สมพงศ์นาคคู่
สมพงษ์นาคคู่นั้น เป็นตำราการดูสมพงษ์ที่โบราณใช้กันมานานมากแล้ว ซึ่งจากที่ดูแล้ว ตำราสมพงษ์ของไทยนั้น นำหลักของปีนักษัตรแบบจีน คือ ชวด ถึง กุนมาใช้ แต่มิได้นำหลักการ "ฮะ" ของจีนมาใช้แต่อย่างใด ในบางกรณีการสมพงษ์ตามตำราของคนไทย ออกจะดูแปลก ๆ เสียด้วยซ้ำไป โดยไม่ทราบว่านำหลักการใดมาสร้างขึ้น หรืออาจเป็นเพราะจำผิดเพี้ยนไปก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ก็จะขอนำเสนอไว้ในฐานะเป็นภูมิปัญญาของคนไทย อย่างน้อยเป็นความรู้ให้กับคนรุ่นหลังก็ยังดี
ในตำราของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า กำหนดว่าถ้าผู้ชายให้นับหัวมาหาหาง ถ้าผู้หญิงให้นับหางมาหัว ถ้าหญิงได้เลขตัวใด
ผู้ชายได้เลขตัวใด ให้เอาเลขนั้นมาบวกกันเข้า เอา ๑๒ คูณ ๗ หาร ถ้าได้เศษ ๑
เข็ญใจหาลาภมิได้ทุกสิ่ง เงินทองแก้วแหวน ข้าไทยพ่อแม่แบ่งปันให้ก็พลัดพรากจากกันแล
ถ้าเศษ ๒ อยู่ด้วยกันเจ็บหัวมัวตา และสิ่งสินเงินทองหายากนักหนา ทำกินความคราบคราบ่อเป็นการเลย
ถ้าได้เศษ ๓ ผู้นั้นสำราญเงินทองมั่งมีเหลือหลาย วัวควายช้างม้ามากมีสมปองทั้งสอง
ผัวเมียอยู่ดีกินดี ถ้าได้เศษ ๔ สิ่งสินหายสูญ เกิดพยาธิโรคา หญิงชายล้มตายมรณาแล
ถ้าได้เศษ ๕ ดีจะมั่งมีเงินทองทรัพย์ข้าวของมากเหลือหลาย ข้าหญิงชายวัวควายกองก่ายด้วยบุญของเขาทั้ง
๒ สมบัติมั่งมีแล ถ้าได้เศษ ๖ สมบัติมั่งมีทั้งข้าหญิงชายเหลือหลายมั่งมี
แก้วแหวนเงินทองมีทั้งสองสถานแล ถ้าได้เศษ ๗ หรือ ๐
สิ่งสินหายากเงินทองเสาวภาเก็บชายเรียงตัวแล สิ้นทุกประการฉิบหายบรรลัยแล ฯ
การนับคือการนับนักษัตรปีเกิดโดยเริ่มต้นที่ปีชวด
โดยผู้ชายจะใช้แถวบนนับจากหัวไปหาง ส่วนผู้หญิงใช้แถวล่างนับจากหางมาที่หัวนาค
แล้วค่อยดูว่าตกเลขอะไร ล่าวโดยสรุปคู่ที่จะได้เศษ ๓ ๕ หรือ ๖ คือคู่เลข ๑-๑, ๑-๓,
๑-๗, ๒-๒, ๒-๖, ๒-๗, ๓-๕, ๓-๖, ๔-๗ และ ๕-๖ ที่เหลือกว่านั้นไม่ได้เศษดีเลย
และต้องพึงระลึกว่า เลข ๑ – ๕ นั้น แทน 2 ปีนักษัตรเสมอ เลข
๑ คือ ชวดกับมะแม เลข ๒ คือ ฉลูกับวอก เลข ๓ คือ ขาลกับระกา เลข ๔ คือ เถาะกับจอ
เลข ๕ คือ มะโรงกับกุน ยังมีตำราอื่นระบุว่าให้ถือเลข ๑ – ๑๒
ชายนับจากหัวไปหาหาง ส่วนหญิงนับจากหางมาหาหัว เริ่มนับที่ ๑ เป็นปีชวดเหมือนกัน
เมื่อนับได้อะไร ให้ดูว่าเหลือเท่าไรจึงจะครบ ๑๒ ถ้าปีกุน ให้เหลือ ๐
ให้นำเลขที่เหลือนั้นของชายและหญิงมาบวกกัน จากนั้นคูณ ๓ หาร ๗ ถ้าได้เศษ ๑ ๕ ๖
ถือว่าสมพงษ์กัน
ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า
เมื่อนำเลขหญิงชายตามตำราของหลวงปู่ศุข มาบวกกันแล้วเรียงตามจำนวนน้อยไปหามาก จากนั้นคูณ
12 หาร 7 แล้ว เศษที่ได้ก็จะเรียงกันตามลำดับยามกลางวัน คือ ๑ ๖ ๔ ๒ ๗ ๕ ๓
เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ส่วนสูตรของตำราอื่นที่ให้นับเลขที่เหลือมาบวกกันนั้น
เมื่อคูณ 3 หาร 7 เศษที่ได้จะเรียงกันตามลำดับยามกลางคืนแทน คือ ๑ ๕ ๒ ๖ ๓ ๗ ๔
เมื่อนำสองสูตรมากรองด้วยกันแล้ว จะพบว่ามีเพียงไม่กี่คู่เท่านั้น
ที่จะสมพงษ์ตรงกันทั้งสองสูตร คือ ๑-๗, ๒-๖, ๓-๕, ๔-๔
ในตำรายังกำหนดต่ออีกว่า สิทธิการิยะ ถ้าหญิงแลชายอยู่หัวด้วยกันจะตายจากกันแล ฯ ถ้าอยู่หัวและหลัง
มีทรัพย์มากยศศักดิ์มากแล ฯ ถ้าหลังแลหาง หาโทษมิได้ประสิทธินักแล ฯ
ถ้าหางและหางมีทรัพย์มากความสุขมากแล ฯ ถ้าหัวและท้อง (หลัง) มีทรัพย์มากแล ฯ
ถ้าอยู่ต่างตัวนาคกัน จะเกิดวิวาทกัน ตีกันแล ฯ ถ้าอยู่หลังด้วยกันจะเกิดเถียงกัน
ถ้าว่าสมบัติมากด้วยกันแล ฯ ถ้าว่ายืนด้วยกันถ้าเขาอยู่หัวด้วยกันนาคชอบปรีเงินทองไม่มีทั้งตัวจะต้องมอดไหม้ม้วยมรณาแล
ฯ ถ้าเขาทั้งสองอยู่กลาง (หลัง) และหัวได้ความสุขทุกประการจะเกิดลูกสำราญใจแล ฯ
ถ้าเขาทั้งสองอยู่หลังและหลังร้ายนักหนา สิ่งสินถอยศักดิ์ตัวจะม้วยมรณาแล ฯ
ถ้าเขาทั้ง ๒ อยู่กลาง (หลัง) และหางนาค สมบัติพัสถานเกิดลูกสืบสายแล ฯ ถ้าเขาทั้ง
๒ อยู่หางและหางนาคร้ายนักหนา ตัวจะม้วยมรณาแล ทรัพย์นั้นจะพลัดพรากจากสูญหายแล ฯ
อยู่ต่างกันจะเกิดก่อการวิวาททุ่มเถียงทั้งยายีกันมิดีแล ฯ
ประการแรกต้องพึงทราบก่อนว่าส่วนใดเป็นหัว
หลัง หรือหาง โดยทั้งหมดจะมี 12 จุด 4 จุดแรกจะเป็นหัวนาค 2
จุดแรกจะเป็นหัวตัวเดียวกัน และ 2 ต่อมาเป็นหัวของอีกตัวหนึ่ง 4 จุดลำดับที่ 2
จะเป็นช่วงหลัง กลางตัว หรือท้องตามแต่จะเรียก โดย 2 จุดแรกจะเป็นของตัวแรก และ 2
จุดต่อมาเป็นของอีกตัวหนึ่ง และ 4 จุดสุดท้ายจะเป็นหาง โดย 2 จุดแรกเป็นของตัวแรก
และ 2 จุดต่อมาเป็นของอีกตัวหนึ่ง
ประการต่อมาจะกล่าวสรุปหลักที่เขียนไว้ในตำราดังนี่ว่าหากนับแล้วตกนาคต่างตัวกัน
คือ อยู่คนละตัวกัน ถือว่าจะทะเลาะวิวาทกัน ไม่ดีทุกกรณี เพราะแม้จะมีทรัพย์มาก
แต่อยู่ด้วยกันไม่ได้ ก็ถือว่าไม่สมพงศ์กัน ถ้าอยู่ส่วนหัวด้วยกัน หลังด้วยกัน
หรือหางด้วยกัน แม้จะตัวเดียวกัน ก็ถือว่าไม่ดีในทุกกรณีเช่นกัน และยิ่งถ้าตกส่วนหัว
หลัง หางด้วยกัน แต่ต่างตัวนาคอีกด้วย จะยิ่งถือว่าอยู่ด้วยกันไม่ได้
ในหลักการอยู่หัว หลัง และหางด้วยกันนี้ ตำราอื่น ๆ มักจะทำนายไว้ว่าดีนัก
มักจะรักกันมาก ยกเว้นว่าตกในจุดเดียวกัน ถ้าเช่นนั้นจึงจะถือว่าไม่ดี
ความสมพงษ์จะมักจะเกิดขึ้นหากปรากฎว่าชายหญิงตกคนละส่วนกัน
และอยู่ในตัวเดียวกัน เช่น หัวและหลัง หัวและหาง หลังและหาง
แต่เฉพาะหัวและหางท่านว่ามีทรัพย์พอประมาณ ที่เหลือจะทำนายว่ามีทรัพย์มากมาย
และหลักการทำนายสุดท้ายคือเมื่อนับปีเกิดของชายและหญิงตกที่จุดใด
ให้โยงเส้นลงมาเพื่อดูว่าปริมาณทรัพย์สินเป็นเช่นไร หากว่าตกเงินและทอง
จะถือว่ามีทรัพย์มาก แต่หากว่าตกกรวดและทราย จะถือว่ามีทรัพย์น้อย
เมื่อนำทั้งหลักการเศษและหลักส่วนและตัวของนาคมาวิเคราะห์ร่วมกันทั้ง 2
ตำรา พบว่ามีแค่เพียงไม่กี่คู่เท่านั้นที่จะตรงตามหลักนี้ทั้งหมด คือ ชวดและขาล,
ชวดแลเถาะ, ชวดและมะเมีย, ชวดและมะแม, ชวดและจอ, ชวดและกุน, ฉลูและขาล,
ฉลูและเถาะ, ฉลูและมะเมีย, ขาลและมะโรง, ขาลและมะเส็ง, ขาลและวอก, มะโรงและมะเมีย,
มะเส็งและกุน, มะเมียและวอก, มะแมและระกา, วอกและจอ และสุดท้ายคือ ระกาและกุน
แต่ถ้าพิจารณาโดยนำเรื่องการก่อเกิดธาตุของจีนมาวิเคราะห์ด้วยจะพบว่า มีบางคู่ที่มีลักษณะชงปีกัน และเป็นสิ่งต้องห้ามตามดวงจีน คือ ชวดและมะเมีย ขาลและวอก มะเส็งและกุน 3 คู่นี้นับว่าเป็นปีชงแก่กันไม่ควรจะคบหากัน เพราะจะทำให้เดือดเนื้อร้อนใจด้วยกันทั้งคู่ อย่างไรก็ดี ตำราสมพงษ์นาคคู่นี้ก็ถือว่าเป็นวิชาโบราณของไทย อันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม แม้เราจะไม่ทราบว่าคนไทยโบราณใช้หลักใดคิด แต่ก็ควรจะรักษาไว้ในฐานะมรดกของชนรุ่นหลัง