วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระอังคาร


พระอังคาร (Mangal)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีมกร 0º - 28º เป็นมูลตรีโกณ ราศีเมษ 0º – 12º เป็นเกษตร ราศีเมษ 13º - 30º และเป็นเกษตร ราศีพิจิก 0º - 30º
* บรมอุจจ์ ราศีมกร 28º
* บรมเกษตร ราศีเมษ 11º และราศี พิจิก 14º
* หลังจากองศาอุจจ์ คือ 29º – 30º ของราศีมกร มีกำลังเทียบเท่ามูลตรีโกณ
2. ทิศ : เจ้าการทิศทักษิณ (Daksina Dikpala)
** พระยมเทพเป็นผู้ดูแลทิศทักษิณ มีไม้เท้ายมทัณฑ์เป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลากลางคืน
4. ภพ : ทิคะพละศักดิ์ มีกำลังเมื่ออยู่ในภพกัมมะ
5. วรรณะ : วรรณกษัตริย์ (Kshatriya varna) นักรบ ขุนนาง เจ้าพระยา
6. ธาตุ : อัคนีธาตุ (Agni Tattva)
7. ฤดู : กรีศมะฤดู (Greeshma ritu) ฤดูร้อน มิถุนายน – กรกฎาคม
8. สี : สีแดงเลือด หรือสีชมพู
9. อัญมณี : ปะการังสีแดง (Red Coral) ทดแทนโดย คาร์เนเลี่ยนสีแดง (Red Carnelian) เจสเปอร์สีแดง (Red Jasper) ประดับบนแหวนทองผสมทองแดง โดยปะการังต้องมีน้ำหนัก 6 กะรัตขึ้นไป ซื้อหรือประดับในวันจันทร์ วันอังคาร หรือวันพฤหัสบดี สวมที่นิ้วนางข้างขวา และต้องสวมครั้งแรกตอนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ในวันอังคาร ดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : ก ข ฃ ค ฅ ฆ ง
11. เทพผู้รักษา : พระขัณฑกุมาร (Subrahmanya)
12. เพศ : กรูระ (Kroora) เพศชาย
13. อวัยวะ : หน้าผาก จมูก คอ ทรวงอก ไขกระดูก เลือด น้ำดี การย่อยอาหาร ลำไส้ ระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และไหวพริบ
14. โรค :  กาฬโรค หลอดลมอักเสบ โรคปอด โลหิตออกจากปอด ไอเป็นเลือด ผอมแห้ง โรคที่มีเชื้อปลิวในอากาศ กระดูกหัก กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อฉีก บวมแดง มะเร็งในกล้ามเนื้อ ไข้ตัวร้อน ผื่นผิวหนัง ผิวหนังแผลเปื่อย แผลเป็น บาดเจ็บ ระบบความคิดผิดปกติ ลมบ้าหมู โรคจิตประสาทผิดปกติ บ้า หิวง่าย แผลไหม้พุพอง ถูกไฟไหม้ อุบัติเหตุ โรคตับ
15. นิสัย : ตมัสสะคุณะ (Tamas Guna) รุนแรง ก้าวร้าว โหดเหี้ยม บ้าบิ่นไร้สติ ใจร้อนรน ดื้อรั้น กล้าหาญ ความเด็ดขาด ความใคร่ของเพศชาย รักอิสระ ชำนาญเรื่องเครื่องจักรกล ชอบขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็วสูง มีความกระหายจัด มีความอยากในกามคุณ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทะเล่อทะล่า อาฆาต เข้มแข็ง มีเมตตาอารีย์ กล้ากระทำทั้งผิดและถูก
16. บุคคล : ปู่ เพื่อน พี่น้อง น้องชาย ชู้ คู่ครองอื่นนอกจากสามีหรือภริยาตน บ้านใกล้เรือนเคียง นักเลงอันธพาล ทหาร ตำรวจ ทรราชย์
17. สถานที่ : เตาไฟ ห้องครัว กระท่อมมุงด้วยไม้ไผ่
18. รูปร่าง : เอวคอดแต่อกใหญ่ แขนขางามได้สัดส่วน
19. สิ่งอื่นๆ : รสขม ต้นไม้ที่มีรสขม ผ้าสีแดง ผ้าที่เกี่ยวกับการระบำขับร้อง อาวุธ ของแหลม ทองคำ นาฬิกา ผ่าตัด อาสนะพระ อุบัติเหตุกระทันหัน ชัยชนะ เปคัสการิมหรือแตน ยานพาหนะ
20. ประวัติการกำเนิด
         วันหนึ่งขณะที่พระศิวะกำลังนั่งสมาธิอยู่นั้น พระแม่ปารวตีทรงย่องมาทางด้านหลังขององค์พระศิวะ และปิดตาทั้ง ๓ ของพระศิวะไว้ พลันโลกนี้ก็มืดมิดลงทันใด ขณะนั้นเองก็ได้บังเกิดมีเด็กชายขึ้นมาหนึ่งคน พระศิวะเจ้าจึงตั้งชื่อว่า อันทะกะ แปลว่า มืดบอด หรือมืดมิด
         ในขณะเดียวกันอีกสถานที่หนึ่ง หิรัญยักษะกำลังกระทำทุขกิริยาชำระบาปอย่างเคร่งครัด บูชาต่อองค์พระศิวะเพื่อจะขอพรต่อพระองค์ เมื่อพระศิวะรับรู้ถึงความตั้งใจนั้นแล้วพระองค์ก็ได้มาปรากฎพระวรกายเบื้องหน้าหิรัญยักษะและถามถึงสิ่งที่หิรัญยักษะต้องการ หิรัญยักษะจึงแจ้งว่าตนประสงค์จะมีบุตรชายที่มีกำลังและอิทธิฤทธิ์สามารถจะครอบครองทั้ง ๓ โลกได้ พระศิวะเจ้าทรงไม่ประทานพรข้อนี้ให้แต่ทรงเสนอว่า จะทรงยกเด็กคนหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติเพรียบพร้อมทุกอย่างดังที่หิรัญยักษะต้องการให้เป็นลูกชายของหิรัญยักษะ หิรัญยักษะมีความปิติยินดีจึงได้รับเด็กน้อยอันทะกะมาเลี้ยงเป็นบุตรของตน
         ต่อมาอันทะกะน้อยเติบโตเป็นมารหนุ่ม ชื่อว่า อันทะกะอสุรา จึงกระทำทุขกิริยาชำระบาปบูชาต่อองค์พระพรหมเทพ พระพรหมเทพก็เสด็จลงมาจากวิมาน มาปรากฎพระวรกายเบื้องหน้าอันทะกะอสุราแล้วจึงทรงถามถึงความปรารถนาของอันทะกะ อันทะกะทูลขอให้ตนเองนั้นจะไม่ถูกฆ่าโดยอสูร ไม่ถูกฆ่าโดยมนุษย์ และไม่ถูกฆ่าโดยเทพเจ้าใดๆ โดยเฉพาะพระนารายณ์ พระพรหมเห็นสมควร แต่ก็ทรงกล่าวว่าพรทุกข้อต้องมีข้อยกเว้น อันทะกะจึงขอว่า ยกเว้นว่าตนจะไปหลงรักหญิงซึ่งตนไม่ควรจะหลงรัก เช่น มารดาของตน พระพรหมเทพก็ทรงให้พรสัมฤทธิ์ดังอันทะกะปรารถนาทุกประการ
         เวลาผ่านมาเนิ่นนาน หลังจากหิรัญยักษะถูกฆ่าโดยร่างวราหะอวตารของพระนารายณ์แล้ว อันทะกะอสุราก็กลายเป็นกษัตริย์แห่งอสูร อันทะกะอสุราไปเที่ยวเขาหิมาลัย ได้เห็นโยคีที่บำเพ็ญเพียรอยู่ แล้วพลันสายตาก็ไปจับจ้องที่พระแม่ปารวตีพระชายาของพระศิวะ อันทะกะอสุราหลงรักพระแม่ปารวตีในทันที อันทะกะรีบกลับมายังเมืองมาร กรีธาทัพทั้งหมดเพื่อจะไปต่อสู้กับพระศิวะ ชิงพระนางปารวตีมาเป็นภริยาตน โดยมิรู้ว่าพระนางปารวตีคือมารดาผู้ให้กำเนิดตน
         การต่อสู้ดำเนินไปชั่วขณะ พระศิวะได้โอกาสรุกรบ ก็ทรงใช้ตรีศูล แทงที่ด้านหลังของอันทะกะทะลุหน้าอก แล้วก็ทรงยกร่างของอันทะกะขึ้นเหนือพระเศียร เหงื่อของพระศิวะไหลออกจากหน้าผากหยดลงบนพื้นกลายเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง พระศิวะทรงให้ชื่อว่า จรรจิกา และเหงื่อของพระศิวะไหลออกจากใบหน้าแล้วหยดลงพื้นกลายเป็นเด็กผู้ชาย พระศิวะทรงให้ชื่อว่า มังคะละ หรือ พระอังคาร
         เทวาลักษณะของพระอังคาร คือหนุ่มรูปงาม มีสี่กร ถือหอกหรือตรีศูล ๑ คฑา ๑ ประทานพระ ๑ หงายมือประทานพร ๑ รถม้าของพระอังคารเป็นสีทอง เทียมด้วยม้าสีแดงเลือด ๗ ตัว สัตว์พาหนะคือแกะ พระอังคารของไทย มีสี่กร ถือตรี ๑ หอก ๑ ศร ๑ ประทานพร ๑ สัตว์พาหนะคือกาสร

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น