วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระพฤหัสบดี


พระพฤหัสบดี (Vrihaspati)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีกรกฎ 0º - 5º เป็นมูลตรีโกณ ราศีธนู 0º – 10º เป็นเกษตร ราศีธนู 11º - 30º และเป็นเกษตร ราศีมีน 0º - 30º
* บรมอุจจ์ ราศีกรกฎ 5º
* บรมเกษตร ราศีธนู 16º และราศีมีน 7º
* หลังจากองศาอุจจ์ คือ 6º – 30º ของราศีกรกฎ มีกำลังเทียบเท่ามูลตรีโกณ
2. ทิศ : เจ้าการทิศอีสาน (Isanya Dikpala)
** พระศิวะเทพเป็นผู้ดูแลทิศอีสาน (อิศวร) มีตรีศูลเป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลากลางวัน
4. ภพ : ทิคะพละศักดิ์ มีกำลังเมื่ออยู่ในภพตนุ
5. วรรณะ : พราหมณ์ (Brahmin Varna) นักบวช พระสงฆ์ ครู อาจารย์
6. ธาตุ : อากาศธาตุ (Akasa Tattva)
7. ฤดู : เหมันต์ฤดู (Hemanta ritu) ฤดูหนาว ธันวาคม – มกราคม
8. สี : สีน้ำตาลอ่อน หรือสีเหลือง
9. อัญมณี : บุษราคัม (Yellow Sapphire) ทดแทนโดย โทแพซสีเหลือง (Yellow Topaz) คอรันดัมสีเหลือง (Yellow Corundum) ทัวร์มาลีนสีเหลือง (Yellow Tourmaline) เพทายสีเหลือง (Yellow Zircon) หรือซิตริน (Citrine) ประดับกับแหวนทองในวันจันทร์หรือวันพฤหัสบดี โดยบุษราคัมต้องมีน้ำหนัก 6 11 หรือ 15 กะรัต สวมที่นิ้วนางข้างขวา ต้องสวมครั้งแรกตอนพระอาทิตย์ขึ้น ในวันพฤหัสบดี ดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : ด ต ถ ธ ท น
11. เทพผู้รักษา : พระอินทร์ (Indra) ** พระพรหม (Brahma)
12. เพศ : กรูระ (Kroora) เพศชาย
13. อวัยวะ : หู เพดานปาก คอ เส้นเลือดขั้วหัวใจ ต่อไร้ท่อ ตับ น้ำดี ตับอ่อน ถุงน้ำดี การดูดซึมอาหาร การย่อยอาหาร การเจริญเติบโตของร่างกาย ระบบการสลายไขมันในร่างกาย
14. โรค :  หูหนวก ไอ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เบาหวาน โรคหืด วัณโรค โรคตับอ่อน โรคม้ามโรคอ้วน ลิ่มเลือด เส้นเลือดอุดตัน โลหิตจาง เนื้องอก ดีซ่านและโรคอื่นๆของตับ
15. นิสัย : สัตวะคุณะ (Sattva Guna) ผ่องใสในอารมณ์ มีความคิดความอ่าน ทรงภูมิปัญญา น่านับถือ วางตัวดี ชอบศึกษา รอบรู้คงแก่เรียน มีความรู้ อัจฉริยะด้านการอ่านและเขียน มีพรหมวิหาร มีคุณธรรมสูง วางตัวเฉยเมย เยือกเย็น บูชาความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรมและยุติธรรม
16. บุคคล : บุตรและหลาน ทายาท ครูอาจารย์ พระสงฆ์ ผู้พิพากษา วุฒิสมาชิก นักปราชญ์ราชบัณฑิต มหัลกะ (ผู้มีอายุมาก) พระพรหม
17. สถานที่ : ห้องหนังสือ ห้องเรียน ห้องสมบัติ คลังสมบัติ ศาล โรงเรียน สถานศึกษา ป่าไผ่ โรงทาน ธนาคาร ตลาดหุ้น
18. รูปร่าง : อ้วนชนิดลงพุง ตาและผมมักเป็นสีน้ำตาล ผมหยักศก
19. สิ่งอื่นๆ : รสหวาน ต้นไม้ผลดกออกตลอดปี ผ้าสีเหลือง จีวรพระ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร แร่เงินและทองแดง ผลประโยชน์ รายได้ กำไร ปานิโยทก (น้ำดื่ม) เครื่องเรือน รัตนาวลี (สร้อยเพชร) ความรุ่งเรือง ศิโรรัตน์ (เพชรประดับศีรษะ) ชโยติส (โหราศาสตร์และดาราศาสตร์) พระเวทย์ เวทางคศาสตร์ (ศาสตร์ประกอบการศึกษาพระเวทย์)
20. ประวัติการกำเนิด
         หลังจากที่พระพรหมบิดาได้สร้างโลกขึ้นมาแล้ว ทรงสร้างมหาฤๅษีขึ้นมากลุ่มหนึ่ง เพื่อคอยจดบันทึกพระเวทย์จากพระโอษฐ์ของพระองค์ได้ โดยหลาย ๆ คัมภีร์ จะกล่าวว่ามหาฤๅษีนั้นมีเพียง ๗ รูปเท่านั้น แต่ในอีกหลายคัมภีร์ก็มีหลายรูป พอสรุปได้ดังนี้คือ มหาฤๅษีภฤคุ มหาฤๅษีปุลาหะ มหาฤๅษีกรตุ มหาฤๅษีอังคิร์ มหาฤๅษีมริจิ มหาฤๅษีอตริ มหาฤๅษีปุละสัตยะ มหาฤๅษีนารท มหาฤๅษีวศิษฐะ และพระพรหมยังทรงสร้างมนู หรือมนุษย์กลุ่มแรกขึ้นมาหลายคน หนึ่งในนั้นคือ กรรธะมะประชาบดี และเทวะหุติภริยา ทั้งสองบำเพ็ญทุขกิริยาต่อพระวิษณุริมฝั่งแม่น้ำสรัสวตี พระวิษณุจึงให้พรบังเกิดเป็น ลูกสาวทั้งหมด ๗ คน คือ กาละ อนุสุยา ศรัทธา หรรภิวุ คติ กริยา ฆยาติ อรุณธติ และศรรติ ศรัทธาและมหาฤๅษีอังคิร์แต่งงานกัน กำเนิดบุตรเป็น พระพฤหัสบดี
         พระพฤหัสบดีเป็นครูของเหล่าเทพทั้งหลาย มีภรรยาชื่อพระนางทาระ ตอนที่พระจันทร์ลักพาตัวพระนางทาระไป จนกำเนิดเป็นพระพุธ พระพฤหัสบดีตามหาจนเจอ เกิดการโต้เถียงกันขึ้น พระจันทร์พาพระนางทาระหนีไปอยู่กับพระศุกร์ พระพฤหัสบดีก็ไปทวงคืน พระศุกร์ก็โต้เถียงกับพระพฤหัสบดีด้วย และเนื่องด้วยพระศุกร์เป็นครูของเหล่าอสูร ด้วยเหตุนี้จึงลุกลามกลายเป็นศึกระหว่างเทพและอสูรอีกครั้งหนึ่ง
         พระพฤหัสบดีมีเทวลักษณะเป็นหนุ่มรูปงาม มีสี่กร ถือจักร ๑ สังข์ ๑ หงายมือประทานพร ๑ และประทานพร ๑ ทรงช้างเป็นพาหนะ หรือในบางลักษณะจะมีสองกร ถือประคำ ๑ และคัมภีร์พระเวทย์ ๑ ประทับอยู่บนรถม้าสีทอง เทียมด้วยม้าสีเหลืองอ่อน ๘ ตัว สำหรับในทางไทย พระพฤหัสบดีถือกระดานชนวน และทรงกวางเป็นพาหนะ

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระพุธ


พระพุธ (Budha)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีกันย์ 0º - 15º เป็นมูลตรีโกณ ราศีกันย์ 16º – 20º เป็นเกษตร ราศีกันย์ 21º - 30º และเป็นเกษตร ราศีเมถุน 0º - 30º
* บรมอุจจ์ ราศีกันย์ 15º
* บรมเกษตร ราศีกันย์ 7º และราศีเมถุน 24º
2. ทิศ : เจ้าการทิศอุดร (Uttara Dikpala)
** พระกุเวรเทพเป็นผู้ดูแลทิศอุดร มีคฑาหรือกระบองศิพิกะเป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
4. ภพ : ทิคะพละศักดิ์ มีกำลังเมื่ออยู่ในภพตนุ
5. วรรณะ : ไวศยะ (Vaishya Varna) แพทย์ พ่อค้าวานิช
6. ธาตุ : ปฐวีธาตุ (Prithvi Tattva)
7. ฤดู : สารทฤดู (Sarad ritu) ฤดูใบไม้ร่วง ตุลาคม –พฤษศจิกายน
8. สี : สีเขียวใบหญ้าหรือสีเขียวใบไม้
9. อัญมณี : มรกต (Emerald) ทดแทนโดย อความารีน (Aquamarine) เขียวส่อง (Peridot) เพทายสีเขียว (Green Zircon) โมราสีเขียว (Green Agate) หรือ หยก (Jade) ประดับบนแหวนเงินในวันพุธ โดยมรกตต้องมีน้ำหนัก 3 กะรัตขึ้นไป และสวมที่นิ้วก้อยข้างขวา สวมครั้งแรกในตอนเช้าหลังจากพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว 2 ชั่วโมง วันพุธ ดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ
11. เทพผู้รักษา : พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ (Maha Vishnu or Naraya)
** พระสุรัสวดี (Saraswati)
12. เพศ : ยุนุค บัณเฑาะก์ ทั้งเพศชายและหญิง
13. อวัยวะ : ลิ้น ปาก มือ แขน ปอด หลอดลม น้ำย่อยในกระเพาะ การย่อยอาหาร ลำไส้ ท้องส่วนล่าง กระเพาะปัสสาวะ ผิวหนัง จิตใจ ไหวพริบปฏิภาณ ระบบประสาท
14. โรค :  โรคหืด โรคหลอดลมอักเสบ โรคนอนไม่หลับ ประสาทเสื่อม ความจำสั้น พูดไม่ชัด การพูดผิดปกติ โรคหูหนวก โรคเวียนศีรษะ โรคลมชัก โรคผิวหนัง โรคไร้สมรรถภาพทางเพศ ลำไส้ผิดปกติ การย่อยผิดปกติ โรคกระเพาะ ปวดท้อง ท้องร่วง
15. นิสัย : รชัสสะคุณะ (Rajasa Guna) เจ้าคำพูด เจ้าวาทะศิลป์ ร่าเริง ชอบร่วมเพศด้วยท่าแปลกๆ ปากหวาน เอาใจเก่ง เจ้าปัญญา มีไหวพริบปฏิภาณคล่องแคล่ว ชอบตลกขบขัน วางท่าโต ใจดี ร้องเพลง ปรุงอาหาร เจ้าบทเจ้ากลอน พูดจาฉะฉาน
16. บุคคล : เด็กๆ ลุง น้า บุตร หลาน ญาติฝ่ายพ่อ ลุงน้าฝ่ายแม่ พ่อค้า พวกหากินกับปาก ร้านอาหาร นักแต่งเพลง นักประพันธ์ นักร้อง นักแสดง ทหารอากาศ
17. สถานที่ : สนามหน้าบ้าน สนามกีฬา ที่เล่นกีฬา ร้านอาหาร ห้องอาหาร
18. รูปร่าง : สมส่วน สะโอดสะอง เพรียว โปร่ง อ้อนแอ้น มีลำข้อแข็งแรงและใหญ่โต
19. สิ่งอื่นๆ : รสปร่าหรือหลายรสผสมกัน ต้นไม้ผลออกตามฤดูกาล ผ้าไหมสีดำ ผ้าที่เปียกน้ำ เครื่องนุ่มห่ม แร่ธาตุที่เอามาทำระฆัง สุนทรพจน์ พระสุพรรณบัฏ ลายมือเขียน ตัวอักษร บ้าน การเขียน การพูด การสลัก พระเครื่อง วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ ฉากตั้ง ป้ายโฆษณา อุปศาสตร์และตำราพิชัยสงคราม เอกสาร กระดาษ ธนบัตร
20. ประวัติการกำเนิด
         ครั้งหนึ่ง พระจันทร์เกิดมีใจหลงรักนางทาระ ซึ่งเป็นภรรยาของพระพฤหัสบดีมหาฤๅษี พระจันทร์จึงลักพาตัวนางทาระไปอยู่ด้วยตน หลังจากนั้นไม่นาน นางทาระจึงให้กำเนิดพระพุธ
         เทวลักษณะของพระพุธ เป็นชายหนุ่มมีสี่กร ถือดาบ ๑ โล่ ๑ คฑา ๑ ประทานพร ๑ รถม้าของพระพุธเป็นสีน้ำตาลอ่อนเทียมด้วยม้าขาว ๘ ตัว สัตว์พาหนะคือสิงห์ ตามคติไทย พระพุธทรงช้างเป็นพาหนะ ถือตะขอสับช้างเป็นอาวุธ

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ