วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระอังคาร


พระอังคาร (Mangal)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีมกร 0º - 28º เป็นมูลตรีโกณ ราศีเมษ 0º – 12º เป็นเกษตร ราศีเมษ 13º - 30º และเป็นเกษตร ราศีพิจิก 0º - 30º
* บรมอุจจ์ ราศีมกร 28º
* บรมเกษตร ราศีเมษ 11º และราศี พิจิก 14º
* หลังจากองศาอุจจ์ คือ 29º – 30º ของราศีมกร มีกำลังเทียบเท่ามูลตรีโกณ
2. ทิศ : เจ้าการทิศทักษิณ (Daksina Dikpala)
** พระยมเทพเป็นผู้ดูแลทิศทักษิณ มีไม้เท้ายมทัณฑ์เป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลากลางคืน
4. ภพ : ทิคะพละศักดิ์ มีกำลังเมื่ออยู่ในภพกัมมะ
5. วรรณะ : วรรณกษัตริย์ (Kshatriya varna) นักรบ ขุนนาง เจ้าพระยา
6. ธาตุ : อัคนีธาตุ (Agni Tattva)
7. ฤดู : กรีศมะฤดู (Greeshma ritu) ฤดูร้อน มิถุนายน – กรกฎาคม
8. สี : สีแดงเลือด หรือสีชมพู
9. อัญมณี : ปะการังสีแดง (Red Coral) ทดแทนโดย คาร์เนเลี่ยนสีแดง (Red Carnelian) เจสเปอร์สีแดง (Red Jasper) ประดับบนแหวนทองผสมทองแดง โดยปะการังต้องมีน้ำหนัก 6 กะรัตขึ้นไป ซื้อหรือประดับในวันจันทร์ วันอังคาร หรือวันพฤหัสบดี สวมที่นิ้วนางข้างขวา และต้องสวมครั้งแรกตอนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ในวันอังคาร ดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : ก ข ฃ ค ฅ ฆ ง
11. เทพผู้รักษา : พระขัณฑกุมาร (Subrahmanya)
12. เพศ : กรูระ (Kroora) เพศชาย
13. อวัยวะ : หน้าผาก จมูก คอ ทรวงอก ไขกระดูก เลือด น้ำดี การย่อยอาหาร ลำไส้ ระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และไหวพริบ
14. โรค :  กาฬโรค หลอดลมอักเสบ โรคปอด โลหิตออกจากปอด ไอเป็นเลือด ผอมแห้ง โรคที่มีเชื้อปลิวในอากาศ กระดูกหัก กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อฉีก บวมแดง มะเร็งในกล้ามเนื้อ ไข้ตัวร้อน ผื่นผิวหนัง ผิวหนังแผลเปื่อย แผลเป็น บาดเจ็บ ระบบความคิดผิดปกติ ลมบ้าหมู โรคจิตประสาทผิดปกติ บ้า หิวง่าย แผลไหม้พุพอง ถูกไฟไหม้ อุบัติเหตุ โรคตับ
15. นิสัย : ตมัสสะคุณะ (Tamas Guna) รุนแรง ก้าวร้าว โหดเหี้ยม บ้าบิ่นไร้สติ ใจร้อนรน ดื้อรั้น กล้าหาญ ความเด็ดขาด ความใคร่ของเพศชาย รักอิสระ ชำนาญเรื่องเครื่องจักรกล ชอบขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็วสูง มีความกระหายจัด มีความอยากในกามคุณ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทะเล่อทะล่า อาฆาต เข้มแข็ง มีเมตตาอารีย์ กล้ากระทำทั้งผิดและถูก
16. บุคคล : ปู่ เพื่อน พี่น้อง น้องชาย ชู้ คู่ครองอื่นนอกจากสามีหรือภริยาตน บ้านใกล้เรือนเคียง นักเลงอันธพาล ทหาร ตำรวจ ทรราชย์
17. สถานที่ : เตาไฟ ห้องครัว กระท่อมมุงด้วยไม้ไผ่
18. รูปร่าง : เอวคอดแต่อกใหญ่ แขนขางามได้สัดส่วน
19. สิ่งอื่นๆ : รสขม ต้นไม้ที่มีรสขม ผ้าสีแดง ผ้าที่เกี่ยวกับการระบำขับร้อง อาวุธ ของแหลม ทองคำ นาฬิกา ผ่าตัด อาสนะพระ อุบัติเหตุกระทันหัน ชัยชนะ เปคัสการิมหรือแตน ยานพาหนะ
20. ประวัติการกำเนิด
         วันหนึ่งขณะที่พระศิวะกำลังนั่งสมาธิอยู่นั้น พระแม่ปารวตีทรงย่องมาทางด้านหลังขององค์พระศิวะ และปิดตาทั้ง ๓ ของพระศิวะไว้ พลันโลกนี้ก็มืดมิดลงทันใด ขณะนั้นเองก็ได้บังเกิดมีเด็กชายขึ้นมาหนึ่งคน พระศิวะเจ้าจึงตั้งชื่อว่า อันทะกะ แปลว่า มืดบอด หรือมืดมิด
         ในขณะเดียวกันอีกสถานที่หนึ่ง หิรัญยักษะกำลังกระทำทุขกิริยาชำระบาปอย่างเคร่งครัด บูชาต่อองค์พระศิวะเพื่อจะขอพรต่อพระองค์ เมื่อพระศิวะรับรู้ถึงความตั้งใจนั้นแล้วพระองค์ก็ได้มาปรากฎพระวรกายเบื้องหน้าหิรัญยักษะและถามถึงสิ่งที่หิรัญยักษะต้องการ หิรัญยักษะจึงแจ้งว่าตนประสงค์จะมีบุตรชายที่มีกำลังและอิทธิฤทธิ์สามารถจะครอบครองทั้ง ๓ โลกได้ พระศิวะเจ้าทรงไม่ประทานพรข้อนี้ให้แต่ทรงเสนอว่า จะทรงยกเด็กคนหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติเพรียบพร้อมทุกอย่างดังที่หิรัญยักษะต้องการให้เป็นลูกชายของหิรัญยักษะ หิรัญยักษะมีความปิติยินดีจึงได้รับเด็กน้อยอันทะกะมาเลี้ยงเป็นบุตรของตน
         ต่อมาอันทะกะน้อยเติบโตเป็นมารหนุ่ม ชื่อว่า อันทะกะอสุรา จึงกระทำทุขกิริยาชำระบาปบูชาต่อองค์พระพรหมเทพ พระพรหมเทพก็เสด็จลงมาจากวิมาน มาปรากฎพระวรกายเบื้องหน้าอันทะกะอสุราแล้วจึงทรงถามถึงความปรารถนาของอันทะกะ อันทะกะทูลขอให้ตนเองนั้นจะไม่ถูกฆ่าโดยอสูร ไม่ถูกฆ่าโดยมนุษย์ และไม่ถูกฆ่าโดยเทพเจ้าใดๆ โดยเฉพาะพระนารายณ์ พระพรหมเห็นสมควร แต่ก็ทรงกล่าวว่าพรทุกข้อต้องมีข้อยกเว้น อันทะกะจึงขอว่า ยกเว้นว่าตนจะไปหลงรักหญิงซึ่งตนไม่ควรจะหลงรัก เช่น มารดาของตน พระพรหมเทพก็ทรงให้พรสัมฤทธิ์ดังอันทะกะปรารถนาทุกประการ
         เวลาผ่านมาเนิ่นนาน หลังจากหิรัญยักษะถูกฆ่าโดยร่างวราหะอวตารของพระนารายณ์แล้ว อันทะกะอสุราก็กลายเป็นกษัตริย์แห่งอสูร อันทะกะอสุราไปเที่ยวเขาหิมาลัย ได้เห็นโยคีที่บำเพ็ญเพียรอยู่ แล้วพลันสายตาก็ไปจับจ้องที่พระแม่ปารวตีพระชายาของพระศิวะ อันทะกะอสุราหลงรักพระแม่ปารวตีในทันที อันทะกะรีบกลับมายังเมืองมาร กรีธาทัพทั้งหมดเพื่อจะไปต่อสู้กับพระศิวะ ชิงพระนางปารวตีมาเป็นภริยาตน โดยมิรู้ว่าพระนางปารวตีคือมารดาผู้ให้กำเนิดตน
         การต่อสู้ดำเนินไปชั่วขณะ พระศิวะได้โอกาสรุกรบ ก็ทรงใช้ตรีศูล แทงที่ด้านหลังของอันทะกะทะลุหน้าอก แล้วก็ทรงยกร่างของอันทะกะขึ้นเหนือพระเศียร เหงื่อของพระศิวะไหลออกจากหน้าผากหยดลงบนพื้นกลายเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง พระศิวะทรงให้ชื่อว่า จรรจิกา และเหงื่อของพระศิวะไหลออกจากใบหน้าแล้วหยดลงพื้นกลายเป็นเด็กผู้ชาย พระศิวะทรงให้ชื่อว่า มังคะละ หรือ พระอังคาร
         เทวาลักษณะของพระอังคาร คือหนุ่มรูปงาม มีสี่กร ถือหอกหรือตรีศูล ๑ คฑา ๑ ประทานพระ ๑ หงายมือประทานพร ๑ รถม้าของพระอังคารเป็นสีทอง เทียมด้วยม้าสีแดงเลือด ๗ ตัว สัตว์พาหนะคือแกะ พระอังคารของไทย มีสี่กร ถือตรี ๑ หอก ๑ ศร ๑ ประทานพร ๑ สัตว์พาหนะคือกาสร

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระจันทร์



พระจันทร์ (Chandra or Chadrama or Soma)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีพฤษภ 0º - 3º เป็นมูลตรีโกณ ราศีพฤษภ 4º – 30º เป็นเกษตร ราศีกรกฎ 0º - 30º
* บรมอุจจ์ ราศีพฤษภ 3º
* บรมเกษตร ราศีกรกฎ 9º
2. ทิศ : เจ้าการทิศพายัพ (Vayavya Dikpala)
** พระวายุเทพเป็นผู้ดูแลทิศพายัพ มีธนูวายุอัสตราเป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลากลางคืน
* ขึ้น 11 ค่ำ – แรม 5 ค่ำ อยู่ในดิถีเพ็ญ มีกำลังมากที่สุด
* แรม 6 ค่ำ – แรม 15 ค่ำ อยู่ในดิถีดับ มีกำลังน้อยที่สุด
* ขึ้น 1 ค่ำ – ขึ้น 10 ค่ำ อยู่ในดิถีเพ็ญ มีกำลังปานกลาง
4. ภพ : ทิคะพละศักดิ์ มีกำลังเมื่ออยู่ในภพพันธุ
5. วรรณะ : ไวศยะ (Vaishya Varna) แพทย์ พ่อค้าวานิช
6. ธาตุ : ชลธาตุ (Jala Tattva)
7. ฤดู : วรรศาฤดู (Varsa ritu) ฤดูมรสุม สิงหาคม - กันยายน
8. สี : น้ำตาลอ่อน
9. อัญมณี : มุก (Pearl) ทดแทนโดย มูนสโตน (Moon-stone) หรือ ไวท์แซฟไฟร์ (white Sapphire) โดยมุกต้องมีน้ำหนัก 2 4 6 หรือ 11 กะรัต ประดับบนแหวนเงินในวันจันทร์ สวมที่นิ้วนางข้างขวา และต้องสวมครั้งแรกในเช้าวันจันทร์ หรือพฤหัสบดีดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฮ ฬ
11. เทพผู้รักษา : พระพิรุณ (Varuna) ** พระแม่ปาราวตี (Parvati)
12. เพศ : เสามะยะ (Saumya) เพศหญิง
13. อวัยวะ : ใบหน้า น้ำลาย น้ำทุกอย่างในร่างกาย ต่อมไร้ท่อ ต่อมฮอโมน ต่อมทอลซิล ต่อมน้ำเหลือง ถันของหญิงสาว หน้าอก ปอด ท้อง มดลูก รังไข่ ระบบประจำเดือน ตาขวาของหญิง ตาซ้ายของชาย
14. โรค :  ความแข็งแรงและความสมบูรณ์ของร่างกาย น้ำในร่างกาย โรคเลือดและน้ำเหลือง โรคโลหิตจาง ปัญหานอนไม่หลับ ความเฉื่อยชา โรคจิต หลอดลมอักเสบ โรคปอด วัณโรค โรคช่องปาก ระบบการย่อยผิดปกติ โรคประสาท โรคชักและลมบ้าหมู โรคม้าม โรคกระเพาะปัสสาวะ โรคที่เกี่ยวกับมดลูกและรังไข่ ประจำเดือนมาไม่ปกติ
15. นิสัย : สัตวะคุณะ (Sattva Guna) ใช้ดูหญิง และใช้ดูจิตใจ ใจดี ใจเย็น ความสะอาดสะอ้าน ความสง่างามของหญิง ความสวยงาม ความผาสุก ความยินดี พูดมาก แสนงอน
16. บุคคล : มารดา ภรรยา เจ้านายหญิง สตรีเพศ อายุในวัยเด็ก หญิงเบญจกัลยาณี บุราณทุติยิกา-ภรรยาที่มีก่อนบวชพระ นางพระยา ทหารเรือ
17. สถานที่ : ห้องน้ำ สระน้ำ ที่ๆมีน้ำขัง ลำน้ำ น้ำจืด แม่น้ำ ที่นอนชั้นดี กองทัพเรือ
18. รูปร่าง : รูปร่างสูงโปร่งระหง แบบบางสะโอดสะอง มีส่วนเว้าส่วนโค้งที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ขาและแขนแข็งแรงและสวยงามน่ารัก สวยงาม งามพร้อม ตาเป็นประกาย เสียงและวาจาอ่อนหวานไพเราะ งามผุดผ่อง
19. สิ่งอื่นๆ : รสเค็ม ต้นไม้ที่มีน้ำยาง ต้นยางพารา ผ้าไหมสีขาว ผ้าเนื้อบาง ดอกไม้ อาหารชั้นดี ขนม บุพเพสันนิวาส ผังเมือง พฤกษชาติ แม่พิมพ์ ปลาน้ำจืด เพชรที่เจียระไนแล้ว มณีรัตน์ เสื้อผ้าหญิง น้ำหอม กำไลข้อมือ พาหุรัดหรือที่รัดต้นแขน กระดิ่ง การเจริญเติบโตของพืช น้ำฝน สายสิญจ์
20. ประวัติการกำเนิด
         ประวัติการกำเนิดของพระจันทร์นั้นมีเรื่องราวที่แตกต่างกันดังนี้
         ในคัมภีร์สกันทะปุราณะ กล่าวว่าพระจันทร์ผุดขึ้นจากเกษียรสมุทรตอนกระทำพิธีกวนเกษียรสมุทร ซึ่งเป็นเพียงปุราณะเดียวที่อธิบายกำเนิดของพระจันทร์เช่นนี้ ส่วนในปุราณะอื่นได้อธิบายเรื่องราวการกำเนิดของพระจันทร์ไว้ดังนี้
         ในสมัยหนึ่ง มีพรามหณีผู้หนึ่งชื่อ เกาสิกี บิดาของนางได้ยกนางให้แต่งงานกับพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า เกาสิกะ แต่เกาสิกะปฏิเสธที่จะแต่งงานกับนางด้วยเพราะเกาสิกะชอบเที่ยวหอนางคณิกาโสเภณีและรักชีวิตอิสระปราศจากคู่ครอง แต่เกาสิกีก็ยืนยันที่จะแต่งงานอยู่รับใช้เกาสิกะ เกาสิกะจึงยอมแต่งงานกับนาง เมื่อแต่งงานแล้วด้วยความรักของเกาสิกี นางก็ดูแลและเทิดทูนสามีราวกับเป็นเทพองค์หนึ่ง แต่เกาสิกะก็ไม่เลิกนิสัยเจ้าชู้ ซ้ำร้ายยังระบายอารมณ์โกรธใส่และเยาะเย้ยถากถางนางเกาสิกีบ่อยครั้ง แต่ด้วยความรักและความบริสุทธิ์ใจของนางเกาสิกี นางก็ยังคงภักดีต่อสามีของนางไม่เสื่อมคลาย และแม้ว่าเกาสิกะจะแต่งงานกับนางแล้ว เกาสิกะก็ยังชอบไปเที่ยวหอนางคณิกาและโสเภณีบ่อยครั้งแม้นว่าตนเองจะเป็นพราหมณ์ที่ควรจะถือศีลและมีภรรยาอยู่แล้วก็ตาม
         ด้วยความร้ายกาจของเกาสิกะนี้เอง เทพเจ้าจึงบันดาลโรคเรื้อนให้ผุดขึ้นตามร่างกายของเกาสิกะทั่วไปหมด เกาสิกะหลังจากเป็นโรคเรื้อน หอนางคณิกาโสเภณีก็ไม่รับเกาสิกะเข้าไปเที่ยวอีกต่อไป และไล่เกาสิกะให้กลับบ้านไปอยู่กับภรรยา เกาสิกะเป็นโรคเรื้อนจนร่างกายอ่อนแอ แม้กระนั้นเองเกาสิกะก็ยังไม่หยุดความร้ายกาจของตน กลับสั่งนางเกาสิกีผู้เป็นภรรยา ให้พาตนไปเที่ยวหอนางคณิกาโสเภณี โดยจะขี่คอนางเกาสิกีไป ด้วยความรักของนางเกาสิกีนางก็ยอมทำตามคำสั่งของสามี นางเก็บเงินที่มีในบ้าน พาสามีขึ้นขี่คอ เดินทางไปในตอนกลางคืน
         ระหว่างทางต้องผ่านป่าทึบ ที่ซึ่งมีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อมานทวายะ ถูกจับผูกกับต้นไม้ห้อยประจานความผิดไว้ ในความมืดนั้นเองนางเกาสิกีมองเห็นอะไรได้ไม่ชัดนัก จึงทำให้เกาสิกะที่ขี่บ่าอยู่นั้น ไปชนกับตัวของมานทวายะ และมานทวายะก็ได้สาปว่า ผู้ที่มาแตะต้องตัวของตน ขอให้จบชีวิตในเช้าวันรุ่งขึ้นนั้นเอง นางเกาสิกีได้ยินดังนั้นก็เหมือนฟ้าผ่าลงกลางหัวใจ นางกลัวสามีจะต้องจบชีวิตลง และโกรธมานทวายะที่บังอาจสาปสามีตน นางจึงใช้ความดีที่นางสะสมมาทั้งหมด อธิษฐานต่อไปว่า ขอพระอาทิตย์จงอย่าขึ้นมาอีกเลย ด้วยเหตุนี้ ในเช้าวันนั้นพระอาทิตย์ก็มิขึ้นมาเหมือนเคย ทำให้โลกสวรรค์และโลกมนุษย์ปั่นป่วนเป็นอันมาก ด้วยต้องตกอยู่ในความมืดมิด เทพต่าง ๆ ก็มีความกังวลว่า หากโลกทั้งหมดนั้นต้องตกอยู่ในความมืด จักรวาลอาจจะถูกทำลาย ต่อไปนี้จะไม่รู้วันและเวลา เทพทั้งหลายจึงชักชวนกันไปหาพระพรหม พระพรหมทรงตรัสชี้แนะว่าให้ไปขอความช่วยเหลือจากนางอนสุยา
         นางอนสุยาเป็นภริยาของมหาฤๅษีอตริ มหาฤๅษีอตริเป็นหนึ่งในมหาฤๅษีทั้ง ๗ ที่พระพรหมสร้างขึ้นมาเพื่อชำระคัมภีร์พระเวทย์ เมื่อเหล่าเทพมาเยือนนางถึงกระท่อมและขอให้นางช่วยเหลือ นางจึงเดินทางไปหานางเกาสิกี เมื่อนางมาถึงที่กระท่อมของนางเกาสิกีแล้วจึงแจ้งความจำนง ขอให้นางเกาสิกียกเลิกคำอธิษฐานและปล่อยให้พระอาทิตย์ขึ้นมาเหมือนเดิม นางเกาสิกีไม่ยอม เพราะหากนางปล่อยให้พระอาทิตย์ขึ้น สามีของนางก็จะต้องตาย นางอนสุยาจึงสัญญาว่า หากพระอาทิตย์ขึ้นแล้วนางจะชุบชีวิตสามีของนางให้ฟื้นคืนดังเดิม ด้วยเหตุนี้นางเกาสิกีจึงยอมยกเลิกคำอธิษฐานนั้นและปล่อยให้พระอาทิตย์ขึ้นมาดังเดิม
         เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นพ้นขอบฟ้า พราหมณ์เกาสิกะก็ถึงแก่ความตาย นางอนสุยาจึงชุบชีวิตเกาสิกะให้ฟื้นคืนดังเดิมพร้อมทั้งรักษาโรคเรื้อนให้หายกลายเป็นชายหนุ่มรูปงามดังเดิม เกาสิกะจึงประจักษ์แจ้งในความรักของนางเกาสิกีและสัญญาจะดูแลนางในฐานะสามีที่ดีตลอดไป
         เทพทั้งหลายเมื่อรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ จึงพากันสรรเสริญนางอนสุยา พระพรหมบิดาจึงถามถึงความปรารถนาของนาง นางอนสุยาจึงขอพรจากพระพรหมเทพบิดาว่า อยากจะให้พระพรหมเทพ พระนายรายณ์ และพระศิวะ มาประสูติในครรภ์เป็นลูกของตน พระนารายณ์จึงแบ่งภาคมาจุติในครรภ์ของนางเป็น ทัตตะเตรยะ หรือพระตรีมูลติ พระพรหมแบ่งภาคมาจุติเป็นพระจันทร์ และพระศิวะแบ่งภาคมาจุติเป็น มหาฤๅษีทุรวาสะ
         เทวลักษณะของพระจันทร์เป็นหนุ่มรูปงามมีสี่กร ถือหม้อน้ำ ๑ ดอกบัว ๑ คฑา ๑ ประทานพร ๑ รถม้าของพระจันทร์มีม้าเทียม 10 ตัว สัตว์พาหนะของพระจันทร์คือกวาง ส่วนในทางไทยพระจันทร์จะถือพระขรรค์ และสัตว์พาหนะของพระจันทร์คือม้า

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระอาทิตย์


พระอาทิตย์ (Surya or Aditiya)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีเมษ 0º - 10º เป็นมูลตรีโกณ ราศีสิงห์ 0º – 20º เป็นเกษตร ราศีสิงห์ 21º - 30º
* บรมอุจจ์ ราศีเมษ 10º
* หลังจากองศาอุจจ์ คือ 11º – 30º ของราศีเมษ มีกำลังเทียบเท่ามูลตรีโกณ
* บรมเกษตร ราศีสิงห์ 7º
2. ทิศ : เจ้าการทิศบูรพา (Purva Dikpala)
** พระอินทราเทพเป็นผู้ดูแลทิศบูรพา มีวชิระ คือสายฟ้า เป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลาเที่ยงวัน
4. ภพ : ทิคะพละศักดิ์ มีกำลังเมื่ออยู่ในภพกัมมะ
5. วรรณะ : วรรณกษัตริย์ (Kshatriya varna) นักรบ ขุนนาง เจ้าพระยา
6. ธาตุ : อัคนีธาตุ (Agni Tattva)
7. ฤดู : กรีศมะฤดู (Greeshma ritu) ฤดูร้อน มิถุนายน – กรกฎาคม
8. สี : สีแดง หรือ สีเลือด
9. อัญมณี : ทับทิม (Ruby) ทดแทนโดย พลอยแดง (Red spinel) สตาร์รูบี้ (Star Ruby) โกเมนสีแดง (Pyrope Garnet) เพทายสีแดง (Red Zircon) หรือ ทัวร์มาลีนสีแดง (Red Tourmaline) ประดับบนแหวนทองคำผสมทองแดง โดยทับทิมนั้นต้องมีน้ำหนักมากกว่า 2.5 กะรัตขึ้นไป ซื้อหรือบรรจุใส่แหวนในวันอาทิตย์ จันทร์ หรือพฤหัสบดี สวมนิ้วนางข้างขวา และสวมครั้งแรกควรเป็นตอนเช้าตรู่ ในวันอาทิตย์ ดีถีเพ็ญ
**ห้ามใส่กับอัญมณีที่เป็นตัวแทนของดาวคู่ศัตรูโดยเด็ดขาด
**การดูแลรักษาอัญมณีทั่วไป ให้แช่ไว้ในน้ำนมที่ยังไม่ผ่านการต้ม (Unboiled Milk) หรือน้ำจากแม่น้ำคงคา (Ganges Water)
10. ตัวอักษร : สระทั้งหมด อะ อา อิ อี อุ อู อึ อือ เอ แอ ไอ ใอ เอา ฤ ฦ
11. เทพผู้รักษา : พระอัคนีเทพแห่งไฟ (Agni) ** พระศิวะ (Shiva)
12. เพศ : กรูระ (Kroora) เพศชาย
13. อวัยวะ : ศีรษะ กระดูก เลือด สมอง น้ำดี และระบบการย่อยอาหาร ตาขวาของชาย ตาซ้ายของหญิง
14. โรค :  ระบบสายตา ปวดศีรษะ ไมเกรน ระบบเลือด ความดันเลือด ไข้ตัวร้อน โรคหัวใจ โรคฟัน มะเร็งในกระดูก กระดูกหัก หัวล้าน ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
15. นิสัย : สัตวะคุณะ (Sattva Guna) อำนาจ ความดีงาม เกียรติยศ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรี รุ่มร้อน ผู้นำ เชาว์ปัญญา อารมณ์ร้อน บารมี สง่างาม การเอาชนะ กล้าได้กล้าเสีย ใจร้อนใจเร็ว ความก้าวหน้า
16. บุคคล : บิดา สามี ญาติมิตรถ้าเจ้าชะตาเกิดกลางคืน พระราชา เจ้านาย นายกรัฐมนตรี องคมนตรี
17. สถานที่ : สถานที่ตั้งพระบูชาในบ้าน ห้องพระ สถานที่ราชการ พระราชวัง เทวาลัย โบสถ์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่สำคัญของประเทศ
18. รูปร่าง : อกผายไหล่ผึ่งมีสง่าน่าเกรงขาม สมส่วน นัยน์ตาแจ่มใส เส้นขนสั้นและละเอียดดกดำ
19. สิ่งอื่นๆ : รสเผ็ด ต้นไม้สูงใหญ่และเป็นไม้เนื้อแข็ง ผ้าไหมสีแดง ผ้าเนื้อหนา แสงสว่าง หลอดไฟ เตาไฟ เครื่องนุ่งห่มสวยงามและมีราคาแพง แร่ทองแดง แร่ทองคำ เรือบิน รังสี ไฟฟ้า พลังงาน ท้องฟ้า
20. ประวัติการกำเนิด
ย้อนไปตอนกำเนิดโลก พระพรหมได้สร้างโลกขึ้นมา พร้อมกับคณะเทพคณะหนึ่ง ประกอบด้วย พระอัคนีเทพแห่งไฟ พระวายุเทพแห่งลม พระวรุณเทพแห่งสายฝน พระอินทรา พระสุริยะเทพแห่งอรุณ พระวิษณุกรรมเทพแห่งการช่าง พระภูษาเทพแห่งการประชุม พระมิตรเทพแห่งท้องทะเล ดังนั้น พระสุริยะ คือคณะเทพชุดแรกที่เกิดจากการสร้างของพระพรหม
เหตุกำเนิดชื่อ “อาทิตย์” ในการสร้างโลกครั้งนั้นเอง พระพรหมได้ทำการสร้างมนุษย์ เทพ และมารขึ้นมา แบ่งจักรวาลออกเป็นหลายภูมิหลายโลก ในตอนแรกมีเพียงสวรรค์โลก และบาดาลเท่านั้น เพื่อให้เป็นที่อยู่ของเทพเจ้าและมาร และได้ทำการสร้างมหาฤๅษีขึ้นมา ๗ ตน เพื่อทำการชำระพระเวทย์ หนึ่งในนั้นคือ มหาฤๅษีกัสยปะประชาบดี อันมหาฤๅษีกัสยปะนี้มีภรรยาถึง ๑๓ คน ในบรรดาภรรยาทั้ง ๑๓ คนนี้ มีอยู่ ๒ คนที่สำคัญ คือพระนางอทิติ และพระนางทิติ พระนางทิตินั้น ได้ให้กำเนิดมาร ๒ ตน คือ หิรัญยักษิปุ และหิรัญยักษะ ส่วนพระนางอทิติและพระนางคนอื่นได้ให้กำเนิดเทพบนสวรรค์ เวลาผ่านมาจนมารมีกำลังมากขึ้นและจำนวนมากขึ้นเหล่ามารจึงกรีธาทัพขึ้นมายึดสวรรค์โลก การรบดำเนินไปจนสุดท้ายแล้วฝ่ายมารเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ครั้งนั้นเองพระนางอทิติมองไปยังพระสุริยะซึ่งรถม้าของพระองค์กำลังโคจรผ่านท้องฟ้า นางอทิติได้ขอความเมตตาจากพระสุริยะ อันเชิญพระสุริยะมาเกิดในครรภ์ของพระนาง เพื่อจะได้กำเนิดออกมาเป็นบุตรของนาง มีสิทธิจะไปทวงสวรรค์โลกของบรรดาพี่ ๆในฐานะน้องชาย คืนจากพวกมาร
พระสุริยะเห็นชอบด้วย จึงเสด็จลงมาประสูติในครรภ์ของพระนางอทิติ พระสุริยะจึงได้ชื่อว่า พระอาทิติยา หรือ พระอาทิตย์นับแต่นั้นเป็นต้นมา
พระอาทิตย์นั้นมีเทวลักษณ์เป็นชายหนุ่มรูปงาม มีสี่กร ถือจักร์ ๑ สังข์ ๑ ดอกบัว ๑ อีกถือหนึ่งประทานพร ด้วยความเชื่อว่า พระสุริยะเทพคือร่างอีกร่างหนึ่งของพระนารายณ์ แต่ในบางรูปลักษณ์มีเพียงสองกรเท่านั้น และถือดอกบัวทั้ง ๒ กร นั่งอยู่บนรถม้าทองคำกว้างยาวเก้าพันโยชน์ เทียมด้วยม้า ๗ ตัว สัตว์พาหนะของพระสุริยะ คือ ม้า ซึ่งแตกต่างจากทางไทยที่สัตว์พาหนะของพระอาทิตย์คือ สิงห์