรรภิวุ คติ กริยา ฆยาติ อรุณธติ และศรรติ ศรัทธาและมหาฤๅษีอังคิร์แต่งงานกัน กำเนิดบุตรเป็น พระพฤหัสบดี
         พระพฤหัสบดีเป็นครูของเหล่าเทพทั้งหลาย มีภรรยาชื่อพระนางทาระ ตอนที่พระจันทร์ลักพาตัวพระนางทาระไป จนกำเนิดเป็นพระพุธ พระพฤหัสบดีตามหาจนเจอ เกิดการโต้เถียงกันขึ้น พระจันทร์พาพระนางทาระหนีไปอยู่กับพระศุกร์ พระพฤหัสบดีก็ไปทวงคืน พระศุกร์ก็โต้เถียงกับพระพฤหัสบดีด้วย และเนื่องด้วยพระศุกร์เป็นครูของเหล่าอสูร ด้วยเหตุนี้จึงลุกลามกลายเป็นศึกระหว่างเทพและอสูรอีกครั้งหนึ่ง
         พระพฤหัสบดีมีเทวลักษณะเป็นหนุ่มรูปงาม มีสี่กร ถือจักร ๑ สังข์ ๑ หงายมือประทานพร ๑ และประทานพร ๑ ทรงช้างเป็นพาหนะ หรือในบางลักษณะจะมีสองกร ถือประคำ ๑ และคัมภีร์พระเวทย์ ๑ ประทับอยู่บนรถม้าสีทอง เทียมด้วยม้าสีเหลืองอ่อน ๘ ตัว สำหรับในทางไทย พระพฤหัสบดีถือกระดานชนวน และทรงกวางเป็นพาหนะ

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น