วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีทั้ง 12 ดาวฤกษ์ทั้ง 27 ในกลุ่มดาวดาราศาสตร์สากล ตอนที่ 6

 


                 กลุ่มดาวแพะทะเล (Capricorn - แคพพริคอน) ของดาราศาสตร์สากลนั้น ก็มีลักษณะเป็นสัตว์ครึ่งแพะครึ่งปลา เหมือนกับลักษณะของราศีมังกรในทางโหราศาสตร์ คือครึ่งแรกเป็นปศุคือแพะ ครึ่งหลังเป็นอัมพุคือปลา ตำนานของกลุ่มดาวแพะทะเลนั้นมาจาก นางไม้ที่มีลักษณะครึ่งแพะที่ชื่อ อมัลที (Amalthea) ที่เลี้ยงดูเทพซุสจนเติบโต เทพโครนัส (Cronus) เทพแห่งเวลา ที่ยึดบัลลังค์จากเทพยูเรนัส (Uranus) บิดาของตนเอง เทพยูเรนัสก็ได้สาปเทพโครนอสไว้ว่า บุตรของโครนอสก็จะมายึดบัลลังค์เหมือนที่โครนอสทำกับบิดาตนเอง ด้วยเหตุนี้ทำให้เทพโครนอสก็กินลูก ๆ ทุกคนของตนเองลงท้องทั้งหมด จนมาถึงบุตรคนสุดท้ายคือ เทพซุส เทพีเรอามารดาของเทพซุสทรงนำเทพซุสไปซ่อนไว้ แล้วเอาก้อนหินมาห่อผ้าให้เทพโครนอสกินแทน เทพซุสก็ถูกเลี้ยงดูโดยนางไม้อมัลทีจนเติบโต และต่อมาก็ได้ยึดบัลลังค์จากเทพโครนอสหลายเป็นมหาเทพผู้ปกครองสวรรค์ เทพซุสจึงนำวิญญาณของอมัลทีไปสถิตบนท้องฟ้ากลายเป็นกลุ่มดาวแพะทะเล ในอารยธรรมเมโสโปเตเมียราศีมังกรจะเป็นราศีของเทพเอ็นกิ (Enki) เทพแห่งการช่าง ผู้สร้างความศิวิไลซ์ต่าง ๆ


                 ในทางโหราศาสตร์ ราศีมังกรจะประกอบไปด้วยฤกษ์อุตรษาฒ 3 บาท ศรวณะ 4 บาท และธนิษฐา 2 บาท ดังนั้นกลุ่มดาวธนิษฐาจึงถือว่าอยู่ในอาณาเขตของราศีมังกร กลุ่มดาวธนิษฐานนี้คือกลุ่มดาวปลาโลมาในทางดาราศาสตร์สากล แต่กลุ่มดาวปลาโลมาจะมีหางด้วย 1 ดวง ในขณะที่กลุ่มดาวธนิษฐาจะมีเพียง 4 ดวงที่เป็นส่วนหัวของปลาโลมาเท่านั้น กลุ่มดาวปลาโลมาก็ไม่มีตำนานที่เฉพาะนัก เพียงแต่กล่าวว่า ปลาโลมาคือสัตว์รับใช้ของเทพโปเซดอน (Poseidon) เทพแห่งท้องทะเลเท่านั้น ในทางโหราศาสตร์ไทยจะเรียกกลุ่มดาวธนิษฐาว่ากลุ่มดาวไซ

                  นักโหราศาสตร์ไทยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่ากลุ่มดาวฤกษ์มีทั้งหมด 27 กลุ่มดาว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มดาวฤกษ์ทั้งหมดของทางไทยและอินเดียมีทั้งสิ้น 28 กลุ่มดาวเท่ากับของจีน กลุ่มดาวฤกษ์ลำดับที่ 28 นั้นอยู่ในราศีมังกรนี้เอง แต่เนื่องจากอาณาเขตของมันแคบมาก ตอนหลังจึงถูกตัดออกไป ทำให้กลุ่มดาวฤกษ์เหลือเพียง 27 กลุ่มหลักเท่านั้น กลุ่มดาวฤกษ์นี้มีชื่อว่าฤกษ์อภิชิต (Abhijit) เป็นฤกษ์ลำดับที่ 28 มีอาณาเขตคือ บาทสุดท้ายของอุตรษาฒบวกกับประมาณ 1 ใน 4 ของบาทแรกของฤกษ์ศรวณะ ดาวที่เด่นสุดคือดาวอภิชิตนี้ ในทางสากลเรียกว่าดาววีกาหรือเวกา (Vega) และทางสากลก็เรียกกลุ่มดาวอภิชิตนี้ว่าเป็นกลุ่มดาวพิณ (Lyra) คัมภีร์ภควัตคีตาได้ระบุไว้ว่า พระกฤษณะทรงเกิดภายใต้ฤกษ์อภิชิตนี้

                 กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (Aquarius - อะควาริอัส) ของราศีกุมภ์ ไม่มีตำนานที่เกี่ยวข้องแน่ชัดนัก จึงขอละเอาไว้และข้ามไปกล่าวถึงเรื่องของกลุ่มดาวศตภิษัตซึ่งอยู่กลางราศีกุมภ์และอยู่ตรงกลางกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ เป็นดาว 4 ดวงโดยมีดาวตรงกลางดวงหนึ่ง และมีดาวอีก 3 ดวงล้อมรอบเป็น 3 แฉก

                 กลุ่มดาวปุรวภัทรบทเป็นฤกษ์สุดท้ายของราศีกุมภ์ ในทางโหราศาสตร์ไทยจะเรียกว่ากลุ่มดาวสิงโตตัวผู้ แท้จริงแล้วเป็นดาวในกลุ่มดาวม้ามีปีกหรือเปกาซัส (Pegasus) กลุ่มดาวปุรวภัทรบทคือดาวที่เป็นส่วนต้นคอม้าและดาวที่เป็นต้นขาม้า ส่วนกลุ่มดาวอุตรภัทรบทนั้น เป็นฤกษ์ที่อยู่ตรงกลางของราศีมีน แต่ในแผนภูมิดังกล่าวนี้ ยังไม่ได้นำเสนอกลุ่มดาวปลาของราศีมีน เพราะเหตุว่าจะแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกับกลุ่มดาวปุรวภัทรบทในแง่ที่รวมกันเป็นกลุ่มดาวเพดานเสียก่อน กลุ่มดาวอุตรภัทรบทประกอบด้วยดาวที่เป็นปลายปีกของม้ามีปีก และดาวส่วนศีรษะของกลุ่มดาวแอนโดรเมดา (Andromeda) อีกหนึ่งดวง รวมเป็นสองดวงกลายเป็นกลุ่มดาวอุตรภัทรบท เมื่อรวมดาวปุรวภัทรบทและอุตรภัทรบทเข้าด้วยกันก็จะกลายเป็นดาวเพดานอีกกลุ่มดาวหนึ่ง กลุ่มดาวอุตรภัทรบทนี้ทางโหราศาสตร์ไทยเรียกว่ากลุ่มดาวสิงโตตัวเมีย


                 กลุ่มดาวสุดท้ายของทั้งสิบสองราศีคือ กลุ่มดาวปลา (Pisces - พิซเซส) ของราศีมีน ตำนานของกลุ่มดาวปลานี้มีสั้น ๆ คือ ในตอนที่เทพีไกอาส่งอสูรกาลไทฟอน (Typhon) มาบุกทำลายสวรรค์นั้น เทพีอะโพรไดท์ (Aphrodite) และเทพเอรอส (Eros) หรือคิวปิด (Cupid) บุตรของเทพี ได้อ้อนวอนต่อเทพยดาแห่งทะเลให้ช่วยพาพระองค์ทั้งสองหนี เทพยดาแห่งท้องทะเลจึงส่งปลา 2 ตัวมาพาพระองค์ไปในที่ปลอดภัย ปลา 2 ตัวนั้นจึงขึ้นไปสถิตบนท้องฟ้ากลายเป็นกลุ่มดาวปลาของราศีมีน

                 และกลุ่มดาวที่เป็นฤกษ์สุดท้ายของทั้งราศีมีนและจักร์ราศีคือ กลุ่มดาวเรวดี ซึ่งทางโหราศาสตร์ไทยเรียกว่ากลุ่มดาวปลาตะเพียน ประกอบด้วยดาวของกลุ่มดาวแอนโดรเมดา 4 ดวงรวมกับดาวข้างเคียงอีก 1 ดวงเป็นหัวปลา ดาวในส่วนแขนของแดนโดรเมดา 2 ดวงรวมกับดาวของกลุ่มดาวปลาอีก 2 ดวงกลายเป็นลำตัวปลา และสุดท้ายคือดาวของกลุ่มดาวปลา 3 ดวงและดาวที่อยู่กลางกลุ่มดาวปลาอีก 2 ดวงเป็นหางปลา รวมกันทั้งหมดจึงกลายเป็นรูปปลาตัวเดียว จุดสำคัญจะอยู่ที่ดาว 2 ดวงที่อยู่ในวงกลม อันเป็นดาวที่แสดงว่าเป็นอาณาเขต 0 องศาราศีเมษ แต่เนื่องจากดาว 2 ดวงนี้เป็นดาวมีแสงน้อยมาก ดังนั้นในปัจจุบันอาจจะไม่สามารถมองเห็นได้อีกต่อไปแล้ว และจุดที่สำคัญคือ ดาวที่เป็นมุมหางปลาที่วงกลมไว้ คือจุดตรงข้าม 180 องศากับดาวจิตรา หรือก็คือ 0 องศาราศีเมษนั่นเองครับ ซึ่งเป็น 0 องศาราศีเมษแบบอินเดียนะครับผม หากเป็น 0 องศาราศีเมษแบบสากลซึ่งกำหนดโดยปโตเลมีจะอยู่ถัดเข้ามาทางกลุ่มดาวราศีเมษอีกประมาณ 3 - 4 องศาครับ อีกประการที่น่าสนใจเกี่ยวกับนักษัตรเรวดีนี้ก็คือทางสมาคมโหราศาสตร์อินเดียระบุว่ากลุ่มดาวที่อยู่กึ่งกลางนักษัตรเรวดีคือดาวเซตาพิสซิอุม (Zeta Piscium) แต่ความจริงเมื่อวัดองศาในทางแผนที่ของหมู่ดาวพบว่า ดาวที่อยู่กึ่งกลางนักษัตรเรวดีที่แท้จริงคือดาวแอพซิลอนพิสซิอุม (Epsilon Piscium) ที่อยู่ใกล้กันต่างหาก

                 จบแล้วนะครับสำหรับการอธิบายกลุ่มดาวราศีทั้ง 12 ราศีและดาวฤกษ์ทั้ง 27 ฤกษ์ ต่อไปนี้นักโหราศาสตร์ทั้งไทยและอินเดียทุกท่านก็จะทราบแล้วว่า ฤกษ์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนั้น อยู่ตรงไหนบนท้องฟ้ากันบ้างครับผม

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ
https://www.facebook.com/profile.php?id=100009582517663
ผู้ใดที่สนใจเรียนโหราศาสตร์ภารตะฟรี (ไม่เก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น) สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 082 - 454 - 6554
หรือสามารถดูรายละเอียดได้ในเนื้อของบล๊อคนี้ ในเดือนเมษายน ปี 2015 นะครับ