วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2559

โหราศาสตร์ภารตะ - ราศีทั้ง 12 ดาวฤกษ์ทั้ง 27 ในกลุ่มดาวดาราศาสตร์สากล ตอนที่ 5



                 กลางเดือนกรกฎาคม ประมาณ 20.00 เราจะเริ่มเห็นกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius - ซาจิทาริอัส) แบบเต็มกลุ่มดาว ในเขตเมืองเราอาจจะเห็นกลุ่มดาวคนยิงธนูได้ไม่ครบทั้งหมด จะเห็นแต่เพียงกลุ่มดาวปุรวษาฒ ดาวตรงกลาง และกลุ่มดาวอุตรษาฒเท่านั้น ส่วนที่เป็นลำตัวทางด้านหลังจะเป็นดาวที่มีแสงน้อย ดังนั้นอาจจะไม่สามารถมองเห็นได้หากอยู่ในเขตเมืองใหญ่ ขอบเขตของราศีธนูนั้นสิ้นสุดที่บาทแรกของฤกษ์อุตรษาฒ แสดงว่าในทางโหราศาสตร์อินเดียนั้น อนาเขตของกลุ่มดาวราศีธนูสิ้นสุดที่ดาวดวงแรกของกลุ่มดาวอุตรษาฒ แสดงว่าดาวในส่วนท้ายทั้งหมดของกลุ่มดาวคนยิงธนู ถือเป็นราศีมังกรแล้วในทางโหราศาสตร์อินเดีย กลุ่มดาวคนยิงธนูนั้นท่องบนเป็นคนถือธนู ส่วนท่อนล่างเป็นม้า ตำนานกรีกที่เกี่ยวกับครึ่งคนครึ่งสัตว์นั้นมีอยู่ 2 ตำนานด้วยกัน ตำนานแรกเป็นของคนครึ่งม้า หรือภาษากรีกเรียกว่า เซนทอร์หรือเซนทัวร์ (centaur) ที่ชื่อว่า ไครอน (Chiron) เป็นผู้ที่มีความสามารถยิงธนูได้แม่นยำ อีกตำนานหนึ่งเป็นของคนครึ่งแพะ คือ ส่วนบนเป็นคนแต่ส่วนล่างมีสองขาและเป็นขาของแพะ หรือภาษากรีกเรียกว่า ซาเทอร์ (satyr) ที่ชื่อว่า โครตัส (Crotus) ซึ่งเป็นนายพรานเหมือนกัน และเนื่องจากดาราศาสตร์สากลก็มีกลุ่มดาวที่มีลักษณะแทนด้วยคนครึ่งม้าอยู่ 2 กลุ่มดาว คือ กลุ่มดาวคนยิงธนูของราศีธนู และกลุ่มดาวคนครึ่งม้า จึงทำให้ชาวตะวันตกสับสน และเนื่องจากกลุ่มดาวคนครึ่งม้ามีชื่อชัดเจนว่า กลุ่มดาวเซนทอร์ ดังนั้นชาวตะวันตกจึงยกตำนานกรีกเรื่องไครอนคนครึ่งม้าให้กับกลุ่มดาวคนครึ่งม้า และยกตำนานของโครตัสคนครึ่งแพะให้กับกลุ่มดาวคนยิงธนู


                 แสดงให้เห็นว่าชาวตะวันตกก็มิได้มีความเข้าใจในรากเหง้าระบบดาราศาสตร์ของตนเองสักเท่าใดนัก จากที่เราศึกษามาจะพบว่าระบบดาราศาสตร์ของอินเดียนั้นมีความเก่าแก่ย้อนหลังไปถึง 3,000 ปีก่อนคริสต์กาลหรือมากกว่านั้น กลุ่มดาวคนยิงธนูจึงได้ชื่อว่าถือกำเนิดมาก่อนกลุ่มดาวคนครึ่งม้า ดังนั้นการมอบตำนานของไครอนให้กับกลุ่มดาวคนครึ่งม้าที่เกิดมาที่หลังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและบิดเบือน ในคัมภีร์ปาระสาระโหราศาสตร์ก็ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า ราศีธนูนั้นครึ่งแรกเป็นนระคือมนุษย์ ครึ่งหลังเป็นปศุคือสัตว์สี่เท้า มิใช่สัตว์สองเท้า สัญลักษณ์ของราศีธนูตามคัมภีร์จึงหมายถึงสัตว์ที่ชื่อ เซนทอร์ ไม่ใช่ ซาเทอร์ เหมือนที่ชาวตะวันตกเข้าใจ

                 โครตัสส เป็นเทพครึ่งคนครึ่งแพะ มีความสามารถยิงธนูได้แม่นยำเพราะว่าเป็นนายพราน หมกมุ่นกับตัณหา และไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่โลกเลยสักอย่างเดียว ตำนานของโครตัสจึงไม่ตรงกับลักษณะของราศีธนูอย่างยิ่ง ซึ่งแตกต่างจากตำนวนของไครอนที่มีเรื่องราวคล้ายกับลักษณะของราศีธนูอย่างมาก แต่ก่อนจะเล่าถึงเรื่องราวของไครอน จะต้องรับรู้เรื่องราวของบุคคลหนึ่งชื่อว่า โพรมิธีอัส (Prometheus) เสียก่อน โพรมิธีอัสเป็นยักษ์ไททัน (Titan) อันเป็นบุตรของเทพยูเรนัสหรืออุรานุส (Uranus) เทพแห่งท้องฟ้า และเทพีไกอา เทพีแห่งธรณี เมื่อตอนที่เกิดศึกสงครามระหว่างยักษ์ไททันและซุส โพรมิธีอัสอยู่ฝ่ายซุส เมื่อฝ่ายซุสชนะ โพรมิธีอัสจึงไม่ต้องถูกส่งไปในนรกแทนทาลัส (Tartarus) เหมือนกับยักษ์ไททันตนอื่น ๆ โพรมิธีอัสในภาษากรีกแปลว่า คิดก่อนทำ มีน้องชายคนหนึ่งชื่อ เอพิมีธิอัส (Epimetheu) แปลว่า ทำก่อนคิด พี่น้องทั้งสองคนนี้ได้รับคำสั่งจากซุสให้สร้างมนุษย์และสัตว์ เอพิมีธีอัสสร้างสัตว์ขึ้นมาหลายอย่างและด้วยเอกลักษณ์ของตนคือทำก่อนคิด ก็เลยให้พรดี ๆ แก่สัตว์ทั้งหลายไปหมด ทั้งให้มีเขี้ยว เล็บ ความแข็งแกร่ง และให้บินได้ โพรมิธีอัสเห็นว่าพรดี ๆ หมดไปแล้ว ก็เลยสร้างมนุษย์ขึ้นมาโดยสร้างเลียนแบบเทพเจ้า จากนั้นก็มอบความรู้ทั้งดาราศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ฯลฯ ให้กับมนุษย์ รวมทั้งไฟด้วย มนุษย์จึงกลายเป็นผู้ที่มีความชาญฉลาด

                 ต่อมาซุสก็มีคำสั่งให้มนุษย์ต้องบูชายัญเทพเจ้าโดยเรียกเอาส่วนแบ่งจากเนื้อสัตว์ที่มนุษย์หามาได้ บางตำราก็ว่าโพรมิธีอัสยังแค้นซุสอยู่ หรือบางตำราก็ว่าโพรมิธีอัสรักในมนุษย์ จึงคิดกลอุบายขึ้นมา โดยฆ่ากระทิงตัวหนึ่งแล้วแบ่งออกเป็น 2 กอง กองแรกเอาเนื้อดี ๆ มาห่อด้วยเครื่องในเน่า ๆ ส่วนกองที่สองเอากระดูกมาห่อด้วยมันกระทิงดูสวยงาม จากนั้นก็เชิญเทพซุสมาเลือกเครื่องสังเวย ซุสเห็นว่ากองที่สองนั้นมีมันสวยงาม จึงเข้าใจว่าภายในคงจะเป็นเนื้อ จึงเลือกกองที่ 2 แต่พอเปิดดูบนสวรรค์กลับพบว่าข้างในมีแต่กระดูก ดังนั้นชาวกรีกตั้งแต่โบราณจึงบูชาเทพด้วยกระดูกและไขมันสัตว์

                 เทพซุสทรงพิโรธจึงแก้แค้นมนุษย์ด้วยวิธี 3 ประการ ประการแรกคือยึดไฟคืนจากมนุษย์ ประการที่สองคือสร้างมนุษย์ผู้หญิงขึ้นมาให้ชื่อว่า แพนดอร่า (Pandora) ที่แปลว่า ของขวัญอันมีค่าทั้งมวล ซึ่งแพนดอร่านี้มีหน้าตารูปร่างที่สวยงามมาก มอบให้กับโพรมิธีอัสเป็นของขวัญ แต่เขาปฏิเสธที่จะรับไว้ และกล่าวเตือนเอพิมีธีอัสว่าอย่ารับของขวัญดังกล่าว แต่เอพิมีธีอัสไม่เชื่อ เลยรับแพนดอร่าไว้เป็นภรรยา วันหนึ่งแพนดอร่าได้รับกล่องใบหนึ่งจากเทพเจ้าพร้อมกับคำสั่งว่า ห้ามเปิดดูเด็ดขาด แต่เพราะแพนดอร่ามีความเป็นผู้หญิง จึงมีความสงสัยใคร่รู้เป็นกำลัง เมื่อแง้มฝากล่องออกดู ทันใดนั้นเอง ความชั่วร้าย ความเศร้า ความโชคร้าย และโรคระบาดต่าง ๆ ก็ถูกปล่อยออกมา แพนดอร่าเห็นดังนั้นก็เลยรีบปิดฝา ทำให้สิ่งสุดท้ายคือ ความหวัง ไม่ได้ออกมาจากกล่องด้วย และประการสุดท้ายคือ ซุสบันดาลให้น้ำท่วมโลกใบนี้ทั้งหมด

                 เทพซุสทรงลงโทษโพรมิธีอัสด้วยการใช้โซ่ที่ทำขึ้นจากแร่อดามันไทน์อันเป็นเหล็กที่แกร่งเท่าเพชร ล่ามโพรมิธีอัสไว้ที่ภูเขาคาซเบค (Kazbek) ในหุบเขาคอเคซัส (Caucasus) ปัจจุบันภูเขาลูกนี้ตั้งอยู่ในประเทศจอร์เจียใกล้กับชายแดนของประเทศรัสเซีย จากนั้นก็บันดาลให้มีนกอินทรีย์มาจิกกินตับของโพรมิธีอัสในตอนกลางวันจนโพรมิธีอัสตาย จากนั้นในตอนกลางคืนตับก็จะคืนกลับเหมือนเดิม เป็นเช่นนี้จนกว่าจะมีผู้เป็นอมตะคนใดใช้ความเป็นอมตะมาแลกกับชีวิตของโพรมิธีอัส หรือมีมนุษย์คนใดฆ่านกอินทรีย์ตายและปลดปล่อยเขาได้

                 มาถึงเรื่องของไครอนเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งม้า เป็นบุตรของเทพโครนัส (kronus) และนางไม้ฟิเรร่า (Philyra) ไครอนมีความสามารถหลายอย่าง ทั้งการแพทย์ ปรัชญาและศีลธรรม การยิงธนู การฟันดาบ ฯลฯ มีลูกศิษย์มากมาย วีรบุรุษแทบทุกคนเป็นลูกศิษย์ไครอนทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น เฮอร์คิวลิส เจสัน ธีซีอัส เปอร์ซีอุส อะคีเลียส เป็นต้น จะเห็นว่าลักษณะของไครอนมีความเหมาะสมกับราศีธนูที่ครอบครองด้วยพระพฤหัสบดีและแสดงถึงความเป็นครูอาจารย์เป็นอย่างมาก

                 วันหนึ่งเฮอร์คิวลิสมาเยี่ยมเยียนไครอนผู้เป็นอาจารย์ มีการทบทวนการยิงธนู เฮอร์คิวลิสไม่ทันระวังจึงยิงธนูพลาดไปปักที่หัวเข่าของไครอน โดยลูกธนูนั้นอาบพิษของไฮดร้าเอาไว้ แต่เพราะไครอนเป็นอมตะเขาจึงไม่ตาย แต่ก็ได้รับความเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัสแทน ไครอนจึงบอกให้เฮอร์คิวลิสพาตนไปหาโพรมิธีอัส จากนั้นก็ใช้ความอมตะของตนแลกกับอิสระของโพรมิธีอัส ทำให้โพรมิธีอัสหลุดจากคำสาปได้ ด้วยเหตุนี้เทพซุสจึงนำวิญญาณของไครอนไปสถิตบนท้องฟ้าเป็นกลุ่มดาว หากเป็นชาวตะวันตกจะบอกว่าเป็นกลุ่มดาวคนครึ่งม้า แต่ในความคิดของผู้เขียนแล้ว ตำนานนี้ควรคู่กับกลุ่มดาวคนยิงธนูของราศีธนูเสียมากกว่า

                 กลุ่มดาวปุรวษาฒ เป็นฤกษ์แรกของราศีธนู ดังนั้นตำแหน่งของกลุ่มดาวนี้บ่งบอกเป็นเขตเริ่มต้นของราศีธนู กลุ่มดาวปุรวษาฒจะประกอบไปด้วยดาว 3 ดวงเรียงตัวคล้ายปากนก กลุ่มดาวอุตรษาฒ เป็นกลุ่มดาวที่มี 5 ดวงด้วยกัน โดยมีดาวศูนย์กลางหนึ่งดวง และดาวที่อยู่ในทิศทั้งสี่อีก 4 ดวงรวมกันเป็น 5 ดวง ฤกษ์อุตรษาฒที่อยู่ในราศีธนูนั้นมีเพียงบาทแรกเท่านั้น ส่วนอีกสามบาทที่เหลืออยู่ในราศีมังกร จึงอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มดาวอุตรษาฒคือจุดเริ่มต้นขอบเขตของราศีมังกรวันเพ็ญแรกเมื่อพระจันทร์อยู่ในกลุ่มดาวอุตรษาฒนี้ จะกลายเป็นวันอาสาฬหปูรณมีบูชา อันเป็นวันสำคัญทางศาสนาของไทย

                 กลุ่มดาวนกอินทร์ย์นั้นไม่มีตำนานกรีกอันใดเกี่ยวข้อง แต่ดาวตานกอินทรีย์หรือดาวอัลแทร์ (Altair) ซึ่งมาจากภาษาอาหรับคือ อัล-นาร์ส อัล-แตร์ (al-nasr al-ta’ir) ที่แปลว่านกอินทรีย์ที่กำลังบิน ดาวตานกอินทรีย์เป็นดาวที่ส่องสว่างในฤดูร้อน ดังนั้นกลุ่มดาวนกอินทรีย์จึงเรียกกันว่าสามเหลี่ยมแห่งฤดูร้อน จากดาวตานกอินทรีย์โยงตรงขึ้นไปอีก 2 ดวงรวมกันจะกลายเป็นกลุ่มดาวศรวณะ กลุ่มดาวศรวณะเป็นสัญลักษณ์ว่าตำแหน่งดังกล่าวคือบริเวณกลางราศีมังกร

                 คราวนี้ไว้แค่นี้พอก่อนนะครับ อ่านโหราศาสตร์วันละนิดจิตแจ่มใส ถ้าอ่านมากไปเดี๋ยวจะมึนเกินครับ ^^

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ
ผู้ใดที่สนใจเรียนโหราศาสตร์ภารตะฟรี (ไม่เก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น) สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 082 - 454 - 6554
หรือสามารถดูรายละเอียดได้ในเนื้อของบล๊อคนี้ ในเดือนเมษายน ปี 2015 นะครับ