วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระเกตุ


๙. พระเกตุ (Ketu)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศีพิจิก 0º - 30º หรือราศีธนู 0º - 6º มูลตรีโกณ ราศีสิงห์ 0º - 16º เกษตร ราศีเมถุน 0º - 30º
         ** อุจจ์ ราศีพิจิก เกษตร ราศีมีน : คัมภีร์ปาระสาระโหรา
2. ทิศ : เจ้าการทิศพายัพ (Vayavya Dikpala)
         ** พระวายุเทพเป็นผู้ดูแลทิศพายัพ มีธนูวายุอัสตราเป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลากลางคืน
4. ภพ : -
5. วรรณะ : -
6. ธาตุ : ปฐวีธาตุ (Prithvi Tattva)
7. ฤดู : -
8. สี : สีเทาดำ สีหมอก
9. อัญมณี : พลอยตาแมว (Cat’s Eye) ทดแทนโดย เทอร์คอยซ์ (Turquoise) ประดับกับแหวนที่ทำด้วยอัสตะธาตุ (อัสตะธาตุ คือโลหะที่เกิดจากการผสมด้วยแร่ ๘ ชนิดคือ ทองคำ เงิน ทองแดง สังกะสี ตะกั่ว ดีบุก เหล็ก และปรอท) ถ้าหาแหวนจากแร่อัสตะธาตุไม่ได้ อนุโลมให้เป็นแหวนเหล็กหรือแหวนเงินได้ โดยพลอยนั้นจะมีน้ำหนักเท่าใดก็ได้ สวมที่นิ้วก้อย ต้องสวมครั้งแรกในเวลาเที่ยงคืนวันพฤหัสบดี ดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : -
11. เทพผู้รักษา : พระคเณศ (Ganesha)
         *พระไภรวะ หรือพระพิราพ (Bhairava)
12. เพศ : บัณเฑาะว์ ทั้งเพศชายและหญิง
13. อวัยวะ : -
14. โรค :  โรคความดันเลือดต่ำ หูหนวก บาดเจ็บ อักเสบ โรคผิวหนัง ไข้ตัวร้อน ลำไส้ผิดปกติ ระบบการพูดผิดปกติ โรคระบบประสาท ร่างกายซูบผอม โรคขาดสารอาหาร เส้นปูดโปน เส้นเลือดขอด
15. นิสัย : ตมัสสะคุณะ (Tamas Guna) อดทน ฉลาดเรื่องหากิน เอาการเอางานดี ออกแบบเก่ง ทำอาหารเก่ง ไม่ชอบสนใจเรื่องของคนอื่น ชอบคิดมากหรือทุกข์ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรียนเก่ง นับถือพวกผีและเจ้า ไม่ชอบหลอกลวงใคร ซื่อสัตย์ ทำงานด้วยฝีมือ รักสัตว์ สันโดษ มีพรสวรรค์ เชื่อเรื่องโชคลาง
16. บุคคล : ญาติฝ่ายแม่ นักปรัชญา
17. สถานที่ :  ห้องที่มืดหรือมีแสงสลัว
18. รูปร่าง : -
19. สิ่งอื่นๆ : ผ้าหลายสี วิทยาศาสตร์ มนต์ดำ ไสยเวทย์ วิญญาณ
20. ประวัติการกำเนิด
         ในกาลครั้งหนึ่ง มหาฤๅษีทุรวาสะเดินทางขึ้นไปสวรรค์โลกเพื่อจะไปหาอินทราเทพหรือพระอินทร์ซึ่งในขณะนั้นอินทราเทพกำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยวในที่อื่น มหาฤๅษีทุรวาสะจึงมอบพวงมาลัยปาริชาติให้กับอินทราเทพ อินทราเทพเมื่อรับพวงมาลัยไปแล้วก็เอาไปวางไว้บนเศียรของพระยาช้างเอรวัณ เป็นการเทิดทูนพวงมาลัยของมหาฤๅษี แต่พวงมาลัยนั้นกลับไหลลื่นตกจากเศียรของพระยาช้าง แล้วโดนเท้าพระยาช้างเหยียบย่ำจนแหลกเละ ในเวลานั้นมหาฤๅษีทุรวาสะหันกลับมามองอินทราเทพ พลันเห็นพวงมาลัยตนถูกเท้าช้างเหยียบย่ำเช่นนั้น จึงกล่าวสาปอินทราเทพว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านมี อันทำให้ท่านยิ่งใหญ่จนเกิดความจองหอง ขอสาปให้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นจงหายไปเสียให้หมด” ทันใดนั้นทรัพย์สินทุกอย่างบนสรวงสวรรค์ก็หายไป กำลังของเทวาทั้งมวลในสวรรค์โลกก็หายไปหมด เป็นเหตุให้อสูรขึ้นมาชิงสวรรค์โลกไปจากเหล่าเทวาได้
         เหล่าเทวามีความกังวลเป็นอันมาก จึงไปปรึกษาพระพรหมเทพบิดา พระพรหมเทพบิดาประชุมกับพระนารายณ์และพระศิวะ พระศิวะเจ้าทรงแนะนำให้กวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤตให้เหล่าเทวาดื่มเพื่อคืนกำลัง พระนารายณ์จึงทรงแนะนำให้นำเขาพระสุเมรุทำเป็นแท่งกวน นำพระยานาควาสุกรีมาแทนเชือกปั่น แล้วตนเองจะอวตารเป็นเต่ารองฐานเขาพระสุเมรุ พระศิวะเจ้าจึงทรงเรียกเหล่าอสุราและเทวามารวมกัน ตรัสดำริสั่งให้กวนเกษียรสมุทร โดยให้อสูรจับที่หัวนาค และเทวาจับที่หางนาค ยื้ดยุดกันให้เขาพระสุเมรุหมุน
ขณะที่กวนเกษียรสมุทรอยู่นั้น ของวิเศษต่างๆก็บังเกิดผุดออกมาจากเกษียรสมุทรนั้น เช่น พระแม่ลักษมี ช้างเอรวัณ ต้นปาริชาติ โคสุรภี ม้าอุจจัยสราวะ และสุดท้ายก็คือ โถน้ำอมฤต เมื่อโถน้ำอมฤตผุดขึ้นมา เหล่าอสูรก็พากันเข้าไปยื้อแย่งเพื่อจะดื่มน้ำอมฤต พระนารายณ์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงทรงแปลงร่างเป็นสตรีรูปโฉมสวยสคราญนางหนึ่งชื่อพระนางโมหิณี ทรงล่อลวงอสูรให้สนใจนาง อสูรพากันสนใจพระนางโมหิณีจนถึงกับทิ้งโถน้ำอมฤตไว้ เป็นจังหวะให้เหล่าเทวานำน้ำอมฤตมาดื่ม แต่ในเหล่าเทวานี้มีอสูรตนหนึ่งไม่ได้หลงใหลกับกับรูปโฉมของพระนางโมหิณี แปลงร่างกลายเป็นเทวาเข้ามาปะปนนั่งอยู่กับเทวาอื่นๆด้วย อสูรตนนั้นคือ พระราหู เมื่อพระราหูได้ดื่มน้ำอมฤตเข้าไปแล้วก็ได้กลายเป็นอมตะ พระสุริยาและพระจันทร์จำได้ว่าเป็นพระราหูปลอมแปลงกายมา จึงร้องแจ้งแก่พระนารายณ์ พระราหูเห็นดังนั้นจึงคิดจะบินหนี พระนารายณ์จึงขว้างสุทาสะนะจักร์ตัดเศียรพระราหูขาด แต่เมื่อพระราหูดื่มน้ำอมฤตเข้าไปแล้วจึงไม่ตายแม้ว่าจะเหลือแต่เศียร กายของพระราหูที่ขาดออกจากเศียรยังมีชีวิตอยู่ได้โดยกลายเป็นพระเกตุ
         และด้วยเหตุที่พระราหูมีความแค้นต่อพระสุริยาและพระจันทร์เพราะร้องแจ้งแก่พระนารายณ์ จึงคอยหาโอกาสจับพระสุริยาและพระจันทร์กินอยู่เสมอ แต่ไม่สามารถกลืนได้เพราะมีแต่เศียร ไม่มีร่างกายเสียแล้ว
         เทวลักษณ์ของพระเกตุ จะเป็นยักษ์มีสองกร ถือคฑา ๑ ประทานพร ๑ มีนกอินทรีย์ดำเป็นพาหนะ รถม้าของพระเกตุมีสีแดงเทียมด้วยม้า ๘ ตัว ในทางไทย พระเกตุถือพระขรรค์ ทรงพญานาคเป็นพาหนะ

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โหราศาสตร์ภารตะ - พระราหู


๘. พระราหู (Rahu)
1. ตำแหน่ง : อุจจ์ ราศึพพิจิก 0º - 30º มูลตรีโกณ ราศีกรกฎ 0º - 30º หรือราศีกุมภ์ 0º - 6º
         * หลังจากองศามูลตรีโกณ เป็นเกษตรในราศีกุมภ์
         * อุจจ์ ราศีพฤษภ เกษตร ราศีกันย์ : คัมภีร์ปาระสาระโหรา
2. ทิศ : เจ้าการทิศหรดี (Nirrti Dikpala)
         ** พระแม่นิรตีเป็นผู้ดูแลทิศหรดี มีพระขรรค์เป็นอาวุธ
3. เวลา : มีกำลังในเวลากลางคืน
4. ภพ : -
5. วรรณะ : ศูทร (Shudra Varna)
6. ธาตุ : วาโยธาตุ (Vayu Tattva)
7. ฤดู : ศิศิระฤดู (Sisira ritu) ฤดูต้นใบไม้ผลิ กุมภาพันธ์ – มีนาคม
8. สี : สีดำ เทาดำ สีหมอก
9. อัญมณี : โกเมนสีส้ม (Gometha) ทดแทนโดย พลอยสีส้ม (Hessonite Garnet) ประดับกับแหวนที่ทำด้วยอัสตะธาตุ (อัสตะธาตุ คือโลหะที่เกิดจากการผสมด้วยแร่ ๘ ชนิดคือ ทองคำ เงิน ทองแดง สังกะสี ตะกั่ว ดีบุก เหล็ก และปรอท) ถ้าหาแหวนจากแร่อัสตะธาตุไม่ได้ อนุโลมให้เป็นแหวนเหล็กหรือแหวนเงินได้ โดยโกเมนนั้นต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 6 กะรัต สวมที่นิ้วกลางหรือนิ้วก้อย ต้องสวมครั้งแรกก่อนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าในเย็นวันพุธ (before Sunset on a Wednesday evening) ดิถีเพ็ญ
10. ตัวอักษร : -
11. เทพผู้รักษา : เษษะนาคา (Adhishesha Naka) บัลลังค์นาคของพระนารายณ์
         *พระแม่ทุรคา (Durga)
12. เพศ : เสามะยะ (Saumya) เพศหญิง
13. อวัยวะ : -
14. โรค :  โรคลำไส้ หนอง ผิวหนัง แผลเปื่อย ม้าม พยาธิ โรคเฉื่อยชา กามโรค ความผิดปกติในพฤติกรรมทางเพศ ติดเหล้า ติดสารเสพติด ติดการพนัน
15. นิสัย : ตมัสสะคุณะ (Tamas Guna) นักเลง ในกว้าง กล้าได้กล้าเสีย เหลี่ยมจัด เดินทางไร้ร่องรอย อยู่ไม่เป็นที่ ชอบการพนัน ชอบเที่ยว ชอบดื่มของมึนเมา ชอบเที่ยวผู้หญิง ทุ่มไม่อั้น ใจถึง ไม่ค่อยซื่อสัตย์
16. บุคคล : ญาติฝ่ายพ่อ นักเลง มาเฟีย นักพนัน คนต่างด้าว
17. สถานที่ :  บันได โรงเหล้า โรงเบียร์ บ่อน ซ่อง สถานที่มั่วโลกีย์ ห้องที่มืดหรือมีแสงสลัว
18. รูปร่าง : อ้วนใหญ่
19. สิ่งอื่นๆ : ผ้าหลายสี ทรัพยากร เชื้อเพลิง ของผิดกฎหมาย
20. ประวัติการกำเนิด
         พระราหูเป็นบุตรของพระวิประจิตติและพระนางสิงหิกะ พระวิประจิตติเป็นบุตรของมหาฤๅษีกัสยปะและพระนางธานุ ตามตำนานในปุราณะ พระราหูจะโดนสุทธาศนจักร์ตัดศีรษะขาดแต่ไม่ตาย พระราหูจึงเหลือเพียงศีรษะเท่านั้น
         เทวลักษณ์ของพระราหู คือมารมีสี่กร หอก ๑ ดาบ ๑ โล่ห์ ๑ ประทานพร ๑ มีสิงห์ดำเป็นพาหนะ หรือในเทวลักษณ์ในลักษณะครึ่งตัวบนเป็นยักษ์ ครึ่งตัวล่างเป็นงู มีสี่กร ถือคฑา ๑ ธงชัย ๑ ดาบ ๑ โล่ห์ ๑  รถม้าของพระราหูมีสีเทาเทียมด้วยม้า ๘ ตัว ในทางโหราศาสตร์ไทย พระราหูจะมีครึ่งตัวบนเป็นยักษ์ ครึ่งตัวล่างเป็นงู มีสองกร ถือกระบองเหล็กเป็นอาวุธ

ติดตามได้ที่ Facebook : ชมรมโหราศาสตร์ภารตะ สำนักวะนะยาสะนะ